‘IMF’ ชี้เวียดนาม จุดหมายปลายทางของนักลงทุนต่างชาติ

จากการประชุมสภาผู้ว่าการธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ นายเปาโล เมดาส หัวหน้าฝ่ายการคลังของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประจำประเทศเวียดนาม กล่าวว่าเวียดนามเป็นจุดหมายปลายทางที่น่าดึงดูดของนักลงทุนต่างชาติ จากปัจจัยหนุนทั้งด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจและความมีเสถียรภาพ ตลอดจนตลาดภายในประเทศที่มีขนาดใหญ่และความพร้องทางการศึกษาของคนรุ่นใหม่

โดยจากข้อมูลของ Medas เปิดเผยว่าถึงแม้ในปัจจุบันจะเผชิญกับความไม่มั่งคงทางงภูมิรัฐศาสตร์โลก แต่เศรษฐกิจเวียดนามขยายตัว 5.66% ในไตรมาสแรกของปีนี้ และทิศทางการส่งออกที่เติบโตดีขึ้น

นอกจากนี้ เศรษฐกิจเวียดนามยังได้รับปัจจัยหนุนจากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) เพิ่มขึ้นอย่างมาก ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่อุปทาน

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnam-an-enticing-destination-for-foreign-investors-imf-expert/284911.vnp

‘ธุรกิจพลาสติกเวียดนาม’ ปั้นรายได้พุ่งจากความต้องการตลาดโลก

ผู้ให้บริการข้อมูลข่าวสารชั้นนำในตลาดเคมีภัณฑ์ระดับโลก ‘Independent Commodity Intelligence Services’ เปิดเผยผลการรายงาน คาดว่าความต้องการเม็ดพลาสติก (Plastic Resin) ของทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นประมาณ 4.4% ต่อปี ในปี 2566-2568 โดยประเทศจีน กลุ่มประเทศในเอเชียแปซิฟิกและยุโรป นับเป็นตลาดหลักของเม็ดพลาสติกระดับโลก

ทั้งนี้ ผู้ผลิตพลาสติกรายใหญ่ของเวียดนาม ‘An Thanh Bicsol’ เป็นหนึ่งในซัพพลายเออร์เม็ดพลาสติกชั้นนำของประเทศและส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกไปยัง 70 ประเทศทั่วโลก รวมถึงมีกำลังการผลิตเฉลี่ย 35,000 ตันต่อเดือน ในขณะที่รายได้ส่วนใหญ่ของธุรกิจมาจากโพลีเอทิลีนเรซินและโพรพิลีน ซึ่งตลาดส่งออกสำคัญมาจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คิดเป็นสัดส่วน 37% ของการส่งออกทั้งหมด รองลงมาเอเชียใต้และตะวันออกกลาง 32% สหภาพยุโรป อเมริกา แอฟริกาและจีน ตามลำดับ

ที่มา : https://vir.com.vn/vietnamese-plastic-firms-to-cash-in-on-global-demand-110578.html

‘NVIDIA’ ยักษ์ใหญ่ชิปรายใหญ่สหรัฐ เล็งโอกาสลงทุนเวียดนาม

ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ Dau Tu (Investment) เปิดเผยว่าคณะผู้แทนของบริษัทเอ็นวิเดีย คอร์ปอเรชั่น (NVIDIA Corporation) นำโดยคุณ Keith Strier รองประธานบริษัท มีกำหนดการเดินทางเยือนเวียดนาม ระหว่างวันที่ 22-26 เม.ย. เพื่อแสวงหาโอกาสทางการลงทุนในเวียดนาม และในระหว่างการเดินทางมาเยือนในครั้งนี้ ทางบริษัทเอ็นวิเดียจะร่วมกันทำงานกับตัวแทนของภาคธุรกิจและสถาบันท้องถิ่นในการจัดตั้งศูนย์ปัญญาประดิษฐ์ รวมถึงติดตั้งซูเปอร์คอมพิวเตอร์และถ่ายโอนการผลิตหน่วยประมวลผลกราฟิก (GPU) บางส่วนไปยังซูเปอร์คอมพิวเตอร์ เพื่อที่จะออกจำหน่ายในตลาดเวียดนาม

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/us-chip-giant-nvidia-keen-to-explore-investment-opportunities-in-vietnam-post1090597.vov

‘ราคาข้าวเวียดนาม’ พุ่ง

สมาคมอาหารเวียดนาม (VFA) รายงานว่าราคาข้าวเปลือกของเวียดนามปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในสัปดาห์ที่แล้ว โดยเฉพาะราคาข้าวรับจากเกษตรกร เฉลี่ย 8,000 ด่องต่อกิโลกรัม และราคาข้าวรับซื้อหน้าโรงสีเฉลี่ย 9,475 ด่องต่อกิโลกรัม ในขณะที่ราคาข้าวหัก 5% อยู่ที่ 14,200 ด่องต่อกิโลกรัม ตามมาด้วยราคาข้าวหัก 15% และ 25% อยู่ที่ 13,950 ด่อง และ 13,750 ด่อง ตามลำดับ

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาราคาส่งออกข้าวของเวียดนาม พบว่าราคาข้าวหัก 5% อยู่ที่ 582 เหรียญสหรัฐต่อตัน สูงกว่าราคาข้าวไทยที่ 579 เหรียญสหรัฐต่อตัน และราคาข้าวปากีสถาน 581 เหรียญสหรัฐต่อตัน ในขณะเดียวกัน ราคาข้าวหัก 25% ของเวียดนาม อยู่ที่ 557 เหรียญสหรัฐต่อตัน เทียบกับราคาข้าวไทยจะอยู่ที่ 530 เหรียญสหรัฐต่อตัน

ที่มา : https://en.nhandan.vn/vietnamese-rice-prices-on-the-hike-post135006.html

‘เวียดนาม’ ซัพพลายเออร์ข้าวรายใหญ่ที่สุดในตลาดสิงคโปร์

สำนักงานการค้าเวียดนาม ประจำประเทศสิงคโปร์ รายงานว่าในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ อันดับของผู้ส่งออกข้าวอย่างเวียดนามแซงหน้าคู่แข่ง อินเดียและไทย เป็นครั้งแรกในตลาดสิงคโปร์ โดยมูลค่าการส่งออกของเวียดนามไปยังสิงคโปร์ อยู่ที่ 36.15 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 80.46% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และมีส่วนแบ่งการตลาดสูงถึง 32.03% รองลงมาไทยและอินเดีย มีมูลค่าการส่งออก 33.63 ล้านเหรียญสหรัฐ และ 33.16 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม สำนักงานการค้าแนะนำให้ผู้ส่งออกข้าวเวียดนามเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันและพัฒนาคุณภาพข้าวอย่างต่อเนื่อง

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1654252/viet-nam-to-have-many-opportunities-from-digitalisation-green-transformation-imf.html

‘IMF’ เผยการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล ดันโอกาสเศรษฐกิจเวียดนาม

นายกฤษณะ ศรีนิวาสัน ผู้อำนวยการแผนกเอเชียและแปซิฟิกของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) กล่าวถึงแนวโน้มเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกว่าเศรษฐกิจของเวียดนามมีทิศทางที่จะขยายตัว 6.5% จากปัจจัยหนุนทั้งการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) และการปรับปรุงสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งนี้ จากการประเมินเศรษฐกิจในภูมิภาค คาดว่าจะขยายตัว 4.5% ปี 2567

อย่างไรก็ดี ผลการประเมินเศรษฐกิจดังกล่าวขึ้นอยู่กับพื้นฐานเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ โดยเฉพาะเศรษฐกิจอินเดียในช่วงครึ่งหลังของปีที่แล้วที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างแข็งแกร่ง นอกจากนี้ ความท้าทายของการดำเนินนโยบายการเงิน รัฐบาลควรให้ความสำคัญในเรื่องหนี้สาธารณะและการปรับกันชนทางการคลังให้ดีขึ้น

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1654252/viet-nam-to-have-many-opportunities-from-digitalisation-green-transformation-imf.html

เศรษฐกิจ CLMV เร่งตัวปี 2567 แต่ยังโตช้ากว่าช่วงก่อนโควิด-19

โดย ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC)

เศรษฐกิจ CLMV มีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้นในปี 2024

SCB EIC ประเมินเศรษฐกิจ CLMV มีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้นในปี 2024 ตามการฟื้นตัวของการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยว ซึ่งจะสนับสนุนให้อุปสงค์ในประเทศปรับดีขึ้นผ่านการฟื้นตัวของตลาดแรงงาน ในระยะปานกลางเศรษฐกิจ CLMV มีแนวโน้มได้อานิสงส์จากการย้ายฐานการผลิตของธุรกิจข้ามชาติออกไปลงทุนในประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคตามยุทธศาสตร์ “China +1” เพื่อลดความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่สูงขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกต่อการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในระยะต่อไป ในปีนี้ SCB EIC ประเมินว่า เศรษฐกิจกัมพูชาจะขยายตัวต่อเนื่อง 6.0% (จาก 5.6% ในปี 2023) สปป.ลาว 4.7% (จาก 4.5%) เมียนมา 3.0% (จาก 2.5%) และเวียดนาม 6.3% (จาก 5.1%)

อัตราการขยายตัวของแต่ละประเทศใน CLMV ยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยช่วงก่อน COVID-19 จากปัจจัยกดดันต่าง ๆ  อาทิ การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ซึ่งเศรษฐกิจภูมิภาค CLMV มีความสัมพันธ์สูงทั้งด้านการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ รวมถึงการท่องเที่ยวและภาคอสังหาริมทรัพย์ ขณะเดียวกัน บางประเทศ เช่น กัมพูชาและเวียดนามมีอัตราส่วนหนี้เสีย (Non-performing loans ratio) สูงขึ้นหลังมาตรการช่วยเหลือในช่วง COVID-19 สิ้นสุดลง ประกอบกับภาวะการเงินในประเทศที่ตึงตัวขึ้น อาจกระทบการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินและการเข้าถึงสภาพคล่องของธุรกิจได้ นอกจากนี้ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์เป็นปัจจัยที่ต้องจับตาต่อเนื่อง ในระยะสั้นการค้าโลกอาจได้รับผลกระทบจากปัญหาการขนส่งบริเวณทะเลแดงและคลองปานามาที่แห้งแล้งและอาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนการขนส่งสินค้าส่งออกของภูมิภาค CLMV ได้ ในระยะยาวเศรษฐกิจ CLMV จะต้องเตรียมความพร้อมรับมือกับโลกที่มีแนวโน้มจะกีดกันการค้าและตั้งกำแพงภาษีมากขึ้น

ความเร็วในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ CLMV แตกต่างกัน

ความเร็วในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ CLMV แตกต่างกัน ขึ้นกับปัจจัยเฉพาะประเทศ โดยเฉพาะในสปป.ลาวที่เผชิญความเสี่ยงจากระดับหนี้สาธารณะซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในรูปสกุลเงินต่างประเทศที่อยู่ในระดับสูงเทียบกับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับต่ำ ท่ามกลางภาวะการเงินโลกตึงตัว ทำให้เงินกีบอ่อนค่ารวดเร็ว ซ้ำเติมภาระการชำระหนี้ต่างประเทศ และทำให้เงินเฟ้อในประเทศพุ่งสูงขึ้นมากและปรับตัวลดลงได้ช้าในปีนี้ ปัจจัยเหล่านี้กดดันศักยภาพการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะปานกลาง โดยสปป.ลาวกำลังดำเนินการรัดเข็มขัดทางการคลัง ควบคู่กับการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้และการหาแหล่งระดมทุนใหม่เพื่อรักษาเสถียรภาพการคลังไว้ ขณะที่เมียนมาเป็นอีกประเทศที่กำลังเผชิญปัจจัยกดดันเชิงโครงสร้าง ซึ่งได้รับผลกระทบจากความไม่สงบทางการเมืองตั้งแต่ปี 2021 และทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงปลายปี 2023 ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและอุปสงค์ในประเทศซบเซา ขณะที่มาตรการคว่ำบาตรจากชาติตะวันตกมีส่วนทำให้อุปสงค์ต่างประเทศอ่อนแอลงมาก ประกอบกับปัญหาอื่น ๆ เช่น การขาดแคลนเงินดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้เงินจัตอ่อนค่าและเงินเฟ้อเร่งตัว ตลอดจนปัญหาระบบขนส่งและโครงข่ายไฟฟ้าหยุดชะงัก การแก้ไขปัญหาเหล่านี้ยังดูเป็นไปได้ยากในระยะสั้น เนื่องจากจำเป็นต้องอาศัยปัจจัยทางการเมืองที่มีเสถียรภาพ

ค่าเงินของกลุ่มประเทศ CLMV จะเผชิญแรงกดดันด้านอ่อนค่าลดลง

ธนาคารกลางประเทศเศรษฐกิจหลักมีแนวโน้มเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายตั้งแต่กลางปีนี้ ซึ่งคาดว่าจะช่วยให้เงินทุนเคลื่อนย้ายไหลกลับเข้าประเทศกำลังพัฒนา รวมถึง CLMV มากขึ้น และจะกระตุ้นการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศตามต้นทุนการระดมทุนที่ลดลง อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเฉพาะประเทศยังคงเป็นปัจจัยหลักที่มีผลต่อแนวโน้มค่าเงิน ส่งผลให้ค่าเงินบางประเทศอาจยังอ่อนค่าต่อ

การค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับ CLMV

การค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับ CLMV มีแนวโน้มดีขึ้นในปีนี้ หลังจากค่อนข้างซบเซาในปี 2023 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการค้าโลกที่ปรับดีขึ้น โดยเฉพาะในภาคการผลิต และเศรษฐกิจประเทศในภูมิภาคที่ฟื้นตัว นอกจากนี้ ภาวะการเงินโลกและไทยที่คาดว่าจะผ่อนคลายลงบ้างในปีนี้จะเป็นปัจจัยช่วยสนับสนุนให้บริษัทไทยลงทุนใน CLMV ได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวจะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป ตามเสถียรภาพเศรษฐกิจของ CLMV บางประเทศที่ยังไม่เอื้อต่อการลงทุนมากนัก ทั้งนี้ในระยะยาว SCB EIC ยังมีมุมมองบวกต่อเศรษฐกิจ CLMV และคาดว่าจะเป็นหนึ่งในภูมิภาคของโลกที่เติบโตสูง และยังได้รับความสนใจจากนักลงทุนไทยและต่างชาติ จากปัจจัยประชากรที่มีอายุเฉลี่ยน้อย การมีข้อตกลงสนธิสัญญาการค้าเสรีต่าง ๆ และแหล่งที่ตั้งที่มีความได้เปรียบทางยุทธศาสตร์ ติดตลาดใหญ่ เช่น จีนและอินเดีย

ที่มา : https://www.scbeic.com/th/detail/product/clmv-outlook-mar24?utm_source=Twitter&utm_medium=Link&utm_campaign=CLMV_OUTLOOK_MAR_2024

 

‘แบงก์ชาติเวียดนาม’ เผยสินเชื่ออสังหาฯ พุ่งต่อเนื่อง ปี 2558-2566

ธนาคารกลางเวียดนาม (SBV) ยื่นส่งรายงานให้กับคณะผู้แทนสมัชชาแห่งชาติในเรื่องการจัดการตลาดอสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย ตั้งแต่ปี 2558-2566 จากเอกสารรายงานระบุว่ายอดสินเชื่อคงค้างของภาคอสังหาฯ มีมูลค่ารวมกันทั้งสิ้น 2.88 พันล้านล้านด่อง และได้มีการจัดสรรเงินไปยังกองทุนอสังหาฯ ประมาณ 1.09 พันล้านล้านด่อง และใช้เพื่อซื้อที่อยู่อาศัยอีกราว 1.79 พันล้านล้านด่อง ทั้งนี้ จากข้อมูลพบว่าสินเชื่อคงค้างอสังหาฯ ตั้งแต่ปี 2558-2566 คิดเป็นสัดส่วนราว 18-21% ของสินเชื่อคงค้างทั้งหมดของเศรษฐกิจเวียดนาม และจากเหตุการณ์ดังกล่าว ทางธนาคารกลางจำเป็นที่จะต้องควบคุมกระแสเงินสดเข้าสู่ภาคอสังหาฯ และดำเนินการออกหนังสือเวียดนามเลขที่ 36, 22 และ 41 ซึ่งกำหนดว่าเงินกู้ระยะปานกลางและระยะยาวจะอยู่ในอัตรา 24-34%

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/real-estate-loans-increased-in-2015-2023-period-report-2271387.html