‘ผู้ส่งออกทุเรียนไทย’ เผชิญกับภัยคุกคามจากเวียดนาม ฟิลิปปินส์ในตลาดจีน

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดว่าเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนไทย จำเป็นต้องรักษาคุณภาพของผลไม้ให้อยู่ในระดับสูง เนื่องจากเผชิญกับภัยคุกคามจากคู่แข่งสำคัญ ได้แก่ เวียดนามและฟิลิปปินส์ในตลาดจีน ในขณะที่จากรายงานของสำนักส่งเสริมการค้า ณ นครหนานหนิง ระบุว่าราคาขายส่งทุเรียนในตลาดจีนปรับตัวลดลงในช่วงต้นเดือน พ.ค. สาเหตุสำคัญมาจากผลผลิตผลไม้ที่เพิ่มขึ้น หลังจากผู้ค้าส่งจีนมีการนำเข้าเพิ่มขึ้นจากเวียดนามและฟิลิปปินส์ ทั้งนี้ ราคาทุเรียนหมอนทองของไทยในเดือน พ.ค. ลดลงเหลือราว 36-48 หยวน หรือประมาณ 177-266 บาทต่อกิโลกรัม ขณะเดียวกันราคาทุเรียนหมอนทองจากเวียดนาม อยู่ที่ประมาณ 32-41 หยวนต่อกิโลกรัม ตามมาด้วยราคาทุเรียนพันธุ์ปูยัตจากฟิลิปปินส์ อยู่ที่ 37-45 หยวนต่อกิโลกรัม

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1541981/viet-nam-will-continue-to-be-prime-destination-for-fdi-vinacapital.html

พาณิชย์ชี้ช่องรุกตลาดฟิลิปปินส์ อาหารและเครื่องดื่มมีโอกาสทำเงิน

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจาก น.ส.จันทนา โชติมุณี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมะนิลา ฟิลิปปินส์ ถึงโอกาสในการขยายตลาดส่งออกสินค้าไทยเข้าสู่ตลาดฟิลิปปินส์ หลังจากที่ปัจจุบัน ได้ผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 ทำให้ประชาชนออกมาจับจ่ายใช้สอย และหาซื้อสินค้าในร้านค้าปลีก ห้างสรรพสินค้า และศูนย์การค้าเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้อุตสาหกรรมค้าปลีกกลับมาดำเนินการได้อย่างเต็มรูปแบบ และมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น ทำให้กลุ่มผู้ประกอบการค้าปลีกได้เห็นพฤติกรรมการช้อปแบบล้างแค้นของผู้บริโภคชาวฟิลิปปินส์ ที่กระตือรือร้นมากขึ้น และร้านค้าปลีกต่างๆ ก็พร้อมจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย เพื่อกระตุ้นยอดขายให้กับธุรกิจมากขึ้น ซึ่งสินค้าที่มีโอกาสในการจำหน่ายผ่านช่องทางค้าปลีกมีหลากหลาย ไม่ว่าจะกลุ่มสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด ผลิตภัณฑ์ความงาม และเครื่องสำอาง ของใช้ของตกแต่งบ้าน เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น

ที่มา: https://www.naewna.com/business/652417

กัมพูชา-ฟิลิปปินส์ ส่งเสริมความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจระหว่างกัน

หอการค้ากัมพูชาและหอการค้าฟิลิปปินส์เห็นชอบที่จะส่งเสริมและเสริมสร้างความร่วมมือทางธุรกิจและเศรษฐกิจระหว่างกัน ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจระหว่างกันโดย Kith Meng ประธานหอการค้ากัมพูชาและ AMB Benedicto V. Yujuico ประธานหอการค้าฟิลิปปินส์ร่วมเป็นผู้ลงนาม ในระหว่างการประชุมครั้งที่ 3 ของคณะกรรมาธิการร่วมกัมพูชา-ฟิลิปปินส์ เพื่อความร่วมมือทวิภาคี (JCBC) โดยบันทึกความเข้าใจในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและเสริมสร้างความร่วมมือทางธุรกิจและเศรษฐกิจระหว่างกัมพูชาและฟิลิปปินส์ในด้านต่างๆ เช่น ICT และนวัตกรรม เกษตรกรรม การผลิต แฟรนไชส์ ​​การท่องเที่ยว การบริการ และการพัฒนา SME ซึ่งสภาทั้งสองตกลงที่จะจัดตั้งสภาธุรกิจฟิลิปปินส์-กัมพูชา โดยจะตั้งอยู่ในประเทศฟิลิปปินส์และกัมพูชา ซึ่งในระยะถัดไปจะร่วมหารือระหว่างกันในการกำหนดหน้าที่ เป้าหมาย ระหว่างกัน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50984602/cambodia-philippines-boost-business-and-economic-cooperation/

Bitkub เผย ปีหน้าจ่อขยายไปมาเลย์-ฟิลิปปินส์-สปป.ลาว วางเป้าเป็น Coinbase แห่งอาเซียน

บลูมเบิร์กรายงานอ้างอิงคำให้สัมภาษณ์จาก ‘ท็อป-จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา’ ระบุว่า Bitkub กำลังวางแผนที่จะนำเสนอสกุลเงินดิจิทัลที่หลากหลาย และบริการในประเทศอื่นๆ เพิ่มเติม บนจุดมุ่งหมายคือ “เพื่อที่จะเป็น Coinbase แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” โดย Bitkub Online กำลังสำรวจหาโอกาสในการตั้งหน่วยงานของตนเอง หรือร่วมมือกับผู้เล่นที่มีอยู่ในประเทศต่างๆ เช่น มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์ และสปป.ลาว ในปีหน้า โดยเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์จะยังคงเหมือนกับ Bitkub และหลีกเลี่ยงการเข้าไปทำตลาดในประเทศที่มีผู้เล่นรายใหญ่ๆ ครอบงำอยู่แล้ว เช่น ในอินโดนีเซีย ที่มี Indodax ทั้งนี้ การขยายธุรกิจไปในภูมิภาคของ Bitkub นั้นได้รับแรงหนุนมาจากความสำเร็จในประเทศไทย ที่ Bitkub เป็นผู้เล่นรายใหญ่ และมีรายได้เพิ่มขึ้นมากกว่า 1,000% ต่อปี นับตั้งแต่เริ่มจัดตั้งบริษัทในปี 2018 ก่อนที่ในช่วงต้นเดือน พ.ย. 2021 ที่ผ่านมา ยานแม่อย่าง SCBX จะส่งบริษัทลูกเข้ามาซื้อกิจการ Bitkub Online และถือครองหุ้นมากกว่า 51% ทั้งนี้ Coinbase เป็นแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนคริปโทฯ ที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ และเข้าสู่ตลาด Nasdaq ไปเมื่อต้นปี โดยถือเป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มที่ได้รับประโยชน์จากความสนใจคริปโทฯ ที่เพิ่มขึ้นของนักลงทุน จนผลักดันให้ตลาดสกุลเงินดิจิทัลทั่วโลกอยู่ที่ราว 2.75 ล้านล้านเหรียญในปัจจุบัน

ที่มา : https://workpointtoday.com/bitkub-%e0%b9%80%e0%b8%9c%e0%b8%a2-%e0%b8%9b%e0%b8%b5%e0%b8%ab%e0%b8%99%e0%b9%89%e0%b8%b2%e0%b8%88%e0%b9%88%e0%b8%ad%e0%b8%82%e0%b8%a2%e0%b8%b2%e0%b8%a2%e0%b9%84%e0%b8%9b%e0%b8%a1%e0%b8%b2%e0%b9%80/

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศ CLMVIP : ความเหมือนที่แตกต่าง

โดย ศูนย์วิจัยกรุงศรี

การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (COVID-19) ทำให้เศรษฐกิจของประเทศกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ (ในที่นี้จะเรียกโดยย่อว่า “CLMVIP”) ได้รับผลกระทบอย่างหนักในปี 2020 อย่างไรก็ดี ในปี 2021 หลายประเทศในกลุ่มนี้ มีแนวโน้มเติบโตในอัตราสูงราวร้อยละ 4-7 ปัจจัยสนับสนุนการฟื้นตัวของประเทศ CLMVIP ที่สำคัญ 3 ประการ คือ (i) ผลของมาตรการสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจากทั้งนโยบายการเงินและการคลัง โดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน (ii) การส่งออกที่ได้อานิสงส์จากวัฏจักรการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และ (iii) กระแสการรวมตัวกันภายในภูมิภาค (Regionalization) ที่เข้มแข็งขึ้น แม้ว่าประเทศในกลุ่ม CLMVIP จะมีปัจจัยสนับสนุนการเติบโตที่คล้ายคลึงกัน ในรายประเทศอาจมีลำดับการฟื้นตัวที่แตกต่าง เวียดนาม มีโอกาสฟื้นตัวโดดเด่นด้วยพื้นฐานเศรษฐกิจในประเทศที่แข็งแกร่ง และรายรับจากภาคต่างประเทศที่ขยายตัวดี ผนวกกับข้อได้เปรียบจากความตกลงการค้าเสรีสำคัญ อาทิ ความตกลงการค้าเสรีสหภาพยุโรป-เวียดนาม (EVFTA) ความตกลงการค้าเสรีสหราชอาณาจักร-เวียดนาม (UKVFTA) รวมทั้งยังมีการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ได้ดี

ขณะที่ประเทศอื่น ๆ ใน CLMVIP มีระดับการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปกว่าด้วยข้อจำกัดที่แตกต่างกัน โดยอินโดนีเซียและกัมพูชา อาจฟื้นตัวเป็นลำดับถัดจากเวียดนาม แม้อินโดนีเซียมีจำนวนผู้ติดเชื้อสูง แต่คาดว่าภาคส่งออกจะมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ อีกทั้งยังได้ผลบวกจากแผนการขยายมาตรการกระตุ้นของภาครัฐ รวมถึงแผนการฉีดวัคซีนและแผนการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ กัมพูชาอาจได้แรงสนับสนุนจากการส่งออก นำโดยตลาดจีนและสหรัฐฯ ซึ่งอาจช่วยลดผลกระทบจากการถูกระงับสิทธิพิเศษทางภาษีบางส่วนจากสหภาพยุโรป ฟิลิปปินส์ แม้มีปัจจัยหนุนจากขนาดวงเงินกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐมากถึงร้อยละ 4 ของ GDP   แต่การเบิกจ่ายยังเป็นไปอย่างล่าช้า และสถานการณ์การระบาดในประเทศค่อนข้างรุนแรง ส่งผลให้ตลาดแรงงานยังอ่อนแอ และกระทบต่อการฟื้นตัวของการใช้จ่ายเพื่อบริโภคในประเทศ สปป.ลาว มีโครงสร้างเศรษฐกิจที่ค่อนข้างอ่อนแอ อีกทั้งขนาดการกระตุ้นเศรษฐกิจค่อนข้างจำกัด ผลกระทบจากโควิด-19 จึงทำให้ฟื้นตัวล่าช้า ขณะที่เมียนมา เผชิญประเด็นด้านเสถียรภาพทางการเมืองหลังจากผู้นำทางทหารของเมียนมาเข้ายึดอำนาจและประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นเวลาอย่างน้อย 2 ปี ซึ่งส่งผลฉุดรั้งความเชื่อมั่นของนักลงทุนและคู่ค้าในระยะนับจากนี้ และอาจมีผลให้พัฒนาการทางเศรษฐกิจของเมียนมาในระยะยาวหยุดชะงักลงไปได้

อ่านต่อ : https://www.krungsri.com/th/research/research-intelligence/regional-recovery-2021

ข้าวเวียดนาม เผชิญการแข่งขันจากอินเดียและฟิลิปปินส์

ตามรายงานของสำนักงานส่งเสริมแปรรูปและพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ชี้ให้เห็นว่าในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ ยอดการส่งออกข้าวของเวียดนาม อยู่ที่ 2.7 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าราว 1.48 พันล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 11.3% ในด้านปริมาณ และ 5% ในด้านมูลค่า เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่ ราคาข้าวของเวียดนามนั้น สูงกว่าราคาข้าวของอินเดียและไทยค่อนข้างมาก ข้าวเวียดนาม 1 ตัน สูงกว่าข้าวไทย 20 เหรียญสหรัฐ และสูงกว่าข้าวอินเดีย 100 เหรียญสหรัฐต่อตัน หากเฉลี่ยราคาข้าวของเวียดนามในช่วง 4 เดือยแรกของปีนี้ แตะ 543 เหรียญสหรัฐต่อตัน เพิ่มขึ้น 15.4% เมื่อเทียบเป็นรายปี ทั้งนี้ เมื่อเร็วๆนี้ ฟิลิปปินส์ประกาศยกเลิกภาษีนำเข้าแก่กลุ่มประเทศในอาเซียนและนอกอาเซียน ตลอดจนประเทศที่ได้รับอนุเคราะห์ยิ่ง (MFN) โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มการนำเข้าข้าวราคาถูกจากอินเดียและปากีสถาน อย่างไรก็ตาม เวียดนามยังคงเป็นผู้จัดหาข้าวรายใหญ่ที่สุดให้แก่ฟิลิปปินส์ แต่ว่าฟิลิปปินส์ยังรับซื้อข้าวจากไทยและอินเดีย รวมถึงประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย

ที่มา : https://e.vnexpress.net/news/business/industries/vietnamese-rice-faces-competition-from-india-in-philippines-4293486.html

โอกาสการส่งออกข้าวของเวียดนามในตลาดฟิลิปปินส์

กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนาม ระบุว่าฟิลิปปินส์ปรับลดอัตราภาษีนำเข้าข้าว ช่วยเปิดโอกาสแก่ธุรกิจเวียดนามคงอุปทานให้มีเสถียรภาพและปกป้องตลาดในประเทศ อย่างไรก็ตาม ภาวะการแข่งขันทางด้านราคาที่รุนแรงของผู้ส่งออกแบบดั้งเดิม ได้แก่ ไทยและอินเดีย ทำให้ทางกระทรวงฯ ได้เรียกร้องให้ผู้ประกอบการในประเทศเร่งร่วมมือกับครัวเรือนเกษตร เพื่อลดต้นทุนและยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขัน ในขณะเดียวกัน ผู้ส่งออกควรศึกษาและปฏิบัติตามกฎระเบียนที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ยังต้องมั่นติดตามตลาดอยู่เสมอ เนื่องจากการปรับลดอัตราภาษีของฟิลิปปินส์สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา และจัดทำแผนป้องกันความเสี่ยงทางธุรกิจ

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/opportunities-for-vietnam-to-maintain-stable-rice-export-to-philippines/201927.vnp

เวียดนามส่งออกข้าวไปยังฟิลิปปินส์ สูงถึง 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

กรมศุลกากรเวียดนาม เผยการส่งออกข้าวของเวียดนามไปยังตลาดฟิลิปปินส์ในปีที่แล้ว ถือว่าเป็นครั้งแรกที่มีมูลค่าเกินกว่า 1 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งทางสำนักงานดังกล่าว ตั้งข้อสังเกตว่าฟิลิปปินส์เป็นผู้บริโภคข้าวเวียดนามรายใหญ่ที่สุด ด้วยปริมาณการนำเข้า 2.22 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 1.06 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 4% และ 19.3% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ตามลำดับ นอกจากเรื่องปริมาณการส่งออกข้าวจำนวนมากไปยังฟิลิปปินส์แล้วนั้น ราคาส่งออกข้าวไปยังตลาดดังกล่าว ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เฉลี่ยอยู่ที่ 476 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน เพิ่มขึ้น 14.7% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว นอกจากนี้ ตลาดฟิลิปปินส์ยังคงเป็นผู้บริโภคข้าวรายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม ด้วยสัดส่วน 35.5% ของปริมาณการส่งออกทั้งหมด และ 33.9% ของมูลค่าการส่งออกข้าวรวม

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnam-rice-exports-to-the-philippines-reached-over-us1-billion-831365.vov

ฟิลิปปินส์ยกเลิกการนำเข้าข้าวเมียนมาท่ามกลางการประท้วงของเกษตรกร

สมาคมผู้ค้าข้าวแห่งเมียนมา(MRTA) เผยข้อตกลงการส่งออกข้าวระหว่างเมียนมาและฟิลิปปินส์ได้ลดลงหลังจากที่ได้รับแรงกดดันจากเกษตรกรในท้องถิ่นในท้องถิ่น เมื่อปีที่แล้วเมียนมาส่งออกข้าว 150,000 ตันไปยังฟิลิปปินส์เป็นครั้งแรก ก่อนหน้านี้เมียนมาร่วมประมูลเพื่อส่งออกข้าว 50,000 ตันไปยังฟิลิปปินส์ในปี 2560 แต่ในปีนั้นเวียดนามชนะการประมูลไป เมียนมาไม่สามารถส่งออกข้าวตามเป้าหมายที่คาดไว้คือ 2.4 ล้านตันในปีงบประมาณ 2562-2563 เนื่องจากความต้องการที่ลดลง ขณะนี้มีการส่งออกข้าวเพียง 2 ล้านตันและคาดว่าข้าวที่เหลืออีก 400,000 ตันจะถูกส่งออกในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายน 2563 ณ วันที่ 17 กรกฎาคมการขาดดุลการค้าของเมียนมาในปี 2562-2563 เพิ่มขึ้นเป็น 1.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐจาก 718 ล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงเวลาเดียวกันในปี 2561-2562

ที่มา : https://www.mmtimes.com/news/philippines-cancels-myanmar-rice-consignment-amid-local-protests.html

เวียดนามเผยปี 62 ส่งออกข้าวไปฟิลิปปินส์เพิ่มขึ้น

จากรายงานของกรมศุลกากรเวียดนาม (GDC) เปิดเผยว่าในปี 2562 เวียดนามส่งออกข้าวไปยังฟิลิปปินส์ 884.94 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 92.58 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว สำหรับมูลค่าการส่งออกทั้งหมดไปยังฟิลิปปินส์อยู่ที่ 3.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.63 เมื่อเทียบกับปี 2561หากจำแนกรายการสินค้าส่งออกที่มีมูลค่ามากกว่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ได้แก่ คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (+1.88% คิดเป็นมูลค่า 189.68 ล้านดอลลาร์สหรัฐ), กาแฟ (+9.4%), อาหารทะเล (+1.94%) และเสื้อผ้า (+3.53%) เป็นต้น ทั้งนี้ ข้าวมีส่วนแบ่งการส่งออกในตลาดฟิลิปปินส์ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 23.73 ของมูลค่าส่งออกทั้งหมดไปยังต่างประเทศ ซึ่งจากตัวเลขสถิติ พบว่าในปีที่แล้ว มูลค่าส่งออกข้าวของเวียดนามลดลงอยู่ที่ 2.76 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 3 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว เนื่องมาจากราคาข้าวในตลาดโลกลดลง แต่ในส่วนของปริมาณส่งออกข้าวอยู่ที่ประมาณ 6.3 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/rice-exports-to-philippines-in-2019-surge/168177.vnp