การส่งออกยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญของเศรษฐกิจเวียดนาม ปี 64
หลังจากเติบโตไปในทิศทางที่เป็นบวก 6.5% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ในปี 2563 ภาคการส่งออกคาดว่ายังคงเป็นแรงคับเคลื่อนที่สำคัญของเศรษฐกิจเวียดนามในปีนี้ นายเหงียน ซวน ทัญ (Nguyen Xuan Thanh) นักเศรษฐศาสตร์และที่ปรึกษาสำนักงานนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าเครือข่ายตลาดส่งออก จะช่วยให้เวียดนามชดเชยจากการสูญเสียการส่งออกไปยังตลาดดั้งเดิมที่ลดลง อาทิ สหภาพยุโรปหรืออาเซียน อย่างไรก็ตาม การส่งออกไปยังสหรัฐฯ จะเผชิญกับอุปสรรคมากขึ้นในปีนี้ เนื่องจากเวียดนามเกินดุลการค้า 62.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปีที่แล้ว แต่ด้วยข้อตกลงการค้าเสรีสหภาพยุโรป-เวียดนาม (EVFTA) และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) จะช่วยให้การค้าระหว่างประเทศดีขึ้น ทั้งนี้ ประธานหอการค้าและอุตสาหกรรมเวียดนาม (VCCI) เปิดเผยว่ากระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า ควรมีบทบาทมากขึ้นในการทำกิจกรรมระหว่างช่วงการบังคับใช้ข้อตกลงการค้าเสรีที่เวียดนามเป็นสมาชิกอยู่ รวมถึงส่งเสริมกิจกรรมการค้าให้แก่ตลาดที่มีศักยภาพ และนำเทคโนโลยีมาใช้กับการค้าและอีคอมเมิร์ซ เป็นต้น
ที่มา : http://hanoitimes.vn/exports-set-to-remain-growth-driver-for-vietnam-in-2021-315931.html
เวียดนามส่งออกข้าวไปยังฟิลิปปินส์ สูงถึง 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
กรมศุลกากรเวียดนาม เผยการส่งออกข้าวของเวียดนามไปยังตลาดฟิลิปปินส์ในปีที่แล้ว ถือว่าเป็นครั้งแรกที่มีมูลค่าเกินกว่า 1 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งทางสำนักงานดังกล่าว ตั้งข้อสังเกตว่าฟิลิปปินส์เป็นผู้บริโภคข้าวเวียดนามรายใหญ่ที่สุด ด้วยปริมาณการนำเข้า 2.22 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 1.06 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 4% และ 19.3% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ตามลำดับ นอกจากเรื่องปริมาณการส่งออกข้าวจำนวนมากไปยังฟิลิปปินส์แล้วนั้น ราคาส่งออกข้าวไปยังตลาดดังกล่าว ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เฉลี่ยอยู่ที่ 476 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน เพิ่มขึ้น 14.7% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว นอกจากนี้ ตลาดฟิลิปปินส์ยังคงเป็นผู้บริโภคข้าวรายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม ด้วยสัดส่วน 35.5% ของปริมาณการส่งออกทั้งหมด และ 33.9% ของมูลค่าการส่งออกข้าวรวม
เวียดนามเอาชนะจีน อินเดีย ก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมการผลิตถัดไป
ตามรายงานของ Economist Intelligence Unit (EIU) เผยว่าเวียดนามเป็นจุดหมายปลางทางของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในเอเชีย หลังออกจากจีนและอินเดีย ด้วยเหตุนี้ เวียดนามจึงเป็นศูนย์กลางการผลิตด้วยต้นทุนต่ำในห่วงโซ่อุปทานของเอเชีย ซึ่งปัจจัยสำคัญในการเติบโตของประเทศนั้น ได้แก่ ข้อเสนอให้กับบริษัทระหว่างประเทศ เพื่อให้ธุรกิจสามารถจัดตั้งหน่วยงานในการผลิตสินค้าไฮเทค ด้วยค่าจ้างแรงงานที่ต่ำ และผลประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) เป็นต้น อีกทั้ง หน่วยงาน EIU ระบุว่าเวียดนามมีคะแนนมากกว่าทั้งอินเดียและจีน เกี่ยวกับเรื่องนโนบาย FDI นอกจากนี้ การเข้าร่วมเป็นสมาชิกของ FTA จะแสดงถึงจุดแข็งของความสัมพันธ์ทางการค้าของเวียดนาม และช่วยลดต้นทุนทางด้านการส่งออกอีกด้วย
ที่มา : https://vov.vn/en/economy/vietnam-beats-china-india-to-become-next-manufacturing-hub-831078.vov
นักเศรษฐศาสตร์ คาดเศรษฐกิจเวียดนามเร่งตัวพุ่งในปีนี้
การขยายตัวของเศรษฐกิจเวียดนามเติบโตค่อนข้างช้า เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เมื่อปีที่แล้ว แต่ผู้เชี่ยวชาญหลายท่าน ประเมินว่าเศรษฐกิจเวียดนามจะเร่งพุ่งสูงขึ้น แค่รอโอกาสที่จะกลับมา ดังนั้น รัฐบาลจึงตั้งเป้าการเติบโตทางเศรษฐกิจในปีนี้อยู่ที่ 6.5% เพิ่มขึ้น 2 เท่าของปีที่แล้ว นับว่าเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ สาเหตุจากยังคงมีความเสี่ยงจาก COVID-19 และความขัดแย้งทางการค้า รวมถึงความไม่แน่นอนทางด้านการเมืองทั่วโลก อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวางแผนและการลงทุน กล่าวว่าเวียดนามมีโอกาสอีกมากมายและเติบโตอย่างแข็งแกร่งได้ ประกอบกับโอกาสจากข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) และการหันมานำเทคโนโลยีมาใช้ในธุรกิจ อีคอมเมิร์ซ รวมถึงการก่อตั้งของอุตสาหกรรมใหม่และโมเดลธุรกิจ นอกจากนี้ ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB), ธนาคารยูโอบี (UOB) และธนาคารเอชเอสบีซี (HSBC) คาดว่าเศรษฐกิจเวียดนามจะขยายตัว 6.3%, 7.1% และ 8.1% ในปีนี้ ตามลำดับ
ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/858071/vietnamese-economy-tipped-to-bounce-back-in-2021.html
เวียดนามส่งออกทุเรียนไปจีน ผ่านช่องทางหลัก
เวียดนามเร่งเจรจาข้อตกลงทางการค้า เพื่อที่จะส่งออกทุเรียนไปยังประเทศจีน ในจำนวนที่มากขึ้นผ่านช่องทางหลัก ถึงแม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่จีนก็ยังเป็นผู้บริโภคทุเรียนของเวียดนามรายใหญ่ที่สุดในปีที่แล้ว เมื่อพิจารณาจากตัวเลขสถิติ พบว่าจีนนำเข้าทุเรียนทั่วโลกอยู่ที่ 397,000 ตัน เป็นมูลค่า 1.62 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 10.8% เมื่อเทียบกับปี 2562 อย่างไรก็ตาม การนำเข้าทุเรียนของเวียดนาม ลดลง 66.3% ในช่วง 8 เดือนแรกของปีที่แล้ว ทั้งนี้ เวียดนามส่งออกทุเรียนแบบปอกเปลือกและทุเรียนแช่แข็งไปยังตลาดจีนเป็นหลัก ซึ่งส่วนใหญ่ผ่านช่องทางไม่เป็นทางการ อย่างไรก็ตาม จีนเพิ่งระงับช่องทางไม่เป็นทางการชั่วคราว เนื่องจากกลัวการระบาดของโควิด-19 ทำให้ผู้ส่งออกในประเทศลำบาก นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบท ได้เร่งเจรจากับทางจีนเพื่อส่งออกสินค้าเกษตรผ่านช่องทางที่เป็นทางการ โดยจะให้ความสำคัญกับสินค้าเกษตร อาทิ ทุเรียน มันเทศ รังนก ส้มโอ เสาวรส อะโวคาโด และอื่นๆ เป็นต้น
จังหวัดด่งนายดึงดูดเม็ดเงิน FDI 226 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงครึ่งเดือนแรกเดือนมกราคม 64
ตามข้อมูลจากคณะกรรมการเขตอุตสาหกรรมจังหวัด เผยว่าจังหวัดด่งนาย (Dong Nai) ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) จำนวน 11 โครงการ รวมมูลค่ามากกว่า 226 ล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงครึ่งเดือนแรกของเดือนมกราคม 2564 นับว่าสูงที่สุดในช่วงเวลาเดียวกันในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา โดยมีโครงการขนานใหญ่ ได้แก่ Hansol Electronics (100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ที่ตั้งอยู่ในเขตอุตสาหกรรมฮอร์นายและโรงงาน Ojitex (60 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ทั้งนี้ นาย Pham Van Cuong รองผู้อำนวยการคณะกรรมการบอร์ด กล่าวเสริมว่านักลงทุนเน้นที่จะเบิกจ่ายเงินทุนในการสร้างโรงงานและการซื้อเครื่องจักรในไตรมาสที่ 1 และเริ่มดำเนินโครงการภายในสิ้นปี 2564 เป็นผลมาจากความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อเศรษฐกิจเวียดนาม รวมถึงสภาพแวดล้อมทางการลงทุนที่ดีในจังหวัดด่งนาย นอกจากนี้ ในปัจจุบัน ทางจังหวัดดังกล่าวมีจำนวน 32 เขตอุตสาหกรรม ด้วยอัตราการดำเนินงาน 80%