“พาณิชย์” เผย “ทุเรียน-ถุงมือยาง” แชมป์ใช้สิทธิ์ FTA-GSP ปี 63

กรมการค้าต่างประเทศเผยยอดใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าปี 63 มีมูลค่า 62,338.86 ล้านเหรียญสหรัฐ ลด 10.46% ตามการส่งออกที่ชะลอตัว เผย “ทุเรียนสด” นำโด่งใช้ FTA “ถุงมือยาง” นำใช้สิทธิ์ GSP คาดปี 64 ยอดใช้สิทธิ์เพิ่มตามการฟื้นตัวของการส่งออก และการพัฒนางานบริการให้ยื่นขอใช้สิทธิ์ได้ง่ายขึ้น โดยอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า การใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าสำหรับการส่งออกภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) และภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) ในปี 2563 ที่ผ่านมามีมูลค่า 62,338.86 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 10.46% ซึ่งเป็นไปตามการส่งออกในภาพรวมที่ปรับตัวลดลง เพราะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และมีสัดส่วนการใช้สิทธิ 76.06% ของสินค้าที่ได้สิทธิประโยชน์ทั้งหมด โดยแบ่งเป็นการใช้สิทธิภายใต้ FTA มูลค่า 58,077.18 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 11.41% มีสัดส่วนการใช้สิทธิ 76.53% และการใช้สิทธิภายใต้ GSP มูลค่า 4,261.68 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 5.03% มีสัดส่วนการใช้สิทธิ 70.12%

ที่มา : https://mgronline.com/business/detail/9640000018374

เอกอัครราชทูตอังกฤษยืนยันสถานะ GSP ต่อกัมพูชา

สหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือได้ยืนยันถึงสถานะของ Generalized System of Preferences (GSP) สำหรับกัมพูชา ภายใต้ความร่วมมือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศ โดยคำยืนยันดังกล่าวเกิดขึ้นในการประชุมระหว่างรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศกัมพูชากัมพูชา ซึ่งในระหว่างการประชุมเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรแจ้งว่าตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2021 สหราชอาณาจักรจะดำเนินนโยบายการค้าเสรีกับกัมพูชา โดยคำนึงถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจาก COVID-19 ต่อสมาชิกประเทศกลุ่มเปราะบางที่สุดสำหรับการพัฒนาประเทศ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50795156/uk-ambassador-confirms-gsp-status-for-cambodia/

ไทยผนึก 26 ชาติจี้มะกันต่ออายุจีเอสพี อุ้มส่งออก8หมื่นล.645สินค้า

นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ไทยได้ร่วมกับอีก 26 ประเทศที่รับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) ทำหนังสือถึงสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา (ยูเอสทีอาร์) เพื่อขอให้มีการพิจารณาต่ออายุโครงการสิทธิพิเศษจีเอสพี 3,500 รายการ ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 31 ธ.ค.63 ออกไป เพื่อช่วยเหลือผู้ส่งออกไทยและผู้นำเข้าสหรัฐ ให้สามารถลดภาระภาษี ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของทั้ง 2 ประเทศ รวมถึงให้ทางการสหรัฐ เร่งรัดกระบวนการพิจารณาต่ออายุโครงการให้เร็วขึ้นกว่าเดิม ปัจจุบัน สหรัฐได้ให้สิทธิจีเอสพีสินค้าทั้งหมด 3,500 รายการ แต่ในจำนวนมีสินค้าที่ไทยได้รับสิทธิและใช้สิทธิจีเอสพีส่งออกไปจริง ประมาณ 645 รายการ คิดเป็นมูลค่า 2,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 83,200 ล้านบาท ซึ่งทั้งหมดจะหมดอายุช่วงสิ้นปีนี้  แต่กรมฯ ก็เชื่อมั่นว่าทางการสหรัฐจะต่ออายุจีเอสพีออกไป  แม้กระบวนการประกาศต่ออายุจะล่าช้าและเสร็จไม่ทัน 1 ม.ค.64 แต่ก็ขอให้ผู้ประกอบการไทยไม่ต้องตกใจ เพราะตามประวัติศาสตร์ ทางการสหรัฐจะประกาศช้าอยู่แล้ว แต่ก็จะให้สิทธิจีเอสพีย้อนหลังเริ่มตั้งแต่ 1 ม.ค. เป็นต้นไป โครงการจีเอสพี ที่สหรัฐ ให้สิทธิฯ แก่  119 ประเทศกำลังพัฒนา และพัฒนาน้อยที่สุด จะถึงรอบสิ้นสุดอายุโครงการในวันที่ 31 ธ.ค.63 พอดี โดยสหรัฐ กำลังพิจารณาต่ออายุโครงการออกไปอยู่  ซึ่งจะต้องออกเป็นกฎหมายจึงอาจมีความล่าช้าไปบ้าง หลายเดือน แต่ก็ถือเป็นเรื่องปกติ เพราะสหรัฐ จะให้สิทธิต่ออายุโครงการย้อนหลัง เพื่อให้การให้สิทธิจีเอสพีเป็นไปอย่างต่อเนื่อง เช่น การต่ออายุครั้งล่าสุดเมื่อปี 61 สหรัฐ ได้ประกาศต่ออายุเดือน มี.ค.61 แต่ให้มีผลใช้บังคับใช้ย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.61 ซึ่งผู้ส่งออกมีความเข้าใจเรื่องนี้ดีอยู่แล้ว

ที่มา : https://www.dailynews.co.th/economic/804636

ใช้สิทธิการส่งออกภายใต้ความตกลงการค้าเสรีลดฮวบ

นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยถึงการใช้สิทธิประโยชน์ สำหรับการส่งออกภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) และสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (จีเอสพี) ในเดือน ม.ค.-ก.ค.63 ว่า มูลค่าการใช้สิทธิรวมเท่ากับ 35,421.85 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง 14.77% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน มีสัดส่วนการใช้สิทธิ 77.94% แบ่งเป็นเอฟทีเอ 32,875.25 ล้านเหรียญฯ ลด 15.88% และจีเอสพี 2,546.60 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้น 2.61% ทั้งนี้ “แม้ภาพรวมการใช้สิทธิลดลง แต่สินค้าบางรายการของไทยยังส่งออกได้ต่อเนื่อง ทั้งอาหาร เครื่องดื่ม และเกษตรแปรรูป แม้มีปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของโควิด-19 สินค้าที่ขยายตัวได้ดี เช่น เครื่องดื่มที่ไม่เติมแก๊ส เช่น นม ผลไม้สดต่างๆ ทั้งทุเรียน มังคุด มะม่วง อาหารปรุงแต่ง น้ำผลไม้ ปลาทูน่าปรุงแต่ง อาหารปรุงแต่งที่ทำจากเกล็ดธัญพืช เต้าหู้ปรุงแต่ง ซอสปรุงแต่ง กุ้ง ข้าวโพดหวาน ปลาสคิปแจ็ก เป็นต้น” นอกจากนี้ การใช้สิทธิเอฟทีเอนั้น ตลาดที่ไทยส่งออกโดยมีมูลค่าการใช้สิทธิสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ จีน 11,152.89 ล้านเหรียญฯ เพิ่ม 3.84% รองลงมาอาเซียน ญี่ปุ่น ออสเตรเลียและอินเดีย ขณะที่การใช้สิทธิจีเอสพี 4 ระบบ คือ สหรัฐฯ สวิตเซอร์แลนด์ รัสเซียและเครือรัฐเอกราช และนอร์เวย์

ที่มา : https://www.thairath.co.th/news/business/market-business/1962459

จีนประกาศสนับสนุนสปป.ลาวเพิ่มเติม

จีนได้ตกลงที่จะสนับสนุนสปป.ลาวผ่านสามโครงการซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการกระชับความสัมพันธ์ร่วมมือระหว่างสองประเทศ คือจีนจะจัดหาวัสดุเพื่อต่อสู้กับโรคไข้เลือดออกในสปป.ลาว การเปิดตัวโครงการพัฒนาชนบทโครงสร้างพื้นฐานระยะที่ 2 และจีนเสนอระบบ Generalized System of Preferences (GSP) สำหรับสินค้าส่งออกของสปป.ลาว 97 % ทั้งสองฝ่ายยังเห็นพ้องในหลักการที่จะอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนระหว่างสปป.ลาวและจีน นอกจากนี้ทั้งสองประเทศยังตกลงที่จะดำเนินนโยบายตรวจคนเข้าเมืองอย่างรวดเร็วสำหรับจีนซึ่งจะให้สิทธิพิเศษบางประการแก่บุคคลเกี่ยวกับขั้นตอนการเข้าออกโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่การทูต ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคและแรงงานต่างชาติที่จำเป็นสำหรับโครงการพิเศษ มาตรการเหล่านี้มีเป้าหมายเพื่ออำนวยความสะดวกในกิจกรรมทางเศรษฐกิจในสปป.ลาวในขณะเดียวกันก็ทำให้โครงการพัฒนาของจีนในประเทศดำเนินไปอย่างต่อเนื่องในช่วงที่เกิดการระบาดของโรคโควิด -19 ในระหว่างการประชุมรัฐมนตรีทั้งสองได้หารือเกี่ยวกับความร่วมมือในอนาคต นอกจากนี้จีนยังเดินทางเยือนกัมพูชา มาเลเซีย ไทย และสิงคโปร์ระหว่างวันที่ 11-15 ตุลาคม เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์กับประเทศในอาเซียน กระทรวงพาณิชย์ของจีนกล่าวว่าอาเซียนและจีนกลายเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของกันและกัน

ที่มา : http://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_China201.php

กัมพูชาและจีนมองเขตการค้าเสรีจะเป็นตัวส่งเสริมความสัมพันธ์ทางการค้า

ข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างกัมพูชาและจีนคาดจะส่งเสริมความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนระหว่างสองประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น กล่าวโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของกัมพูชา ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้เสร็จสิ้นขั้นตอนการเจรจา FTA ทวิภาคีไปแล้วในวันที่ 20 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยข้อตกลงดังกล่าวมีความหมายอย่างมากต่อเศรษฐกิจของกัมพูชาเนื่องจากเข้าถึงตลาดของประเทศคู่ค้าได้มากขึ้นทำให้กัมพูชาสามารถกระจายผลิตภัณฑ์และขยายตลาดของกัมพูชาได้ และลดการพึ่งพาคู่ค้าเพียงไม่กี่ราย เช่นยุโรป สหรัฐฯและแคนาดา ซึ่งปกติแล้วจะทำการค้ากับกัมพูชาแบบสัมปทานเช่น Everything But Arms (EBA ), Generalized System of Preferences (GSP)” เป็นต้น โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกล่าวว่าการลงนาม FTA ระดับทวิภาคีนี้จะช่วยกระตุ้นความรวดเร็วของโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของกัมพูชา รวมถึงโครงการภายใต้ Belt and Road Initiative (BRI) อีกด้วย

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50752996/cambodia-china-fta-to-boost-bilateral-trade-investment-ties/

EU เตรียมเพิกถอน GSP ของเมียนมา

รายงานของสภาการค้าและอุตสาหกรรมแห่งสหภาพเมียนมา (UMFCCI)  สหภาพยุโรป (EU) อาจเตรียมที่จะเพิกถอนสถานะระบบสิทธิพิเศษทั่วไปทางภาษี (GSP) ของเมียนมา ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบด้วยเสื้อผ้า สิ่งทอ สหภาพยุโรปเริ่มพิจารณาการถอน GSP ที่มีมาตั้งแต่ปี 2556 หลังจากความรุนแรงต่อชาวมุสลิมในรัฐยะไข่ในปี 2560 ซึ่ง 60% ของผลิตภัณฑ์ที่ส่งออกไปอียูมาจากภาคการตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูป (CMP) หาก GSP ถูกถอนออกไปอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจะเป็นเสื้อผ้า ซึ่งเมียนมาไม่มีทางเลือกนอกจากหาตลาดใหม่ สหภาพยุโรปได้ให้สิทธิ GSP ให้กับสปป.ลาว กัมพูชา เวียดนาม เมียนมาและบังคลาเทศ และถ้าหากถูกเพิกถอนสิทธิ์ ประเทศเหล่านี้ล้วนแต่เป็นคู่แข่งที่สำคัญอย่างยิ่ง และแน่นอนอยู่แล้วที่สหภาพยุโรปจะหันไปซื้อสินค้าจากคู่แข่งที่ราคาถูกกว่าเพราะราคาที่ไม่สามารถแข่งขันได้

ที่มา : https://www.mmtimes.com/news/eu-preparing-revoke-myanmar-gsp-umfcci.html

เซรามิกอ่วมแน่!!! สหรัฐฯตัดสิทธิ GSP กระทบกว่า 4,000 ล.บาทต่อปี

กลุ่มเซรามิกส.อ.ท.มึน มาตรการระงับการให้สิทธิ GSP ของสหรัฐอเมริกา หลัง 25 เม.ย63 จะทำให้ผลิตภัณฑ์เซรามิก มีผลกระทบเป็นมูลค่า 4,185 ล้านบาทต่อปี เลขาธิการกลุ่มอุตสาหกรรมเซรามิก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) ว่าการที่ สหรัฐอเมริกาประกาศจะระงับการสิทธิ GSP มีผลบังคับใช้ 25 เมษายน 2563 นั้น ทำให้ผลิตภัณฑ์เซรามิกมีผลกระทบเป็นมูลค่า 4,185 ล้านบาทต่อปี และมีผลกระทบกับมูลค่าการส่งออก เซรามิกของไทยเฉลี่ยสูงกว่า 20% ของมูลค่าส่งออกไปยังทั่วโลก โดยผลกระทบมากสุดคือเครื่องสุขภัณฑ์เซรามิกส่งออกไปยังสหรัฐฯมูลค่า 1,949.42 ล้านบาท หรือ 32% ของมูลค่าส่งออกของไทยไปยังทั่วโลก ปัจจุบันอุตสาหกรรมเซรามิกประสบปัญหาหลายด้านอยู่แล้ว เช่น อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น วัตถุดิบในประเทศมีคุณภาพลดลง แต่มีราคาสูงขึ้น, ขาดแคลนวัตถุดิบที่มีคุณภาพ ต้นทุนการผลิต อื่นๆ สูงขึ้น เป็นต้น  ทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันลดลงและเมื่อระงับการให้สิทธิ GSP ยิ่งเป็นการซ้ำเติมต่ออุตสาหกรรมเซรามิก จึงขอให้ภาครัฐช่วยแก้ไขปัญหาโดยขอให้ ภาครัฐออกมาตรการใช้ผลิตภัณฑ์เซรามิก ส่งเสริมการใช้สินค้าไทย (Made in Thailand), มีมาตรการป้องกันสินค้าเซรามิกด้อยคุณภาพจากต่างประเทศที่ ส่วนการส่งออก ขอให้ภาครัฐแก้ไขปัญหาสิทธิ GSP ช่วยควบคุมค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพ แต่ถ้าเป็นไปได้ก็ขอให้ค่าเงินบาทอยู่ในช่วง 31-33 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐฯ, เร่งเจรจา FTA เพื่อเปิดตลาดกับประเทศเป้าหมาย

ที่มา: https://www.thansettakij.com/content/413096