สุพัฒนพงษ์ เตรียมประชุม รมว.เศรษฐกิจอาเซียน ดันแก้อุปสรรคการลงทุน

รายงานข่าวจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เปิดเผยว่าที่ประชุม ครม.เมื่อเร็วๆ นี้เห็นชอบร่างกรอบการอำนวยความสะดวกด้านการลงทุนอาเซียน (ASEAN Investment Facilitation Framework : AIFF) ตามที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเสนอ โดยมอบหมายให้รัฐมนตรีผู้รับผิดชอบด้านเศรษฐกิจและการลงทุนของไทย นาย สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนของไทยในการรับรองกรอบ AIFF ในการประชุม รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนและคณะมนตรีเขตการลงทุนอาเซียนครั้งที่ 24 (ASEAN Economics Ministers-24th ASEAN Investment Area Council Meeting : AEM-24tAA Counail Meeting ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 8 กันยายน ที่จะถึงนี้ โดยกรอบ AIFF ในครั้งนี้ให้ความสำคัญในการอำนวยความสะดวกด้านการลงทุนในฐานะเสาหลักสำคัญของการลงทุนที่นำไปสู่การรักษาและการเติบโตของการลงทุนในประเทศ ผ่านการสร้างบรรยากาศการลงทุนที่อำนวยความสะดวกแก่ผู้ลงทุนในการจัดตั้ง ดำเนินการ และขยายการลงทุนและธุรกิจโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ภูมิภาคอาเซียนกำลังจะก้าวเข้าสู่สภาพแวดล้อมภายหลังวิกฤติการระบาดของโรคโควิด 19 โดยมุ่งให้อาเซียนฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 โดยเน้นที่การลงทุนเพื่อผลักดันให้อาเซียนเป็นฐานการผลิต (ซัพพายเชน) ที่สำคัญของโลก

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/957596

ครม. เห็นชอบแผนฟื้นฟูการท่องเที่ยวของภูมิภาคอาเซียนหลังโควิด-19 พร้อมแนวปฏิบัติ 5 เสาหลัก

น.ส.ไตรศุลี  ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบแผนฟื้นฟูการท่องเที่ยวของภูมิภาคอาเซียนภายหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 และถ้อยแถลงข่าวร่วมรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียนว่าด้วยเรื่องแผนฟื้นฟูฯดังกล่าว พร้อมอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ให้การรับรองผลการศึกษาฉบับสุดท้ายของแผนฟื้นฟูฯ และถ้อยแถลงข่าวร่วมรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียน  โดยผลการศึกษาดังกล่าวประกอบด้วยข้อเสนอแนะและแนวปฏิบัติ 5 เสาหลัก 1.สนับสนุนธุรกิจการท่องเที่ยวด้วยการฟื้นฟูและการปรับตัว 2.ฟื้นฟูการเดินทางภายในภูมิภาคและระหว่างประเทศอย่างปลอดภัยและไร้รอยต่อ 3.สร้างความมั่นใจในการฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวให้เป็นไปตามหลักการของความยั่งยืนและมีความครอบคลุม 4.นำเสนอรูปแบบใหม่ของการบริการด้านการท่องเที่ยวเพื่อขับเคลื่อนการแข่งขัน 5.สนับสนุนการฟื้นฟูด้านการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวได้เร็วในระยะยาว และการเตรียมความพร้อมในภาวะวิกฤติ

ที่มา : https://www.prd.go.th/th/content/category/detail/id/39/iid/38489

‘บริษัทเวียดนาม’ ชี้ยังใช้ประโยชย์จากตลาดอาเซียนไม่เต็มที่

แม้ว่าจะมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ว่ายอดการค้าระหว่างประเทศของเวียดนามและประเทศในอาเซียน ยังคงเพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตามยังต้องดำเนินการอีกมากเพื่อดึงประโยชน์จากตลาดเพื่อนบ้านให้เต็มที่ การค้าระหว่างเวียดนามกับประเทศอาเซียนในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ แม้จะได้รับผลกระทบของโควิด-19 แต่ตัวเลขการค้ายังคงเพิ่มขึ้น 38.5% เมื่อเทียบเป็นรายปี ด้วยมูลค่า 40.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ ตลาดอาเซียนเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ ประชากรรวมกันเกือบ 700 ล้านคน ชนชั้นกลางเพิ่มขึ้น มีความล้ายคลึงกันทั้งด้านวิถีชีวิตและวัฒนธรรม ดังนั้นเวียดนามยังมีพื้นที่มากพอที่จะส่งออกสินค้าไปยังภูมิภาคดังกล่าว นอกจากนี้ ประเทศในอาเซียนยังเป็นผู้นำเข้าข้าวเวียดนามรายใหญ่อีกด้วย อีกทั้งสินค้าเวียดนามอื่นๆ อีกจำนวนมากที่มีศักยภาพในการส่งออกไปยังตลาดอาเซียน ได้แก่ โทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ชา เสื้อผ้าและวัสดุก่อสร้าง เป็นต้น

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1020310/vietnamese-firms-yet-to-fully-take-advantage-of-asean-markets-experts.html

อาเซียนถกแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 ตั้งเป้าชงผู้นำดันอาเซียนสู่ยุคดิจิทัล

นายดวงอาทิตย์ นิธิอุทัย รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจากนายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ให้เป็นผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมคณะทำงานระดับสูงว่าด้วยการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียน (High Level Task Force on ASEAN Economic Integration หรือ HLTF-EI) ครั้งที่ 40 ผ่านระบบประชุมทางไกล ได้ข้อสรุปดันอาเซียนสู่ความเป็นดิจิทัล ชงแผนผู้นำเห็นชอบ ต.ค.นี้ ไทยย้ำการบังคับใช้ความตกลง RCEP ตามแผนเพื่อเร่งขยายการค้า การลงทุน

ที่มา : https://mgronline.com/business/detail/9640000084343

เกษตร ถก อาเซียน +3 ถกปัญหาโควิดกระทบความมั่นคงอาหาร

นายระพีภัทร จันทรศรีวงศ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย (SOM-AMAF Leader) เข้าร่วมการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสของการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านการเกษตรและป่าไม้กับเจ้าหน้าที่อาวุโสของจีน ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ 20 สมัยพิเศษ (Special SOM-20th AMAF Plus 3) ผ่านการประชุมทางไกล โดยที่ประชุมได้รับทราบความก้าวหน้าของกิจกรรมความร่วมมืออาเซียนบวกสามด้านอาหาร เกษตร และป่าไม้ ภายใต้ ASEAN Plus Three Cooperation Strategy (APTCS) Framework on Food, Agriculture, and Forestry และรับทราบผลการดำเนินงานขององค์กรสำรองข้าวฉุกเฉินของอาเซียน+3 (ASEAN Plus Three Emergency Rice Reserve: APTERR) และสำนักงานเลขานุการระบบข้อมูลสารสนเทศความมั่นคงทางอาหารในภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Food Security Information System: AFSIS) ซึ่งตั้งอยู่ในประเทศไทย โดยไทยได้กล่าวในที่ประชุมถึงสถานการณ์ปัจจุบันของวิกฤตโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อระบบอาหารทั้งหมด ประเทศไทยเห็นควรส่งเสริมความร่วมมืออย่างใกล้ชิดของอาเซียนบวกสามมากยิ่งขึ้น ในด้านการแบ่งปันข้อมูลความมั่นคงด้านอาหารระหว่างประเทศในกลุ่มอาเซียนบวกสาม การส่งเสริมความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาในด้าน Food system ความมั่นคงอาหาร

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/956592

“พาณิชย์” เผยไทยใช้ FTA-GSP ส่งออกครึ่งปี เพิ่ม 34%

นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า การใช้สิทธิประโยชน์สำหรับการส่งออกภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) และระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) เดือน มิ.ย.2564 มีมูลค่า 8,380.79 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.61 และยอดรวม 6 เดือนปี 2564 (ม.ค.-มิ.ย.) มีมูลค่า 40,244.26 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 34.34 มีสัดส่วนการใช้สิทธิประโยชน์ร้อยละ 78.07 ของการได้รับสิทธิ์ทั้งหมด แบ่งเป็นมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ FTA มูลค่า 38,329.42 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 34.27 มีสัดส่วนการใช้สิทธิ์ร้อยละ 79.05 และมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ GSP มูลค่า 1,914.84 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 35.63 มีสัดส่วนการใช้สิทธิ์ร้อยละ 62.61 สำหรับรายละเอียดการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ FTA ในช่วง 6 เดือน ตลาดที่ไทยส่งออกโดยมีมูลค่าการใช้สิทธิ์สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.อาเซียน มูลค่า 13,439.89 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 2.จีน มูลค่า 12,734.82 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 3.ออสเตรเลีย มูลค่า 4,270.36 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 4.ญี่ปุ่น มูลค่า 3,485.86 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 5.อินเดีย มูลค่า 2,336.85 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนกรอบ FTA ที่มีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.ไทย-เปรู 100% 2.อาเซียน-จีน 96.58% 3.ไทย-ชิลี 86.80% 4.ไทย-ญี่ปุ่น 80.04% และ 5.อาเซียน-เกาหลี 69.43%

ที่มา : https://www.thansettakij.com/economy/492374

IMT-GT ชูความร่วมมือเศรษฐกิจ 3 ฝ่าย ฟื้นวิกฤติหลังโควิด

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในฐานะรัฐมนตรีประจำแผนงาน IMT-GT ของไทย เข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 27 แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย – มาเลเซีย – ไทย (Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle: IMT-GT) ผ่านระบบประชุมทางไกลในที่ประชุมเห็นพ้องแผนงานฟื้นวิกฤติหลังโควิด-19 ชู บีซีจี อุตสาหกรรมฮาลาล “อาคม” ชูแผนงานภูเก็ตแซนบ็อกด์ สมุยพลัสโมเดล ฟื้นท่องเที่ยว ส่วนคนละครึ่งช่วยเพิ่มกำลังซื้อในประเทศ นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้รับทราบถึงการเตรียมความพร้อมเพื่อดำเนินการตามแผนปฏิบัติการของกรอบการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนของแผนงาน IMT-GT พ.ศ. 2565 – 2569 ซึ่งมุ่งเน้นให้เกิดการลงทุนในเรื่องการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การลดมลพิษจากภาคการขนส่ง และการใช้ประโยชน์ควบคู่กับการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ โดยมีมูลค่าการลงทุนรวม 5,370 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 1.79 แสนล้านบาท) ทั้งนี้ รัฐมนตรีแผนงาน IMT-GT ของไทยได้ให้ข้อคิดเห็นว่าประเด็นดังกล่าวมีความสำคัญต่อการพัฒนาในระดับอนุภูมิภาค อีกทั้งยังสอดรับกับทิศทางของไทยที่กำลังดำเนินนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Model) รวมถึงโครงการเมืองสีเขียว ในเทศบาลนครสงขลาและเทศบาลนครหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/954439

‘สหรัฐ’ ประกาศมอบ 500,000 ดอลลาร์ เข้ากองทุน ‘อาเซียน’ โควิด

นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงในวันนี้ เกี่ยวกับผลการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน- สหรัฐว่า นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสนับสนุนบทบาทที่สร้างสรรค์ของสหรัฐในภูมิภาค ขณะที่ นายแอนโทนี บลิงเคน รมว.ต่างประเทศสหรัฐ ได้ประกาศว่า สหรัฐสนับสนุนเงินจำนวน 500,000 ดอลลาร์ ให้แก่กองทุนอาเซียนเพื่อรับมือโควิด-19 ในที่ประชุม นายดอน ได้เสนอประเด็นส่งเสริมความร่วมมืออาเซียน-สหรัฐ 4 ด้าน ได้แก่ 1.การสำรองวัคซีนโควิด-19 และอุปกรณ์ทางการแพทย์ในภูมิภาคสำหรับภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขในอนาคต 2.การเสริมสร้างดุลยภาพทางยุทธศาสตร์ในภูมิภาคโดยมีอาเซียน เป็นเวทีในการขับเคลื่อนความร่วมมือที่สร้างสรรค์ระหว่างทุกผู้เล่นหลักในภูมิภาค 3.การพัฒนาความร่วมมือด้านดิจิทัล 4.การสร้างความสมดุลระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ โดยเสนอโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว (BCG)เป็นแนวคิดที่สอดคล้องและสามารถสนับสนุนข้อริเริ่ม Build Back Better World (B3W) ของสหรัฐ

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/953051

อังกฤษได้รับสถานะ “คู่เจรจา” ของอาเซียน

อังกฤษพยายามขอสถานะ “คู่เจรจาของอาเซียน” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายหลังเบร็กซิท ที่จะเปลี่ยนไปเน้นความสัมพันธ์กับประเทศที่มีอัตราการขยายตัวสูงในเอเชียและอินโด-แปซิฟิก มากยิ่งขึ้น และให้ความสำคัญน้อยลงกับสมาชิกอียู ที่อังกฤษถอนตัวออกมาเมื่อปี 2020 โดยอาเซียนกล่าวในแถลงการณ์หลังจากการประชุมสมาชิกครั้งล่าสุดว่า อาเซียนตกลงที่จะให้สถานะประเทศคู่เจรจาแก่สหราชอาณาจักร โดยมองจากความสัมพันธ์กับอาเซียนและความร่วมมือในอดีตที่ผ่านมาและการมีส่วนร่วมกับอาเซียนเมื่อครั้งที่อังกฤษจะเป็นสมาชิกอียู การที่อังกฤษได้รับสถานะประเทศคู่เจรจา จะทำให้อังกฤษสามารถเข้าร่วมในการประชุมในระดับสูงของการประชุมสุดยอดอาเซียน ซึ่งรัฐบาลอังกฤษหวังว่าจะสามารถช่วยให้มีความร่วมมือในทางปฏิบัติกับอาเซียนในประเด็นอื่น ๆ ด้วย เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและเสถียรภาพในภูมิภาค นอกจากนี้แล้ว อังกฤษยังสมัครเข้าร่วมเป็นภาคีความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก โดยเป็นความตกลงการค้าเสรีที่ครอบคลุมในเรื่องการค้า การบริการ และการลงทุนเพื่อสร้างมาตรฐานและกฎระเบียบร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิก โดยอังกฤษคาดหวังว่าจะช่วยเปิดตลาดใหม่ๆ ให้กับสินค้าและบริการจากอังกฤษ พร้อมทั้งเสริมสร้างการเชื่อมต่อด้านการพาณิชย์ที่มีอยู่ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

ที่มา : https://tna.mcot.net/world-752244

Sea (Group) เผยผลการสำรวจอินไซต์ผู้ค้าออนไลน์ 5 กลุ่ม ในภูมิภาคอาเซียน สะท้อน ‘ความหลากหลาย’ บนโลกอีคอมเมิร์ซไทย

Sea (Group) บริษัทชั้นนำระดับโลกในด้านการให้บริการอินเทอร์เน็ตแพลตฟอร์มสำหรับผู้บริโภค ซึ่งดำเนินธุรกิจด้านดิจิทัลเอนเตอร์เทนเมนท์ (Garena) อีคอมเมิร์ซ (Shopee) และบริการด้านการเงินแบบดิจิทัล (SeaMoney) เผยผล “การสำรวจ Online Seller Archetypes” เพื่อจับอินไซต์ว่าบทบาทของอีคอมเมิร์ซที่เพิ่มมากขึ้น จากกระแสดิสรัปชันและการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งแรงกระเพื่อมไปถึงผู้ค้าออนไลน์ในภูมิภาคอาเซียนอย่างไร โดยผลสำรวจจากผู้ค้าออนไลน์บนแพลตฟอร์มช้อปปี้ราว 42,000 ราย จากทั้งหมด 6 ประเทศ ประกอบไปด้วย ประเทศไทย สิงคโปร์ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ชี้ว่า รูปแบบการรับอีคอมเมิร์ซแพลตฟอร์มมาใช้งานมีความหลากหลาย และสามารถแบ่งออกได้เป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ The Homemaker, The Student, The Never-too-late, The Moonlighter และ The Highly-digital ซึ่งใช้งานอีคอมเมิร์ซเพื่อตอบโจทย์ความจำเป็นที่แตกต่างกัน ทั้งในแง่การพัฒนาคุณภาพชีวิตและการเสริมศักยภาพธุรกิจ สะท้อนให้เห็นถึงแรงกระเพื่อมจากธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ที่สนับสนุนให้เกิดความยืดหยุ่นและความสามารถในการปรับตัว (Resilience & Adaptability) ในผู้ค้าออนไลน์หลากหลายกลุ่มในสังคมวงกว้าง

ที่มา : https://www.ryt9.com/s/prg/3243154