นายกฯ ฮุน มาเน็ต ยันเศรษฐกิจกัมพูชาปีนี้โต 5.6%

นายกรัฐมนตรี ฮุน มาเนต ประกาศคงการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจกัมพูชาไว้ที่ร้อยละ 5.6 ในปี 2023 และจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 6.6 ภายในปี 2024 โดยได้รับแรงหนุนจากการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูป รองเท้าและสินค้าเพื่อการเดินทาง ภาคการท่องเที่ยว ภาคเกษตรกรรม และอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงภาคการก่อสร้างที่เริ่มเห็นการเติบโต ขณะเดียวกันทางการกัมพูชามีความพยายามเป็นอย่างมากที่จะขยายตลาดส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ในภูมิภาค โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศอาเซียน+3 (จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้) เพื่อที่จะลดการพึ่งพาตลาดส่งออกหลักในปัจจุบันอย่างสหรัฐฯ และยุโรป นอกจากนี้กัมพูชายังเป็นสมาชิกข้อตกลงเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน (CAFTA) และข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) นอกจากนี้ ยังมีข้อตกลงการค้าเสรีทวิภาคีกับจีน เกาหลีใต้ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นส่วนสำคัญในการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชา

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501397374/pm-hun-manet-reaffirms-cambodias-growth-for-this-year-is-at-5-6-percent/

กัมพูชาเร่งพัฒนาถนนแห่งชาติหมายเลข 5 อำนวยความสะดวกด้านการขนส่ง

กัมพูชาเร่งพัฒนาทางหลวงสายสำคัญ 2 สาย ถือเป็นส่วนขยายของถนนแห่งชาติหมายเลข 5 ซึ่งเชื่อมไปยังกรุงพนมเปญและพระตะบอง โดยคาดว่าจะมีบทบาทสำคัญในการอำนวยความสะดวกด้านการเดินทาง การขนส่งสินค้า รวมถึงเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพด้านการเชื่อมต่อในระดับภูมิภาค ซึ่งถนนเส้นดังกล่าวมีความยาวอยู่ที่ 366 กิโลเมตร ภายใต้เงินกู้สัมปทานจำนวน 691 ล้านดอลลาร์ จากรัฐบาลญี่ปุ่น ผ่านหน่วยงานความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) ถือเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ที่เชื่อมเมืองหลวงจากพื้นที่เปรกดำไปยังจังหวัดบันเตียเมียนเจยที่มีพรมแดนติดกับประเทศไทย ขณะที่หลังจากทางการกัมพูชาได้เปิดให้บริการถนนแห่งชาติหมายเลข 5 อย่างเป็นทางการ โดยรัฐบาลกัมพูชาพร้อมที่จะดำเนินการส่งเสริมการลงทุนตามแนวถนนให้มากขึ้น เพื่อผลักดันให้จังหวัดต่างๆ เกิดการพัฒนาควบคู่ไปกับการพัฒนาของภาคประชาชน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501396473/national-road-5-to-facilitate-goods-transport-and-enhance-connectivity/

ธนาคารโลกมอบเงินทุนสนับสนุนในการจัดหาน้ำและสุขาภิบาลในกัมพูชา

ธนาคารโลก (World Bank: WB) อนุมัติงบประมาณมูลค่า 163 ล้านดอลลาร์ เพื่อสนับสนุนโครงการการจัดหาน้ำประปาสะอาดและคุณภาพทางด้านสุขาภิบาล ใน 4 จังหวัดสำคัญของกัมพูชาอย่างจังหวัด พระตะบอง โพธิสัตว์ มณฑลคีรี และกันดาล ซึ่งคาดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในพื้นที่มากกว่า 175,000 คน แม้ปัจจุบันหลายพื้นที่ในกัมพูชามีการเข้าถึงแหล่งน้ำเพื่อการบริโภคและสุขาภิบาลที่ดีขึ้น แต่ก็ยังจำเป็นที่จะต้องพัฒนาระบบสาธารณูปโภคต่างๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของประเทศ และบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) 6 ของสหประชาชาติ (UN) ภายในปี 2030 โดยรัฐบาลกัมพูชาให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการจัดการน้ำเสียและกากตะกอน ดังนั้น การสนับสนุนการลงทุนในระบบสุขาภิบาลภายใต้โครงการดังกล่าวจึงเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับความยั่งยืนทางด้านสุขอนามัยของคนในประเทศ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501396471/wb-approves-163m-for-safe-water-supply-and-sanitation-in-cambodia/

PBOC-NBC ลงนามบันทึกความเข้าใจ ดันความร่วมมือทางด้านการเงินระหว่าง จีน-กัมพูชา

ธนาคารประชาชนจีน (PBOC) และธนาคารแห่งชาติกัมพูชา (NBC) ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MoU) สองฉบับเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (21 พ.ย.) เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือทางการเงิน หลัง Pan Gongsheng ผู้ว่าการ PBOC และหัวหน้าฝ่ายบริหารการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศของรัฐ พบกับ Chea Serey ผู้ว่าการธนาคารแห่งชาติกัมพูชา ณ กรุงปักกิ่ง ตามคำแถลงของ PBOC โดยทั้งสองฝ่ายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกันเกี่ยวกับการส่งเสริมความร่วมมือทางการเงินในระดับทวิภาคีและร่วมกันลงนามในบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับความร่วมมือในการจัดทำข้อตกลงการหักบัญชีเงินหยวนในกัมพูชา และเกี่ยวกับความร่วมมือด้านนวัตกรรมทางการเงินและระบบการชำระเงินในอนาคต

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501396098/pboc-national-bank-of-cambodia-sign-mous-on-cooperation/

RCEP ดันการเข้าถึงตลาดต่างประเทศของกัมพูชา

Sok Siphana รัฐมนตรีอาวุโสฝ่ายความสัมพันธ์ทางการค้าและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กล่าวว่า ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) เป็นแรงผลักดันสำคัญต่อการส่งออกของกัมพูชา ซึ่งมีส่วนช่วยในการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยรัฐมนตรีได้กล่าวไว้ในระหว่างการบรรยายเรื่อง ‘การวิเคราะห์แง่มุมทางกฎหมายของข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค’ ณ กระทรวงสารสนเทศ เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (21 พ.ย.) ซึ่งสิทธิพิเศษทางการค้าของ RCEP นอกจากจะกระตุ้นทางด้านการค้าแล้ว ยังส่งผลต่อภาคการลงทุน และการไหลเวียนของภาคประชาชนข้ามพรมแดนมากขึ้น จากการเร่งบูรณาการทางเศรษฐกิจและการค้าในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

สำหรับในช่วง 9 เดือนแรกของปี กัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังกลุ่มประเทศ RCEP มูลค่ารวม 5.8 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 23 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่มูลค่า 4.7 พันล้านดอลลาร์ คิดเป็นกว่าสัดส่วนร้อยละ 33 ของการส่งออกรวมกัมพูชาที่มีมูลค่ารวม 17.59 พันล้านดอลลาร์ สำหรับในช่วง 3 ไตรมาสของปี

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501395909/rcep-helps-international-market-access-to-cambodia/

คาดเงินเดือนที่แท้จริงภายในประเทศกัมพูชาโต 2.2% ภายในปี 2024

คาดเงินเดือนที่แท้จริง (Real Salaries) ในประเทศ ขยายตัวร้อยละ 2.2 ในปีหน้า ตามการรายงานแนวโน้มเงินเดือนล่าสุดที่เผยแพร่โดย ECA International องค์กรผู้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเงินเดือน ที่พัก ภาษี กฎหมายแรงงาน ค่าครองชีพ ตลอดจนสวัสดิการ และคุณภาพชีวิต ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซียมีอัตราเงินเดือนขยายตัวเช่นกันที่ร้อยละ 4.3 รองลงมาคือเวียดนามที่ร้อยละ 3.6, ไทยขยายตัวร้อยละ 3.4, มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ที่ร้อยละ 2.3 ซึ่งกัมพูชาอยู่ในอันดับที่ 6 เมื่อเทียบกับประเทศในกลุ่มอาเซียน โดยอัตราการปรับขึ้นดังกล่าวเกิดขึ้นจากการคำนวณเข้ากับอัตราเงินเฟ้อในปัจจุบัน ขณะที่ค่าจ้างของพนักงานภาครัฐสูงกว่าภาคเอกชนถึงร้อยละ 18.8 สะท้อนสิ่งที่ภาคเอกชนควรจะต้องมีแผนในการปรับค่าแรงค่าจ้างให้เหมาะสมตามสถานการณ์ปัจจุบัน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501395310/kingdoms-real-salaries-set-to-increase-2-2-percent-in-2024/

อินโดนีเซียตั้งเป้าดันการค้าระหว่างกัมพูชาติดอันดับ 5 ประเทศคู่ค้ารายสำคัญ

ปัจจุบันอินโดนีเซียถือเป็นคู่ค้ารายสำคัญอันดับที่ 6 ของกัมพูชา ซึ่งมีมูลค่าการค้าระหว่างประเทศอยู่ที่ 1 พันล้านดอลลาร์ ในปัจจุบัน เน้นหนักไปที่การส่งออกถ่านหินของกัมพูชา และการส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์ของอินโดนีเซียมายังกัมพูชา โดยอินโดนีเซียตั้งเป้าดันการค้าระหว่างกัมพูชาติดอันดับที่ 5 ภายในปีหน้า ซึ่ง ดร.Santo Darmosumarto เอกอัครราชทูตอินโดนีเซีย ประจำกัมพูชา ได้กล่าวไว้ในระหว่างการพูดคุยกับ Khmer Times สื่อประจำท้องถิ่น รวมถึงยังได้พูดคุยถึงความท้าทายที่ต้องเผชิญต่อภาคการค้าระหว่างอินโดนีเซียและกัมพูชา โดยปัจจุบันความเชื่อมโยงด้านโลจิสติกส์ภายในกัมพูชายังคงต้องปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากปัจจุบันต้นทุนด้านการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศที่สูง ทำให้ไม่สามารถแข่งขันได้กับประเทศเพื่อนบ้านอย่าง เวียดนามและไทย ได้อย่างเต็มที่ ทั้งนี้ เอกอัครราชทูตยังได้กล่าวเสริมว่ากัมพูชายังมีศักยภาพอีกมากมาย สำหรับการพัฒนาความร่วมมือในด้านต่างๆ เช่น ภาคเกษตรกรรม รวมถึงศักยภาพของภาคการท่องเที่ยว ซึ่งกำลังเร่งฟื้นตัวจากสถานการณ์ต่างๆ ในช่วงก่อนหน้า

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501395286/indonesia-aims-to-achieve-top-five-status-as-cambodias-trade-partner/