ผู้เชี่ยวชาญ ชี้ ‘เวียดนาม’ ดาวรุ่งแห่งเอเชีย

ศาสตราจารย์ คาร์ล เทเยอร์ (Carl Thayer) นักวิชาการด้านการศึกษาในเวียดนาม ได้เขียนหนังสือที่เกี่ยวกับปัจจัยหรือสาเหตุใดที่จะผลักดันให้เวียดนามกลายมาเป็นเสือเศรษฐกิจตัวใหม่แห่งเอเชีย โดยเรื่องราวจะมุ่งเน้นไปที่การเติบโตของเวียดนามในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมาว่าเศรษฐกิจเวียดนามเติบโตได้อย่างมีเสถียรภาพ ด้วยอัตราการเติบโตทางการค้าเป็นตัวเลขสองหลัก และการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่มีนัยยะสำคัญ ทั้งนี้ ธนาคารโลก (WB) แสดงความคิดเห็นว่าเวียดนามยังคงเป็นจุดสว่างทางด้านเศรษฐกิจ ในขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ชี้ว่าเวียดนามกลายมาเป็นดาวเด่นของเศรษฐกิจโลก

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/vietnam-is-a-rising-star-in-asia-professor-2187344.html

ธนาคารโลกแนะกัมพูชา สำหรับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

ธนาคารโลก (WB) แนะกัมพูชาเพิ่มผลิตภาพภายในประเทศ พัฒนาศักยภาพพนักงาน และกระจายตลาดส่งออก รวมถึงส่งเสริมการลงทุนภายในประเทศ เป็นสำคัญ หลังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยผลิตภาพแรงงานของกัมพูชาค่อนข้างต่ำเนื่องจากขาดการฝึกอบรมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทางธนาคารโลกเน้นย้ำถึงการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์เป็นสำคัญ ด้วยการสนับสนุนการจัดสรรทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ในด้านของการส่งออกธนาคารโลกได้แนะนำให้กระจายตลาดการส่งออกให้เกิดความหลากหลาย โดยสินค้าส่งออกสำคัญของกัมพูชา 5 รายการ ได้แก่ เครื่องนุ่งห่ม รองเท้า ข้าว มันสำปะหลัง และสินค้าด้านการท่องเที่ยว คิดเป็นกว่าร้อยละ 80 ของการส่งออกทั้งหมดของกัมพูชาในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ขณะที่ตลาดสำคัญมีเพียงสองแห่ง คือสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา คิดเป็นกว่าร้อยละ 69 ของการส่งออกทั้งหมด ส่วนการยกระดับการมีส่วนร่วมในห่วงโซ่อุปทานระดับโลก แนะให้กัมพูชาสนับสนุนการสร้างมูลค่าเพิ่มในผลิตภัณฑ์การเกษตร และการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในภาคบริการ รวมถึงการสนับสนุนการลงทุนจากต่างประเทศในภาคการผลิตที่มีประสิทธิผลมากที่สุด และสร้างการเข้าถึงทางด้านการเงินให้กับภาคธุรกิจ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501016942/world-bank-gives-key-recommendations-for-cambodias-economic-recovery/

ธนาคารโลกชี้การเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามชะลอตัว ตามอายุของประชากร

ตามรายงานภายใต้ชื่อ “เวียดนาม: การปรับตัวเข้าสู่สังคมสูงวัย” ร่วมจัดจัดทำโดยธนาคารโลก (WB) และองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) เวียดนามกำลังก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงทางประชากรของสังคมผู้สูงวัยไปก่อนหน้าของการยกระดับเศรษฐกิจและรายได้ต่อหัวที่อยู่ในระดับต่ำกว่าประเทศอื่นๆ ที่มีการเปลี่ยนแปลงในลักษณะเดียวกัน ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาอัตราการเกิดที่ลดลงและอายุเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้น ผู้สูงอายุอาจมีสัดส่วนของประชากร 10-20% ของประชากรทั้งประเทศในปี 2578 ในขณะที่ด้านการใช้จ่ายของสังคมสูงวัย จะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 1.4-4.6% ของ GDP นอกจากนี้ เวียดนามจำเป็นต้องหาแนวทางจัดการกับสังคมผู้สูงวัย โดยอิงจากบทเรียนของประเทศอื่นที่เคยประสบปัญหากับการเปลี่ยนแปลงของประชากร โดยเฉพาะญี่ปุ่น ตลอดจนปรับปรุงกำลังแรงงานและดำเนินตามนโยบาย 4 ด้านที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการเติบโตของผู้สูงอายุ ได้แก่ ตลาดแรงงาน เงินบำนาญ สุขภาพและการดูแลผู้สูงอายุ

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1052936/viet-nams-economy-to-slow-as-population-ages-wb-report.html