‘เวียดนาม’ คาดอุตสาหกรรมสิ่งทอ โต 11.2%

สมาคมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเวียดนาม (VITAS) เปิดเผยว่าภาคธุรกิจสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในประเทศ ตั้งเป้าว่าจะมียอดส่งออกในปีนี้ อยู่ที่ 39 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 11.2% และ 0.2% เมื่อเทียบกับปี 63 และ 62 ตามลำดับ ถึงแม้ว่าจะได้รับผลกระทบในเชิงลบจากการแพร่ระบาดขงโรคโควิด-19 ที่ยังคงยืดเยื้อ แต่ภาคธุรกิจได้เตรียมความพร้อมที่จะรับมือกับวิกฤติดังกล่าวและคงรักษาระดับการส่งออกให้มีเสถียรภาพ ทั้งนี้ การส่งออกที่คงเติบโตในระดับสูง เป็นผลมาจากการฟื้นตัวของตลาดโลก โดยเฉพาะตลาดยุโรปและสหรัฐฯ รวมถึงผลประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรีที่เวียดนามร่วมลงนามกับประเทศคู่ค้า

นอกจากนี้ การที่รัฐบาลเวียดนามได้ปรับตัวให้มีความยืดหยุ่นต่อการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโรค ทำให้ภาคธุรกิจมีความคล่องตัวในการดำเนินงาน

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/garment-sector-set-to-enjoy-growth-rate-of-112-909982.vov

‘นครเกิ่นเทอ’ เคาะงบลงทุน 1.2 ล้านล้านดอง เหตุปรับปรุง 5 แยกใหญ่

จากการประชุมสภาองค์การบริหารจังหวัดเกิ่นเทอ (Can Tho) เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. นาย Nguyen Thuc Hien ยื่นเสนอขอใช้งบประมาณ 1.2 ล้านล้านดอง เพื่อยกระดับโครงการและขยายพื้นที่ของ 5 ทางแยกใหญ่ในตัวเมืองเกิ่นเทอ โดยโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าวจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2564-2568 ในเฟสแรก เมืองจะขยายพื้นที่ทางแยกเหล่านี้ ได้แก่ (1) Mau Than-Ba Thang Hai-Tran Hung Dao, (2) Mau Than-Nguyen Van Cu-Vo Van Kiet, (3) Nguyen Van Linh-Nguyen Van Cu, (4) Nguyen Van Linh-Ba Thang Hai และ (5) Nguyen Van Linh-Ba Muoi Thang Tu

ทั้งนี้ หากมีระยะต่อไป เมืองเกิ่นเทอจะพิจารณาสร้างสะพายลอยหรืออุโมงค์ กรณีปริมาณการจราจรเพิ่มมากขึ้น

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/can-tho-to-spend-vnd1-2-trillion-upgrading-five-congested-intersections/

‘เวียดนาม’ คาด GDP ปี 64 โต 2%-2.5%

นาย Tran Tuan Anh หัวหน้าคณะกรรมการเศรษฐกิจพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม กล่าวว่าจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังคงคาดการณ์ไม่ได้ ทำให้การขยายตัวเศรษฐกิจเวียดนาม (GDP) ปีนี้ คาดว่าจะชะลอตัวลงเหลือ 2%-2.5% อย่างไรก็ตาม หลังการปรากฏตัวของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ “โอมิครอน” อาจส่งผลให้เศรษฐกิจโลกเติบโตชะลอตัวราว 0.2%-0.4% ในปีหน้า ขณะที่เวียดนามก็จะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โดยเศรษฐกิจเวียดนามในไตรมาส 3/64 ปรับตัวลดลง 6.17% นับว่าเป็นการหดตัวรุนแรงที่สุด ตั้งแต่มีการบันทึกสถิติและแถลงตัวเลขเศรษฐกิจรายไตรมาส ทั้งนี้ เวียดนามจำเป็นต้องมีการปรับตัว เพื่อทำให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวหลังจากสิ้นสุดการแพร่ระบาด ด้วยการกำหนดเป้าหมายการพัฒนาระยะยาว ทั้งด้านการส่งเสริมอุตสาหกรรมและความทันสมัยต่อสถานการณ์ใหม่ๆ อยู่เสมอ

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/vietnams-2021-gdp-estimated-at-2-2-5/

 

‘เวียดนาม’ ยังคงปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของกระทรวงการคลังสหรัฐ ในฐานะประเทศไม่บิดเบือนค่าเงิน

ตามรายงานฟอเร็กซ์ (Forex) และนโยบายทางเศรษฐกิจมหภาคของสหรัฐฯ เปิดเผยว่ากระทรวงการคลังแจ้งว่าตั้งแต่ต้นปีจนถึงเดือน มิ.ย.64 ไม่มีประเทศคู่ค้าที่ดำเนินจัดการเรื่องของสกุลเงิน เพื่อที่จะได้เปรียบทางการค้าหรือเพื่อปรับดุลการชำระเงินให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งนี้ เวียดนามและไต้หวัน มีคุณสมบัติตรงตาม 3 หลักเกณฑ์ที่เกี่ยวกับดุลการค้า เกินดุลบัญชีเดินสะพัดและการแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยน อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังยังคงร่วมทำงานกับเวียดนามและไต้หวัน เพื่อชี้แจงความกระจ่างให้กับสหรัฐฯ นอกจากนี้ เมื่อต้นเดือนเม.ย. กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ประกาศถอดชื่อเวียดนามพ้นจากบัญชีประเทศ “บิดเบือนค่าเงิน” เนื่องจากหลักฐานไม่เพียงพอที่จะสรุปว่าเกี่ยวข้องกับการจัดการเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยนในกรอบของกฎหมายการค้าสหรัฐฯ (The 1988 Act)

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1094059/viet-nam-continues-to-meet-us-treasury-criteria-for-not-being-labelled-a-currency-manipulator.html

 

‘เวียดนาม’ ถือเป็นหนึ่งในตลาดที่มีการขับเคลื่อนการเติบโตทางการค้าในอนาคต

รายงานที่เผยแพร่โดยธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ระบุว่าเวียดนามเป็นหนึ่งใน 13 ตลาดที่มีการขับเคลื่อนการเติบโตทางการค้าในอนาคต และด้วยการบูรณาการทางเศรษฐกิจโลกที่ดีขึ้น เวียดนามจึงมีความได้เปรียบอย่างมากจากการส่งออก ทั้งนี้ ธนาคารได้ทำการสำรวจบริษัทระดับโลก พบว่าธุรกิจส่วนใหญ่ 41% ได้ดำเนินงานในเวียดนามแล้วหรือวางแผนที่จะลงทุนในเวียดนามอีก 10 ปีข้างหน้า โดยสหรัฐฯ และจีนยังคงเป็นตลาดส่งออกรายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม ตามลำดับ คิดเป็นสัดส่วน 26% และ 19% ของการส่งออกรวมทั้งสิ้นในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปี 2573 แสดงให้เห็นถึงการเติบโตของการค้าระหว่างประเทศ ด้วยเหตุนี้ เวียดนามจึงเป็นฐานการผลิตที่สำคัญ โดยเฉพาะสินค้าส่งออก อาทิ เครื่องจักร อุปกรณ์ไฟฟ้า สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม สินค้าการเกษตรและอาหาร เป็นต้น นอกจากนี้ ตามรายงานของ Công thương (อุตสาหกรรมและการค้า) เผยว่าการที่เวียดนามมีจำนวนแรงงานที่มาก และความสัมพันธ์ห่วงโซ่อุปทานขนาดใหญ่ ตลอดจนนโยบายที่เปิดกว้างสำหรับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ทำให้เวียดนามจะก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางการผลิตระดับโลกและเป็นแหล่งดึงดูดผู้ประกอบการต่างชาติ

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnam-among-markets-driving-future-trade-growth/216466.vnp

 

ดัชนีความเชื่อมโยงระดับโลกของเวียดนาม เติบโตอย่างก้าวกระโดด

เวียดนามได้รับการจัดอันดับที่ 38 ในดัชนีความเชื่อมโยงระดับโลก (Global Connectedness Index: GCI) ปี 2563 จัดทำโดยบริษัท DHL ซึ่งอันดับดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว และยังแสดงให้เห็นว่าเวียดนามถือเป็นประเทศดาวรุ่งพุ่งแรกสำหรับภาคการผลิตระดับโลก โดยเฉพาะเมื่อจีนประสบปัญหาจากสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ทำให้ตลาดเวียดนามยินดีที่จะเปิดรับผู้ผลิตจากการย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศจีน ทั้งนี้ การปรับตัวของเวียดนามต่อการแพร่ระบาดของโรคในปีที่แล้ว ทำให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ด้วยอัตราการขยายตัว 2.9% ปีที่แล้ว และยอดการส่งออกเพิ่มขึ้น 28.4% ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน นับว่าเป็นความสำเร็จของเวียดนามท่ามกลางการระบาดของเชื้อโรค นอกจากนี้ คุณ Bernardo Bautista กรรมการผู้จัดการบริษัท DHL Express Vietnam กล่าวว่าเวียดนามจะต้องมีกระแสการค้าระหว่างประเทศขนาดใหญ่เมื่อเทียบกับขนาดเศรษฐกิจในประเทศ และกระแสการค้าระหว่างประเทศจะกระจายไปยังทั่วโลก

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnam-leaps-up-in-global-connectedness-index-908948.vov

 

‘เวียดนาม’ เผยอุตสาหกรรมฟื้นตัวช้าลง เหตุจากผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น

ตามข้อมูลของ ไอเอชเอส มาร์กิต รายงานว่า เดือน พ.ย. สถานการณ์ธุรกิจของภาคอุตสาหกรรมในภาพรวม ปรับตัวดีขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 แต่ยังคงมีความกังวลต่อการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ และปัญหาการขาดแคลนแรงงาน นายแอนดรูว์ ฮาร์เกอร์ ผู้อำนวยการของบริษัท กล่าวว่าปัจจุบัน ภาคการผลิตของเวียดนามยังอยู่ในทิศทางที่เป็นบวกในเดือน พ.ย. อย่างไรก็ดี การกลับมาของโควิด-19 คุกคามการฟื้นตัวในระยะสั้นของธุรกิจต่างๆ ทั้งนี้ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเดือน พ.ย. ของเวียดนาม อยู่ที่ระดับ 52.2 จากระดับ 52.1 ในเดือน ต.ค. ซึ่งส่งสัญญาว่าสภาพธุรกิจดีขึ้นเล็กน้อยติดต่อกันเป็นเดือรที่ 2 หลังจากเวียดนามเริ่มการระบาดระลอกที่ 4 ตั้งแต่ปลายเดือน เม.ย.

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/rising-covid-case-numbers-threaten-manufacturing-recovery/