กัมพูชานำเข้าเนื้อวากิวจากญี่ปุ่นลดลงร้อยละ 60

กัมพูชานำเข้าเนื้อวากิวจากญี่ปุ่นลดลงร้อยละ 60 สำหรับในช่วง 8 เดือนแรกของปี รายงานโดยสื่อญี่ปุ่นโดยอ้างจากแหล่งข่าวของรัฐบาลญี่ปุ่น สำหรับเนื้อวากิวถือเป็นหนึ่งในเนื้อสัตว์ที่มีราคาแพงที่สุดในโลก ซึ่งมีราคาเริ่มต้นสูงกว่า 90 ดอลลาร์ต่อกิโลกรัม ด้วยเอกลักษณ์ทางด้านรสชาติที่เข้มข้น มีรสเนย และลายหินอ่อน (มันแทรก) ด้านกัมพูชาเริ่มนำเข้าเนื้อวากิวจากญี่ปุ่นตั้งแต่ในช่วงปี 2020 เป็นต้นมา รวมถึงกัมพูชาและเกาหลีใต้ได้เริ่มกำหนดข้อตกลงเกี่ยวกับการเจรจาการกักกันเนื้อสัตว์ที่นำเข้ามาจากเกาหลีใต้เมื่อ 8 ปีที่แล้ว โดยเกาหลีใต้หวังผลักดันการส่งออกเนื้อวัวเกรดพรีเมี่ยมจำนวนกว่า 2,000 ตัน มูลค่า 100 ล้านดอลลาร์ ไปยังกัมพูชา ภายในอีก 5 ปีข้างหน้า จากข้อมูลของ Statista รายงานว่าปริมาณการขายเนื้อสัตว์ในตลาดของประเทศกัมพูชา ซึ่งประกอบด้วยเนื้อสด เนื้อแปรรูป และสารทดแทนเนื้อสัตว์ คาดว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 2.127 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2023 และคาดว่าจะเติบโตในอัตราร้อยละ 8.33 ต่อปี ไปจนถึงปี 2028

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501388703/japanese-wagyu-beef-exports-to-cambodia-decline-by-60-percent/

‘เวียดนาม’ เผยยอดค้าต่างประเทศ ทะลุ 500 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

กรมศุลกากรเวียดนาม เปิดเผยข้อมูลเมื่อวันที่ 15 ต.ค. ว่าการส่งออกและการนำเข้าของเวียดนาม อยู่ที่ 523 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และจากข้อมูลตั้งแต่ต้นปีนี้จนถึงเดือน ต.ค. พบว่า เวียดนามมีมูลค่าการส่งออก 272.74 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงราว 24 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 250.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้เวียดนามเกินดุลการค้า 22.54 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ โทรศัพท์และชิ้นส่วนเป็นสินค้าส่งออกที่ทำรายได้มากที่สุด มีมูลค่า 41.47 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ รองลงมาคอมพิวเตอร์ และส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรและอะไหล่ เครื่องนุ่งห่มและสิ่งทอ โดยเฉพาะผักและผลไม้ที่มีการเติบโตมากที่สุดในกลุ่มสินค้าส่งออกสำคัญของเวียดนาม เพิ่มขึ้น 75.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/viet-nam-s-foreign-trade-exceeds-us-500-bln-2206129.html

เมียนมามีรายได้กว่า 16,551.306 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากมูลค่าการค้าต่างประเทศ ช่วงระยะเวลามากกว่า 6 เดือนในปีงบประมาณ 2023-2024

จากวันที่ 1 เมษายน 2566 – 6 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมาเมียนมาร์มีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 8,712.336 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมูลค่าการนำเข้า 7,838.97 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้มีดุลการค้าแบบขาดดุลอยู่ที่ 873.366 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดย เมียนมาร์มีการส่งออกผลิตผลทางการเกษตร ปศุสัตว์ การประมง ผลิตภัณฑ์แร่ธาตุ ผลิตภัณฑ์จากป่าไม้ ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมสำเร็จรูป และสินค้าอื่นๆ ไปยังต่างประเทศ นอกจากนี้ยังมี สินค้าเพื่อการลงทุน วัตถุดิบเชิงพาณิชย์ สินค้าอุปโภคบริโภค วัตถุดิบสินค้าตัดเย็บ หรือ CMP (cut-make-package) โดยนำเข้าจากต่างประเทศเป็นหลัก ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมการส่งออกของเมียนมาร์ตามยุทธศาสตร์การส่งออกแห่งชาติ (National Export Strategy : NES) ปี 2020-2025 ที่มีผลบังคับใช้อยู่ในขณะนี้ อย่างไรก็ดี ภาคส่วนที่สำคัญตามแผนยุทธศาสตร์การส่งออกแห่งชาติ NES 2020-2025 ได้แก่ การผลิตอาหารจากการเกษตร สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม อุตสาหกรรมและไฟฟ้า การประมง ผลิตภัณฑ์จากป่า ผลิตภัณฑ์และบริการดิจิทัล บริการโลจิสติกส์ การจัดการคุณภาพ บริการข้อมูลการค้า นวัตกรรมและผู้ประกอบการ และอื่นๆ

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/us16551-306-mln-earned-from-foreign-trade-volume-in-more-than-six-months-period-in-2023-24-fy/

มูลค่าการค้าระหว่างประเทศของกัมพูชาแตะ 3.5 หมื่นล้านดอลลาร์ ในช่วง 9 เดือน

กรมศุลกากรและสรรพสามิตกัมพูชา (GDCE) รายงานถึงสถานการณ์การค้าระหว่างประเทศของกัมพูชา ซึ่งมีมูลค่าการค้ารวมกว่า 35,160 ล้านดอลลาร์ สำหรับในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ ลดลงเล็กน้อยร้อยละ 3.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยนับตั้งแต่เดือนมกราคมถึงกันยายนกัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศมูลค่ารวม 1.69 หมื่นล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 0.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่การนำเข้าลดลงร้อยละ 5.9 เหลือมูลค่า 1.82 หมื่นล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งคู่ค้าสำคัญของกัมพูชา ได้แก่ สหรัฐฯ จีน เวียดนาม ญี่ปุ่น จีน เยอรมนี แคนาดา และสหราชอาณาจักร สำหรับสินค้าส่งออกหลักของกัมพูชา ได้แก่ เสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์รองเท้า เครื่องหนัง ธัญพืช เฟอร์นิเจอร์ ยาง ผลไม้ และสิ่งทอ ขณะในปี 2022 กัมพูชาส่งออกสินค้ามูลค่ารวม 2.24 หมื่นล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.4 และการนำเข้าสินค้ามูลค่า 2.99 หมื่นล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.3

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501374641/cambodias-international-trade-reaches-35-billion-in-nine-months/

‘เวียดนาม’ เผย 8 เดือน นำเข้าน้ำมัน 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

เวียดนามนำเข้าน้ำมันปิโตรเลียมทุกประเภทในช่วง 8 เดือนของปี 2566 อยู่ที่ 7.22 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 5.88 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในเชิงปริมาณเพิ่มขึ้น 22.2% แต่มูลค่าลดลง 5.5% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ในขณะที่ปริมาณการนำเข้าน้ำมันดีเซล อยู่ที่ราว 4 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 18.5% หรือคิดเป็นสัดส่วนการนำเข้า 55% ของปริมาณเชื้อเพลิงที่นำเข้าจากต่างประเทศ

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/vietnam-spent-nearly-1-billion-on-gasoline-imports-in-8-months-2194858.html

‘เมียนมา’ ชี้ช่วง 5 เดือนปี 66 ยอดการค้าต่างประเทศ พุ่ง 13 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

กระทรวงพาณิชย์เมียนมา เปิดเผยว่าการค้าต่างประเทศในช่วง 5 เดือนของปี 2566 (เม.ย.-ส.ค.) ของปีงบประมาณ 2566-2567 มีมูลค่ากว่า 13 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ การส่งออกของเมียนมามีอยู่ที่ 6.48 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 7.21 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ดี หากพิจารณาตัวเลขการค้าในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา พบว่าตัวเลขการค้าปรับตัวลดลงราว 690.17 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ทั้งนี้ สินค้าส่งออกส่วนใหญ่ของเมียนมา ได้แก่ ผลผลิตทางการเกษตร ปศุสัตว์และป่าไม้ ผลิตภัณฑ์จากเหมืองแร่และสินค้าอุตสาหกรรม ในขณะเดียวกัน สินค้านำเข้าหลักของเมียนมา ได้แก่ สินค้าทุน สินค้าขั้นกลาง วัตถุดิบที่นำเข้าจากบริษัท CMP และสินค้าอุปโภคบริโภค

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmars-foreign-trade-soars-past-us13-bln-in-last-five-months/#article-title

บังกลาเทศ ยื่นเสนอ 3 โมเดลการค้าแบบนำเข้าน้ำตาลจากเมียนมา

สมาคมผลิตภัณฑ์น้ำตาลและอ้อยของเมียนมา (MSCA) เปิดเผยว่าบังกลาเทศได้ยื่นข้อเสนอให้มีการนำเข้าน้ำตาลจากเมียนมา ภายใต้รูปแบบระหว่างรัฐบาลกับหน่วยงานภาครัฐ (G2G), หน่วยงานรัฐกับภาคธุรกิจ (G2B) และธุรกิจกับธุรกิจ (B2B) ซึ่งผลปรากฎว่าทางสมาคมฯ พร้อมที่จะส่งออกน้ำตาลไปยังบังกลาเทศ เนื่องจากมีสต็อกเพียงพอในปีงบประมาณนี้ นอกจากนี้ ยังมีการยื่นข้อเสนอให้ซื้อข้าวจากเมียนมา เนื่องจากข้าวมีคุณภาพดี

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/bangladesh-proposes-three-commercial-models-for-importing-sugar-from-myanmar/#article-title

อินโดนีเซียเล็งนำเข้าข้าวกัมพูชา

Joko Widodo ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ให้คำมั่นสัญญากับนายกรัฐมนตรี Hun Sen เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (11 ส.ค.) ถึงการนำเข้าข้าวจากกัมพูชาเพื่อยกระดับการค้าทวิภาคี โดยทางอินโดนีเซียจะส่งคณะผู้แทนเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการนำเข้าข้าวจากกัมพูชา ซึ่งก่อนหน้านี้รัฐบาลกัมพูชาและอินโดนีเซียเคยได้ลงนามในข้อตกลงการซื้อข้าวระหว่างกันในปี 2012 เป็นครั้งแรก แต่ยังไม่ได้สรุปโควตาปริมาณการส่งออกและประเภทของข้าว

ขณะเดียวกันนายกรัฐมนตรีฮุน เซน ชื่นชมความเคลื่อนไหวดังกล่าว โดยเรียกร้องให้อินโดนีเซียลงทุนในภาคอุตสาหกรรมข้าวในกัมพูชา ซึ่งนักลงทุนอินโดนีเซียสามารถถือครองสัดส่วนการลงทุนได้สูงถึงร้อยละ 100 ในการจัดตั้งโรงสี โกดัง และเครือข่ายรับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกร เพื่อสร้างความมั่นคงในการส่งออก สำหรับในช่วงครึ่งแรกของปีกัมพูชาส่งออกข้าวสารไปยังตลาดต่างประเทศกว่า 329,633 ตัน ไปยัง 52 ประเทศทั่วโลก โดยเน้นการส่งออกไปที่ข้าวหอมพรีเมียม ข้าวหอม ข้าวขาวเมล็ดยาว ข้าวนึ่ง และข้าวอินทรีย์ สร้างรายได้เข้าประเทศกว่า 229 ล้านดอลลาร์ รายงานโดยสหพันธ์ข้าวกัมพูชา (CRF) ซึ่งในขณะเดียวกันกัมพูชาส่งออกข้าวเปลือก ณ ชายแดนประเทศกว่า 2.2 ล้านตัน สร้างรายได้เข้าประเทศประมาณ 578 ล้านดอลลาร์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501342422/indonesia-eyes-cambodian-rice-imports/

มูลค่าการค้าทวิภาคี กัมพูชา-ออสเตรเลีย เติบแตะเกือบ 260 ล้านดอลลาร์

ปริมาณการค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและออสเตรเลียในช่วงครึ่งแรกของปี 2023 เพิ่มสูงขึ้นกว่า 258 ล้านดอลลาร์ ตามการรายงานของกรมศุลกากรและสรรพสามิตกัมพูชา ซึ่งคิดเป็นการส่งออกของกัมพูชาไปยังออสเตรเลียที่มูลค่า 180 ล้านดอลลาร์ ขณะที่การนำเข้าของกัมพูชาจากออสเตรเลียมีมูลค่าอยู่ที่ 77 ล้านดอลลาร์ โดยออสเตรเลียเน้นการนำเข้าสินค้ากลุ่มสิ่งทอ เครื่องใช้ไฟฟ้า และสินค้าด้านการเกษตรเป็นสำคัญ ซึ่งทางการกัมพูชาคาดหวังเป็นอย่างมากว่าการส่งออกและนำเข้าระหว่างสองประเทศจะขยายตัวต่อเนื่อง ภายใต้การมีอยู่ของ RCEP ซึ่งใน 2022 ปริมาณการค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและออสเตรเลียเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 205 ล้านดอลลาร์ในปี 2019 เพิ่มขึ้นเป็น 523 ล้านดอลลาร์ในปี 2022

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501330676/cambodia-australia-bilateral-trade-volume-nearly-260-million/

‘เมียนมา’ เดือน มิ.ย. นำเข้าปุ๋ย 144,900 ตัน

จากข้อมูลสถิติของกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าเมียนมานำเข้าปุ๋ยจากต่างประเทศในเดือน มิ.ย. อยู่ที่ 144,900 ตัน มูลค่า 58.04 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยนำเข้าปุ๋ยผ่านเส้นทางเดินเรือ 106,900 ตัน และผ่านเส้นทางการค้าชายแดน 38,000 ตัน ทั้งนี้ ปุ๋ยที่นำเข้าผ่านเส้นทางเดินเรือส่วนใหญ่มาจากประเทศจีน 44,000 ตัน รองลงมาโอมาน ไทย อินโดนีเซีย เวียดนาม รัสเซีย เกาหลีใต้ มาเลเซีย สปป.ลาว สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ นอร์เวย์และจอร์แดน ในขณะที่ปุ๋ยที่นำเข้าผ่านเส้นทางการค้าชายแดนส่วนใหญ่มาจากประเทศจีน 36,000 ตัน และไทย 2,000 ตัน

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmar-imported-144900-tonnes-of-fertilizer-in-june/#article-title