“พาณิชย์” เผย “ทุเรียน-ถุงมือยาง” แชมป์ใช้สิทธิ์ FTA-GSP ปี 63

กรมการค้าต่างประเทศเผยยอดใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าปี 63 มีมูลค่า 62,338.86 ล้านเหรียญสหรัฐ ลด 10.46% ตามการส่งออกที่ชะลอตัว เผย “ทุเรียนสด” นำโด่งใช้ FTA “ถุงมือยาง” นำใช้สิทธิ์ GSP คาดปี 64 ยอดใช้สิทธิ์เพิ่มตามการฟื้นตัวของการส่งออก และการพัฒนางานบริการให้ยื่นขอใช้สิทธิ์ได้ง่ายขึ้น โดยอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า การใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าสำหรับการส่งออกภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) และภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) ในปี 2563 ที่ผ่านมามีมูลค่า 62,338.86 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 10.46% ซึ่งเป็นไปตามการส่งออกในภาพรวมที่ปรับตัวลดลง เพราะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และมีสัดส่วนการใช้สิทธิ 76.06% ของสินค้าที่ได้สิทธิประโยชน์ทั้งหมด โดยแบ่งเป็นการใช้สิทธิภายใต้ FTA มูลค่า 58,077.18 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 11.41% มีสัดส่วนการใช้สิทธิ 76.53% และการใช้สิทธิภายใต้ GSP มูลค่า 4,261.68 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 5.03% มีสัดส่วนการใช้สิทธิ 70.12%

ที่มา : https://mgronline.com/business/detail/9640000018374

หลักชัยเมืองยาง’พร้อมรับทุนตั้งโรงงานถุงมือ 2 หมื่นล้าน

“หลักชัยเมืองยาง”พร้อมรับนักลงทุนตั้งโรงงานถุงมือ 2 หมื่นล้านบาท “ไทยฮั้ว” คาดแล้วเสร็จอีก 5เดือน ทำราคายางปรับตัวสูงขึ้นยาวถึงสิ้นปี แต่ไม่ถึงกก.ละ 70บาท บริษัท ไทยเบคก้า เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด ผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมหลักชัยเมืองยาง จ.ระยอง เปิดเผยว่า นิคมอุตสาหกรรมหลักชัยเมืองยาง จึงมีนักลงทุนหลายประเทศรวมทั้งไทยสนใจเข้ามาตั้งโรงงานอุตสาหกรรมถุงมือยาง ในเร็วๆนี้ บริษัทไทยฮั้วยางพารา จำกัด (มหาชน) จะร่วมทุนด้วย คาดว่าจะใช้ระยะเวลาดำเนินการ 3-5 เดือน และติดตั้งเครื่องจักรได้แล้วเสร็จ ส่วนนักลงทุนต่างประเทศที่อยู่ระหว่างเจรจา เช่น สหภาพยุโรป(อียู) สหรัฐอเมริกา มาเลเซีย จีน ไต้หวัน และญี่ปุ่น เป็นต้น วงเงินลงทุนรวมประมาณ 2 หมื่นล้านบาท ส่วนใหญ่ต้องการตั้งโรงงานขนาดกลางวงเงินลงทุนเฉลี่ยโรงงาน 5,000 ล้านบาท ส่วนปัจจัยที่ต่างประเทศสนใจตั้งโรงงานในไทย เพราะมีวัตถุดิบพร้อม ระบบการขนส่งดี แม้จะมีปัญหาค่าแรงสูง แต่การผลิตถุงมือยางส่วนใหญ่ใช้เครื่องจักร อย่างไรก็ตาม อยากให้ภาครัฐบาลสนับสนุนด้านการลงทุนมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันสถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อยากมาก ทั้งนี้ ราคายางในประเทศปรับตัวสูงขึ้น ต่อเนื่องตั้งแต่เดือน เม.ย. เป็นต้นมา เฉลี่ยประมาณ 40-45 บาท ต่อกิโลกรัม(กก.) แนวโน้มคาดว่าจะปรับสูงขึ้นแตะ 50 บาทต่อกก. จนถึงสิ้นปีนี้ แต่จะไม่สูงถึง70-80 บาทต่อกก. เหมือนในอดีต เพราะอุตสาหกรรมหลักที่เป็นตัวขับเคลื่อน คือยางล้อ ยังซบเซา สำหรับการจัดตั้งโรงงานถุงมือยางของการยางแห่งประเทศไทย (กยท. )ในจ.นครศรีธรรมราช โดยการร่วมทุนกับเอกชน สหกรณ์ และวิสาหกิจชุมชน นั้น มีความเป็นไปได้ยาก องค์กรเหล่านี้ไม่มีเงินทุน อีกทั้งการตั้งโรงงานต้องอาศัยความคล่องตัว คิดแล้วดำเนินการทันที เนื่องจากมีการแข่งขันสูง ซึ่งหลังจากปี 2564 มีความเสี่ยงสูงมากที่ถุงมือยางจะล้นตลาด

ที่มา: https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/892844?utm_source=category&utm_medium=internal_referral&utm_campaign=economic

ออเดอร์ถุงมือยางพุ่ง ช่วงโควิด-19 ส่งออก4 เดือนแรก โต 16%

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ความต้องการถุงมือยางเพิ่มสูงขึ้นหลายเท่าตัว เนื่องจากสินค้าดังกล่าวเป็นอุปกรณ์ป้องกันที่จำเป็นสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งปฏิบัติงานใกล้ชิดผู้ป่วย นอกจากนี้ ถุงมือยางยังเป็นสินค้าจำเป็นในยุคความปกติใหม่ (New Normal)เพราะประชาชนตื่นตัวเรื่องสุขอนามัยและหันมาใช้ถุงมือยางเพื่อป้องกันเชื้อโรคมากขึ้น ทำให้ความต้องการถุงมือยางในตลาดสูงขึ้นหลายเท่าตัว สำหรับตลาดส่งออกสำคัญที่ขยายตัว เช่น จีน ขยายตัว 129.5% มูลค่าส่งออก 31 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ออสเตรเลีย ขยายตัว 79% มูลค่าส่งออก 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อาเซียน ขยายตัว 77% มูลค่าส่งออก 18 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ สหรัฐอเมริกา ขยายตัว 9% มีมูลค่าส่งออก 194 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นต้น อย่างไรก็ตามในปี 2562 ไทยผลิตถุงมือยางได้กว่า 2 หมื่นล้านชิ้น มีสัดส่วนการส่งออกถึง 89% ของการจำหน่ายถุงมือยางทั้งหมด คิดเป็นมูลค่า 1,203 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงเป็นอันดับ 3 ของโลก

ที่มา : https://www.posttoday.com/economy/news/624459