ธนาคารกลาง สปป.ลาว ออกนโยบายสินเชื่อหวังกระตุ้นเศรษฐกิจ

ธนาคารแห่ง สปป.ลาว (BOL) ได้รายงานแจ้งผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของนโยบายสินเชื่อเพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการตามมติของสมัชชาแห่งชาติ โดยการประชุมเพื่อร่างวัตถุประสงค์ของนโยบายจัดขึ้นที่สำนักนายกรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (30 พ.ค.) ซึ่งมี ดร.Bounleua Sinxayvoravong ผู้ว่าการ BOL เป็นประธาน ร่วมกับรัฐมนตรีจากกระทรวงต่างๆ รองผู้ว่าการมณฑลและนายกเทศมนตรีนครเวียงจันทน์เข้าร่วมการประชุม โดยนโยบายสินเชื่อมุ่งเน้นไปที่ภาคการผลิต ภาคการค้าและภาคบริการ เป็นสำคัญ เพื่อหวังกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ รวมถึงการสร้างงาน การรักษาเสถียรภาพการเงิน และการเงินในระดับมหภาค ตลอดจนการพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งจากรายงานสรุปของ BOL ที่นำเสนอในที่ประชุม นโยบายสินเชื่อเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจแบ่งออกเป็น 2 นโยบายย่อย คือ นโยบายสินเชื่อเพื่อเติมเต็มช่องว่างดอกเบี้ยงบประมาณ 5 แสนล้านกีบ ระยะเวลาโครงการ 5 ปี และนโยบายสินเชื่อเพื่อกระจายแหล่งทุนสู่ท้องถิ่น จำนวนเงินสูงถึง 1,500 พันล้านกีบ ระยะเวลาโครงการไม่เกิน 5 ปี ภายใต้สกุลเงินกีบ (LAK)

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten2023_Central104.php

NPLs ภายในกัมพูชายังคงสามารถจัดการได้ ท่ามกลางอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น

ธนาคารและสถาบันการเงินรายย่อย (MFIs) ในประเทศกัมพูชา ยังคงรับมือกับสถานการณ์หนี้เสีย (NPLs) ภายในประเทศได้ ตามรายงานของ NBC ภายใต้สถานการณ์อัตราดอกเบี้ยขาขึ้น โดยอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ในอุตสาหกรรมธนาคารและการเงินรายย่อยเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 3.1 และร้อยละ 2.5 ในปี 2022 จากร้อยละ 2 และ 2.4 ตามลำดับในปีที่แล้ว ขณะที่อัตราดอกเบี้ยของธนาคารทั้งในแบบสกุลเงินเรียลและดอลลาร์ เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 12.2 และร้อยละ 10 ต่อปี ในปี 2022 จากร้อยละ 11.4 และร้อยละ 9.7 ต่อปี ตามลำดับ สำหรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากทั้งในสกุลเงินเรียลและดอลลาร์ก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกันเป็นร้อยละ 6.8 และ 5.4 จากร้อยละ 6.2 และ 4.7 ตามลำดับ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501298784/cambodias-npls-manageable-amid-rising-interest-rates/

CGCC ค้ำประกันสินเชื่อแก่ SMEs กัมพูชากว่า 113 ล้านดอลลาร์

สถาบันค้ำประกันสินเชื่อ ประเทศกัมพูชา (CGCC) ให้การค้ำประกันสินเชื่อมูลค่ารวม 113.6 ล้านดอลลาร์ แก่ภาคธุรกิจ SMEs ในกัมพูชา เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการขยายธุรกิจในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ โดยได้ปล่อยสินเชื่อให้กับภาคธุรกิจเกือบ 1,300 แห่ง จนถึงขณะนี้ CGCC ได้จัดทำแผนการค้ำประกัน 3 รูปแบบ ได้แก่ โครงการการรับประกันการฟื้นตัวของธุรกิจ (BRGS) ที่เปิดตัวในเดือนมีนาคม 2022, โครงการการรับประกันทางการเงินร่วม (CFGS) เปิดตัวในช่วงเดือนกันยายน 2021 และโครงการการรับประกันผู้ประกอบการหญิง ซึ่งเปิดตัวในเดือนเมษายน 2022 โดยปัจจุบัน CGCC ได้ขยายระยะเวลาโครงการ BRGS นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2023 ไปจนกว่าจะครบตามวงเงินกู้ที่ได้กำหนดไว้ที่มูลค่า 200 ล้านดอลลาร์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501278434/credit-guarantees-to-smes-reach-113-million/

SME Bank กัมพูชาปล่อยสินเชื่อเพื่อธุรกิจกว่า 2,000 ราย

ธนาคารวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งกัมพูชา จำกัด (มหาชน) (SME Bank) ได้ปล่อยสินเชื่อให้กับภาคธุรกิจ SME ภายในประเทศกัมพูชา มูลค่ามากกว่า 200 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นจำนวนผู้ประกอบการอย่างน้อย 2,500 ราย เพื่อสนับสนุนการขยายธุรกิจ ซึ่งส่วนใหญ่ได้ปล่อยสินเชื่อภายใต้โครงการร่วมทุนเพื่อการฟื้นฟูการท่องเที่ยว (TRCS) มูลค่า 150 ล้านดอลลาร์ นับตั้งแต่เริ่มเสนอเงินกู้ในเดือนกรกฎาคมปืที่ผ่านมา ขณะที่เดือนธันวาคม 2022 เพียงเดือนเดียว SME Bank ได้ปล่อยสินเชื่อไปกว่า 53.4 ล้านดอลลาร์ แก่ธุรกิจ 231 แห่ง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501234112/sme-banks-loans-help-more-than-2000-businesses/

‘แบงก์ชาติเวียดนาม’ ประกาศเพิ่มวงเงินขยายตัวของสินเชื่อ

เมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 2565 ธนาคารกลางเวียดนาม (SBV) ประกาศเพิ่มเพดานการขยายตัวของสินเชื่อในปีนี้ขึ้นอีก 1.5-2% ด้วยแรงกดดันเงินเฟ้อของเวียดนาม ก่อนหน้านี้ทางธนาคารกลางจะไม่จำกัดการเติบโตของสินเชื่อไว้ที่ 14% และในช่วงที่ผ่านมา ธนาคารกลางได้ให้โควต้าสำหรับธนาคารบางแห่ง โดยการตัดสินใจในครั้งนี้ของธนาคารกลางที่ทำการปรับเพิ่มเพดานการขยายตัวของสินเชื่อ เนื่องจากปัจจัยภายนอกกระทบต่อเศรษฐกิจลดลง ในขณะที่สภาพคล่องของระบบธนาคารมีทิศทางที่ดีขึ้น

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/central-bank-revises-up-credit-growth-limit/

เมียนมาเลื่อนชำระสินเชื่อฟื้นฟู COVID-19 ออกไปหนึ่งปี

รัฐบาลเมียนมาได้เลื่อนการจ่ายเงินสินเชื่อเพื่อฟื้นฟูธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19  ของเมียนมา ที่ครบกำหนดชำระในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2022 ออกไปอีกหนึ่งปี ซึ่งสินเชื่อนี้ปล่อยกู้ให้กับธุรกิจในภาคปศุสัตว์ เช่น และธุรกิจฟาร์มเลี้ยงปลาและกุ้ง รวมไปถึงธุรกิจของรัฐ สำหรับสินเชื่อนี้มีอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 ระยะเวลาในการชำระคืน 1 ปี  โดยมีธุรกิจที่ได้รับสินเชื่อนี้ไปทั้งสิ้น 325 บริษัท มูลค่าเงินกู้รวมทั้ง7.6 พันล้านจัต ซึ่งการเลื่อนชำระเงินกู้ออกไปจะเป็นผลดีเพราะสามารถนำเงินไปหมุนเวียนในธุรกิจได้

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/loan-maturity-date-for-livestock-sector-extended-for-one-year/

ARDB ลงนามในสัญญาเงินกู้วงเงิน 30 ล้านดอลลาร์ ส่งเสริมภาคการเกษตรกัมพูชา

ธนาคารเพื่อการเกษตรและการพัฒนาชนบท (ARDB) ของกระทรวงเศรษฐกิจและการคลังของกัมพูชา ได้ลงนามในสัญญาเงินกู้มูลค่า 30 ล้านดอลลาร์ ให้กับธนาคาร 3 แห่ง และสถาบันการเงินขนาดเล็ก เพื่อช่วยในการสนับสนุนภาคเกษตรกรรมภายในประเทศ โดยสัญญาเงินกู้อยู่ภายใต้โครงการสร้างความหลากหลายทางการเกษตรของกัมพูชา (CASDP) ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากธนาคารโลก มีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมการรวมกลุ่มทางการเงินและสนับสนุนห่วงโซ่การผลิต กระจายไปยังเขตพื้นที่เป้าหมาย 13 แห่ง ได้แก่ พนมเปญ, พระตะบอง, มณฑลคีรี, สตึงแตรง, รัตนคีรี, ปราสาทพระวิหาร, กัมปงจาม, ทบงคำ, กระแจะ, เสียมราฐ, กันดาล, กำปงสปือ และ กำปงชนัง ซึ่งธนาคารจะปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ที่ต้องการในภาคการเกษตรที่อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปี ยกเว้นภาคที่เกี่ยวกับข้าวที่เป็นสินค้าส่งออกสำคัญของกัมพูชาอยู่แล้ว โดยการส่งออกสินค้าเกษตร (ไม่รวมข้าว) ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงพฤษภาคมมีปริมาณรวม 3.23 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 0.13 ล้านตัน จากปีก่อนหน้า ซึ่งมีมูลค่าเกือบ 1.4 พันล้านดอลลาร์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501132346/ardb-inks-30m-loan-pact-to-promote-agri-sector/

กสิกรไทยบุกเวียดนาม เล็งปล่อยสินเชื่อ 20,000 ล้านบาท มีลูกค้า 1.2 ล้านราย ในปีหน้า

ธนาคารกสิกรไทยเดินหน้าต่อสู่เป้าหมายธนาคารยุคใหม่แห่งภูมิภาค AEC+3 ทุ่มงบกว่า 2,700 ล้านบาท เพื่อเสริมแกร่งเครือข่ายบริการในภูมิภาค พร้อมประกาศความมุ่งมั่นรุกตลาดเวียดนามเต็มตัว เอาใจลูกค้าทุกเซกเมนต์ด้วยบริการดิจิทัล ตั้งเป้าในปี 2566 กวาดยอดสินเชื่อ 20,000 ล้านบาท และลูกค้าบุคคล 1.2 ล้านราย

ทั้งนี้ นายพิพิธ เอนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า เวียดนามมีแนวโน้มเติบโตรวดเร็วที่สุดในอาเซียน เนื่องจากศักยภาพในการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากทั่วโลก ที่ผ่านมาแทบไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด19 มีสัดส่วนหนี้สาธารณะต่ำกว่า 60% ของ GDP และยังมีแนวโน้มเติบโตในระยะข้างหน้า คาดว่าภายในปี 2573 เวียดนามจะเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ที่มีรายได้ปานกลางค่อนข้างสูงและเป็นประเทศพัฒนาแล้วภายในปี 2588

ที่มา : https://pineapplenewsagency.com/th/c30880

สินเชื่อเพื่อการบริโภคกัมพูชาขยายตัวต่อเนื่องในไตรมาส 2

สินเชื่อเพื่อการผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง รายงานโดยเครดิตบูโรกัมพูชา (CBC) ซึ่งในช่วงไตรมาส 2 คำขอสินเชื่อเพื่อการผู้บริโภคลดลงร้อยละ 11 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ในขณะที่ยอดขอสมัครบัตรเครดิตปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วร้อยละ 23 โดยในปัจจุบันจำนวนบัญชีสินเชื่อรวมทั้งหมดเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.41 หรือคิดเป็นจำนวนบัญชีประมาณ 1.43 ล้านบัญชี ซึ่งมียอดสินเชื่อคงค้างทั้งสิ้นเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.28 สู่มูลค่า 13.03 พันล้านดอลลาร์ ในช่วงไตรมาส 2 ของปี นอกจากนี้ ลูกค้าโดยส่วนใหญ่มีบัญชีสินเชื่อผูกกับสถาบันการเงินเพียงแห่งเดียวอยู่ในระดับที่สูงถึงร้อยละ 71.72 ส่วนที่เหลือร้อยละ 28.28 มีการเปิดบัญชีกับสถาบันการเงินมากกว่า 1 แห่ง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501125021/consumer-credit-performance-strong-in-second-quarter/

ACLEDA Bank ออกสินเชื่อเพื่อการเกษตรแล้วกว่า 1.21 พันล้านดอลลาร์

ธนาคาร ACLEDA กล่าวว่า ได้ทำการปล่อยสินเชื่อจำนวนมูลค่ารวมกว่า 1.21 พันล้านดอลลาร์ ให้กับภาคการเกษตร คิดเป็นกว่าร้อยละ 20.75 ของพอร์ตสินเชื่อทั้งหมดของธนาคาร ณ เดือนมิถุนายน 2022 ที่ผ่านมา ด้าน In Channy ประธานและกรรมการผู้จัดการกลุ่มบริษัท ACLEDA Bank Plc กล่าวว่า กัมพูชาถือเป็นหนึ่งในประเทศที่เศรษฐกิจมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยภาคเกษตรกรรมมีบทบาทสำคัญที่สุดในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม และการจ้างแรงงาน ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลกัมพูชาได้ให้ความสำคัญกับภาคเกษตรกรรมมากขึ้น

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501119196/acleda-bank-loans-out-1-21bil-to-boost-agriculture/