กัมพูชาเร่งศึกษาข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างอินเดีย

หลังจากการลงนามในข้อตกลงการค้าความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคระหว่างกัมพูชาและจีน รวมถึงได้ข้อสรุปในการเจรจา FTA กับเกาหลีใต้แล้ว กัมพูชายังคงมองหาคู่ค้าที่มีศักยภาพในการลงนามข้อตกลงการค้าเสรีทวิภาคีต่อไป โดยเฉพาะกับอินเดีย ซึ่งโฆษกกระทรวงพาณิชย์กล่าวว่ากระทรวงกำลังทำงานอย่างใกล้ชิดกับสถาบันวิจัยอิสระในภูมิภาคเพื่อทำการศึกษาความเป็นไปได้เกี่ยวกับต้นทุนและผลประโยชน์ของ FTA ระหว่างประเทศคู่ค้าต่อไป โดยการศึกษายังอยู่ในระหว่างดำเนินการและเกี่ยวข้องกับการปรึกษาหารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างเต็มรูปแบบ พร้อมกับเตรียมการสำหรับการเจรจาระหว่างอินเดียในระยะถัดไป ซึ่งอินเดียถือเป็นหนึ่งในตลาดที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่มีกำลังซื้อ ด้วยเหตุนี้จึงแสดงให้เห็นถึงตลาดที่มีศักยภาพที่ดีสำหรับผลิตภัณฑ์ของกัมพูชาและเป็นเป้าหมายเชิงตรรกะต่อไปในการที่จะเป็นพันธมิตรทางการค้าที่หวังไว้สำหรับกัมพูชาในอนาคต ข้อมูลจากสถานทูตอินเดียในกัมพูชากล่าวว่าปริมาณการค้าระหว่างสองประเทศสูงถึง 250 ล้านดอลลาร์ในปี 2019 เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับปี 2018 อยู่ที่ 227 ล้าน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50816522/looking-to-india-for-next-major-fta-agreement/

คาดการณ์จำนวนเที่ยวบินของกัมพูชาลดลงในปี 2021

ในช่วงสองสัปดาห์แรกของเดือนกุมภาพันธ์มีเที่ยวบินตามกำหนดเวลาทั้งขาเข้าและขาออกเพียงประมาณ 223 เที่ยวบิน ระหว่างสนามบินนานาชาติ 3 แห่ง ของกัมพูชา ตามรายงานของผู้บริหารระดับสูงของท่าอากาศยานกัมพูชา โดยผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารและประชาสัมพันธ์ของท่าอากาศยานกัมพูชากล่าวว่าการจราจรทางอากาศในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2020 ซึ่งลดลงรวมกว่าร้อยละ 94 ซึ่งมีเที่ยวบินเข้าและออกโดยเฉลี่ย 13 เที่ยวบินต่อวัน ณ สนามบินนานาชาติ 3 แห่ง โดยส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในพนมเปญ โดยสนามบินนานาชาติสามแห่งของกัมพูชาให้การต้อนรับผู้โดยสาร 2.13 ล้านคน (ระหว่างประเทศ ภายในประเทศและการต่อเครื่อง) ในปี 2020 ลดลงกว่าร้อยละ 79 เมื่อเทียบกับตัวเลขปี 2019 ตามข้อมูลของสำนักงานเลขาธิการการบินพลเรือนแห่งรัฐ (SSCA) รวมถึงข้อมูลจาก SSCA แสดงให้เห็นว่ากัมพูชาจัดการขนส่งสินค้า 49,983 ตัน ณ สนามบินนานาชาติสามแห่งของประเทศ ลดลงร้อยละ 31 จากตัวเลขของปี 2019

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50816334/number-of-flights-down-by-far-in-early-2021/

กัมพูชาร่วมกับออสเตรเลียหารือเกี่ยวกับการจัดตั้งหน่วยลงทุน

สภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา (CDC) ร่วมกับโครงการพัฒนาห่วงโซ่คุณค่าการเกษตรกัมพูชา – ออสเตรเลีย (CAVAC) ได้มีการประชุมปรึกษาหารือเกี่ยวกับการจัดตั้งหน่วยลงทุนทางการเกษตรและอาหาร โดยมีวัตถุประสงค์ในการพูดคุยเพื่อรวบรวมความคิดเห็นและข้อมูลจากกระทรวงและสถาบันที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดตั้งหน่วยลงทุนภายใต้ความร่วมมือระหว่าง CDC และ CAVAC ซึ่งหน่วยลงทุนด้านการเกษตรคาดว่าจะสร้างความสะดวกให้แก่นักลงทุนที่สนใจลงทุนในด้านการเกษตร โดยจะมีการอัพเดทข้อมูลโดยละเอียดเกี่ยวกับกฎระเบียบ สิ่งจูงใจและเงื่อนไขที่จำเป็น ผ่านการจัดทำกลยุทธ์เพื่อเผยแพร่ศักยภาพการลงทุนให้กับนักลงทุนได้พิจารณาลงทุน โดยคาดว่าหากจัดตั้งหน่วยลงทุนได้แล้วจะช่วยดึงดูดนักลงทุนด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรให้มาลงทุนในกัมพูชามากขึ้น ตามนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมของกัมพูชาประจำปี 2015-2025 และการดำเนินกลยุทธ์การดึงดูดการลงทุนให้เป็นเป้าหมาย

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50816226/cambodia-australia-discuss-establishment-of-agri-food-investment-unit/

NBC ขอบคุณ IMF หลังร่วมประเมินสถานการณ์หลังโควิด-19 ในกัมพูชา

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และกัมพูชาได้พบกันเพื่อหารือและประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจมหภาคของกัมพูชาหลังเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังคงดำเนินอยู่ในปัจจุบัน โดยการประชุมดังกล่าวจัดขึ้นผ่านการประชุมทางวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ระหว่างผู้ว่าการธนาคารแห่งชาติกัมพูชา (NBC) และหัวหน้าทีม IMF ประจำประเทศกัมพูชา ซึ่งในระหว่างการประชุมผู้ว่าการได้แจ้งให้กับทีม IMF ทราบถึงความพยายามของรัฐบาลในการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 และในการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจของประเทศนับตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของไวรัส รวมถึงสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งได้มีการปรับปรุงนโยบายทางด้านการเงินภายในประเทศ รวมถึงการผ่อนคลายกฎระเบียบต่าง ๆ เพื่อเพิ่มการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบ รวมทั้งสนับสนุนให้มีการปรับโครงสร้างเงินกู้เพื่อช่วยผู้กู้ที่ประสบปัญหาทางการเงินที่เป็นผลมาจากโควิด-19 โดยผู้ว่าการได้กล่าวขอบคุณ IMF สำหรับการสนับสนุนการพัฒนาของกัมพูชาโดยเฉพาะในภาคธนาคารที่ผ่านมา

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50815896/nbc-governor-thanks-imf-for-development-support/

การค้าชายแดนปี’ 64 มีลุ้นเติบโต 4.3% จับตาการค้าข้ามแดนไปประเทศที่ 3

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย (KResearch)

การค้าชายแดนและผ่านแดนของไทยในปีที่ผ่านมาเผชิญความท้าทายอย่างมากจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทั่วโลกต้องประสบเป็นปีแรกไม่เพียงทำให้กำลังซื้อของคู่ค้าชะลอตัว ยังทำให้พรมแดนระหว่างประเทศจำเป็นต้องจำกัดจุดผ่านแดนเหลือเพียงเฉพาะช่องทางที่สำคัญเท่านั้น รวมทั้งเพิ่มมาตรการเข้มงวดในการตรวจปล่อยรถขนส่งสินค้า สิ่งเหล่านี้กดดันการส่งออกชายแดนและผ่านแดนของไทยในภาพรวมให้หดตัวร้อยละ 2.16 มีมูลค่า 766,314 ล้านบาท ในปี 2563

สำหรับปี 2564 เป็นอีกปีที่โควิด-19 ยังไม่คลี่คลาย แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าของไทยเริ่มปรับตัวดีขึ้นกว่าเดิม มีทั้งปัจจัยด้านราคาน้ำมันที่เข้ามาช่วยเสริมให้ตัวเลขการค้าชายแดนพลิกฟื้นกลับมา ขณะที่โครงสร้างการส่งออกสินค้าของไทยที่พึ่งพาตลาดประเทศที่มีพรมแดนติดกับไทยเกินกว่าครึ่ง (เมียนมา สปป.ลาว กัมพูชาและมาเลเซีย) กลายเป็นจุดอ่อนสำคัญที่ฉุดการส่งออกชายแดนในภาพรวมลดลงตลอด 3 ปีที่ผ่านมา โดยคาดว่าในปี 2564 การส่งออกชายแดนไปตลาดเหล่านี้จะยังมีทิศทางเติบโตเชื่องช้าต่อไปขยายตัวเพียงร้อยละ 1.3 มีมูลค่าการส่งออก 454,005 ล้านบาท ดังนี้

  • การส่งออกชายแดนของไทยเริ่มมีปัญหามีมูลค่าการค้าลดลงเรื่อยมา ด้วยข้อจำกัดด้านกำลังซื้อและจำนวนประชากรของคู่ค้า จึงทำให้ทิศทางการส่งออกไปยังตลาดเหล่านี้เติบโตได้อย่างจำกัด โดยเฉพาะประเทศที่มีพรมแดนติดกับไทยอย่าง สปป.ลาว และกัมพูชา
  • โครงสร้างการส่งออกสินค้าแบบเดิมของไทยตอบโจทย์ตลาดคู่ค้าได้น้อยลง

จะเห็นได้ว่าโครงสร้างการส่งออกของไทยไม่เอื้อต่อการส่งออกไปยังตลาดชายแดนหลักของไทยดังเช่นในอดีต ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ตลาดดาวรุ่งที่จะมาสนับสนุนการค้าชายแดนของไทยอยู่ที่การส่งสินค้าผ่านแดนไปประเทศที่ 3 (สิงคโปร์ จีน เวียดนาม และประเทศอื่นๆ) ซึ่งเริ่มมีสัญญาณเติบโตมาระยะหนึ่ง โดยสัดส่วนการส่งออกไปตลาดนี้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 43 ของการส่งออกชายแดนและผ่านแดน (จากที่เคยมีสัดส่วนร้อยละ 37 ในปี 2561) อีกทั้งสินค้าไทยที่ไปตลาดนี้มีศักยภาพโดดเด่นจึงน่าจะเติบโตได้ดีกว่าตลาดอื่นๆ โดยคาดว่าปี 2564 จะเติบโตที่ร้อยละ 8.5 มีมูลค่าส่งออกราว 345,191 ล้านบาท

โดยสรุป ด้วยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าที่น่าจะปรับตัวดีขึ้นจากปีก่อน ซึ่งได้ผ่านพ้นสถานการณ์โควิด-19 มาได้อีกปีหนึ่ง ซึ่งแน่นอนว่าหลายประเทศยังต้องพึ่งพาการบริโภคสินค้าจากไทย รวมถึงสินค้าในกลุ่ม IT มีสัญญาณเร่งตัวตามกระแสโลกอย่างต่อเนื่องยิ่งผลักดันการส่งออกสินค้าผ่านแดนไปประเทศที่ 3 ให้มีบทบาทสำคัญ ด้วยแรงขับเคลื่อนดังกล่าว

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การส่งออกชายแดนและผ่านแดนของไทยปี 2564 จะพลิกกลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 4.3 มีมูลค่าการส่งออก 799,195 ล้านบาท (กรอบประมาณการเติบโตที่ร้อยละ 3.3-5.5 มีมูลค่าการส่งออก 791,602-808,461 ล้านบาท) โดยขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าในการรับมือกับการระบาดของโควิด-19 ได้ดีเพียงใด การส่งออกไปตลาดส่วนใหญ่กลับมาขยายตัวยกเว้นบางประเทศที่หดตัวจากปัจจัยเฉพาะ อาทิ เมียนมาที่มีปัญหาการเมืองในประเทศฉุดเศรษฐกิจ และโรคระบาดในสุกรที่กัมพูชาทำให้ฐานปีก่อนสูงผิดปกติอย่างมาก

นอกจากนี้ สิ่งที่ต้องจับตาในระยะต่อไป ต้องยอมรับว่าโครงสร้างการผลิตและส่งออกของไทยในปัจจุบันไม่เอื้อให้ค้าชายแดนไทยเติบโตได้อย่างมั่งคงนัก เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นสินค้ามีมูลค่าเพิ่มน้อยในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค อาหารและเครื่องดื่ม ขนาดตลาดมีจำกัดจึงไม่สามารถผลักดันค้าชายแดนให้เร่งตัวได้มาก ทำได้เพียงแค่ประคองการเติบโตไปตามภาวะเศรษฐกิจของคู่ค้าเป็นหลัก ขณะที่สินค้าที่ใช้วัตถุดิบในไทยอย่างยางพารากับผลไม้เมืองร้อน ซึ่งมีศักยภาพโดดเด่นในตัวเองมีส่วนช่วยขับเคลื่อนค้าชายแดนไทยไปยังประเทศจีนและเวียดนามได้อย่างต่อเนื่องและยังคงมีช่องทางอันสดใส แต่สินค้าที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูงในกลุ่มยานยนต์ เทคโนโลยีโดยเฉพาะสินค้า IT ที่อยู่ในกระแสความต้องการของตลาดโลกยังมีโอกาสเติบโตได้อย่างไม่หยุดยั้ง นับว่ามีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นการค้าชายแดนของไทยนับจากนี้ไป แต่สินค้าเหล่านี้จะยังคงเป็นแรงส่งให้แก่ไทยได้อีกนานแค่ไหนนั้นคงขึ้นอยู่กับการตัดสินใจลงทุนของต่างชาติว่าจะเลือกลงทุนในไทยหรือย้ายไปตั้งฐานการผลิตที่อื่น ดังนั้น การกระตุ้นการค้าชายแดนซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งของการค้าในภาพรวมของไทยก็คงต้องเริ่มจาการแก้ปัญหาโครงสร้างการผลิตของไทยให้ยกระดับไปอีกขั้น จนสินค้าไทยเกิดความโดดเด่นเป็นที่ต้องการของคู่ค้าเหนือคู่แข่งชาติอื่นๆ

ที่มา :

/1 https://kasikornresearch.com/th/analysis/k-econ/business/Pages/Border-Trade-z3191.aspx

/2 https://www.moneyandbanking.co.th/article/news/kresearch-frontier-19022021

ญี่ปุ่นตอกย้ำการร่วมพัฒนาเมืองของกัมพูชา

ฟอรัมครั้งที่สองระหว่างกัมพูชากับญี่ปุ่น ตอกย้ำการพัฒนาเขตเมืองกัมพูชาให้เป็นเมือง “อัจฉริยะ” ซึ่งทำการประชุมผ่านทางออนไลน์ระหว่างกระทรวงการจัดการที่ดินการวางผังเมืองและการก่อสร้าง (MLMUPC) ของกัมพูชา และกระทรวงที่ดินโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งและการท่องเที่ยวของญี่ปุ่น โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวง MLMUPC กล่าวถึงการประชุมที่จัดขึ้นเพื่อผลักดันโอกาสทางธุรกิจให้เกิดความต่อเนื่องระหว่างสองประเทศ และส่งเสริมการลงทุนจากญี่ปุ่นมายังกัมพูชาเพิ่มมากขึ้น ซึ่งในการพูดคุยกันรัฐมนตรีกระทรวงฯ ของญี่ปุ่นกล่าวว่าญี่ปุ่นจะสนับสนุน แบ่งปันแนวทางในการปฏิบัติ และประสบการณ์ที่ดีกับกัมพูชา เกี่ยวกับการขยายตัวของเมืองโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการบริหารอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้รัฐบาลกัมพูชาถือว่าภาคเอกชนเป็นกลไกในการผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจและมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ การพัฒนาการจ้างงาน การส่งเสริม SMEs ไปจนถึงการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (IR4.0) ของกัมพูชา

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50815380/japan-cambodia-forum-reinforces-urban-development-in-kingdom/

รัฐบาลกัมพูชาร่วมกับบริษัทเอกชน ส่งเสริมสินค้าเกษตรปลอดภัย

กระทรวงเกษตรป่าไม้และการประมง ร่วมกับตัวแทนของบริษัทเอกชน ทำการลงนามบนสัญญากว่า 16 ฉบับ รวมถึงบันทึกความเข้าใจ (MoU) อีก 2 ฉบับ เพื่อส่งเสริมสินค้าเกษตรปลอดภัยของกัมพูชา เช่น ผัก มันสำปะหลัง แตงโม มะม่วง และสัตว์เศรษฐกิจอื่น ๆ โดยเจ้าหน้าที่อาวุโสของกระทรวงเกษตร กระทรวงป่าไม้และประมง รวมถึงกระทรวงเศรษฐกิจการเงิน ตลอดจนผู้ได้รับมอบหมายจาก IFAD พันธมิตรเพื่อการพัฒนาภาคเอกชน ผู้สนับสนุน และกลุ่มผู้ผลิตสินค้าเกษตรร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามอย่างเป็นทางการ ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ ASPIRE ที่เป็นโครงการด้านความร่วมมือในการพัฒนาด้านการเกษตรเพื่อนวัตกรรม โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรป่าไม้และการประมงกล่าวเน้นย้ำว่าโครงการนี้มีส่วนสำคัญในการจัดหาและพัฒนาทรัพยากรด้านอาหารที่ปลอดภัย รวมถึงทำการตลาดสำหรับพืชผักในประเทศ ลดการนำเข้าสินค้าเกษตรลง นอกจากนี้ยังรักษาปริมาณอาหารในกัมพูชาและพัฒนาภาคเกษตรกรรมต่อไป

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50815361/ministry-private-firms-cooperate-to-boost-cambodias-safe-agricultural-products/