ผู้เชี่ยวชาญ ชี้ ‘เวียดนาม’ ดาวรุ่งแห่งเอเชีย

ศาสตราจารย์ คาร์ล เทเยอร์ (Carl Thayer) นักวิชาการด้านการศึกษาในเวียดนาม ได้เขียนหนังสือที่เกี่ยวกับปัจจัยหรือสาเหตุใดที่จะผลักดันให้เวียดนามกลายมาเป็นเสือเศรษฐกิจตัวใหม่แห่งเอเชีย โดยเรื่องราวจะมุ่งเน้นไปที่การเติบโตของเวียดนามในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมาว่าเศรษฐกิจเวียดนามเติบโตได้อย่างมีเสถียรภาพ ด้วยอัตราการเติบโตทางการค้าเป็นตัวเลขสองหลัก และการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่มีนัยยะสำคัญ ทั้งนี้ ธนาคารโลก (WB) แสดงความคิดเห็นว่าเวียดนามยังคงเป็นจุดสว่างทางด้านเศรษฐกิจ ในขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ชี้ว่าเวียดนามกลายมาเป็นดาวเด่นของเศรษฐกิจโลก

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/vietnam-is-a-rising-star-in-asia-professor-2187344.html

แนวโน้มศก.เวียดนาม ครึ่งหลังปี 66 มีทิศทางในเชิงบวก

องค์กรระหว่างประเทศและสื่อ ยังคงประเมินการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนาม มีทิศทางไปในเชิงบวกเป็นไปตามการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องและแนวโน้มในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 ตามเว็บไซต์ Fibre2fashion ของสหรัฐได้อ้างรายงานของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารแห่งชาติสิงคโปร์ (DBS) ระบุว่าถึงแม้เศรษฐกิจโลกจะเติบโตช้าลง แต่เศรษฐกิจเวียดนามก็สามารถเติบโตอย่างแข็งแกร่งกว่าหลายๆประเทศทั่วโลก และยังเป็นจุดหมายปลายทางที่น่าสนใจของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ทั้งนี้ IMF คาดการณ์ว่าแนวโน้มเศรษฐกิจของเวียดนามจะฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลัง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในระดับต่ำกว่าเป้าหมายที่ระดับ 4.5% ของธนาคารกลางเวียดนาม ในขณะเดียวกัน  ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด คาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโต 7% ในช่วงครึ่งปีหลัง

ที่มา : https://www.reuters.com/markets/commodities/vietnam-aims-raise-annual-raw-rare-earths-output-2-mln-tyr-by-2030-2023-07-25/

IMF คาดเศรษฐกิจเวียดนามจะกลับมาเติบโตได้ในระยะกลาง

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เปิดเผยว่าเวียดนามมีประสบการณ์จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง หลังจากเผชิญกับผลกระทบของโควิด-19 แสดงให้เห็นมาจากตัวเลขชองเศรษฐกิจเวียดนามที่ขยายตัว 8% ในปี 2565 นับเป็นการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยได้แรงหนุนมาจากปัจจัยในประเทศและอุปสงค์ภายนอกที่แข็งแกร่ง ทั้งนี้ เศรษฐกิจเวียดนามมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 คาดว่าจะเติบโตราว 4.7% ในปีนี้ จากการฟื้นตัวของภาคการส่งออกและนโยบายในประเทศ ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะยังคงอยู่ในกรอบของธนาคารกลางเวียดนาม (SBV) ที่ 4.5% นอกจากนี้ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เวียดนามีการมผลักดันการต่อต้านการทุจริตอย่างมาก รวมถึงการนำหลักธรรมาภิบาลมาปรับใช้และยังส่งเสริมสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ

ที่มา : https://en.baochinhphu.vn/viet-nam-to-returns-to-high-growth-in-medium-term-imf-111230701083440061.htm

‘IMF’ คาดเวียดนามขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 20 ของเศรษฐกิจโลก

จากข้อมูลของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ระบุว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของเวียดนามในแง่ของความเสมอภาคของอำนาจซื้อ (PPP) คาดว่าจะอยู่อันดับที่ 25 ของโลกในปี 2565 ซึ่งอยู่ต่ำกว่าประเทศออสเตรเลียและโปแลนด์ โดยเฉพาะออสเตรเลียที่มีมูลค่ากว่า 1.63 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ อยู่ในอันดับที่ 20 ของโลก ในขณะที่โปแลนด์มีมูลค่า 1.64 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ อยู่ในอันดับที่ 19 ทั้งนี้ IMF ยังคาดการณ์ว่าภายในปี 2566 เวียดนามจะรักษาอันดับที่ 4 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จากการคาดการณ์ตัวเลข GDP ในแง่ของอำนาจซื้อ ด้วยมูลค่าประมาณ 1.45 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ เส้นทางการเติบโตที่ประสบความสำเร็จของเวียดนาม แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของประเทศที่ดำเนินการปฏิรูปเศรษฐกิจ การดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศและการส่งเสริมวัฒนธรรม ตลอดจนการส่งเสริมสภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจและพนักงานหรือแรงงานรุ่นใหม่ ด้วยเหตุนี้ เวียดนามพร้อมที่จะกลายมาเป็นผู้เล่นหลักในเศรษฐกิจระดับภูมิภาคและระดับโลก

ที่มา : https://vir.com.vn/vietnam-projected-to-become-20th-largest-global-economy-102224.html

“ศก.เวียดนาม” คาดเติบโตอันดับ 2 ในอาเซียน

ตามรายงานของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เปิดเผยว่าผลิตภัณฑ์ทวลรวมในประเทศ (GDP) ของเวียดนาม คาดว่าจะขยายตัว 5.8% ในปี 2566 อยู่ในอันดับที่ 2 ร่วมกับกัมพูชาในภูมิภาคอาเซียน รองจากฟิลิปปินส์ และคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจเวียดนามจะขยายตัวสูงขึ้นแตะ 6.9% ในปีหน้า ถือว่าเป็นตัวเลขสูงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในเรื่องของหนี้สาธารณะเวียดนามที่คาดว่าจะอยู่ระดับต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศสมาชิกอาเซียนอีก 8 ประเทศ

ทั้งนี้ ธนาคารกลางเวียดนาม (SBV) ยังคงปรับลดอัตราดอกเบี้ย เพื่อให้สถาบันการเงินดำเนินการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโต โดยผู้เชี่ยวชาญได้ให้เหตุผลถึงการลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางว่าเป็นการสร้างความยืดหยุ่นและจังหวะเวลา รวมถึงคาดว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก 12 เดือนจะอยู่ที่ประมาณ 7% และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 10%

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnams-gdp-growth-forecast-to-rank-second-in-asean/251654.vnp

IMF คาดเศรษฐกิจ สปป.ลาว ปีนี้โตเฉลี่ยร้อยละ 4

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจ สปป.ลาว จะเติบโตร้อยละ 4 ในปีนี้ แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจโลกจะยังอยู่บนความไม่แน่นอน แต่ถึงอย่างไรในรายงานของ IMF ช่วงเดือนเมษายน ได้ระบุว่าการยกเลิกข้อจำกัดด้านการเดินทางและการเปิดประเทศอีกครั้งของจีน จะส่งผลทำให้เศรษฐกิจในภูมิภาครวมถึง สปป.ลาว กลับมาขยายตัว โดยหนึ่งในความท้าทายหลักสำหรับ สปป.ลาว ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าคือการควบคุมอัตราเงินเฟ้อ เนื่องจากต้นทุนสินค้าและบริการที่เพิ่มสูงขึ้นในปัจจุบันที่กำลังสร้างผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจในภาพรวม ซึ่ง IMF คาดการณ์ว่าดัชนีราคาผู้บริโภคใน สปป.ลาว จะขึ้นไปแตะที่เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 15.1 ในปีนี้ ถือเป็นอัตราสูงสุดที่คาดการณ์ไว้สำหรับประเทศในกลุ่มเอเชียเกิดใหม่

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten2023_Laoeconomy73.php

เลือกตั้งดัน GDP ไทย

จากข้อมูลธนาคารโลก คาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2566 จะเติบโตร้อยละ 3.6 ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดิมที่มีการคาดการณ์ไว้เมื่อเดือนธันวาคม 2565 โดยเป็นอัตราที่เพิ่มขึ้นจากในปี 2565 ที่เติบโตร้อยละ 2.6 และคาดว่าในปี 2567 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวที่ร้อยละ 4.1 ขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ  หรือ IMF  ยังคงคาดการณ์เศรษฐกิจประเทศไทยสำหรับปีนี้และปีหน้า โดยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 3.7% ในปีนี้ และ 3.6% ในปีหน้า เมื่อเทียบกับที่เคยคาดการณ์ไว้ในเดือนต.ค. แต่ลดคาดการณ์การขยายตัวเฉลี่ยสำหรับ 5 ประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งประกอบด้วยอินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์,  สิงคโปร์ และไทย

อย่างไรก็ตาม มีการจับตาปัจจัยเรื่องการเลือกตั้ง ที่จะช่วยดันเศรษฐกิจไทย โดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจคาดว่าช่วงการจัดกิจกรรมหาเสียงเต็มรูปแบบของพรรคการเมืองทุกพรรคไปจนถึงวันเลือกตั้งจริง จะมีเม็ดเงินสะพัดทุกกิจกรรมลงในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศในระดับรากหญ้าไม่ต่ำกว่า 40,000-50,000 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสที่ 2 เติบโตไปพร้อมกับการท่องเที่ยว โดยดันจีดีพีไทยให้สูงขึ้นในช่วงไตรมาสดังกล่าว 1-1.5% และคาดว่าจะดันให้เศรษฐกิจไทยในช่วงตลอดปี 2566 มีอัตราการเติบโตเป็นบวก 3-4% ได้อย่างแน่นอน

ที่มา : https://siamrath.co.th/c/437831

ผอ.ไอเอ็มเอฟตีระฆัง เตือนโลกรับมือเศรษฐกิจถดถอย ชี้เงินเฟ้อสูง-เพิ่มดอกเบี้ย

เมื่อวันที่ 2 ม.ค. นายคริสตาลีนา จอร์เจียวา ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ออกแถลงการณ์เตือนประชาคมโลกให้เตรียมรับมือกับปัญหาทางเศรษฐกิจ หลังจากการประมาณการเชื่อว่าประเทศต่างๆทั่วโลกราว 1 ใน 3 จะเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) โดยสงครามในยูเครน อัตราเงินเฟ้อ และการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางประเทศต่างๆเพื่อพยายามควบคุมค่า ครองชีพไม่ให้สูงไปกว่านี้ ทำให้เศรษฐกิจในปี 2566 มีแนวโน้มจะชะลอตัว แต่การยกเลิกมาตรการป้องกันไวรัสโควิด-19 ของรัฐบาลจีน ส่งผลให้เกิดการแพร่ระบาดเป็นวงกว้างในจีน กระทบภาคธุรกิจอุตสาหกรรมต่างๆ อัตราการผลิตของจีนหดตัวอย่างรวดเร็วที่สุดในรอบเกือบ 3 ปี ด้านนางคาทรินา เอล นักเศรษฐกิจประจำหน่วยวิเคราะห์เศรษฐกิจของบริษัทจัดอันดับมูดดี’ส กล่าวว่า นอกจากจีนแล้ว เศรษฐกิจยุโรปย่อมหนีไม่พ้นภาวะถดถอย ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯอยู่ในสภาพจวนเจียนจะถดถอย เมื่อเศรษฐกิจมีปัญหาเมื่อไหร่ อุปทานหรือความต้องการสินค้าและบริการจะลดลง นั่นหมายถึงความต้องการสินค้าและบริการจากจีนและประเทศอื่นๆในเอเชียอย่างไทยและเวียดนามจะลดลง ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยการกู้ยืมที่สูง ย่อมทำให้ภาคธุรกิจหลีกเลี่ยงการลงทุน หรือขยายกิจการ อาจจะส่งผลให้บางประเทศโดยเฉพาะประเทศยากจนขาดเงินชำระค่าสินค้านำเข้าที่จำเป็นอย่างอาหารและพลังงาน

ที่มา: https://www.thairath.co.th/business/economics/2592990

IMF คาดเศรษฐกิจกัมพูชาขยายตัว 6.6%

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดว่าเศรษฐกิจกัมพูชาจะกลับมาขยายตัวหลังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดย IMF คาดการณ์ว่ากัมพูชาจะกลับมาขยายตัวร้อยละ 5.1 ในปี 2022, ร้อยละ 6.2 ในปี 2023 และ ร้อยละ 6.6 ในปี 2024 ซึ่งรายงานผ่าน “Regional Economic Outlook Report for Asia and Pacific: Sailing into Headwinds” โดยการขยายตัวเป็นผลมาจากนโยบายส่งเสริมการค้าของรัฐบาลกัมพูชา รวมถึงข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) และอัตราการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่ครอบคลุมภายในประเทศ ซึ่งทางการกัมพูชากล่าวเสริมว่าปัจจุบันสถานการณ์ด้านการบริโภคภายในประเทศได้กลับมาแข็งแกร่งอีกครั้ง รวมถึงการกลับมาเติบโตของภาคบริการ และการส่งออกในช่วงครึ่งแรกของปี 2022 ในขณะที่การเติบโตภายในภูมิภาคคาดว่าจะขยายตัวมากกว่าร้อยละ 5 ในประเทศ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ด้านฟิลิปปินส์คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 6.5 โดยเวียดนามคาดว่าจะขยายตัวมากที่สุดที่ร้อยละ 7 จากการได้รับประโยชน์ของการย้ายฐานการผลิตจากจีนมายังเวียดนาม

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501177183/cambodia-stays-on-growth-path-set-to-expand-6-6/

IMF คาด เศรษฐกิจสปป. ลาวในปีนี้ เติบโตเพียง 2.2%

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์เศรษฐกิจสปป.ลาว ในปีนี้จะเติบโตเพียง 2.2% ก่อนที่จะเพิ่มขึ้นเป็น 3.1% ในปี 2566 และ 4.3% ในปี 2570 การเติบโตที่ลดลงมาทั้งปัจจัยภายนอกและภายใน โดย IMF คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจทั่วโลกจะเติบโตลดลงจาก 6.0% ในปี 2564 ลดลงเหลือ 3.2% ในปี 2565 และ 2.7% ในปี 2566 นี่คือเติบโตน้อยที่สุดนับตั้งแต่ปี 2544 การหดตัวของ GDP ของสหรัฐในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 และสถานการณ์เศรษฐกิจที่ยังถดถอยของสหภาพยุโรป การแพร่ระบาดของ Covid-19 และการล็อกดาวน์ในจีนที่ยืดเยื้อออกไปฉุดให้ภาคอสังหาริมทรัพย์ที่กำลังเติบโตต้องสะดุดลง ในขณะที่สปป.ลาว ราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและการขาดแคลนน้ำมันในเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2565 มีผลกระทบอย่างมากต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการเกษตรและการผลิต ในขณะเดียวกัน ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) ได้ปรับลดแนวโน้มการเติบโตของสปป.ลาวในปี 2565 ลงเหลือ 2.5% จากที่คาดการณ์ไว้ที่ 3.4%  ในเดือนกันยายน 2565 ที่ผ่านมา Lao Academy of Social and Economic Science (LASES) ได้ปรับลดการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของลดลงเหลือ 3% ในปีนี้ จาก 4% ที่คาดการณ์ไว้

ที่มา: https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten201_Lao_Y22.php