กัมพูชากำหนดนโยบายพัฒนาภาคเกษตรมุ่งสู่ความทันสมัย

ทางการกัมพูชาได้สรุปการอภิปรายร่างนโยบายการพัฒนาการเกษตรสำหรับปี 2020-2030 ไปเมื่อวานนี้ (29 มี.ค.) ส่งผลทำให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเกิดความคาดหวังเป็นอย่างสูง สำหรับนโยบายในการส่งเสริมการพัฒนาภาคการเกษตร ที่คาดว่าจะเป็นส่วนช่วยให้ภาคการเกษตรในประเทศสามารถในการแข่งขันกับคู่แข่งได้อย่างยั่งยืน และครอบคลุม ในด้านของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมง กล่าวเสริมว่าร่างนโยบายการพัฒนาการเกษตรเป็นวิสัยทัศน์ระยะยาวในการปรับปรุงภาคการเกษตรในกัมพูชาให้เกิดความทันสมัย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการเติบโตของภาคการเกษตร ที่ต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อาทิเช่น ให้ผลิตภัณฑ์คุณภาพสูง ปลอดภัย และมีคุณค่าทางโภชนาการ โดยคำนึงถึงที่ดิน การเกษตร น้ำ ทรัพยากรป่าไม้ การประมง และความมั่นคงด้านอาหารอย่างยั่งยืน ซึ่งในปี 2021 กระทรวงเกษตรระบุว่า กัมพูชาส่งออกสินค้าเกษตร 7.98 ล้านตัน เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 63.8 หรือคิดเป็นมูลค่ารวม 4.96 พันล้านดอลลาร์ จากการส่งออกในปีที่แล้ว

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501049464/agricultural-development-policy-targets-modernisation/

เมียนมา ชี้ มันสำปะหลัง ต้องการลงทุนเพิ่ม เพื่อเจาะตลาดส่งออกมากขึ้น

องค์การส่งเสริมการค้าเมียนมา เผย เมียนมาส่งออกมันสำปะหลังได้เพียงเล็กน้อย จึงจำเป็นต้องอาศัยการร่วมทุนจากต่างประเทศ ปัจจุบันปริมาณการส่งออกค่อนข้างต่ำอยู่ที่ 50 ตันต่อเดือน และมีการพยายามส่งออกไปยังจีนให้มากขึ้น โดยมันสำปะหลังหนึ่งตันมีมูลค่าประมาณ 200-250 ดอลลาร์สหรัฐฯ เพราะความต้องการของตลาดต่างประเทศยังต่ำ ส่วนใหญ่มีการปลูกอยู่ในเมือง Kyonpyaw, Yekyi, Ngathainggyoung, Kyaunggon และ Thaboung ในเขตอิรวดีโดยมีพื้นที่มากกว่า 30,000 เอเคอร์ทั่วภูมิภาค มีผลผลิตต่อเอเคอร์ประมาณ 3,500 viss (viss เท่ากับ 1.6 กิโลกรัม) อย่างไรก็ตาม เกษตรกรต้องเผชิญกับต้นทุนการผลิตที่สูงและราคามันสำปะหลังที่ลดลงในปีงบประมาณ 2563-2564 นอกจากนี้ ตลาดยังขึ้นอยู่กับผู้บริโภคในท้องถิ่นและโรงงานแปรรูปอาหารสัตว์ ราคามันสำปะหลังลดลงจาก 103 จัต มาอยู่ที่ 80 จัตต่อ viss ในปัจจุบัน ในทำนองเดียวกันราคาแป้งมันสำปะหลังก็ปรับลดลงจาก 850 จัตมาเป็น 500-550 จัตต่อ โดยเมียนมามีพื้นที่ที่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูกมันสำปะหลัง เนื่องจากเมียนมาตั้งอยู่ระหว่างกลุ่มประเทศผู้ซื้อมันสำปะหลังรายใหญ่อย่างจีนและอินเดียที่มีความต้องการคิดเป็น 90% ของความต้องการทั้งโลก ดังนั้นควรเพิ่มปริมาณการปลูกให้มากขึ้น ทั้งนี้มันสำปะหลังสามารถนำมาใช้ในผลิตภัณฑ์อาหาร ทดแทนแป้งสาลี ยารักษาโรค อาหารสัตว์ และเชื้อเพลิงชีวภาพ อย่างไรก็ตาม ตลาดภายในประเทศมีการบริโภคไม่มากนักเนื่องจากผลผลิตไม่เพียงพอ

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/tapioca-needs-market-promotion-to-penetrate-more-foreign-markets/

ทางการกัมพูชาวางแผนสนับสนุน SMEs และ ภาคการเกษตร

ทางการกัมพูชาจัดตั้งโครงการเงินกู้ฉุกเฉินพิเศษมูลค่า 100 ล้านดอลลาร์ เพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจ SMEs และภาคการเกษตรเพื่อฟื้นฟูกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยเงินกู้ดังกล่าวจะออกให้แก่ภาคเอกชนผ่านทางธนาคารวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของกัมพูชาและธนาคารเพื่อการพัฒนาการเกษตรและชนบท ภายใต้การส่งเสริมภาคการเกษตรและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งถือเป็น 2 ภาคส่วนที่สำคัญที่สุดในเศรษฐกิจกัมพูชา ทั้งในแง่ของการสร้างงานและในการปรับปรุงการดำรงชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน รวมถึงเป็นการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501029437/cambodia-to-support-smes-and-the-agriculture-sector/

เกษตรกรอำเภอจู้นละปลูกมะเขือเทศไต้หวัน เฮ ได้ราคาดี

เกษตรกรหมู่บ้าน Magyi Inn อำเภอจู้นละ จังหวัดกั่นบะลู เขตซะไกง์ กำลังเร่งปลูกมะเขือเทศไต้หวันเพราะได้ราคาดี โดยต้นทุนการเพาะปลูกอยู่ที่ประมาณ 200,000 จัตต่อเอเคอร์ ซึ่งรวมทั้งเมล็ดพันธุ์ ไถ ปุ๋ย และราคาน้ำมันเชื้อเพลิง คาดว่าสามารถออกผลผลิตได้มากกว่า 1,000 ต้นในเดือนมี.ค.นี้ โดยราคาขายส่งมะเขือเทศขายได้ 1,000 จัตต่อ vises (1  visses เท่ากับ 1.66 กิโลกรัม) ทั้งนี้มะเขือเทศไต้หวันสามารถปลูกได้ทุกฤดูกาล ซึ่งจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตร ได้เข้ามาให้ความรู้และเทคโนโลยีการเกษตรเพื่อให้ได้พืชผลที่ปลอดสารเคมี และยังสาธิตวิธีการใช้สารกำจัดศัตรูพืชตามธรรมชาติและยาฆ่าแมลงให้อีกด้วย

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/exotic-tomato-growers-in-kyunhla-delight-to-earn-good-price/

การลงทุนของจีน ถือเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนภาคการเกษตรกัมพูชา

ในช่วงปัจจุบันมีการลงทุนเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากจากบริษัทสัญชาติจีนในกัมพูชา สอดคล้องกับการเติบโตของภาคการเกษตรภายในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น ซึ่งคาดว่าผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรของกัมพูชา จะได้รับการส่งเสริมในตลาดต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะตลาดจีน กล่าวโดยรัฐมนตรีกระทรวงเกษตร ป่าไม้และประมง กัมพูชา หลังจากได้ให้การต้อนรับคณะผู้แทนจากบริษัทต่างๆ ในการหารือเกี่ยวกับความร่วมมือด้านการเกษตรระหว่างกัมพูชาและจีน ระหว่างการประชุม Belt and Road Forum for International Cooperation ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 17 ม.ค. ที่ผ่านมา โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาภาคการเกษตรของกัมพูชา ผ่านการลงทุนระหว่างประเทศ การพัฒนาห่วงโซ่อุปทาน คุณภาพสินค้า และความปลอดภัย ให้เป็นไปตามมาตรฐานการส่งออกทั่วโลก

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501009066/chinese-investment-to-drive-presence-of-cambodian-agricultural-products-in-international-markets/

กัมพูชาผลิตพืชผลทางการเกษตรรวมกว่า 35 ล้านตัน ในปี 2021

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมง Veng Sakhon รายงานว่าในปี 2021 กัมพูชาผลิตพืชผลทางการเกษตรรวมมากกว่า 35 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 23 เมื่อเทียบกับปี 2020 โดยมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 10.57 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 33.15 คิดเป็นการผลิตข้าวจำนวนรวมกว่า 12.21 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.63 เมื่อเทียบกับปี 2020 ผลิตภัณฑ์อื่นๆ ก็มีปริมาณเพิ่มขึ้นเช่นกัน ซึ่งกระทรวงฯ ได้ทำการบันทึกพืชผลอุตสาหกรรมไว้ถึง 19.16 ล้านตัน แบ่งออกเป็นมันสำปะหลัง 14.73 ล้านตัน ข้าวโพด 699,075 ตัน อ้อย 2.42 ล้านตัน เม็ดมะม่วงหิมพานต์ 472,636 ตัน มะพร้าว 190,924 ตัน และพืชผลอื่นๆ 645,875 ตัน โดยรัฐมนตรีกล่าวเสริมว่ามูลค่าการส่งออกพืชผลทางการเกษตรโดยประมาณเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 105.43 สร้างรายได้เข้าประเทศกว่า 3.96 พันล้านดอลลาร์ในปี 2021

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501001317/cambodia-achieves-more-than-35-tons-of-agricultural-production-for-2021/

บริษัท Greengoods สนับสนุนแนวปฏิบัติทางการเกษตรสมัยใหม่ในสปป.ลาว

นักศึกษาคณะเกษตร สังกัดมหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว (NUOL) และเกษตรกรจะได้รับบทเรียนและฝึกปฏิบัติด้านการเกษตรสมัยใหม่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเกษตร โดยได้รับการสนับสนุนจากบริษัทโซลูชั่นด้านการเกษตรจาก บริษัท กรีนกู๊ดส์ จำกัด ประเทศเกาหลีใต้ การเข้ามาช่วยเหลือของเกาหลีใต้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตทางการเกษตร และที่สำคัญที่สุดคือเปลี่ยนการผลิตทางการเกษตรแบบเดิมให้กลายเป็นวิธีปฏิบัติทางการเกษตรสมัยใหม่

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Greengoods221.php

EU ลงทุนในภาคการเกษตรกัมพูชาเพิ่ม 17 ล้านดอลลาร์

ธนาคารเพื่อการลงทุนยุโรป (EIB) ได้รับเงินทุนสนับสนุนเพิ่มเติมจำนวน 17.4 ล้านดอลลาร์ จากสหภาพยุโรป (EU) เพื่อลงทุนในโครงการเกษตรกรรมที่ยั่งยืนในกัมพูชา โดย EIB จะลงทุนผ่านโครงการสินทรัพย์ที่ยั่งยืนสำหรับตลาดการเกษตร ธุรกิจและการค้า (SAAMBAT) ซึ่ง SAAMBAT ได้รับการออกแบบมาเพื่อปรับปรุงมาตรฐานการครองชีพของครอบครัวชาวกัมพูชาในชนบท จำนวน 200,000 ครอบครัว และถือเป็นส่วนช่วยภาคธุรกิจในการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานรอบด้านและเป็นการรับประกันการจัดหาวัตถุดิบด้านการเกษตรให้เป็นไปตามมาตรฐานเชื่อถือได้ โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างงานใหม่ให้กับคนในท้องถิ่นอีกราว 4,500 ตำแหน่ง ซึ่งโครงการนี้เป็นความร่วมมือระหว่างกองทุนระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนาเกษตรกรรม (IFAD), EIB และรัฐบาลกัมพูชา

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50947058/europe-invests-another-17-million-to-modernise-the-kingdoms-agriculture/

เดือนส.ค.ของปีงบฯ 63-64 FDI ภาคการเกษตรเมียนมา คิดเป็นเพียง 1% ของการลงทุนทั้งหมด

คณะกรรมการการลงทุนและการบริหารบริษัท (DICA) เผย ณ เดือนส.ค. 2564 ของปีงบประมาณ 2563-2564 การลงทุนจากต่างประเทศในภาคเกษตรของเมียนมามีสัดส่วนน้อยกว่าร้อยละ 1 ของการลงทุนจากต่างประเทศทั้งหมด ซึ่งที่ผ่านมาในปีงบประมาณ 2560-2561 มีการลงทุนในภาคเกษตรจำนวน 134.485 ล้านดอลลาร์ แต่ไม่มีการลงทุนในปีงบประมาณ 2559-2560 ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2531-2532 จนถึงสิ้นเดือนก.ย. 2561 มีการลงทุนจากต่างประเทศจำนวนกว่า 77.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยมีการลงทุนในภาคการเกษตร กว่า 395 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็น 0.51% ของการลงทุนจากต่างประเทศทั้งหมด .จนถึงปัจจุบัน มีเม็ดเงินการลงทุนจากต่างประเทศจำนวน 87.969 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นการลงทุนในภาคการเกษตร เพียง 441.838 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนในด้านการปศุสัตว์และการประมงมีการลงทุน 926.218 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ที่มา : https://news-eleven.com/article/216778

การค้า กัมพูชา-ไทย ปรับตัวเพิ่มขึ้น ในช่วง 8 เดือน

การค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.14 คิดเป็นมูลค่า 5,238 ล้านดอลลาร์ ในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ รายงานโดยกระทรวงพาณิชย์ของไทย แสดงให้เห็นว่าตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนสิงหาคม กัมพูชาส่งออกสินค้ามูลค่ารวม 623 ล้านดอลลาร์ ไปยังประเทศไทย ลดลงร้อยละ 31.70 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนการนำเข้าของกัมพูชาจากประเทศไทยในช่วงเวลาดังกล่าวกลับขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.76 คิดเป็นมูลค่า 4,614 ล้านดอลลาร์ โดยสินค้าภาคการเกษตรถือเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของกัมพูชาไปยังประเทศไทย ในขณะที่การส่งออกของไทยไปกัมพูชาส่วนใหญ่ประกอบด้วย ปุ๋ยทางการเกษตร อาหารและเครื่องสำอาง ซึ่งทั้งสองประเทศตั้งเป้าทำการค้าทวิภาคีร่วมกันสูงถึง 15 พันล้านดอลลาร์ ภายในปี 2023 โดยเมื่อปีที่แล้วมูลค่าการค้าทวิภาคีระหว่างสองประเทศอยู่ที่ 7.236 พันล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 23 จากปี 2019

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50943079/cambodia-thailand-eight-month-trade-inches-up/