ศูนย์วิจัยกสิกรฯ เผยเศรษฐกิจเวียดนามไตรมาส 1/64 ฟื้นตัวต่ำกว่าคาด

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานว่า เศรษฐกิจเวียดนามไตรมาส 1/2564 เติบโตต่ำกว่าที่คาดที่ 4.48% YoY จากเศรษฐกิจภาคบริการและการบริโภคในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิดในช่วงต้นปี 2564 ทำให้ทางการเวียดนามออกมาตรการปิดสถานที่ชั่วคราวอาทิ ร้านอาหาร โรงภาพยนตร์ และสถานบันเทิง ทั้งในฮานอยและโฮจิมินห์ ห้ามการรวมตัวของคนหมู่มาก ตลอดจนปรับลดเวลาทำการธุรกิจโดยเฉพาะบริการขนส่งสาธารณะ

  ขณะเดียวกันภาครัฐลดระดับในการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจลงเพื่อลดภาระทางการคลังหลังจากที่ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในปีก่อน1ซึ่งครอบคลุมการปรับลดภาษีธุรกิจ การสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ และการจ่ายเงินเยียวยาให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด ทำให้การบริโภคและกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศฟื้นตัวอย่างจำกัด

  ประกอบกับการลงทุนทางตรง (FDI) ยังคงชะลอลง โดยเฉพาะการลงทุนในโครงการใหม่ ขณะที่การนำเข้าสินค้าทุนและวัตถุดิบจากต่างประเทศที่เติบโตค่อนข้างมาก กดดันให้การเกินดุลการค้าปรับลดลง แม้ว่าภาคการส่งออกแม้ว่าจะขยายตัวได้กว่า 22% ก็ตาม

  ประเด็นการบิดเบือนค่าเงินของเวียดนามไม่ได้ส่งผลต่อภาคการส่งออกอย่างมีนัยสำคัญ หลังจากที่สหรัฐฯ จัดสถานะเวียดนามเป็นประเทศที่บิดเบือนค่าเงินในช่วงปลายปีที่ผ่านมา แต่ค่าเงินดอง (VND) ยังคงอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์ฯ ทั้งนี้ หากเทียบการอ่อนค่าระหว่างค่าเงินดองกับค่าเงินในสกุลอาเซียนจะพบว่าค่าเงินดองอ่อนค่าน้อยที่สุดเทียบกับสกุลเงินหลักในอาเซียน

   อย่างไรก็ดี การเคลื่อนไหวของค่าเงินดังกล่าวไม่ทำให้ความสามารถในการแข่งขันของเวียดนามลดลงอย่างมีนัยสำคัญเนื่องจากเวียดนามยังคงมีความได้เปรียบด้านต้นทุนการผลิตเทียบกับกลุ่มประเทศดังกล่าว ทั้งนี้ การส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ ขยายตัวอย่างร้อยละ 30 ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2564 โดยสหรัฐฯ เป็นตลาดหลักที่หนุนให้การส่งออกของเวียดนามยังคงขยายตัวในระดับสูงในปีนี้

  มองไปข้างหน้า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจเวียดนามยังคงมีทิศทางเติบโตที่เร่งขึ้นในช่วงที่เหลือของปี ทั้งนี้ การลงทุนในภาคการผลิตกลับมาเติบโตอย่างแข็งแกร่งอีกครั้ง อาจเป็นสัญญาณบวกต่อทิศทางการฟื้นตัวของภาคลงทุน เนื่องจากการลงทุนทางตรงในภาคการผลิตซึ่งมีสัดส่วนเกือบ 2 ใน 3 ของมูลค่าการลงทุนทางตรงทั้งหมดในช่วงก่อนโควิดซึ่งภาคดังกล่าวน่าจะได้รับได้รับอานิสงส์จากการย้ายฐานการผลิตออกจากจีน เนื่องจากเวียดนามมีค่าแรงต่ำกว่าจีนค่อนข้างมาก อีกทั้ง เวียดนามมีข้อตกลงการค้าที่ครอบคลุม

   ดังนั้นหากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดคลี่คลายลง น่าจะหนุนลงทุนรอบใหม่กลับมาเติบโตอีกครั้ง อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวของภาคการบริโภคอาจต้องอาศัยเวลาอีกระยะ เนื่องจากการส่งออกที่ฟื้นตัวในช่วงแรกมาจากการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก ขณะที่ส่งออกเครื่องนุ่งห่มซึ่งเกี่ยวเนื่องกับการฟื้นตัวของกำลังซื้อในประเทศมากกว่าอาจต้องรอการฟื้นตัวของความต้องการโดยเฉพาะจากยุโรปที่ยังคงเผชิญกับการระบาดของโควิด

  ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจเวียดนามที่กรอบประมาณการที่ 6.8-7.3% โดยการเติบโตของเศรษฐกิจในไตรมาส 1 ที่ออกมาต่ำกว่าคาดอาจส่งผลให้การเติบโตของเศรษฐกิจเวียดนามเข้าใกล้กรอบล่างของประมาณการมากขึ้น ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงต่อการเติบโตของเศรษฐกิจเวียดนามที่ต้องติดตาม ได้แก่ พัฒนาการของเศรษฐกิจในยูโรโซนที่กำลังเผชิญกับการระบาดของโควิดรอบใหม่ อาจส่งผลให้การฟื้นตัวของการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของเวียดนามมีแนวโน้มที่จะเติบโตน้อยกว่าคาด

  นอกจากนี้ ยังต้องติดตามสถานการณ์การเปิดประเทศของเวียดนาม นอกจากจะมีผลต่อภาคการท่องเที่ยวแล้วยังเป็นปัจจัยที่จะส่งผลต่อจังหวะของกระแสเงินลงทุนตรง ที่นักลงทุนโดยเฉพาะนักลงทุนรายใหม่ยังคงรอคอยการเปิดประเทศก่อนที่จะตัดสินใจลงทุนในขั้นสุดท้าย

ที่มา : /1 https://kasikornresearch.com/th/analysis/k-social-media/Pages/Vietnam-apr-FB-12-04-2021.aspx

/2 https://www.efinancethai.com/LastestNews/LatestNewsMain.aspx?ref=A&id=d1Z2b01wVFVaRVk9

การค้าชายแดนปี’ 64 มีลุ้นเติบโต 4.3% จับตาการค้าข้ามแดนไปประเทศที่ 3

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย (KResearch)

การค้าชายแดนและผ่านแดนของไทยในปีที่ผ่านมาเผชิญความท้าทายอย่างมากจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทั่วโลกต้องประสบเป็นปีแรกไม่เพียงทำให้กำลังซื้อของคู่ค้าชะลอตัว ยังทำให้พรมแดนระหว่างประเทศจำเป็นต้องจำกัดจุดผ่านแดนเหลือเพียงเฉพาะช่องทางที่สำคัญเท่านั้น รวมทั้งเพิ่มมาตรการเข้มงวดในการตรวจปล่อยรถขนส่งสินค้า สิ่งเหล่านี้กดดันการส่งออกชายแดนและผ่านแดนของไทยในภาพรวมให้หดตัวร้อยละ 2.16 มีมูลค่า 766,314 ล้านบาท ในปี 2563

สำหรับปี 2564 เป็นอีกปีที่โควิด-19 ยังไม่คลี่คลาย แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าของไทยเริ่มปรับตัวดีขึ้นกว่าเดิม มีทั้งปัจจัยด้านราคาน้ำมันที่เข้ามาช่วยเสริมให้ตัวเลขการค้าชายแดนพลิกฟื้นกลับมา ขณะที่โครงสร้างการส่งออกสินค้าของไทยที่พึ่งพาตลาดประเทศที่มีพรมแดนติดกับไทยเกินกว่าครึ่ง (เมียนมา สปป.ลาว กัมพูชาและมาเลเซีย) กลายเป็นจุดอ่อนสำคัญที่ฉุดการส่งออกชายแดนในภาพรวมลดลงตลอด 3 ปีที่ผ่านมา โดยคาดว่าในปี 2564 การส่งออกชายแดนไปตลาดเหล่านี้จะยังมีทิศทางเติบโตเชื่องช้าต่อไปขยายตัวเพียงร้อยละ 1.3 มีมูลค่าการส่งออก 454,005 ล้านบาท ดังนี้

  • การส่งออกชายแดนของไทยเริ่มมีปัญหามีมูลค่าการค้าลดลงเรื่อยมา ด้วยข้อจำกัดด้านกำลังซื้อและจำนวนประชากรของคู่ค้า จึงทำให้ทิศทางการส่งออกไปยังตลาดเหล่านี้เติบโตได้อย่างจำกัด โดยเฉพาะประเทศที่มีพรมแดนติดกับไทยอย่าง สปป.ลาว และกัมพูชา
  • โครงสร้างการส่งออกสินค้าแบบเดิมของไทยตอบโจทย์ตลาดคู่ค้าได้น้อยลง

จะเห็นได้ว่าโครงสร้างการส่งออกของไทยไม่เอื้อต่อการส่งออกไปยังตลาดชายแดนหลักของไทยดังเช่นในอดีต ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ตลาดดาวรุ่งที่จะมาสนับสนุนการค้าชายแดนของไทยอยู่ที่การส่งสินค้าผ่านแดนไปประเทศที่ 3 (สิงคโปร์ จีน เวียดนาม และประเทศอื่นๆ) ซึ่งเริ่มมีสัญญาณเติบโตมาระยะหนึ่ง โดยสัดส่วนการส่งออกไปตลาดนี้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 43 ของการส่งออกชายแดนและผ่านแดน (จากที่เคยมีสัดส่วนร้อยละ 37 ในปี 2561) อีกทั้งสินค้าไทยที่ไปตลาดนี้มีศักยภาพโดดเด่นจึงน่าจะเติบโตได้ดีกว่าตลาดอื่นๆ โดยคาดว่าปี 2564 จะเติบโตที่ร้อยละ 8.5 มีมูลค่าส่งออกราว 345,191 ล้านบาท

โดยสรุป ด้วยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าที่น่าจะปรับตัวดีขึ้นจากปีก่อน ซึ่งได้ผ่านพ้นสถานการณ์โควิด-19 มาได้อีกปีหนึ่ง ซึ่งแน่นอนว่าหลายประเทศยังต้องพึ่งพาการบริโภคสินค้าจากไทย รวมถึงสินค้าในกลุ่ม IT มีสัญญาณเร่งตัวตามกระแสโลกอย่างต่อเนื่องยิ่งผลักดันการส่งออกสินค้าผ่านแดนไปประเทศที่ 3 ให้มีบทบาทสำคัญ ด้วยแรงขับเคลื่อนดังกล่าว

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การส่งออกชายแดนและผ่านแดนของไทยปี 2564 จะพลิกกลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 4.3 มีมูลค่าการส่งออก 799,195 ล้านบาท (กรอบประมาณการเติบโตที่ร้อยละ 3.3-5.5 มีมูลค่าการส่งออก 791,602-808,461 ล้านบาท) โดยขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าในการรับมือกับการระบาดของโควิด-19 ได้ดีเพียงใด การส่งออกไปตลาดส่วนใหญ่กลับมาขยายตัวยกเว้นบางประเทศที่หดตัวจากปัจจัยเฉพาะ อาทิ เมียนมาที่มีปัญหาการเมืองในประเทศฉุดเศรษฐกิจ และโรคระบาดในสุกรที่กัมพูชาทำให้ฐานปีก่อนสูงผิดปกติอย่างมาก

นอกจากนี้ สิ่งที่ต้องจับตาในระยะต่อไป ต้องยอมรับว่าโครงสร้างการผลิตและส่งออกของไทยในปัจจุบันไม่เอื้อให้ค้าชายแดนไทยเติบโตได้อย่างมั่งคงนัก เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นสินค้ามีมูลค่าเพิ่มน้อยในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค อาหารและเครื่องดื่ม ขนาดตลาดมีจำกัดจึงไม่สามารถผลักดันค้าชายแดนให้เร่งตัวได้มาก ทำได้เพียงแค่ประคองการเติบโตไปตามภาวะเศรษฐกิจของคู่ค้าเป็นหลัก ขณะที่สินค้าที่ใช้วัตถุดิบในไทยอย่างยางพารากับผลไม้เมืองร้อน ซึ่งมีศักยภาพโดดเด่นในตัวเองมีส่วนช่วยขับเคลื่อนค้าชายแดนไทยไปยังประเทศจีนและเวียดนามได้อย่างต่อเนื่องและยังคงมีช่องทางอันสดใส แต่สินค้าที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูงในกลุ่มยานยนต์ เทคโนโลยีโดยเฉพาะสินค้า IT ที่อยู่ในกระแสความต้องการของตลาดโลกยังมีโอกาสเติบโตได้อย่างไม่หยุดยั้ง นับว่ามีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นการค้าชายแดนของไทยนับจากนี้ไป แต่สินค้าเหล่านี้จะยังคงเป็นแรงส่งให้แก่ไทยได้อีกนานแค่ไหนนั้นคงขึ้นอยู่กับการตัดสินใจลงทุนของต่างชาติว่าจะเลือกลงทุนในไทยหรือย้ายไปตั้งฐานการผลิตที่อื่น ดังนั้น การกระตุ้นการค้าชายแดนซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งของการค้าในภาพรวมของไทยก็คงต้องเริ่มจาการแก้ปัญหาโครงสร้างการผลิตของไทยให้ยกระดับไปอีกขั้น จนสินค้าไทยเกิดความโดดเด่นเป็นที่ต้องการของคู่ค้าเหนือคู่แข่งชาติอื่นๆ

ที่มา :

/1 https://kasikornresearch.com/th/analysis/k-econ/business/Pages/Border-Trade-z3191.aspx

/2 https://www.moneyandbanking.co.th/article/news/kresearch-frontier-19022021

วิเคราะห์เศรษฐกิจ เมียนมา หลังรัฐประหาร

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย I กรุงเทพธุรกิจ

จากเหตุการณ์กองทัพเข้ายึดอำนาจรัฐบาลออง ซาน ซูจี เมื่อวันที่ 1 ก.พ.2564 ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเมียนมาและมหาอำนาจชาติตะวันตกกลับเข้าสู่สภาวะชะชักงัน และอาจนำไปสู่การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจกับประเทศเมียนมาอีกครั้ง

เป็นที่ทราบกันดีว่าความสัมพันธ์ระหว่างเมียนมากับมหาอำนาจชาติตะวันตกมีพลวัตในทางที่ดีขึ้นในช่วงที่ผ่านมา สืบเนื่องมาจากการปฏิรูปการเมืองเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยที่เริ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงปี 2554 และประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมเมื่อนางออง ซาน ซูจี ชนะการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกในช่วงปลายปี 2558 ซึ่งในช่วงเวลาเดียวกันนี้เอง สหภาพยุโรปประกาศให้สิทธิพิเศษทางการค้า Everything But Arms (EBA) แก่เมียนมาในปี 2556 พร้อมทั้งสหรัฐก็ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจกับเมียนมาในปี 2559

ความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นนี้เป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจเมียนมาให้เติบโตได้ในระดับสูงตลอดช่วงที่ผ่านมา โดยการลงทุนจากต่างประเทศเป็นปัจจัยผลักดันให้เกิดการส่งออก และเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจเมียนมา จากสังคมเกษตรเข้าสู่สังคมอุตสาหกรรม พร้อมทั้งก่อให้เกิดการจ้างงานและยกระดับกำลังซื้อของภาคประชาชนอย่างมหาศาล

ดังนั้น การเข้ายึดอำนาจรัฐบาลของกองทัพเมียนมาในครั้งนี้ย่อมก่อให้เกิดความชะงักงันในความสัมพันธ์กับมหาอำนาจชาติตะวันตก และอาจนำไปสู่การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ เช่น การเพิกถอนสิทธิพิเศษทางการค้าของสหภาพยุโรปและสหรัฐ ซึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อสภาวะการค้า การลงทุน และเศรษฐกิจโดยรวมของเมียนมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ในด้านการค้า นับตั้งแต่เมียนมาได้รับสิทธิพิเศษทางการค้าจากสหภาพยุโรป การส่งออกของเมียนมาไปสหภาพยุโรปก็เติบโตมากกว่า 10 เท่าในช่วงเวลาเพียง 6 ปี โดยมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นจาก 208 ล้านดอลลาร์ในปี 2556 มาเป็น 3,300 ล้านดอลลาร์ในปี 2562 ส่วนการส่งออกของเมียนมาไปสหรัฐก็เติบโตขึ้น 5 เท่าภายใน 3 ปี โดยเพิ่มขึ้นจาก 150 ล้านดอลลาร์ในปี 2559 มาเป็น 829 ล้านดอลลาร์ในปี 2562

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า หากสูญเสียสิทธิพิเศษทางการค้าจากสหภาพยุโรปและสหรัฐ มูลค่าการส่งออกของเมียนมาจะหดตัวลงประมาณ 10% และคาดว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจจะอยู่ในกรอบ (-)0.5% ถึง (-)2.5% ในปี 2564 การเข้ายึดอำนาจของกองทัพเมียนมาไม่ได้ส่งผลกระทบเชิงลบต่อการส่งออกเพียงเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศอีกด้วย

สำหรับผลกระทบต่อประเทศไทย จะเกิดขึ้นผ่านทาง 2 ช่องทางหลัก ได้แก่ การค้าชายแดนและการเคลื่อนย้ายแรงงานเมียนมาเข้ามาในประเทศไทย

ในประเด็นการค้าชายแดนคงต้องพิจารณาจากสถานการณ์เศรษฐกิจ การค้า การลงทุนที่จะมีผลต่อการซื้อสินค้าของไทยผ่านพรมแดนไทยกับเมียนมาที่เป็นช่องทางหลักในการส่งออกสินค้าไทยถึงร้อยละ 75 ของการส่งออกทั้งหมดของไทยไปเมียนมา

ภาพรวมการส่งออกชายแดนไทยไปเมียนมาในปี 2563 ได้รับผลกระทบจากกำลังซื้อและการคุมเข้มการเข้าออกทั้งคนและสินค้าจากปัญหาโควิด-19 จึงฉุดให้การส่งออกทรุดตัวถึงร้อยละ (-)12.4 มีมูลค่าส่งออกต่ำกว่าแสนล้านบาทต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 โดยมีมูลค่า 87,090 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี คงต้องเฝ้าติดตามการเปิด-ปิดด่านค้าขายแดน ดังเช่นการปิดด่านอย่างกะทันหันบริเวณพรมแดนด่านแม่สาย จ.เชียงราย เมื่อวันจันทร์ที่ 1 ก.พ.2564 แม้ว่าในขณะนี้จะเปิดให้บริการตามปกติแล้ว แต่ก็เป็นสัญญาณถึงความไม่แน่นอนที่อาจจะมีมาตรการในการตรวจคนและสินค้าข้ามแดนเพิ่มเติมจากมาตรการคุมเข้มเดิมที่ใช้รับมือกับสถานการณ์โควิด-19 ในปัจจุบัน อันจะทำให้การส่งออกทางชายแดนในทุกช่องทางไม่ราบรื่น

ประกอบกับสถานการณ์เศรษฐกิจของเมียนมาที่เปราะบางอยู่แล้วจากปัญหาโควิด-19 ทั้งยังต้องรับมือกับปมการการเมืองในประเทศ ที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในด้านการค้าการลงทุนกับนานาชาติ ซึ่งในประเด็นนี้เองศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าการส่งออกชายแดนไทยในปี 2564 แม้ในภาพรวมจะได้อานิสงส์จากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นช่วยพยุงการค้าไว้ได้ระดับหนึ่ง แต่ความเปราะบางทางเศรษฐกิจของเมียนมาจะยิ่งส่งผลอย่างมากทำให้การผลิตและการบริโภคในภาพรวมทรุดตัวลง กดดันให้สินค้าไทยที่ส่งผ่านชายแดนไปเมียนมาในปี 2564 จะยังหดตัวต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 (-)0.5% มีมูลค่าการค้าลดลงเหลือราว 86,600 ล้านบาท

ส่วนประเด็นการเคลื่อนย้ายแรงงานเมียนมาเข้ามาในประเทศไทยนั้น จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด ทำให้แรงงานเมียนมาเดินทางกลับประเทศไปไม่ต่ำกว่า 1 แสนคน และยังไม่สามารถกลับเข้าไทย ประกอบกับการเข้ายึดอำนาจของกองทัพเมียนมาทำให้เกิดความไม่แน่นอนทางนโยบาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นโยบายการเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างประเทศ เช่น ความเสี่ยงในการปิดด่าน หรือการใช้มาตรการตรวจเข้มพลเมืองที่เดินทางเข้าออกประเทศ

มาตรการเหล่านี้จะเป็นอุปสรรคต่อทั้งการรับแรงงานใหม่และการรับแรงงานเมียนมาเดิมให้กลับเข้ามาทำงานที่ไทยอีกครั้งอย่างถูกกฎหมาย จะส่งผลให้ประเทศไทยขาดแคลนแรงงานที่ถูกกฎหมายในภาคธุรกิจต่างๆ ได้แก่ ธุรกิจเกษตรและปศุสัตว์ (25%) ธุรกิจค้าปลีกและร้านอาหาร (17%) ธุรกิจก่อสร้าง (15%) ธุรกิจประมงและสินค้าประมงแปรรูป (10%)

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/921209

อุตสาหกรรมรถยนต์เวียดนามยังคงเติบโต … แม้การนำเข้าจากไทยจะเพิ่มกว่าร้อยละ 46

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

เวียดนามเป็นประเทศที่ตลาดรถยนต์มีโอกาสเพิ่มปริมาณขึ้นอีกมากในระยะอีก 5 ถึง 7 ปีข้างหน้า ซึ่งอาจก่อให้เกิดการลงทุนผลิตรถยนต์ในประเทศเพิ่มได้ แม้ปัจจุบันเวียดนามจะยังตามหลังประเทศอื่นๆในอาเซียนอยู่หลายด้าน อย่างไรก็ตาม

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า หากเวียดนามมีการพัฒนาต่อเนื่องในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาทางเศรษฐกิจในระดับสูงเช่นปัจจุบัน ภาครัฐมีการออกแบบนโยบายที่ช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วนได้อย่างเหมาะสม การสร้างระบบสินเชื่อของสถาบันการเงินที่แข็งแกร่งและเข้าถึงลูกค้าได้หลายระดับ รวมถึงการพัฒนาความน่าเชื่อถือของรถยนต์สัญชาติเวียดนามเอง ก็อาจทำให้ภาพของอุตสาหกรรมรถยนต์เวียดนามเปลี่ยนแปลงไปได้ โดยเฉพาะในยุคแห่งการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้านี้

อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ปัจจุบันของอุตสาหกรรมรถยนต์ในเวียดนามที่ยังไม่เข้มแข็งนัก ทำให้ต้องพึ่งพิงรถยนต์นำเข้าในปริมาณที่สูงมาก ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าจะทำให้ไทยยังมีโอกาสที่จะส่งออกรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ไปยังตลาดเวียดนามได้อย่างต่อเนื่อง แม้ในระยะยาวอาจจะมีโอกาสที่การส่งออกไม่เพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงดังเช่น ณ ขณะปัจจุบัน เนื่องจากคาดว่าจะมีการเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นในเวียดนามดังกล่าวข้างต้น

สำหรับในปี 2562 นี้ ไทยยังคงมีโอกาสส่งออกรถยนต์ไปยังเวียดนามได้ดีต่อเนื่อง ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ไทยมีโอกาสส่งออกรถยนต์ไปตลาดเวียดนามได้เพิ่มขึ้นเป็น 83,000 คัน หรือขยายตัวกว่าร้อยละ 46 จากที่ปี 2561 สามารถส่งออกไปได้ประมาณ 57,000 คัน ส่วนในปี 2563 ที่จะถึงนี้ก็คาดว่าการส่งออกรถยนต์ของไทยไปเวียดนามจะยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็น 100,000 ถึง 103,000 คัน โดยประเภทรถที่จะเติบโตได้ดี คือ รถยนต์นั่ง ที่ตลาดให้ความนิยมค่อนข้างมาก

โดยสรุป แม้ว่าพื้นฐานต่างๆของเวียดนามปัจจุบันจะทำให้การพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วนให้แข็งแกร่งขึ้นมายังเป็นเรื่องที่ท้าทายอยู่มาก แต่ด้วยโอกาสที่ตลาดรถยนต์ในประเทศจะมีแนวโน้มขยายตัวสูงในอนาคต และการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ในระยะต่อไปที่มุ่งไปสู่รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น ก็อาจจะเป็นโอกาสให้ค่ายรถสัญชาติเวียดนามพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าของตนเองขึ้นในประเทศได้ในอนาคต ซึ่งอาจส่งผลทำให้การส่งออกรถยนต์ของไทยไปเวียดนามเติบโตได้ในระดับที่จำกัดในระยะข้างหน้า แต่เวียดนามเองก็ยังมีความท้าทายที่ต้องเผชิญอีกมากเพื่อให้พัฒนาขึ้นไปได้ถึงจุดนั้น ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาระบบโครงสร้างสาธารณูปโภคที่จะรองรับต่อความต้องการของตลาด รวมถึงอาจต้องเผชิญกับการแข่งขันในตลาดที่สูงมาก เมื่อค่ายรถสัญชาติญี่ปุ่น เกาหลี และตะวันตก มีแนวโน้มจะตั้งฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารูปแบบต่างๆในฐานการผลิตอื่นในภูมิภาคอาเซียน และมีโอกาสที่จะส่งออกมายังเวียดนามได้เช่นเดียวกัน

ที่มา : https://kasikornresearch.com/th/analysis/k-econ/economy/Pages/z3038.aspx