MEF ชี้เศรษฐกิจกัมพูชายังคงแข็งแกร่ง

กระทรวงเศรษฐกิจและการคลังกัมพูชา คาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชาที่ร้อยละ 5.6 ในปีนี้ โดยเติบโตจากภาคบริการและการส่งออกสินค้ากลุ่มที่ไม่ใช่เครื่องนุ่งห่มที่มีการขยายตัว ท่ามกลางปัจจัยภายนอกที่ยังคงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก เช่น ผลกระทบของสงครามรัสเซีย-ยูเครน สงครามการค้าและเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐฯ-จีน รวมถึงนโยบายการเงินที่เข้มงวดจากประเทศพัฒนาแล้ว ทำให้เกิดความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจทั่วโลกและเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่อาจกดดันให้ภาคการส่งออกของกัมพูชาชะลอตัวลง โดยเฉพาะการส่งออกสินค้ากลุ่มสำคัญต่างๆ สำหรับระบบเศรษฐกิจของกัมพูชาในปัจจุบันเน้นพึ่งพาการส่งออกเครื่องนุ่งห่ม ภาคการเกษตร อสังหาริมทรัพย์ การก่อสร้าง และภาคการท่องเที่ยวเป็นหลัก ซึ่งในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ กัมพูชาดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติราว 2.57 ล้านคน เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 409 จากจำนวน 506,762 คน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับการคาดการณ์ล่าสุดของกระทรวงการท่องเที่ยวคาดว่าในปี 2023 นักท่องเที่ยวต่างชาติจะเพิ่มขึ้นไปแตะ 5 ล้านคน ภายในสิ้นปี หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 120 จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีก่อนที่ 2.27 ล้านคน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501340003/economy-to-stay-healthy-this-year-says-mef/

‘สพพ.’เพิ่มช่วยเหลือ สปป.ลาว ฝึกคนขับรถไฟ – ทำแผนธุรกิจสถานี‘บ้านคำสะหวาด’

นายพีรเมศร์ วุฒิธรเนติรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการ ก่อสร้างทางรถไฟสายท่านาแล้ง-เวียงจันทน์ ระยะที่ 2 ส่วนที่ 2 (รถไฟไทย-ลาว)  สถานีรถไฟเวียงจันทน์ บ้านคำสะหวาด ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องจากโครงการระยะแรกของเส้นทาง ว่าขณะนี้โครงการแล้วเสร็จเรียบร้อยและอยู่ระหว่างรอกำหนดการจากทั้งสองประเทศคือไทย และสปป.ลาวที่จะกำหนดให้มีการเปิดใช้สถานีอย่างเป็นทางการ โดยจากการหารือกันระหว่าง สพพ. และตัวแทนรัฐบาลจาก สปป.ลาว ซึ่งได้ร้องขอให้ไทยให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมในเรื่องของการฝึกอบรมพนักงานขับรถไฟ ช่วยทำแผนธุรกิจเตรียมเปิดสถานีบ้านคำสะหวาด เตรียมเสนอรัฐบาลใหม่ขออนุมัติเงินกู้ 1.8 พันล้าน ให้ สปป.ลาว พัฒนาเส้นทางหมายเลข 12 (R12) เชื่อมนครพนม – ลาว – เวียดนาม เพิ่มมูลค่าการค้า 3 ประเทศ

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/business/economic/1082354

‘เวียดนาม’ เผยรายได้อุตฯ ICT ลดลง 7%

กระทรวงสารสนเทศและการสื่อสารของเวียดนาม (MIC) เปิดเผยว่าในเดือนที่แล้ว รายได้จากอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) มีมูลค่ากว่า 1.71 พันล้านล้านด่อง หรือประมาณ 72.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 7.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว สาเหตุมาจากเศรษฐกิจหลายๆประเทศเข้าสู่ภาวะถดถอย และไม่เห็นสัญญาการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ ตลาดไอซีที (ICT) ยังคงปรับตัวลดลง พร้อมกับศักยภาพการเติบโตอยู่ในระดับต่ำ เนื่องมาจากได้รับผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน และอาฟเตอร์ช็อกทางเศรษฐกิจ หลังการระบาดของโควิด-19 ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อตลาดส่งออกสินค้าและบริการของเวียดนาม

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/ict-revenue-falls-by-more-than-7-over-last-year-2174502.html

‘เศรษฐกิจเวียดนาม’ เผชิญกับอุปสรรคมากมาย

นายฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ นายกรัฐมนตรีเวียดนาม กล่าวในที่ประชุมรัฐบาลว่าเศรษฐกิจเวียดนามยังคงเผชิญกับความท้าทายมากขึ้น เนื่องจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก การส่งออกที่หดตัวลงและวิกฤติสินเชื่อ ถึงแม้จะได้รับสัญญาของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ แต่ว่าแนวโน้มของการเติบโตทางเศรษฐกิจก็จะถูกขัดขวางจากการบริโภคที่อ่อนแอและอุปสรรคทางการค้าโลก ทั้งนี้  อัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้น ได้สร้างแรงกดดันต่อหนี้สาธารณะและความกังวลทางการเงินยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญที่จะขัดขวางการฟื้นตัวของหลายๆประเทศ หลังสิ้นสุดการแพร่ระบาดของเชื้อโรค นอกจากนี้ ความท้าทายที่เกิดขึ้นใหม่ ได้แก่ ความไม่มั่นคงด้านอาหารโลก ผลผลิตน้ำมันที่ซบเซาและสภาพอากาศที่รุนแรง กำลังเพิ่มข้อจำกัดที่ส่งผลกระทบต่อตลาดโลก

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/vietnam-faces-protracted-economic-headwinds/

ส่งออกเวียดนามยังไม่ฟื้น เหตุอุปสงค์ทั่วโลกอ่อนแอ

กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า รายงานว่าภาคการส่งออกของเวียดนามเผชิญกับภาวะถดถอยในปี 2566 ทั้งการส่งออกและการนำเข้าที่หดตัวลงในอัตราตัวเลขสองหลัก ตั้งแต่เดือน ม.ค.-ก.ค. และจากข้อมูลการส่งออกของเวียดนามในเดือน ก.ค. พบว่ามีมูลค่าอยู่ที่ 29.68 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 3.5% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ภาคเศรษฐกิจในประเทศ ลดลง 4.2% ในขณะที่ภาคการลงทุนจากต่างประเทศ ลดลง 3.2% อีกทั้ง การส่งออกรวมของเวียดนามในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ มีมูลค่าอยู่ที่ 194.73 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 10.6% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว สาเหตุสำคัญมาจากอุปสงค์ทั่วโลกที่อ่อนแอ โดยเฉพาะตลาดส่งออกสำคัญของเวียดนาม อาทิเช่น สหรัฐ (-21.8%), ยุโรป (-9.9%), อาเซียน (-9.6%), เกาหลีใต้ (-8.8%) และญี่ปุ่น (-3.5%) เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/vietnams-foreign-trade-sector-struggles-as-global-demand-weakens/

แนวโน้มศก.เวียดนาม ครึ่งหลังปี 66 มีทิศทางในเชิงบวก

องค์กรระหว่างประเทศและสื่อ ยังคงประเมินการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนาม มีทิศทางไปในเชิงบวกเป็นไปตามการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องและแนวโน้มในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 ตามเว็บไซต์ Fibre2fashion ของสหรัฐได้อ้างรายงานของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารแห่งชาติสิงคโปร์ (DBS) ระบุว่าถึงแม้เศรษฐกิจโลกจะเติบโตช้าลง แต่เศรษฐกิจเวียดนามก็สามารถเติบโตอย่างแข็งแกร่งกว่าหลายๆประเทศทั่วโลก และยังเป็นจุดหมายปลายทางที่น่าสนใจของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ทั้งนี้ IMF คาดการณ์ว่าแนวโน้มเศรษฐกิจของเวียดนามจะฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลัง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในระดับต่ำกว่าเป้าหมายที่ระดับ 4.5% ของธนาคารกลางเวียดนาม ในขณะเดียวกัน  ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด คาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโต 7% ในช่วงครึ่งปีหลัง

ที่มา : https://www.reuters.com/markets/commodities/vietnam-aims-raise-annual-raw-rare-earths-output-2-mln-tyr-by-2030-2023-07-25/

ทางการ สปป.ลาว พร้อมแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ ควบคู่การสร้างความมั่นคง

คณะกรรมการกลางของพรรคประชาชนปฏิวัติ สปป.ลาว มีมติให้เริ่มมาตรการเพื่อให้แน่ใจว่าเศรษฐกิจจะเติบโตร้อยละ 4.5 ในปีนี้ ในขณะที่กำลังพยายามควบคุมอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นและชะลอการอ่อนค่าของเงินกีบ โดยคณะกรรมการกลางพรรคเพิ่งมีมติในประเด็นดังกล่าวในการประชุมสมัยที่ 6 ซึ่งสรุปการดำเนินการที่รัฐบาลต้องดำเนินการเพื่อเอาชนะปัญหาทางเศรษฐกิจที่กำลังดำเนินอยู่เพื่อป้องกันไม่ให้ประเทศผิดนัดชำระหนี้ รวมถึงเป็นการบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบไปยังภาคประชาชน โดยปัจจุบัน สปป.ลาว กำลังเผชิญกับความท้าทายที่เกี่ยวข้องกับการขาดดุลเงินตราต่างประเทศ อัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น เงินกีบที่อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง และค่าครองชีพที่สูงขึ้น เป็นสำคัญ นอกจากนี้ทางการยังจำเป็นต้องทบทวนนโยบายสินเชื่อเพื่อให้แน่ใจว่าธนาคารพาณิชย์จะปล่อยสินเชื่อให้กับภาคเอกชนมากพอเพื่อกระตุ้นภาคการผลิตในประเทศ

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Partyresolves149.php

‘สหราชอาณาจักร’ ยอมรับเวียดนามเป็นเศรษฐกิจระบบตลาด

สำนักงานกำกับดูแลด้านมาตรการการค้าของเวียดนาม (TRAV) ระบุว่าสหราชอาณาจักร (UK) พร้อมที่จะยอมรับว่าอุตสาหกรรมเวียดนามอยู่ในช่วงวางรากฐานของเศรษฐกิจระบบตลาด และจะไม่กำหนดกฎเกณฑ์ที่ทำให้เสียเปรียบ หากได้รับการตรวจสอบเป็นไปตามมาตรการป้องกันทางการค้า ทั้งนี้ สหราชอาณาจักรแสดงเจตจำนงที่จะเข้าร่วมเป็นสมาชิกใหม่ของความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ส่งผลให้เวียดนามเชื่อมโยงกับตลาดต่างประเทศ จำนวน 71 ประเทศ รวมถึงคู่ค้าสำคัญที่ผ่านการลงนามข้อตกลงการค้า และเมื่อเวียดนามได้รับการยอมรับว่าเป็นเศรษฐกิจระบบตลาด ทำให้สินค้าของเวียดนามจะได้รับการปฎิบัติที่เป็นธรรมมากขึ้น และผู้ส่งออกจะสามารถเข้าถึงตลาดได้อีกจำนวนมาก

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1551526/uk-to-recognise-viet-nam-as-market-economy.html

อาเซียนสรุปผลเจรจาด้านเศรษฐกิจเตรียมชงวงถก รมต.เคาะ ส.ค.นี้

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้นายดวงอาทิตย์ นิธิอุทัย รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เข้าร่วมประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียน (Senior Economic Officials Meeting: SEOM) ครั้งที่ 3/54 ระหว่างวันที่ 11-16 ก.ค.ที่ผ่านมา ณ เมืองสุราบายา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย เพื่อติดตามการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจของปี 2566 ก่อนเสนอผลลัพธ์ต่อรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนในเดือน ส.ค.นี้ พร้อมเตรียมการประชุมกับประเทศนอกภูมิภาค ได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา จีน สหภาพยุโรป ฮ่องกง อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ นิวซีแลนด์ รัสเซีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา

ที่มา : https://www.ryt9.com/s/iq03/3439183

‘สื่อเยอรมัน’ ยกย่องศักยภาพการพัฒนาและโอกาสการลงทุนของเวียดนาม

หนังสือพิมพ์โฟกัส ของเยอรมนีได้เผยแพร่บทความเกี่ยวกับการพัฒนาการทางเศรษฐกิจของเอเชีย และมองว่าเศรษฐกิจเวียดนามมีศักยภาพในระดับสูง โดยบทความดังกล่าวอ้างถึงคุณ Horst Geicke นักลงทุนและประธานของบริษัท Deutsches Haus กล่าวว่าเวียดนามเป็นแหล่งลงทุนแห่งใหม่ของนักลงทุนต่างชาติและกิจการเยอรมนี นอกจากประเทศสิงคโปร์แล้วในภูมิภาคเอเชีย มีเพียงเวียดนามประเทศเดียวที่ลงนามข้อตกลงการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป (EVFTA) นอกจากนี้ เวียดนามดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศ ประมาณ 27,720 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2565 และตัวเลขเงินลงทุนจากต่างประเทศมีส่วนสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนาม ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศขยายตัว 8% ในปีที่แล้ว และเฉลี่ยที่ 5.9% ในช่วง 13 ปีที่ผ่านมา

ที่มา : https://en.nhandan.vn/german-newspapers-praise-vietnams-development-potential-investment-opportunities-post127720.html