‘เวียดนาม’ ต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติคึกคัก หลังปรับนโยบายวีซ่า เข้าประเทศได้ ไม่จำกัดจำนวนครั้ง เพียง 90 วัน

จากการอนุมัติกฎหมายว่าด้วยการเดินทางเข้า-ออกของขาวต่างชาติที่ขยายระยะที่ได้รับ E-visa สามารถเข้าและออกได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง ภายในระยะเวลา 90 วัน โดยไม่ต้องผ่านขั้นตอนการขอวีซ่าใหม่ ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติสามารถอยู่ที่เวียดนามได้นานขึ้นและใช้จ่ายมากขึ้น ในขณะที่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวในเวียดนาม มีการจัดโปรโมชั่นและข้อเสนออื่นๆ อีกมากมาย เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวทำการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า ทั้งนี้ จากข้อมูลของภาคการท่องเที่ยวในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 พบว่าเวียดนามมีนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 5.6 ล้านคน และทำรายได้จากการท่องเที่ยวสูงถึง 14.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยตั้งเป้าว่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศ 8 ล้านคนในปีนี้ อย่างไรก็ดี ตัวเลขของนักท่องเที่ยวในปัจจุบันยังไม่สามารถเทียบเท่ากับช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโรคได้

ที่มา : https://www.thaipbsworld.com/vietnam-to-welcome-more-international-visitors-with-unlimited-entry-90-days-visa/

ธนาคารกลาง สปป.ลาว ออกนโยบายสินเชื่อหวังกระตุ้นเศรษฐกิจ

ธนาคารแห่ง สปป.ลาว (BOL) ได้รายงานแจ้งผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของนโยบายสินเชื่อเพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการตามมติของสมัชชาแห่งชาติ โดยการประชุมเพื่อร่างวัตถุประสงค์ของนโยบายจัดขึ้นที่สำนักนายกรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (30 พ.ค.) ซึ่งมี ดร.Bounleua Sinxayvoravong ผู้ว่าการ BOL เป็นประธาน ร่วมกับรัฐมนตรีจากกระทรวงต่างๆ รองผู้ว่าการมณฑลและนายกเทศมนตรีนครเวียงจันทน์เข้าร่วมการประชุม โดยนโยบายสินเชื่อมุ่งเน้นไปที่ภาคการผลิต ภาคการค้าและภาคบริการ เป็นสำคัญ เพื่อหวังกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ รวมถึงการสร้างงาน การรักษาเสถียรภาพการเงิน และการเงินในระดับมหภาค ตลอดจนการพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งจากรายงานสรุปของ BOL ที่นำเสนอในที่ประชุม นโยบายสินเชื่อเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจแบ่งออกเป็น 2 นโยบายย่อย คือ นโยบายสินเชื่อเพื่อเติมเต็มช่องว่างดอกเบี้ยงบประมาณ 5 แสนล้านกีบ ระยะเวลาโครงการ 5 ปี และนโยบายสินเชื่อเพื่อกระจายแหล่งทุนสู่ท้องถิ่น จำนวนเงินสูงถึง 1,500 พันล้านกีบ ระยะเวลาโครงการไม่เกิน 5 ปี ภายใต้สกุลเงินกีบ (LAK)

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten2023_Central104.php

สถาบันสินเชื่อกัมพูชา พร้อมให้ความช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย

ธนาคารแห่งชาติกัมพูชา (NBC) กล่าวว่า สถาบันสินเชื่อในชนบท (RCA) มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการช่วยเหลือภาคประชาชนในการดำรงชีวิตความเป็นอยู่ ของผู้มีรายได้น้อย โดยสถาบันสินเชื่อในชนบทได้ให้สินเชื่อแก่ผู้มีรายได้น้อยผ่านบริการไมโครเครดิต สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ดำเนินการปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางการเงินเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงและใช้บริการทางการเงินของทางการได้อย่างทันท่วงที เหมาะสม ประหยัด และได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย ซึ่งตามรายงานของ NBC ปัจจุบันมีหน่วยงานสินเชื่อในชนบทจำนวน 223 แห่ง ที่ดำเนินงานในกัมพูชา โดยมีการปล่อยสินเชื่อให้กับผู้คนเป็นวงเงินรวม 51.3 ล้านดอลลาร์ โดยภาคเกษตรกรรมได้รับการอนุมัติมากที่สุดคิดเป็นร้อยละ 32.5 ของพอร์ตสินเชื่อทั้งหมด สำหรับภาคครัวเรือนปล่อยกู้ที่ร้อยละ 29 รองลงมาคือกิจกรรมเชิงพาณิชย์ร้อยละ 20 ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 8.5 กระจายไปยังภาคส่วนอื่นๆ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501287567/rural-credit-institutions-help-people-improve-livelihoods-nbc-says/

เมียนมาคาด การปรับนโยบายใหม่ จะไม่กระทบการส่งออกข้าวโพด

นายอู มิน แค ประธานสมาคมอุตสาหกรรมข้าวโพดของเมียนมา กล่าวว่า นโยบายใหม่เกี่ยวกับการส่งออกข้าวโพดของเมียนมา จะไม่ส่งผลกระทบมากนักต่อการส่งออกข้าวโพดของประเทศ โดยรายการสินค้าส่งออก ได้แก่ ข้าวโพด แป้ง ป๊อปคอร์น เมล็ดพืช แป้งข้าวโพด เมล็ดธัญพืช ข้าวฟ่าง อาหารเม็ด บัควีต (Buckwheat) และเมล็ดข้าวสำหรับเลี้ยงนก จะต้องขอใบอนุญาตส่งออกโดยการยื่น Form-D (หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า) ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2565 โดยการปรับเปลี่ยนนโยบายนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อรับรองความมั่นคงด้านอาหาร ความมั่นคงภายในประเทศ และประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ปัจจุบัน ราคา FOB อยู่ที่ 320-340 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับคุณภาพข้าวโพดในตลาดย่างกุ้ง ในปีงบประมาณ 2563-2564 เมียนมาส่งออกไปตลาดต่างประเทศ จำนวน 2.3 ล้านตัน ตลาดหลักคือไทย ส่วนที่เหลือจะส่งออกไปยังจีน อินเดีย และเวียดนาม

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/30-march-2022/#article-title

กัมพูชากำหนดนโยบายพัฒนาภาคเกษตรมุ่งสู่ความทันสมัย

ทางการกัมพูชาได้สรุปการอภิปรายร่างนโยบายการพัฒนาการเกษตรสำหรับปี 2020-2030 ไปเมื่อวานนี้ (29 มี.ค.) ส่งผลทำให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเกิดความคาดหวังเป็นอย่างสูง สำหรับนโยบายในการส่งเสริมการพัฒนาภาคการเกษตร ที่คาดว่าจะเป็นส่วนช่วยให้ภาคการเกษตรในประเทศสามารถในการแข่งขันกับคู่แข่งได้อย่างยั่งยืน และครอบคลุม ในด้านของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมง กล่าวเสริมว่าร่างนโยบายการพัฒนาการเกษตรเป็นวิสัยทัศน์ระยะยาวในการปรับปรุงภาคการเกษตรในกัมพูชาให้เกิดความทันสมัย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการเติบโตของภาคการเกษตร ที่ต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อาทิเช่น ให้ผลิตภัณฑ์คุณภาพสูง ปลอดภัย และมีคุณค่าทางโภชนาการ โดยคำนึงถึงที่ดิน การเกษตร น้ำ ทรัพยากรป่าไม้ การประมง และความมั่นคงด้านอาหารอย่างยั่งยืน ซึ่งในปี 2021 กระทรวงเกษตรระบุว่า กัมพูชาส่งออกสินค้าเกษตร 7.98 ล้านตัน เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 63.8 หรือคิดเป็นมูลค่ารวม 4.96 พันล้านดอลลาร์ จากการส่งออกในปีที่แล้ว

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501049464/agricultural-development-policy-targets-modernisation/

“สายการบินแห่งชาติเวียดนาม” ระงับเที่ยวบินปกติไปรัสเซีย

สายการบินเวียดนามประกาศว่าจะระงับเที่ยวบินปกติในเส้นทางจากกรุงฮานอย-มอสโก ประเทศรัสเซีย (25 มี.ค.) เป็นต้นไป จนกว่าจะมีประกาศเป็นอย่างอื่น โดยผู้โดยสารที่ซื้อตั๋วในเที่ยวบินดังกล่าวแล้วนั้น สายการบินจะดำเนินคืนเงินหรือเปลี่ยนตั๋วไปเที่ยวบินอื่น ทั้งนี้ ผู้โดยสารในเที่ยวบินดังกล่าวมีจำนวนมาก เนื่องจากมีความต้องการที่จะเดินทางกลับไปยังรัสเซีย ซึ่งเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว บริษัทท่องเที่ยวของเวียดนามได้ประกาศยกเลิกเที่ยวบินเช่าเหมาลำที่ขนส่งนักท่องเที่ยวชาวรัสเซียไปยังเวียดนาม เนื่องจากรัฐบาลรัสเซียแนะให้บริษัทสายการบินคุมเข็มจำกัดเที่ยวบินไปยังประเทศอื่น หลังจากที่สหรัฐอเมริกาและชาติตะวันตกออกมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อรัสเซีย

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/vietnam-airlines-suspends-regular-flights-to-russia/

ธนาคารแห่งชาติกัมพูชา กำหนดนโยบายรักษาเสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยน

ธนาคารแห่งชาติกัมพูชา (NBC) ตัดสินใจกำหนดนโยบายที่จะรักษาเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยนในช่วงไตรมาสถัดไป โดยการตัดสินใจดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน ครั้งที่ 56 ที่จัดขึ้นเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา รวมถึง NBC จะยังคงเสริมสภาพคล่องในระบบต่อไปผ่าน Liquidity-providing collateralized operations (LPCO) เพื่ออัดฉีดเงินเรียลเข้าสู่ระบบตามความต้องการสภาพคล่องในระยะสั้น  โดยผู้ว่าการกล่าวว่าในปี 2020 มูลค่าของเรียลต่อดอลลาร์มีเสถียรภาพค่อนข้างดีแม้จะอ่อนค่าลงเล็กน้อย (น้อยกว่าร้อยละ 1) ซึ่งทั้งในอดีตและปัจจุบัน NBC พยายามลดหรือจำกัดความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนด้วยการใช้เครื่องมือหลายอย่างเพื่อดูดซับหรืออัดฉีดสภาพคล่องภายในระบบเศรษฐกิจ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50922563/cambodian-monetary-policy-to-maintain-exchange-rate-stability/

ทางการกัมพูชากำหนดนโยบายช่วยเหลือภาคการท่องเที่ยวในประเทศ

รัฐบาลกัมพูชา นำโดยนายกรัฐมนตรี ฮุน เซน ได้กำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ และมาตรการสนับสนุนภาคการท่องเที่ยวอย่างทันท่วงทีและตรงเป้าหมาย ท่ามกลางวิกฤตการณ์ของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วประเทศกัมพูชา โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวกล่าวว่าตัวแทนภาคเอกชนในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจำนวน 6 ราย ได้กล่าวขอบคุณนายกรัฐมนตรีและคณะ สำหรับความพยายามของภาครัฐ ในการป้องกันการแพร่กระจายของโควิด-19 และจัดการผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจหลัก รวมไปถึงการฟื้นฟูเศรษฐกิจของกัมพูชาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2020 จนถึงปัจจุบัน รัฐบาลกัมพูชากำหนดมาตรการช่วยเหลือถึง 9 รอบ เพื่อบรรเทาภาระและความยากลำบากของธุรกิจภาคการท่องเที่ยว รวมถึงพนักงานในภาคการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 โดย ณ วันที่ 1 กรกฎาคม 2021 พนักงานในภาคการท่องเที่ยวในกรุงพนมเปญประมาณร้อยละ 99.64 ได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 เข็มที่ 2 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเปิดประเทศ ซึ่งรัฐบาลก็ได้เร่งดำเนินการฉีดวัคซีนให้เป็นไปตามแผนการกระจายวัคซีนต่อไป

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50892721/major-tourism-associations-thank-pm-for-policies-that-help-cambodian-tourism-during-covid-19-crisis/

เปิดตัวโครงการนโยบายอุตสาหกรรมสีเขียวของสปป.ลาว

กระทรวงอุตสาหกรรมและการพาณิชย์และ Global Green Growth Institute ได้ลงนามในข้อตกลงเพื่อเปิดตัวโครงการอย่างเป็นทางการเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาภายใต้แนวความคิด “นโยบายอุตสาหกรรมสีเขียวของสปป.ลาว” ภายใต้โครงการนี้จะมีการแก้ไขนโยบายสำหรับภาคอุตสาหกรรมพลังงานให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงแผนปฏิบัติการสำหรับการลงทุนของภาคเอกชนในภาคพลังงานอุตสาหกรรมให้สอดคล้องกับโครงการ ในระยะกลางโครงการจะขยายการลงทุนของภาคเอกชนในการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพในอุตสาหกรรม ในระยะยาวจะมีแนวทางลดการปล่อยก๊าซจากอุตสาหกรรมและการเปลี่ยนภาคอุตสาหกรรมไปสู่เส้นทางการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ปล่อยมลพิษน้อยลงในอนาคต โครงการเหล่านี้จะช่วยเร่งการนำแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืนมาใช้ในภาคอุตสาหกรรมในสปป.ลาวและด้วยเหตุนี้จึงเป็นก้าวสำคัญในการฟื้นตัวของภาคพลังงานอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่เป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญของเศรษฐกิจสปป.ลาวในอนาคต

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_New_53.php

ฐานข้อมูลหน่วยเศรษฐกิจพื้นฐานเพิ่มขึ้นเป็น 133,997 หน่วยในปีที่ผ่านมา

สำนักงานสถิติสปป.ลาวเผยข้อมูลจำนวนหน่วยเศรษฐกิจพื้นฐานในสปป.ลาวเพิ่มสูงถึง 133,997 หน่วยในปี 2019 เพิ่มขึ้น 9,124 หน่วยจาก 124,873 หน่วยที่บันทึกไว้ในปี 2013 ระบบสารสนเทศด้านข้อมูลที่ทางหน่วยงานทำการจัดเก็บเป็นข้อมูลพื้นฐานที่สำคัญที่จะนำมาพิจารณาในการกำหนดนโยบายต่างๆ ของภาครัฐให้สอดคล้องกับสภาพข้อมูลที่เกิดขึ้นจริง ฐานข้อมูลหน่วยเศรษฐกิจพื้นฐานจะถูกจัดเก็บอย่างเป็นระบบเพื่อประสิทธิภาพสำหรับการนำมาใช้ในภายภาคหน้า อย่างไรก็ตามสปป.ลาวยังพบความท้าทายอีกประการหนึ่งในการจัดทำข้อมูลสารสรเทศคือการขาดความสามารถและความเข้าใจเชิงลึกในส่วนของจัดเก็บของหน่วยงานท้องถิ่นและความยากลำบากในการจัดเก็บของมูลบางอย่าง ทำให้ข้อมูลไม่ครอบคลุม

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Number_33.php