อาเซียนร่วมสู้โควิด ยันไม่กั๊กยา-สินค้าจำเป็น

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า อาเซียนจะประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียน (ซีออม) วันที่ 2-4 ส.ค.นี้ ซึ่งจะมีการติดตามการดำเนินงานสำคัญของสมาชิก เพื่อเร่งฟื้นเศรษฐกิจของภูมิภาคจากการระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะการอำนวยความสะดวกทางการค้าเพื่อรักษาและส่งเสริมความเชื่อมโยงของห่วงโซ่การผลิต โดยจะขยายรายการสินค้าจำเป็นที่อาเซียนจะไม่จำกัดการส่งออกในช่วงโควิดเพิ่มเติมจากเดิมที่กำหนดเพียงยาและเวชภัณฑ์ ซึ่งไทยจะเพิ่มสินค้าอาหาร และสินค้าเกษตรบางรายการ เพื่อทำให้การส่งออก-นำเข้าระหว่างสมาชิกคล่องตัว ไม่เกิดการขาดแคลน รวมทั้งเพิ่มบทบาทอาเซียนเชิงรุกการพัฒนาภูมิภาคให้ตอบรับกับแนวโน้มของโลกไม่ว่าจะเป็นการเตรียมความพร้อมเศรษฐกิจหมุนเวียน พัฒนาสภาพแวดล้อมเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาค เพื่อมุ่งไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาว รวมทั้งการเร่งรัดแผนงานด้านเศรษฐกิจที่บรูไน ประธานอาเซียนผลักดันให้สำเร็จในปีนี้ เช่น การจัดทำแผนฟื้นฟูการท่องเที่ยวหลังโควิด-19 และจัดทำกรอบเศรษฐกิจหมุนเวียนในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

ที่มา : https://www.thairath.co.th/business/economics/2151064

กลุ่มธุรกิจบรรจุภัณฑ์มาแรง ไทยขึ้นแท่นผู้ส่งออกรายใหญ่ในอาเซียน

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยผลการศึกษาตลาดบรรจุภัณฑ์ในยุคโควิด-19 ของ สนค.ตามนโยบายนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ เพื่อสร้างโอกาสในการส่งออกสินค้าของไทย พบว่าบรรจุภัณฑ์เป็นที่ต้องการในตลาดโลกเพิ่มขึ้นเพราะกระแสความนิยมซื้อขายผ่านอี-คอมเมิร์ซ และความต้องการสินค้าอุปโภค-บริโภคและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพเพิ่มสูงขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในหลายประเทศ การค้าบรรจุภัณฑ์โลกในไตรมาสแรกของปี 2564 มีมูลค่า 110,985.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 13% แยกเป็นการส่งออกมูลค่า 57,813.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 14% และการนำเข้ามูลค่า 53,172.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 12% ผู้ส่งออกและนำเข้าสำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี และจีน โดยไทยเป็นผู้ส่งออกบรรจุภัณฑ์รายใหญ่ที่สุดในอาเซียนมีมูลค่าส่งออกในไตรมาสแรกของปี 2564 รวม 844.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 11.2% รองลงมา ได้แก่ มาเลเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย ตามลำดับ โดยไทยส่งออกไปสหรัฐฯ 123.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 13.8% สัดส่วน 14.6% ญี่ปุ่น 122.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 6.6% สัดส่วน 14.5% เวียดนาม 78.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 21.6% เป็นต้น

ที่มา : https://www.naewna.com/business/589094

‘ไทย’ หนุนข้อริเริ่ม B3W ‘สหรัฐ’ ฟื้นอาเซียนพ้นโควิด

ในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน – สหรัฐสมัยพิเศษ โดยมีการหารือเกี่ยวกับทิศทางการขับเคลื่อนความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างอาเซียนกับสหรัฐ เพื่อส่งเสริมการฟื้นฟูจากโควิด-19 โดยสหรัฐ ย้ำความมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนการกระจายวัคซีนให้แก่ประเทศต่าง ๆ รวมถึงอาเซียน ผ่านการบริจาคในรูปแบบทวิภาคี และกลไกโคแวกซ์ (COVAX) ด้านไทย “ดอน ปรมัตถ์วินัย” แสดงความสนับสนุนสหรัฐ ตามแนวทางข้อริเริ่ม “Build Back Better World” (B3W) เพื่อส่งเสริมการฟื้นตัวของภูมิภาคจากโควิด-19 รวมทั้งเสนอโมเดลเศรษฐกิจ BCG

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/949109

อาเซียน-สหรัฐฯ กระชับความร่วมมือแก้ปัญหาโควิด-19

ผู้นำสหรัฐฯ และอาเซียนเห็นพ้องที่จะเสริมสร้างความร่วมมือเพื่อรับมือกับการระบาดใหญ่ของโควิด-19 และฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังเกิดโรคระบาด อาเซียน-สหรัฐฯ ตกลงที่จะร่วมมือในด้านเศรษฐกิจดิจิทัลและการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสนับสนุนเครือข่าย Asean smart Cities และการเชื่อมต่อของอาเซียน ตลอดจนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการลดช่องว่างการพัฒนาระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน ในที่ประชุมยังได้มีแบ่งปันบทเรียนและประสบการณ์ตลอดจนแนวทางปฏิบัติที่ดีว่าประเทศต่างๆ ต่อสู้กับไวรัสอย่างไร โดยรัฐบาลสปป.ลาวกล่าวในที่ประชุมถึงการจัดการกับการระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยได้กำหนดมาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการแพร่กระจายของไวรัส พร้อมสนับสนุนให้ผู้คนจำนวนมากได้รับการฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึงและรวดเร็ว อีกทั้งเมื่อเร็วๆ นี้ สหรัฐฯ ได้ประกาศบริจาควัคซีนป้องกันโควิด-19 จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน จำนวน 1,008,000 โดส ให้กับลาว ซึ่งคาดว่าจะถึงในวันพฤหัสบดีนี้ การส่งมอบดังกล่าวจะช่วยสนับสนุนความพยายามของรัฐบาลในการบรรลุเป้าหมายในการฉีดวัคซีน 50% ของประชากรภายในสิ้นปีนี้

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Asean136.php

อาเซียน-ฮ่องกง FTA อีก 5 สาขาไทยได้ประโยชน์

นายดวงอาทิตย์ นิธิอุทัย รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้เข้าร่วมการประชุมและทำหน้าที่ประธานฝ่ายอาเซียนในการประชุมคณะกรรมการร่วมกำกับการดำเนินงานภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ฮ่องกง (AHKFTA-JC) ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยที่ประชุมได้รับทราบความคืบหน้าการเจรจาเรื่องการลงทุน กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดเฉพาะรายสินค้า และการบังคับใช้ตารางการลดภาษี ที่มีการแปลงพิกัดจากของภาคีสมาชิก ซึ่งปัจจุบันเหลือเพียงบรูไน ที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ และที่ประชุมได้เห็นชอบขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการภายใต้ความตกลง AHKFTA เพิ่มเติมใน 5 สาขา ได้แก่ สุขอนามัยและสุขอนามัยพืช มาตรฐาน กฎระเบียบทางเทคนิค ทรัพย์สินทางปัญญา เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้า และ การส่งเสริมการลงทุน จากเดิมที่เห็นชอบแล้ว 5 สาขา โดยไทยมีความตกลงกับฮ่องกง 2 ฉบับ คือ ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ฮ่องกง (AHKFTA) และความตกลงด้านการลงทุนอาเซียน-ฮ่องกง (AHKIA) ซึ่งครอบคลุมการเปิดเสรีการค้าสินค้าและการค้าบริการ การส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการ

ที่มา : https://www.innnews.co.th/news/news_144568/

เวียดนาม 3 อันดับแรกจุดหมายขยายธุรกิจในอาเซียน

สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด เผยผลการสำรวจชี้เวียดนามเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางของธุรกิจชั้นนำในอาเซียนที่มองหาโอกาสในประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ และในบรรดาสมาชิกดังกล่าว สิงคโปร์ ไทยและเวียดนามถือเป็นจุดหมายของบริษัทต่างๆ ที่ต้องการขยายการผลิตและธุรกิจ ทั้งนี้ ตามข้อมูลของสำนักข่าว VnExpress ชี้ว่าสิงคโปร์เป็นจุดหมายที่น่าดึงดูดที่สุด ธุรกิจส่วนใหญ่กว่า 80% แสดงถึงความต้องการที่จะขยายธุรกิจและการผลิตในสิงคโปร์ รองลงมาไทย 60% และเวียดนาม 50% นอกจากนี้ ธุรกิจในอาเซียนมองทิศทางการทำธุรกิจอยู่ในระดับที่ดีมากในภูมิภาคนี้ในอีก 12 เดือนข้างหน้า ประกอบกับความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ที่คาดว่าจะดึงดูดการลงทุนในอาเซียน อย่างไรก็ดี ยังเผชิญกับความเสี่ยง 3 ปัจจัยสำคัญ ได้แก่ การระบาดของโควิด-19 ความไม่แน่นอนทางการเมือง ความขัดแย้งทางการค้า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นไปอย่างช้าและการใช้จ่ายของผู้บริโภคลดลง

ที่มา : https://vietnamtimes.org.vn/vietnam-among-asean-top-3-for-business-expansion-destinations-33738.html

เศรษฐกิจเวียดนามติดอันดับที่ 4 ในอาเซียน

ผู้เชี่ยวชาญของธนาคารแห่งชาติสิงคโปร์ (DBS) กล่าวว่าเศรษฐกิจเวียดนามจะเติบโตราว 6-6.5% ในอีก 10 ปีข้างหน้า หากเวียดนามยังสามารถรักษาอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ ก็จะแซงหน้าสิงคโปร์ภายในปี 2573 ซึ่งตามข้อมูลเมื่อปีที่แล้ว พบว่าเศรษฐกิจเวียดนามมีมูลค่าอยู่ที่ 343 พันล้านเหรียญสหรัฐ เทียบกับสิงคโปร์ที่มีมูลค่า 337.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ และมาเลเซีย 336.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ เวียดนามติดอยู่ในอันดับที่ 40 ของโลกและอยู่ในอันดับที่ 4 ในกลุ่มอาเซียน ทั้งนี้ แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบหนัก แต่ว่าเศรษฐกิจของเวียดนามยังคงเติบโตที่ 5.64% และรายได้จากการส่งออกเพิ่มขึ้น 28.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnams-economy-to-rank-fourth-in-asean-experts/204334.vnp

อาเซียนและ FMs รัสเซียให้คำมั่นที่จะส่งเสริมความร่วมมือในภาคสาธารณสุข

บรรดาชาติอาเซียนและรัสเซียได้ให้คำมั่นที่จะส่งเสริมความร่วมมือในด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการตอบสนองต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รวมถึงการวิจัยและพัฒนาวัคซีนและยารักษาโรค และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังเกิดโรคระบาด สมาชิกในกลุ่มอาเซียนจะให้ความสำคัญกับผลลัพธ์ของการดำเนินโครงการและแผนปฏิบัติการภายใต้กรอบความร่วมมืออาเซียน-รัสเซีย ซึ่งครอบคลุมด้านการเมือง ความมั่นคง สังคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจทั้งนี้ในที่ประชุมยังได้มีการหารือเกี่ยวกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ของกลุ่มสมาชิกอาเซียนเพื่อลองรับการขยายของกลุ่มเศรษฐกิจในอนาคต

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Asean131.php

ผู้เชี่ยวชาญการค้าชี้สหรัฐอาจเสียประโยชน์ขณะที่อาเซียน+5 มุ่งหน้าให้สัตยาบันข้อตกลง RCEP

เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้วประเทศสมาชิกของสมาคมอาเซียน 10 ประเทศกับประเทศคู่ค้าอีกห้ารายคือ ออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ และเกาหลีใต้ ได้สรุปความตกลงการเจรจาการค้าเสรี RCEP หรือข้อตกลงหุ้นส่วนความร่วมมือทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคระหว่างสมาคมอาเซียนกับห้าประเทศคู่ค้า ซึ่งโดยรวมแล้วครอบคลุมผลผลิตทางเศรษฐกิจประมาณ 30% ของโลก และขณะนี้จีน ญี่ปุ่น กับประเทศสมาชิกอาเซียนสองประเทศได้ให้สัตยาบันรับรองไปแล้ว ด้านนักวิเคราะห์ด้านการค้าบางคน เช่น คุณ Patrick Quirk จากสถาบัน International Republican Institute ได้ชี้ว่าสหรัฐฯ อาจจะเสียเปรียบเพราะข้อตกลง RCEP จะเปิดโอกาสให้จีนมีอิทธิพลด้านการค้าและเพิ่มระดับการพึ่งพาทางเศรษฐกิจกับประเทศพันธมิตรของสหรัฐฯ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกได้มากขึ้น ส่วน Jeffrey Wilson ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของศูนย์ Perth USAsia Center ในออสเตรเลียเห็นว่าถึงแม้ข้อตกลง RCEP จะส่งผลให้กลุ่มประเทศสมาชิกมีปริมาณการค้ากับภูมิภาคภายนอกซึ่งรวมถึงสหรัฐฯ น้อยลงก็ตาม แต่ RCEP ก็น่าจะช่วยเน้นย้ำเรื่องความสำคัญของระบบการค้าโลกได้

ที่มา : https://www.voathai.com/a/business-news-ct/5956167.html

เวียดนามโชว์ ‘GDP ไตรมาส 2’ โต 6.6% ขยายตัวเด่นสุดในอาเซียน แม้เผชิญหน้ากับโควิดกลายพันธุ์

เศรษฐกิจเวียดนามไตรมาส 2/64 เติบโต 6.61% ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด โดยรับแรงหนุนจากภาคการส่งออกที่ขยายตัว 28.4% สำนักงานสถิติแห่งชาติระบุ ส่งออกไปสหรัฐฯ ประเทศเดียวเติบโตถึง 42.6% แต่ภาพรวมทั้งปียังถูกท้าทายการการแพร่ระบาดของโควิดที่กลายพันธุ์ Nikkei Asia รายงานว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP ของเวียดนามในไตรมาส 2 ปีนี้ ขายตัว 6.61% เทียบกับไตรมาสเดียวกันปีที่แล้ว ซึ่งสะท้อนภาพว่าเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศเริ่มฟื้นตัวแล้ว  ส่วนในครึ่งปีแรกเศรษฐกิจเวียดนามขยายตัว 5.64% เพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่เศรษฐกิจขยายตัวเพียง 1.82% และแม้ว่าอัตราการขยายตัวจะต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ 7% ของ VNDIRECT Securities แต่ก็ยังยืนยันได้ว่าศักยภาพทางการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามนั้นแข็งแกร่ง

ที่มา : https://thestandard.co/vietnam-show-gdp-on-second-quarter-grew-6-6-percents/