เวียดนามจัดโครงสร้างแหล่งพลังงานใหม่ หวังดูดเงินลงทุนต่างชาติหลายพันล้านดอลลาร์เข้าประเทศ

สำนักข่าว Reuters รายงานว่า แหล่งข่าวจากวงการพลังงานเวียดนามระบุว่า รัฐบาลเวียดนามอยู่ระหว่างพิจารณาปรับเป้าหมายเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้ามากกว่า 2 เท่าภายในปี 2030 โดยมีแผนลดเป้าหมายสำหรับพลังงานลมนอกชายฝั่งลง และจะพึ่งพาถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงหลักเพิ่มขึ้นเป็น 30.1 กิกะวัตต์ จากแผนเดิมปี 2020 อยู่ที่ 21.4 กิกะวัตต์ และยืนยันว่า โรงไฟฟ้าแห่งนี้เป็นแหล่งไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ ซึ่งคิดเป็น 19% ของโรงไฟฟ้าทั้งหมด ส่วนไฟฟ้าพลังน้ำจะเป็นแหล่งพลังงานหลักอันดับ 2 รองลงมาคือ ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) และพลังงานลม ส่วนแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการปรับปรุง โดยมีการคาดการณ์ว่า กำลังการผลิตจะเพิ่มเป็น 158 กิกะวัตต์ในอีก 7 ปี เพิ่มขึ้นราว 2 เท่าจากก่อนหน้านี้ที่คาดว่าจะมีกำลังการผลิต 69 กิกะวัตต์ ทั้งนี้ ก็เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศที่คาดว่าจะเข้ามาหลายพันล้านดอลลาร์  อย่างไรก็ตาม แผนดังกล่าวมีความสำคัญต่อการปลดล็อกกองทุนเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานมูลค่า 1.55 หมื่นล้านดอลลาร์ ที่ให้คำมั่นไว้ในเดือนธันวาคมโดยกลุ่ม 7 ชาติและประเทศที่ร่ำรวย แต่การอนุมัติยังล่าช้าไปหลายปี ท่ามกลางความขัดแย้งภายในและการปฏิรูปที่ซับซ้อน

ที่มา : https://thestandard.co/vietnam-new-energy-resource-structure/

“SCG” เดินหน้ารุกตลาดเวียดนาม

บมจ. เอสซีจี แพคเกจจิ้ง (SCGP) อนุมัติการลงทุนเข้าซื้อหุ้น 70% ของ Starprint Vietnam JSC (SPV) ซึ่งเป็นผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์กล่องกระดาษแข็งแบบพับได้ ด้วยมูลค่า 1.53 พันล้านบาท หรือประมาณ 44.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อใช้เป็นข้อได้เปรียบทางธุรกิจในตลาดเวียดนาม ทั้งนี้ นายวิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เอสซีจี แพคเกจจิ้ง กล่าวว่าบริษัทจะเดินหน้าขยายโอกาสทางธุรกิจและเวียดนามเป็นหนึ่งในตลาดที่มีศักยภาพสูง รวมถึงมีความต้องการผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ บริษัท SPV มีฐานลูกค้าที่โดดเด่นและมีประวัติที่ดีในเรื่องของความสัมพันธ์ทางการค้ากับบริษัทข้ามชาติและบริษัทระดับประเทศ โดยบริษัทดังกล่าวมีกำลังการผลิตการพิมพ์ออฟเซ็ท 16,500 ตันต่อปี และกล่องแข็ง 8 ล้านชิ้นต่อปี นอกจากนี้ เมื่อประเมินงบการเงินของบริษัท SPV ในปี 2565 พบว่ารายได้รวมของกิจการ อยู่ที่ 43 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามมาด้วยกำไรสุทธิหลังหักภาษี 4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และสินทรัพย์รวมอยู่ที่ 19 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/thailands-packaging-company-to-expand-business-in-vietnam/252178.vnp

อีอีซี ร่วมกับ กต. บีโอไอ ลุยสร้างความเชื่อมั่น ดึงนักลงทุนต่างชาติสู่พื้นที่ อีอีซี ล่าสุด เดินสายโรดโชว์อิตาลี ต่อยอดลงทุนนวัตกรรมขั้นสูง

นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ อีอีซี เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ อีอีซี ร่วมกับ H.E. Paolo Dionisi เอกอัครราชทูตอิตาลีประจำประเทศไทย และ นางสาวรมณี คณานุรักษ์ เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโรม ได้จัดโรดโชว์ชูความพร้อมพื้นที่อีอีซี ณ ประเทศอิตาลี โดยได้เข้าพบและหารือกับผู้บริหารระดับสูงจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนอิตาลีกว่า 50 ราย เพื่อให้ข้อมูลศักยภาพทางเศรษฐกิจของไทย ความคืบหน้าของการพัฒนาพื้นที่ และความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน มาตรการส่งเสริมการลงทุนและสิทธิประโยชน์ต่างๆ เพื่อสร้างความมั่นใจและดึงดูดการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายสู่พื้นที่อีอีซี ขณะที่ปัจจุบันอิตาลีถือเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยอันดับที่ 4 ในกลุ่มประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป รองจากเยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ และเนเธอร์แลนด์ สำหรับมูลค่าการค้าในปี 2565 อยู่ที่ 4,908 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 13.34 ส่วนการลงทุนในพื้นที่ อีอีซี ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในหมวดกิจการผลิตเครื่องยนต์สำหรับรถจักรยานยนต์ กิจการผลิตสัตว์น้ำแช่แข็ง และอุตสาหกรรมอื่นๆ

ที่มา : http://www.acnews.net/detailnews.php?news_id=N256676644

จีนผุดโรงงานรถอีวีในอีอีซี กลุ่ม GAC AION พร้อมทุ่มลงทุนบะละฮึ่ม

คณะผู้บริหาร GAC AION นำโดยนายเสี่ยว หยง (Mr.Xiao Yong) รองประธาน GAC AION ได้นำเสนอภาพรวมสถานการณ์การผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในประเทศจีน ที่มีการเติบโตของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง รวมทั้งการแนะนำถึงการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของ GAC AION ที่ปัจจุบันมียอดขายเติบโตเป็น 1 ใน 3 อันดับของผู้ผลิต EV ในจีนและภาพรวมการลงทุนอื่นๆ ด้านนวัตกรรมอัจฉริยะ ระบบ Ai ระบบ Automation การพัฒนาด้านพลังงานสะอาดอย่างครบวงจร โดยเลขาธิการอีอีซีได้รับมอบหนังสือจากคณะ GAC AION ที่สนใจจะขยายฐานการลงทุนอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์อีวี มูลค่าการลงทุนขั้นต่ำ 6,400 ล้านบาท และส่วนประกอบที่เกี่ยวข้อง อาทิ การลงทุนโรงงานผลิตแบตเตอรี่ในพื้นที่อีอีซี เป็นต้น ที่กำลังพิจารณาพื้นที่ก่อสร้างโรงงานรวมกว่า 1,000 ไร่ โดยอีอีซีและ GAC AION จะประสานความร่วมมือเพื่อขยายโอกาสการเข้าลงทุนของอุตสาหกรรมอีวีอย่างครบวงจร โดยเฉพาะการเตรียมการด้านสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ การพัฒนาทักษะบุคลากรรองรับเพื่อต่อยอดให้พื้นที่อีอีซีก้าวสู่ศูนย์กลางการผลิตอีวีแห่งภูมิภาคต่อไป ด้านนายจุฬา เลขาธิการอีอีซี กล่าวว่า การที่ GAC AION ตัดสินใจลงทุนในไทย อีอีซีจะช่วยส่งเสริมพื้นที่การลงทุน การสร้างงานพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน รวมถึงกฎระเบียบที่จะช่วยสนับสนุนด้านการลงทุน ไทยเป็นตลาดรถยนต์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีแนวโน้มในการเจริญเติบโตดีที่สุดและรัฐบาลไทยได้ออกนโยบายสนับสนุนการผลิตและการขายรถยนต์ไฟฟ้าอีกด้วย

ที่มา : https://www.thairath.co.th/business/investment/2674061

ไทยเปิดเวทีประชุมนักธุรกิจชาวจีนโลก มั่นใจเอกชนกว่า 4 พันคนร่วมวง-เงินสะพัด 5 หมื่นล้าน

นายณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล ประธานกรรมการ หอการค้าไทย-จีน เปิดเผยว่า หอการค้าไทย-จีน จะเป็นเจ้าภาพจัดประชุมนักธุรกิจชาวจีนโลก (World Chinese Entrepreneurs Convention-WCEC) ครั้งที่ 16 ขึ้นระหว่างวันที่ 24-26 มิ.ย. 2566 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ สร้างเวทีใหม่เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของนักธุรกิจชาวจีนทั่วโลก และร่วมกันหารือเกี่ยวกับความร่วมมือทางธุรกิจแบบพหุภาคี เพื่อเปิดยุคใหม่ในการดำเนินธุรกิจและการลงทุนระหว่างไทยกับประเทศต่างๆ หลังจากเศรษฐกิจทั่วโลกได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ โควิด-19 ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา “ไทยเป็นศูนย์กลางของอาเซียนและเป็นประเทศที่มีนักธุรกิจชาวจีนอาศัยอยู่มากที่สุดราว 10 ล้านคน มีการทำการค้า การลงทุน ในไทยด้วยรากฐานที่แข็งแกร่ง ซึ่งขณะนี้นักธุรกิจชาวจีนต้องการออกมาลงทุนในต่างประเทศอย่างมากหลังจากการลงทุนชะลอมา 3 ปีในช่วงโควิด ซึ่งไทยก็เป็นเป้าหมายแรกที่จีนเลือกมาลงทุน คาดว่าการจัดประชุมครั้งนี้จะมีนักธุรกิจชาวจีนและตัวแทนจากองค์กรธุรกิจ 50 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วมราว 4,000 คน ทำให้เกิดเม็ดเงินลงทุนในไทยไม่ต่ำกว่า 4-5 หมื่นล้านบาท ช่วยฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี”

ที่มา : https://www.khaosod.co.th/newspaper/newspaper-inside-pages/news_7525589

“โครงสร้างพื้นฐานเวียดนาม” ดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากจีน

นาย Jiehe Yan ประธานบริษัท China Pacific Construction กล่าวเมื่อเดือนที่แล้วว่าทางบริษัทจะเตรียมจัดตั้งสำนักงานตัวแทนในเวียดนาม เพื่อทำการสำรวจศักยภาพการลงทุนในภาคโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่ง ในขณะเดียวกัน ดร.โจนาธาน ชอย (Dr. Jonathan Choi) ประธานหอการค้าจีน ได้เดินทางมายังประเทศเวียดนามเมื่อเดือนก่อน เพื่อส่งเสริมการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและเศรษฐกิจระดับภูมิภาค การค้า บริการและภาคอุตสาหกรรม และยังกล่าวด้วยว่าเวียดนามเป็นศูนย์กลางดึงดูดที่น่าสนใจของนักลงทุนชาวจีน ทั้งนี้ การลงทุนของจีนในประเทศเวียดนาม ตั้งแต่ปี 2558-2565 ขยายตัวอย่างต่อเนื่องที่ 17% ต่อปี ถึงแม้ว่ามีการล็อกดาวน์อย่างเข้มงวด แต่กระแสการลงทุนยังคงดำเนินต่อไป เนื่องจากหลายโครงการสำคัญจากจีน ไต้หวันและฮ่องกง ได้ขยายธุรกิจหรือปรับเพิ่มเงินทุน เพื่อยกระดับผลผลิตในเวียดนาม

ที่มา : https://vir.com.vn/vietnams-infrastructure-luring-chinese-investment-99771.html

ผลสำรวจ JETRO เผยธุรกิจญี่ปุ่นเล็งขยายกิจการในเวียดนาม

องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) เปิดเผยผลการสำรวจ พบว่านักลงทุนญี่ปุ่นในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกส่วนใหญ่ 60% วางแผนที่จะขยายการดำเนินธุรกิจในเวียดนาม อีก 2 ปีข้างหน้า นับว่าเป็นอัตราผลการสำรวจที่สูงที่สุดในอาเซียน รองจากอินเดีย (72.5%) และบังกลาเทศ (71.6%) ทั้งนี้ นางนากาจิมะ ทาเคโอะ หัวหน้าผู้แทนองค์การการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่นในกรุงฮานอย ได้ประชุมกับกระทรวงการวางแผนและการลงทุน โดยอธิบายถึงผลการสำรวจในครั้งนี้ให้เห็นถึงความคาดหวังของผู้ประกอบการญี่ปุ่นที่มองว่าตลาดเวียดนามในปัจจุบันมีศักยภาพที่จะเติบโตและการขยายตัวของการส่งออก ในขณะเดียวกัน นาย Nguyen Chi Dung รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวางแผนและการลงทุน ได้เน้นย้ำถึงความพยายามของรัฐบาลเวียดนามในการปรับปรุงบรรยากาศทางธุรกิจ เพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ รวมถึงนักลงทุนจากญี่ปุ่นอีกด้วย

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/many-japanese-firms-plan-expansion-in-vietnam-jetro-poll-2108251.html

ญี่ปุ่นหนุนนักลงทุนเข้ามายังกัมพูชาเพิ่มขึ้น

สมาคมญี่ปุ่น-กัมพูชา (JCA) มุ่งมั่นที่จะผลักดันนักลงทุนชาวญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนยังกัมพูชามากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งคำมั่นสัญญาดังกล่าว กล่าวโดย Takahashi Fumiaki ประธาน JCA ระหว่างประชุมกับ Ith Samheng รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานกัมพูชา ณ กรุงพนมเปญ โดยนักลงทุนชาวญี่ปุ่นในปัจจุบันได้เข้ามาลงทุนยังภาคส่วนต่าง ๆ ในกัมพูชา ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสใหม่ ๆ สำหรับชาวกัมพูชา รวมถึงการถ่ายทอดความรู้ด้านเทคนิค โดยทางการกัมพูชาได้ร้องขอให้ทางการญี่ปุ่นเข้ามาฝึกอบรมให้กับพนักงานชาวกัมพูชาเพื่อผลักดันให้เกิดการจ้างงานไปยังญี่ปุ่นให้ถึงประมาณ 50,000 คน ในขณะที่ปัจจุบันมีชาวกัมพูชาเข้าไปทำงานยังกัมพูชาเพียง 20,000 คน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501234945/japan-to-encourage-more-investors-to-cambodia/

“เวียดนาม” เผยภาคอุตสาหกรรมและอสังหาฯ แม่เหล็กดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ

กระทรวงการวางแผนและการลงทุน (MPI) เปิดเผยข้อมูล ณ วันที่ 20 ก.ย. ชี้ว่าในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ เวียดนามดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 18.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 15.3% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยตัวเลขข้างต้น มีเงินทุนที่ไหลเข้าไปยังโครงการใหม่กว่า 7.12 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และจำนวน 1,355 โครงการ หดตัว 43% และเพิ่มขึ้น 11.8% ตามลำดับ ทั้งนี้ ภาคอุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูปยังเป็นแหล่งดึงดูดเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ 12.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 64.6% ของทุนจดทะเบียนรวม รองลงมาอสังหาริมทรัพย์ 3.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (19% ของทั้งหมด) อย่างไรก็ดี ถึงแม้ยอดการลงทุนที่จดทะเบียนใหม่จะยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่จากผลกระทบการแพร่ระบาดของเชื้อโรคและความไม่แน่นอนทั่วโลก แต่เงินทุนที่เพิ่มขึ้นจะเช้าไปยังโครงการในปัจจุบันและการใช้จ่ายในการซื้อหุ้นยังคงเพิ่มสูงขึ้น

ที่มา : https://en.nhandan.vn/processing-manufacturing-real-estate-top-fdi-attraction-in-nine-months-post118357.html

เงินลงทุนต่างประเทศไหลเข้ากัมพูชาพุ่งแตะ 3.3 พันล้านดอลลาร์

กัมพูชาได้รับเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศมูลค่าเกือบ 3.3 พันล้านดอลลาร์ จากโครงการการลงทุนต่างประเทศกว่า 123 โครงการ ในช่วงเดือน มกราคม-สิงหาคมปีนี้ ตามข้อมูลของสภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา (CDC) ครอบคลุมภาคการผลิตเสื้อผ้า รองเท้า ยางรถยนต์ ผลิตภัณฑ์สายไฟ พลาสติก และกระเป๋า เป็นสำคัญ โดยกระแสการลงทุนจากต่างประเทศได้รับแรงหนุนจากกฎหมายด้านการลงทุนฉบับใหม่ รวมถึงข้อตกลงการค้าต่างๆ ของกัมพูชากับประเทศคู่ค้า สะท้อนความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติต่อแนวโน้มการเติบโตและการพัฒนาของกัมพูชา ซึ่งปัจจุบันการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ของกัมพูชาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ นำไปสู่การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมอีกครั้ง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501146129/cambodia-gets-3-3b-in-foreign-investment/