ยอดจดทะเบียนธุรกิจใหม่โตเร็วที่สุด นับตั้งแต่ปี 60

สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) ระบุในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ จำนวนยอดจดทะเบียนธุรกิจใหม่อยู่ที่ 44,200 ราย ด้วยเงินทุนจดทะเบียน 27.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ และมีจำนวนการจ้างงาน 340,300 คน เพิ่มขึ้น 17.5%, 41% และ 7.8% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งเติบโตเร็วที่สุดนับตั้งแต่ปี 2560 และเติบโตไปยังทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจ ทั้งนี้ คุณ Pham Dinh Thuy ผู้อำนวยการแผนกอุตสาหกรรม สำนักงานสถิติแห่งชาติ กล่าวว่าปัจจุบัน จำเป็นต้องกระตุ้นการลงทุนของผู้ผลิตและส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม เพื่อเตรียมความพร้อมเมื่อตลาดโลกกลับมาเปิดอีกครั้งและใช้โอกาสจากความตกลงการค้าเสรี (FTA) โดยเฉพาะความตกลงการค้าเสรีระหว่างสหภาพยุโรปและเวียดนาม นอกจากนี้ ยังชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นในการพัฒนาอุตสาหกรรมที่สนับสนุน เพื่อลดการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/newly-established-firms-grow-at-fastest-pace-since-2017/200948.vnp

CDC อนุมัติการจัดตั้งโรงงานใหม่ 5 แห่ง ภายในประเทศกัมพูชา

สภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา (CDC) อนุมัติโรงงานแห่งใหม่ 5 แห่ง มูลค่าโครงการรวม 20.5 ล้านดอลลาร์ในเดือนนี้ ซึ่งคาดว่าจะมีการจ้างงานเพิ่มประมาณ 3,700 ตำแหน่ง จากโครงการดังกล่าว โดยโครงการแรกลงทุนโดยบริษัท Vanzel Printing & Packaging (Cambodia) Co Ltd. จะจัดตั้งโรงงานผลิตเสื้อผ้าและเครื่องประดับ ภายใต้เงินลงทุน 2.1 ล้านดอลลาร์ คาดว่าจะสร้างงานได้ 300 ตำแหน่ง โครงการที่สองลงงทุนโดยบริษัท Windmill-FY (Cambodia) Garments Co Ltd. จะจัดตั้งโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า บนเงินลงทุน 2.5 ล้านดอลลาร์คาดว่าจะสร้างงานได้ถึง 848 ตำแหน่ง โครงการที่สามลงทุนโดยบริษัท Sparkbags (Cambodia) Co Ltd. จะผลิตกระเป๋าเดินทาง เงินลงทุนอยู่ที่ 3.3 ล้านดอลลาร์ คาดว่าจะสร้างงานจำนวน 718 ตำแหน่ง โครงการที่สี่ลงทุนโดยบริษัท McBag Co Ltd. จะผลิตกระเป๋า เงินลงทุนอยู่ที่ 3.5 ล้านดอลลาร์ คาดว่าสร้างงานได้จำนวน 818 ตำแหน่ง และโครงการสุดท้ายลงทุนโดยบริษัท Qi Ming Xing Jia Ju Yong Pin Co Ltd. จะจัดตั้งโรงงานผลิตรองเท้า บนเงินลงทุน 9.1 ล้านดอลลาร์ คาดว่าจะสร้างงาน 1,022 ตำแหน่ง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50840647/five-new-factories-worth-20-5m-approved-by-cdc/

คาดการณ์เศรษฐกิจเมียนมาปี 64 หดตัว (-)0.5% ถึง (-)2.5% หลังกองทัพเมียนมายึดอำนาจรัฐบาล ส่งผลให้การค้าชายแดนไทย-เมียนมาหดตัวอีกเป็นปีที่ 5

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ความสัมพันธ์ระหว่างเมียนมากับประเทศกับมหาอำนาจชาติตะวันตกที่มีพลวัตรที่ดีขึ้นเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจเมียนมาให้เติบโตได้ในระดับสูงตลอดช่วงที่ผ่านมา โดยการลงทุนจากต่างประเทศเป็นปัจจัยผลักดันให้เกิดการส่งออก และเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจเมียนมาจากสังคมเกษตร เข้าสู่สังคมอุตสาหกรรม พร้อมทั้งก่อให้เกิดการจ้างงานและยกระดับกำลังซื้อของภาคประชาชนอย่างมหาศาล ดังนั้น การเข้ายึดอำนาจรัฐบาลของกองทัพเมียนมาในครั้งนี้ ย่อมก่อให้เกิดความชะงักงันในความสัมพันธ์กับมหาอำนาจชาติตะวันตก และอาจนำไปสู่การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ

ในด้านการค้า นับตั้งแต่เมียนมาได้รับสิทธิพิเศษทางการค้าจากสหภาพยุโรป การส่งออกของเมียนมาไปสหภาพยุโรปก็เติบโตมากกว่า 10 เท่าในช่วงเวลาเพียง 6 ปี ส่วนการส่งออกของเมียนมาไปสหรัฐ ฯ ก็เติบโตขึ้น 5 เท่าภายใน 3 ปี จะเห็นได้ว่าสิทธิพิเศษทางการค้าทำให้การส่งออกของเมียนมาไปยังสหภาพยุโรป (EU) และสหรัฐ ฯ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาที่ผ่านมา

ในด้านการลงทุน การเข้ายึดอำนาจของกองทัพเมียนมาไม่ได้ส่งผลกระทบเชิงลบต่อการส่งออกเพียงเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศอีกด้วย หลังจากกองทัพของเมียนมาเข้ายึดอำนาจรัฐบาล เหตุการณ์นี้ได้ทำเกิดความไม่แน่นอนทางการเมือง และความเสี่ยงที่จะถูกถอดถอนสิทธิประโยชน์ทางการค้าจากทั้งสหภาพยุโรป และสหรัฐฯ ปัจจัยเหล่านี้อาจส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติเลือกที่จะชะลอหรือยุติการลงทุนในเมียนมา และทำให้เม็ดเงินลงทุนในภาคอุตสาหกรรมมีแนวโน้มหดตัวลงในระยะยาว

ในด้านภาพรวมทางเศรษฐกิจเมียนมา การเข้ายึดอำนาจของกองทัพเมียนมาจะทำให้เกิดความไม่แน่นอนทางการเมือง และเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ตลอดจน ฐานะทางการเงินของภาครัฐ รวมทั้งยังส่งผลกระทบต่อการควบคุมการระบาดของโควิด เช่น ทำให้เกิดความล่าช้าในการแจกจ่ายวัคซีน ประกอบกับความเสี่ยงในการสูญเสียสิทธิพิเศษทางการค้าระหว่างเมียนมา กับ EU และสหรัฐ ฯ ที่อาจจะเกิดขึ้นและส่งผลเป็นวงกว้าง ครอบคลุมถึงการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรม ที่มีการจ้างงานกว่า 1 ล้านตำแหน่งในอุตสาหกรรมสิ่งทอ และตัดเย็บเสื้อผ้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของเมียนมาจะอยู่ในกรอบ (-)0.5% ถึง (-)2.5% ในปี 2564

สำหรับผลกระทบต่อประเทศไทย จะเกิดขึ้นผ่านทาง 2 ช่องทางหลัก ได้แก่ การค้าชายแดน และ การเคลื่อนย้ายแรงงานเมียนมาเข้ามาในประเทศไทย โดยการเข้ายึดอำนาจทำให้เกิดความไม่แน่นอนเชิงนโยบาย ซึ่งอาจทำให้มีมาตรการตรวจสอบคนหรือสินค้าข้ามพรมแดนที่เข้มงวดขึ้นจากเดิม สุดท้ายนี้ อุปสรรคในการเคลื่อนย้ายแรงงานเมียนมาข้ามพรมแดนอาจทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนแรงงานต่างด้าวที่ถูกกฎหมายในภาคธุรกิจต่าง ๆ

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ : https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-econ/economy/Pages/Myanmar-z3186.aspx

โครงการโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าแห่งใหม่คาดสร้างการจ้างงานในท้องถิ่นของกัมพูชา

โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าแห่งใหม่มูลค่า 3.1 ล้านดอลลาร์ คาดจะถูกสร้างขึ้นในจังหวัดตาแก้วของกัมพูชา สร้างการจ้างงานกว่า 702 ตำแหน่ง ให้กับคนในท้องถิ่น ประชาสัมพันธ์โดยหน่วยงานส่งเสริมการลงทุนของประเทศกัมพูชา (CDC) หลังจากได้รับการอนุมัติโครงการลงทุนใหม่ ซึ่งโรงงานผลิตเสื้อผ้าที่เพิ่งได้รับการอนุมัติเป็นการลงทุนโดย Brightness (Cambodia) Garment Factory Co., Ltd. โดยตั้งแต่ต้นเดือนนี้ CDC ได้ให้ไฟเขียวแก่โครงการลงทุน 7 โครงการ รวมถึงโครงการข้างต้นด้วยเงินลงทุนรวมเกือบ 27.6 ล้านดอลลาร์ สร้างโอกาสในการจ้างงานถึง 4,000 ตำแหน่งในกัมพูชา ซึ่งการลงทุนดังกล่าวท่ามกลางการระบาดของ COVID-19 แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจและสังคมของกัมพูชา

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50807925/a-3-1-million-garment-factory-project-in-takeo-province-to-create-more-than-700-jobs/

อุตสาหกรรม 4.0 สู่ผลกระทบต่อการจ้างงานในกัมพูชา

การศึกษาใหม่ของธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) ชี้ให้เห็นว่ากัมพูชาควรพิจารณาพัฒนาแผนเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมในภาคส่วนสำคัญ ๆ และวางแผนลงทุนอย่างเพียงพอในการพัฒนาทักษะสำหรับงานใหม่ที่จะเกิดขึ้นเพื่อให้เศรษฐกิจกัมพูชาเปลี่ยนไปสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (4IR) ผ่าน 6 ข้อสำคัญที่เกิดขึ้นจากการศึกษาถึงประโยชน์ของอุตสาหกรรม 4.0 โดย ADB ทำการศึกษานี้ศึกษาอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มและการท่องเที่ยวในกัมพูชาเป็นลำดับแรก ซึ่งทั้งสองอุตสาหกรรมมีความสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมาก โดยศึกษาเกี่ยวกับการจ้างงาน ความสามารถในการแข่งขันระหว่างประเทศและการเปลี่ยนไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วย 4IR จากการศึกษาพบว่าเทคโนโลยี 4IR จะกำจัดงานในอุตสาหกรรมผลิตเสื้อผ้าและการท่องเที่ยวในรูปแบบปัจจุบัน แต่การสูญเสียเหล่านี้จะถูกชดเชยด้วยความต้องการที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเกิดจากผลผลิตที่สูงขึ้น อาจทำให้ตำแหน่งงานเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 39 ในภาคการผลิตเสื้อผ้า และร้อยละ 2 ในการจ้างงานการท่องเที่ยว

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50805649/industry-4-0-impact-will-transform-skills-and-jobs-says-adb/

โครงการด้านการเกษตรสร้างการจ้างงานที่มั่นคงในกัมพูชา

บริษัท THADI ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง Thaco Group และ Hoang Anh Gia Lai Group โดยบริษัท THADI ได้เปิดตัวโครงการมากมายในภาคการเกษตร ซึ่งได้ดำเนินโครงการปลูกไม้ผลในพื้นที่ 2 จังหวัดคือกระแจะบนพื้นที่ประมาณ 10,000 เฮกตาร์ และบนพื้นที่ในจังหวัดรัตนคีรีอีกประมาร 26,000 เฮกตาร์ โดยสร้างการจ้างงานมากกว่า 500 คน สำหรับคนเวียดนามกับกัมพูชา และชาวกัมพูชาอีกหลายพันคนในพื้นที่โดยรอบในโครงการเกษตรกรรมข้างต้น ซึ่งเงินเดือนของแรงงานจะอยู่ที่ประมาณ 250-350 ดอลลาร์ต่อเดือน โดยปัจจุบัน THADI มีพนักงานมากกว่า 13,000 คน ซึ่งรวมถึงผู้เชี่ยวชาญและที่ปรึกษาอีกกว่า 1,000 คน ทั้งจากฟิลิปปินส์ จีน และไทยโดยมีแผนจะรับสมัครคนงานกว่าอีกกว่า 8,000 คน ในปีนี้เพื่อสอดรับกับกลยุทธ์ทางด้านเกษตรกรรมที่ยั่งยืนในกัมพูชา

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50774797/agricultural-projects-creating-stable-employment-in-cambodia/

บริษัทต่างชาติตั้งสายการผลิตใหม่ในกัมพูชา ส่งผลต่อการจ้างงานในประเทศ

การลงทุนจากต่างประเทศเข้ามายังกัมพูชามากขึ้นหลังจากบริษัทผู้ผลิตแห่งหนึ่งประกาศตั้งสายการผลิตใหม่ รวมถึงการเปิดรับตำแหน่งงานใหม่มากกว่า 1,000 ตำแหน่งในจังหวัดกัมปงสปือ โดย GCH International Trade Co Ltd กล่าวว่าจะทำการลงทุนประมาณ 3.2 ล้านดอลลาร์ ในสายการผลิตกระเป๋าใหม่เพื่อผลิตสิ่งของประเภทต่างๆ รวมถึง Jin Xinsheng (Cambodia) Co Ltd ได้ประกาศว่ากำลังจะลงทุนอีกประมาณ 5 ล้านดอลลาร์ ในโครงการใหม่ซึ่งจะผลิตกระดาษ แผ่นรองหมอนอิง และคาร์ดิแกน ตั้งอยู่ที่ National Road 4 ในพนมเปญ และคาดว่าจะสร้างงานประมาณ 198 ตำแหน่ง อย่างไรก็ตามแม้ว่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศยังคงหลั่งไหลเข้าสู่การตั้งสายการผลิตใหม่ในกัมพูชา แต่จำนวนงานที่สร้างขึ้นนั้นยังไม่สอดคล้องกับอัตราการจ้างงานที่สูญเสียไปก่อนหน้านี้ โดยการเริ่มต้นของการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ทำให้โรงงานมากกว่า 400 แห่ง ต้องระงับการผลิตซึ่งส่งผลให้จำเป็นต้องปลดคนงานออกบางส่วน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50764902/new-manufacturing-firms-provide-much-needed-jobs/

‘โควิด’ ฉุดธุรกิจลดจ้างงาน 75%

ถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ถึงภาคแรงงาน การจ้างงานที่มีดีมานด์ลดลงอย่างมาก จากการวิเคราะห์ของ “จ๊อบไทย” (JobThai) ผู้ให้บริการหางานสมัครงานออนไลน์ ระบุว่า องค์กรมีความต้องการแรงงานในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563 รวมกันอยู่ที่ 303,776 อัตรา โดย ก.พ.เปิดรับสูงสุด 124,629 อัตรา แต่ในช่วง มี.ค.-เม.ย. การจ้างงานลดลง 16.5% ซึ่งเป็นช่วงที่มีตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงขึ้นและกระจายวงกว้างมากขึ้น เมื่อวิเคราะห์ลงในรายละเอียด พบว่า ประเภทธุรกิจมีความต้องการแรงงานมากที่สุด คือ “อาหาร-เครื่องดื่ม” เนื่องจากผู้บริโภคยังคงมีการใช้จ่ายในหมวดสินค้าและบริการที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวัน ตรงข้ามกับ “ธุรกิจท่องเที่ยว” ที่มีความต้องการแรงงานน้อยที่สุด ผลจากการที่ภาคการท่องเที่ยวหดตัวรุนแรง หลายประเทศรวมถึงประเทศไทยที่ประกาศใช้มาตรการจํากัดการเดินทางระหว่างประเทศและมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้นักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติในไทยลดลง จึงส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจกลุ่มนี้ ซึ่งต่อเนื่องถึงธุรกิจโรงแรม รีสอร์ท สปาและสนามกอล์ฟ สำหรับทิศทางของตลาดแรงงานจากนี้ไป คาดว่าจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป เมื่อดูสถิติช่วงต้นเดือน ก.ค. พบว่าสายอาชีพที่มีแนวโน้มเปิดรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ ฟรีแลนซ์ อาจารย์-ครูและกลุ่มบุคลากรด้านสุขภาพ ได้แก่ แพทย์ เภสัชกรและเจ้าหน้าที่สาธารณสุข

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/896714?utm_source=homepage_hilight&utm_medium=internal_referral