อาเซียน-ญี่ปุ่น จับมือฟื้นฟูเศรษฐกิจจากโควิด พร้อมบรรลุข้อตกลงหุ้นส่วนฉบับใหม่เริ่ม 1 สิงหา

นายสรรเสริญ สมะลาภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายก รัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ มอบหมายให้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น สมัยพิเศษ ว่าด้วยการตอบสนองต่อสถานการณ์โควิด-19 ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยที่ประชุมหารือและแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ที่มีต่อเศรษฐกิจในภูมิภาค รวมถึงการเป็นห่วงโซ่การผลิตที่สำคัญของภูมิภาคและของโลก ดังนั้นที่ประชุมจึงร่วมกันรับรองแผนปฏิบัติการด้านความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจในภูมิภาคจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างเป็นรูปธรรม โดยแผนดังกล่าวมุ่งเน้นเป้าหมาย 3 ประการ คือ รักษาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดระหว่างกัน บรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และเสริมสร้างความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจ ผ่านกิจกรรมต่างๆ กว่า 50 โครงการ เช่น มุ่งให้มีการลงนามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ภายในปีนี้ เร่งส่งเสริมความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมยานยนต์และเคมีภัณฑ์ ยกระดับทักษะฝีมือแรงงานในภาคอุตสาหกรรมให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี พัฒนาการค้าดิจิทัลระดับภูมิภาค ผลักดันการใช้เทคโนโลยีในการเสริมสร้างประสิทธิภาพและศักยภาพของธุรกิจ MSMEs เป็นต้น

ที่มา : https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_2286193

พาณิชย์ เผย SEOM ทำแผนฟื้นฟูศก.หลังวิกฤตโควิด-19 เชื่อมห่วงโซ่การผลิตอาเซียน

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้นายดวงอาทิตย์ นิธิอุทัย รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเศรษฐกิจอาเซียน (Senior Economic Official Meeting : SEOM) ครั้งที่ 3/51 ระหว่างวันที่ 22-25 ก.ค.63 ผ่านระบบทางไกล เพื่อติดตามความคืบหน้าการทำงานของคณะทำงานด้านต่างๆ เพื่อเตรียมรายงานความสำเร็จต่อที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (AEM) ที่กำหนดจัดขึ้นในเดือน ส.ค.นี้ สำหรับการทำงานของเสาเศรษฐกิจอาเซียนในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 มีความคืบหน้าดังนี้ 1.พร้อมใช้ระบบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเอง (ASEAN-Wide Self Certification) ในเดือน ก.ย.63 โดยผู้ส่งออกจะสามารถรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าที่ต้องการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีของอาเซียนได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องไปขอรับใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Form D) จากหน่วยงานภาครัฐ 2.พร้อมลงนามข้อตกลงยอมรับร่วม (MRA) ผลการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ยานยนต์และชิ้นส่วนของอาเซียน ในช่วงการประชุม AEM ครั้งที่ 52 ในเดือน ส.ค.นี้ 3.ได้ข้อสรุปการเจรจา MRA สินค้าวัสดุก่อสร้าง และเตรียมลงนามในปีนี้เช่นกัน ซึ่ง MRA ทั้งสองฉบับจะช่วยลดต้นทุนการทำธุรกิจของอุตสาหกรรมยานยนต์และวัสดุก่อสร้าง เนื่องจากเมื่อผ่านการตรวจสอบมาตรฐานของหน่วยงานทดสอบมาตรฐานในประเทศอาเซียนที่ส่งออกแล้วไม่ต้องตรวจซ้ำในประเทศอาเซียนที่นำเข้า และ 4.พร้อมใช้ความตกลงพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์อาเซียนในปี 2563 เพื่อนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยทำการค้าระหว่างเกิดโควิด-19 ทั้งนี้ การค้าระหว่างไทยกับอาเซียนในปี 2562 มีมูลค่าการค้ารวม 107,674 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นการส่งออกจากไทยไปอาเซียน 62,841 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าของไทยจากอาเซียน 44,833 ล้านเหรียญสหรัฐ

ที่มา : https://www.infoquest.co.th/news/2020-77a1ea9aee8320ed899b2ea2d5eb7329

อาเซียนถกแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด จ่อลงนามความตกลงยอมรับร่วมด้านยานยนต์ ส.ค.นี้

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เตรียมร่วมประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียน หรือ SEOM ครั้งที่ 3/51 ผ่านระบบทางไกล หารือแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 และมาตรการที่ออกมาใหม่ช่วงการแพร่ระบาด เตรียมพร้อมความตกลงยอมรับร่วม APMRA ให้รัฐมนตรีเศรษฐกิจลงนามในเดือนสิงหาคม 2563 พร้อมถก 11 คู่เจรจา หาแนวทางจัดทำ FTA กับประเทศใหม่ๆ  และเพื่อเตรียมการสำหรับการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ครั้งที่ 52 ในเดือนสิงหาคม และการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 37 ในเดือนพฤศจิกายน 2563 การประชุม ครั้งนี้ จะหารือประเด็นผลกระทบทางเศรษฐกิจตลอดจนแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังโควิด-19 รวมถึงมาตรการที่แต่ละประเทศออกมาในช่วงการแพร่ระบาดใหญ่ รวมทั้งหารือเรื่องการดำเนินงานของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และการเตรียมพร้อมเพื่อลงนามความตกลงยอมรับร่วมผลการตรวจสอบและรับรองผลิตภัณฑ์ยานยนต์ของอาเซียน (APMRA) ซึ่งเป็นประเด็นที่ไทยให้ความสำคัญ โดยรัฐมนตรีเศรษฐกิจจะลงนามความตกลงร่วมกันในเดือนสิงหาคมนี้ นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่อาวุโสของอาเซียนจะพบกับ 11 คู่เจรจา ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฮ่องกง สหรัฐฯ แคนาดา อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ รัสเซีย และสหภาพยุโรป รวม 12 การประชุม โดยจะหารือประเด็นสำคัญ เช่น การเปิดเสรีเพิ่มเติมภายใต้ความตกลงที่มีอยู่เดิมกับจีน ความเป็นไปได้ในการเจรจาทำความตกลง FTA ใหม่ๆ กับแคนาดาและสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย ที่มีรัสเซียเป็นหัวเรือใหญ่ รวมถึงความคืบหน้าความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างอาเซียน-สหรัฐฯ ความคืบหน้าการจัดทำขอบเขตการเจรจา FTA กับสหภาพยุโรป และการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านเศรษฐกิจกับญี่ปุ่น เป็นต้น ทั้งนี้ อาเซียนเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทย โดยในปี 2562 การค้าระหว่างไทยกับอาเซียน มีมูลค่าการค้ารวม 107,928 ล้านเหรียญสหรัฐ ไทยเกินดุล 17,880 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นการส่งออกไปอาเซียน มูลค่า 62,904 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าจากอาเซียน มูลค่า 45,024 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2563 (ม.ค. – พ.ค.) มีมูลค่าการค้ารวม 41,218 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยส่งออกไปอาเซียนมูลค่า 24,697 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าจากอาเซียนมูลค่า 16,522 ล้านเหรียญสหรัฐ ตลาดส่งออกและแหล่งนำเข้าสำคัญของไทยในอาเซียน ได้แก่ มาเลเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์

ที่มา: https://www.prachachat.net/economy/news-493979

มะม่วงไทยดาวเด่น ส่งออกอาเซียนโต 143% หนุนใช้ FTA สร้างแต้มต่อ

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า มะม่วงสดของไทยเป็นหนึ่งในสินค้าดาวเด่นมาแรง ทำยอดส่งออกขยายตัวได้ดี แม้อยู่ในช่วงสถานการณ์วิกฤติโควิด-19 โดยในช่วง 5 เดือนแรก (ม.ค. – พ.ค. 2563) กว่า 5.7 ตัน มูลค่าถึง 41 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 4%โดยส่งออกไปตลาดอาเซียนขยายตัวโดดเด่นสุด มีสัดส่วนอยู่ที่ 37.5% ของการส่งออกทั้งหมด มูลค่า 15.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 143% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ตลาดส่งออกหลัก เช่น มาเลเซีย เวียดนาม และ สปป.ลาว เป็นต้น และยังมีจีนที่นิยมมะม่วงสดจากไทยเพิ่มขึ้น มีมูลค่าส่งออกถึง 5.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 71% และฮ่องกง ขยายตัวถึง 196% นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรมกล่าวเพิ่มเติมถึงจุดเด่นของมะม่วงไทย “ไทยเป็นแหล่งปลูกมะม่วงพันธุ์ดี มีคุณภาพ และรสชาติดี จึงเป็นที่นิยมในตลาดต่างประเทศ ประกอบกับแนวโน้มความต้องการมะม่วงสดมากขึ้น ซึ่งถือเป็นโอกาสที่เกษตรกรและผู้ประกอบการไทยจะขยายตลาดการส่งออกได้เพิ่มขึ้น” นอกจากนี้ส่วนสำคัญอีกประการหนึ่งคือข้อตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ที่ช่วยส่งเสริมการค้าให้ขยายตัวโดยปัจจุบันประเทศคู่เอฟทีเอของไทย 15 ประเทศได้แก่ สมาชิกอาเซียน 7 ประเทศ (อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ บรูไน เวียดนาม เมียนมา และมาเลเซีย) จีน ญี่ปุ่น ฮ่องกง ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย ชิลี และเปรู เหลือเพียง 3 ประเทศ ที่ยังเก็บภาษีนำเข้าจากไทย ได้แก่ สปป.ลาว และกัมพูชา เก็บภาษีนำเข้า 5% และเกาหลีใต้ เก็บภาษีนำเข้า 24%  

ที่มา : http://www.aseanthai.net/ewt_news.php?nid=10473&index

เอฟทีเอดันยอดส่งออกมะม่วงเข้าตลาดอาเซียน 5 เดือนแรก 2563 ทะลุ 143%

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า มะม่วงสดของไทยเป็นหนึ่งในสินค้าดาวเด่นมาแรง ทำยอดส่งออกขยายตัวได้ดี แม้อยู่ในช่วงสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 โดยในช่วง 5 เดือนแรก (ม.ค. – พ.ค. 2563) ไทยส่งออกมะม่วงสดปริมาณกว่า 5.7 หมื่นตัน คิดเป็นมูลค่า 41 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2562 โดยส่งออกไปตลาดอาเซียนขยายตัวโดดเด่นสุด มีสัดส่วนอยู่ที่ 37.5% ของการส่งออกทั้งหมด มูลค่า 15.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 143% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ตลาดส่งออกหลัก เช่น มาเลเซีย เวียดนาม และ สปป.ลาว เป็นต้น และยังมีจีนที่นิยมมะม่วงสดจากไทยเพิ่มขึ้น มีมูลค่าส่งออกถึง 5.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 71% และฮ่องกง ขยายตัวถึง 196% ทั้งนี้ ไทยเป็นแหล่งปลูกมะม่วงพันธุ์ดี มีคุณภาพ และรสชาติดี จึงเป็นที่นิยมในตลาดต่างประเทศ ประกอบกับแนวโน้มความต้องการมะม่วงสดมากขึ้น ซึ่งถือเป็นโอกาสที่เกษตรกรและผู้ประกอบการไทยจะขยายตลาดการส่งออกได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในตลาดที่ไทยมีความตกลงการค้าเสรี (15 ประเทศ) นอกจากนี้ ผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญกับการรักษามาตรฐานสินค้าและพัฒนาคุณภาพการผลิตอย่างสม่ำเสมอ ตั้งแต่การเพาะปลูก การบรรจุหีบห่อ การมีใบรับรองสุขอนามัยพืช รวมทั้งระมัดระวังการใช้สารเคมีและยาฆ่าแมลง เนื่องจากปัจจุบันหลายประเทศเข้มงวดและผู้บริโภคนิยมผลไม้ปลอดสารพิษหรือเกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้น

ที่มา : https://www.prachachat.net/economy/news-491759

ครม.เห็นชอบแถลงการณ์ร่วม รมต.อาเซียน-จีนเสริมสร้างการขนส่งสู้โควิด-กระตุ้นศก.

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่างแถลงการณ์ร่วมรัฐมนตรีขนส่งอาเซียน-จีน ว่าด้วยการเสริมสร้างการขนส่งและโลจิสติกส์ที่ราบรื่นเพื่อต่อสู้กับโควิด-19 และการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยให้ รมว.คมนาคม หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายร่วมรับรองระหว่างการประชุมรัฐมนตรีขนส่งอาเซียน-จีน สมัยพิเศษ ว่าด้วยโควิด-19 ด้วยระบบการประชุมทางไกล ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 16 ก.ค.นี้ แถลงการณ์ร่วมฯ ดังกล่าวแสดงออกถึงความมุ่งมั่นระหว่างอาเซียนและจีนในการต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจโลก การเดินทางและการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมการผลิต การค้าปลีก การคมนาคม และการบริการด้านอื่นๆ รวมทั้งห่วงโซ่อุปทานและตลาดการเงินหยุดชะงัก สาระสำคัญ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของความร่วมมือด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ ไม่ให้เกิดอุปสรรคต่อการขนส่งสินค้าที่จำเป็นข้ามพรมแดน รวมถึงอาหาร ยาและเวชภัณฑ์สำคัญ ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร และสินค้าและบริการอื่นๆ อำนวยความสะดวกในการเข้า ออก และผ่าน ของวัสดุและสินค้า ให้ความสำคัญต่อการเดินเรืออย่างปลอดภัย ป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสข้ามพรมแดน และลดความเสี่ยงของกลุ่มที่นำเชื้อโรคเข้าประเทศ รวมทั้ง อาเซียนและจีน จะอำนวยความสะดวกในการเตรียมการเดินทางโดยค่อย ๆ ลดข้อจำกัดด้านการเดินทางแต่ยังคงเคารพซึ่งการป้องกันสุขภาพ โดยอาเซียนและจีนเห็นพ้องถึงความสำคัญที่จะต้องสร้างความสมดุลระหว่างความปลอดภัยด้านสาธารณสุขและบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม

ที่มา : https://www.infoquest.co.th/news/2020-b451b842b5809ae67c3bef48c86fe410

“ยูโอบี” เปิดผลสำรวจ “SMEs ในอาเซียน” ร้อยละ 88 รับรายได้หด 50%

ธนาคารยูโอบี เผยผลสำรวจ “ASEAN SME Transformation Study 2020” ชี้ธุรกิจเอสเอ็มอีในภูมิภาคอาเซียนต่างหันมาพึ่งพาเทคโนโลยีเพื่อช่วยในการดำเนินธุรกิจช่วงสถานการณ์โควิด-19 กว่า 2 ใน 3 ของเอสเอ็มอี หรือประมาณร้อยละ 64 ให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านเทคโนโลยีเป็นอันดับแรก ประมาณร้อยละ 71 ขณะที่เอสเอ็มอีร้อยละ 88 รับรายได้ปี 63 หายกว่า 50% ธนาคารยูโอบี (UOB) ร่วมกับแอคเซนเจอร์ (Accenture) และดันแอนด์แบรดสตรีท (Dun & Bradstreet) ทำการสำรวจความคิดเห็นของธุรกิจเอสเอ็มอีในอาเซียนกว่า 1,000 ราย เพื่อทำความเข้าใจว่าธุรกิจเอสเอ็มอีปรับตัวอย่างไรต่อสภาพการณ์ทางธุรกิจที่เปลี่ยนไปภายใต้สถานการณ์โควิด-19 โดยการสำรวจยังพบว่าธุรกิจเอสเอ็มอียังพยายามที่จะลงทุนในด้านเทคโนโลยี แม้ว่ารายได้จากธุรกิจจะลดลงก็ตาม ซึ่ง 9 ใน 10 หรือร้อยละ 88 คาดการณ์ว่ารายได้ในปี 2563 จะลดลงเกือบครึ่งหนึ่ง แต่ก็ยังวางแผนเพิ่มงบประมาณด้านเทคโนโลยี ซึ่งนั่นหมายความว่าเอสเอ็มอีกำลังมองข้ามความท้าทายในปัจจุบัน และพร้อมจะปรับใช้เทคโนโลยี เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันและการเติบโตทางธุรกิจอย่างยั่งยืน

ที่มา : https://www.prachachat.net/finance/news-488140

เปิดเวทีผู้ส่งออกคุยทูตพาณิชย์ เจาะตลาดยุโรป-อาเซียน-เอเชียตะวันออก

นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยว่า กรม มีกำหนดจัดโครงการเปิดโลกการค้ากับทูตพาณิชย์ออนไลน์ หรือ Online Export Clinic 2020 ประจำเดือนสิงหาคม 2563 โดยจะเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการที่สนใจจะปรึกษาด้านการทำตลาดต่างประเทศ การส่งออกสินค้า ได้มีโอกาสปรึกษาโดยตรงกับผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ หรือทูตพาณิชย์ ซึ่งครั้งนี้ มีทูตพาณิชย์จากกลุ่มประเทศในภูมิภาคยุโรป และ CIS ภูมิภาคอาเซียน และภูมิภาคเอเชียตะวันออก มาให้คำปรึกษา ข้อแนะนำ และแนวทางการเข้าสู่ตลาด โดยเปิดรับสมัครตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 17 กรกฎาคม 2563 ภูมิภาคอาเซียน กำหนดจัดวันที่ 13-14 สิงหาคม 2563 สามารถปรึกษาการทำตลาดและการเข้าสู่ตลาดกัมพูชา อินโดนีเซีย เมียนมา มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และสปป.ลาว โดยผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (NEA) กล่าวว่าผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมโครงการ สามารถสมัครเข้าร่วมได้ที่ https://exportcliniconlineaug2020.as.me/ และเมื่อได้รับการสมัครจากท่านแล้ว ทางผู้จัดจะทำการตรวจสอบคุณสมบัติ หากผ่านเกณฑ์การคัดเลือก ทีมงานจะจัดตารางเวลาและทำการนัดหมายกับท่านต่อไป สำหรับประเภทสินค้าที่สามารถขอรับคำปรึกษาได้ เช่น อาหารและเครื่องดื่ม เสื้อผ้าและสินค้าแฟชั่น เครื่องใช้และของตกแต่งบ้าน ยาและอาหารเสริม ผลิตภัณฑ์ความสวยความงามและสปา เครื่องใช้ไฟฟ้าและเครื่องจักร เครื่องประดับ การบริการ และอื่นๆ

ที่มา : https://www.naewna.com/business/502524

นายกรัฐมนตรีร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 36 รับรองปฏิญญาพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 36 เช้านี้ 26 มิ.ย. และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ผ่านระบบการประชุมทางไกล ซึ่งประเทศเวียดนามเป็นเจ้าภาพ เพื่อขับเคลื่อนให้ประชาคมอาเซียนมีความเข้มแข็ง และเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศในการรับมือกับโรคโควิด-19 และเตรียมการฟื้นฟูอาเซียนหลังสถานการณ์คลี่คลาย โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ ผ่านระบบการประชุมทางไกลจากทำเนียบรัฐบาลด้วย สำหรับเอกสารผลลัพธ์ที่สำคัญจากการประชุม ซึ่งผู้นำอาเซียนจะรับรองมี 2 ฉบับ คือ 1. วิสัยทัศน์ผู้นำอาเซียนว่าด้วยอาเซียนที่แน่นแฟ้นและตอบสนอง : ก้าวข้ามความท้าทายและเสริมสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน ที่เน้นความแน่นแฟ้นของอาเซียนในทุกมิติ เสริมสร้างขีดความสามารถของกลไกต่าง ๆ ที่มีอยู่ เพื่อรับมือกับความท้าทายและโอกาส เช่น ภัยคุกคามความมั่นคงรูปแบบใหม่ การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 และผลกระทบจากโรคโควิด-19 เป็นต้น 2. ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์สำหรับโลกที่เปลี่ยนแปลงไปของงาน เป็นเอกสารที่แสดงเจตจำนงทางการเมืองของประเทศสมาชิกอาเซียนในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีศักยภาพและสามารถรองรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับโลก เช่น สนับสนุนให้มีการเรียนรู้ตลอดชีวิต พัฒนาระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน พัฒนาฐานข้อมูลด้านตลาดแรงงาน การมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในการพัฒนาทักษะแรงงาน เป็นต้น

ที่มา:https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/886773?utm_source=category&utm_medium=internal_referral

สปป.ลาวสนับสนุนแผนอาเซียนด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

สปป.ลาวได้ให้การสนับสนุนแผนของอาเซียนในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ผ่านการจัดกิจกรรมร่วมกันซึ่งจะส่งผลประโยชน์มากขึ้นแก่ประชาชนชาวอาเซียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแถลงข่าว วัฒนธรรม และท่องเที่ยว แสดงการสนับสนุนของสปป.ลาวสำหรับแผนอาเซียน ในการประชุมคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASCC) ครั้งที่ 23 สปป.ลาว โดยกล่าวว่าสนับสนุนปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อการเปลี่ยนแปลงโลกแห่งการทำงาน เชื่อว่าการประกาศนี้จะให้โอกาสสำหรับอาเซียนในการแบ่งปันผลประโยชน์และนำผลประโยชน์มาให้กับประชาชนชาวอาเซียนมากขึ้นเขาแสดงความมั่นใจว่าผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพและความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่จะเกิดขึ้นได้จากความร่วมมือนี้โดยเฉพาะในด้านแรงงานและการศึกษาผ่ านการจัดกิจกรรมร่วมกันและการจัดทำแผนงานหรือแผนงาน และยังได้เน้นถึงความสำเร็จของประเทศในการต่อสู้กับการแพร่ระบาดของCovid-19 แต่กล่าวว่ารัฐบาลและประชาชนยังตระหนักในดำเนินการตามคำสั่งและมาตรการที่มีอยู่อย่างเคร่งครัดต่อไปเพื่อป้องกันความเป็นไปได้ที่ไวรัสจะเป็นคลื่นลูกที่ 2

ที่มา : https://www.thestar.com.my/aseanplus/aseanplus-news/2020/06/25/laos-backs-asean-plan-on-human-resource-development