หอการค้ายุโรป ชี้สภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจในเวียดนามชะลอตัว

สมาคมหอการค้ายุโรปในเวียดนาม (EuroCham)  เผยผลสำรวจดัชนีบรรยากาศทางธุรกิจ (Business Climate Index: BCI) พบว่าผู้ประกอบการยุโรปในเวียดนามส่วนใหญ่มีความเชื่อมั่นการดำเนินในธุรกิจ ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 62.2 เป็นผลมาจากเศรษฐกิจโลกกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย แต่โดยรวมเศรษฐกิจยังคงแข็งแกร่ง

ทั้งนี้ ผลการสำรวจโดย YouGov Decision Lab ระบุว่าถึงแม้เศรษฐกิจเวียดนามในไตรมาสที่ 3 ของปี 65 จะเติบโตเป็นระดับสูงสุดที่ 13.67% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว แต่ดัชนี BCI ยังคงปรับตัวลดลงไตรมาสที่สองติดต่อกัน สาเหตุสำคัญมาจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกจากความขัดแย้งที่ทวีความรุนแรงในยูเครน แรงกดดันเงินเฟ้อ ภาวะการขาดแคลนแรงงานทั่วโลกและการเติบโตทางเศรษฐกิจทั่วโลกซบเซา อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงการค้าเสรีสหภาพยุโรป-เวียดนาม (EVFTA) และความมุ่งมั่นร่วมกันของสหภาพยุโรปในการพัฒนาที่ยั่งยืน ทำให้กิจการเวียดนามและยุโรปมีศักยภาพในการเติบโตอย่างสูง

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/european-firms-confidence-in-vietnams-business-environment-slightly-declines-but-still-strong/240394.vnp

ในช่วง 9 เดือนแรก มูลค่าการค้าระหว่างประเทศของกัมพูชาพุ่งแตะ 41,000 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 18%

ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ มูลค่าการค้าระหว่างประเทศของกัมพูชาพุ่งแตะ 4.1 หมื่นล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 18 จากมูลค่า 3.5 หมื่นล้านดอลลาร์ ในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งคิดเป็นการส่งออกรวมของกัมพูชา 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.1 ในขณะที่การนำเข้ารวมของกัมพูชาอยู่ที่ 2.4 หมื่นล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.% ตามการรายงานของกรมศุลกากรและสรรพสามิตกัมพูชา ด้านรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ของกัมพูชา Penn Sovicheat มองว่าการเติบโตดังกล่าวมาจากการกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจในกัมพูชาอย่างเต็มรูปแบบ รวมถึงข้อตกลงการค้าเสรี และอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นทั่วโลกเป็นส่วนสำคัญในการสบับสนุนการเติบโต โดยเฉพาะข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) และข้อตกลงการค้าเสรีกัมพูชา-จีน (CCFTA) ซึ่งมีผลบังคับใช้ไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501166339/cambodias-trade-reach-41-billion-increase-of-18-percent-in-first-9-months/

“หอการค้ายุโรป” มองเศรษฐกิจเวียดนามมีมุมมองเชิงบวก

คุณ เหงียน ไฮ มินห์ รองประธานหอการค้ายุโรป (EuroCham) ประจำเวียดนาม กล่าวว่าธุรกิจยุโรปมองทิศทางเศรษฐกิจของเวียดนามไปในทิศทางที่เป็นบวกและอยู่ในช่วงค่อยๆ ฟื้นตัว หลังจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ถึงแม้จะเผชิญกับอุปทานที่หยุดชะงักทั่วโลก แต่เวียดนามยังคงส่งออกสินค้าไปยังตลาดสหภาพยุโรป มีมูลค่าเกินกว่า 35.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2563 และมากกว่า 40 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปีที่แล้ว ทั้งนี้ ในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ เวียดนามทำรายได้จากการส่งออกไปยังตลาดสหภาพยุโรป เพิ่มขึ้น 23.6% คิดเป็นมูลค่า 31.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้เวียดนามเกินดุลการค้าราว 21.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ บ่งชี้ให้เห็นถึงผลกระทบในเชิงบวกจากผลของข้อตกลงการค้าเสรี EVFTA อย่างไรก็ตาม ธุรกิจยุโรปในเวียดนาม เปิดเผยถึงผลประโยชน์ที่ได้รับมากขึ้นจากข้อตกลงการค้าเสรีดังกล่าว เนื่องจากการส่งออกของเวียดนามไปยังตลาดสหภาพยุโรปส่วนใหญ่มาจากบริษัท FDI

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/european-enterprises-optimistic-about-vietnams-economy-eurocham/239016.vnp

“อีคอมเมิร์ซ” กุญแจสำคัญ เพิ่มโอกาสขยายการค้าเวียดนาม-สหราชอาณาจักร

ภาคธุรกิจของเวียดนามได้รับการกระตุ้นให้มาใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อที่จะขยายการเข้าถึงตลาดสหราชอาณาจักร (UK) หลังจากข้อตกลงการค้าเสรีสหราชอาณาจักร-เวียดนาม (UKVFTA) มีผลบังคับใช้แล้ว โดยสหราชอาณาจักรเป็นตลาดอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่อันดับที่ 4 ของโลกที่ทำรายได้กว่า 117.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2564 หากพิจารณาผู้เล่นรายใหญ่ที่สุดในตลาดอีคอมเมิร์ซของสหราชอาณาจักร คือเว็บไซต์ร้านค้า amazon.co.uk ทำรายได้ 17.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปีที่แล้ว รองลงมา tesco.com และ argos.co.uk คิดเป็นสัดส่วนทั้งสามร้านค้ารวมกัน 30% ของรายได้ออนไลน์ในสหราชอาณาจักร

ทั้งนี้ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้อุตสาหกรรมอิคอมเมิร์ซ เติบโตสูงถึง 53% ในปี 2564 ดังนั้น คุณ Bùi Thanh Hằng ผู้อำนวยการสำนักงานความร่วมมือระหว่างประเทศ ชี้ว่าข้อตกลง UKVFTA จะอนุญาติให้ใช้วิธีการใหม่ในการเข้าสู่ตลาด โดยเฉพาะอีคอมเมิร์ซ

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1312561/e-commerce-the-key-to-increase-bilateral-trade-between-viet-nam-and-the-uk.html

คาด RCEP FTA ส่งเสริมการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจของกัมพูชา

คาดความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) และข้อตกลงการค้าเสรี กัมพูชา-จีน (CCFTA) จะเป็นส่วนสำคัญในการส่งเสริมการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจของกัมพูชา ด้าน Bun Chanthy ปลัดกระทรวงพาณิชย์กัมพูชา (MoC) ได้กล่าวว่าข้อตกลงการค้าเสรีทั้งสองฉบับข้างต้น จะทำให้คู่ค้าโดยเฉพาะจีนสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ของกัมพูชาได้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าทางการเกษตร เช่น ข้าว กล้วย มะม่วง มันสำปะหลัง เม็ดมะม่วงหิมพานต์ และข้าวโพด เป็นต้น ในขณะที่รายงานของ MoC ยังได้รายงานอีกว่าการส่งออกทั้งหมดของกัมพูชาไปยังสมาชิก RCEP มีมูลค่ารวมถึง 3.28 พันล้านดอลลาร์ ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 จากมูลค่า 2.99 พันล้านดอลลาร์ ในช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งในช่วง มกราคม-มิถุนายน จุดหมายปลายทางสำคัญ 3 อันดับแรกของกัมพูชา ได้แก่ เวียดนามมูลค่าการส่งออก 1.17 พันล้านดอลลาร์, จีน 612 ล้านดอลลาร์ และ ญี่ปุ่น  542 ล้านดอลลาร์ ตามลำดับ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501138613/rcep-cambodia-china-fta-significantly-contribute-to-boosting-cambodias-economy/

“เวียดนาม” เผยภาคเครื่องนุ่งห่ม จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุน FDI เหตุบรรลุเป้าส่งออก

ภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในชุมชน มีความต้องการเม็ดเงินทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่ไหลเข้าสู่กระบวนการผลิตผ้า เส้นด้ายและวัตถุดิบอื่นๆ เนื่องจากธุรกิจต้องการได้รับสิทธิประโยชน์ทางด้านการส่งออกจากข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) โดยจากข้อมูลของกระทรวงวางแผนและการลงทุน เปิดเผยว่าอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม มีจำนวนโครงการ FDI ทั้งสิ้น 2,787 โครงการ คิดเป็นมูลค่า 31.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ณ 18 พ.ค.) ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญในธุรกิจเครื่องนุ่งห่ม กล่าวว่าโครงการ FDI มีส่วนร่วมในการเพิ่มกำลังการผลิตและขนาดการส่งออกของอุตสาหกรรมนี้ หากพิจารณามูลค่าการส่งออก จะพบว่าเพิ่มขึ้นจาก 36 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2561 มาอยู่ที่ 40.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2564 คิดเป็นสัดส่วนราว 60% ของมูลค่าการส่งออกรวม

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/garment-sector-requires-greater-fdi-for-export-target-fulfilment-post965641.vov

กัมพูชาส่งออกไปยังเกาหลีใต้เพิ่มขึ้น 22% ในช่วง H1

กัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังเกาหลีใต้มูลค่ารวม 111.35 ล้านดอลลาร์ ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 22 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามรายงานของกรมศุลกากรและสรรพสามิตกัมพูชา โดยหากคิดเป็นการค้าทวิภาคีระหว่าง กัมพูชา-เกาหลีใต้ ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.6 สู่มูลค่า 421.33 ล้านดอลลาร์ ในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งรัฐบาลกัมพูชามีความกระตือรือร้นเป็นอย่างมากที่จะกระตุ้นการส่งออกภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรีทวิภาคีกับเกาหลี โดยคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในปีนี้ ซึ่งจะยกเลิกภาษีศุลกากรสำหรับสินค้านำเข้าจากกัมพูชาร้อยละ 95.6 ในขณะที่กัมพูชาจะยกเลิกการเก็บภาษีร้อยละ 93.8 ของสินค้านำเข้าจากเกาหลีใต้ โดยสินค้าส่งออกสำคัญของกัมพูชาได้แก่สินค้าเกษตร อาทิเช่น ยาง ผลไม้ และแป้ง ในขณะที่กัมพูชาเน้นการนำเข้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จากเกาหลีใต้เป็นสำคัญ ซึ่งในปี 2021 กัมพูชานำเข้าสินค้าจากเกาหลีใต้มูลค่ารวมกว่า 600 ล้านดอลลาร์ ในขณะที่การส่งออกของกัมพูชาไปยังเกาหลีใต้มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 341 ล้านดอลลาร์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501119197/cambodia-exports-to-south-korea-up-22-h1/

กัมพูชา-เมียนมา เร่งเจรจาข้อตกลงทางการค้า 2 ฉบับ

เมียนมาและกัมพูชาเร่งการเจรจาร่างข้อตกลง 2 ฉบับ เพื่อยกระดับความร่วมมือทางด้านการค้า โดย Pan Sorasak รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์กัมพูชา เรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายหารือเพิ่มเติมเกี่ยวกับความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างกัน ภายใต้กรอบระดับภูมิภาคและทวิภาคีที่มุ่งเพิ่มปริมาณการค้าและส่งเสริมการฟื้นทางเศรษฐกิจ ซึ่ง Aung Naing Oo รัฐมนตรีกระทรวงการลงทุนและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของเมียนมา เห็นด้วยกับความร่วมมือที่จะเกิดขึ้น หลังเห็นถึงความสำคัญของข้อตกลงที่ผ่านมา โดยเฉพาะครั้งล่าสุดของกัมพูชาที่ได้ทำข้อตกลงการค้าเสรีทวิภาคีกับจีนและเกาหลีใต้ ซึ่งการเจรจาร่างข้อตกลงการลงทุน กัมพูชา-เมียนมา และข้อตกลงการยกเว้นภาษีระหว่างสองประเทศกำลังอยู่ในกระบวนการ โดยปริมาณการนำเข้าและส่งออกของกัมพูชาไปยังเมียนมาร์ในปี 2020 อยู่ที่ 24.93 ล้านดอลลาร์ และ 3.27 ล้านดอลลาร์ตามลำดับ ลดลงเล็กน้อยจากปี 2019

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501081773/myanmar-cambodia-expedite-talks-on-two-trade-cooperation-deals/

‘สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด’ มองศก.เวียดนาม การฟื้นตัวหลังโควิด

ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด รายงานผลการวิจัยระดับโลกในหัวข้อ “เวียดนาม – RCEP: โอกาสและความท้าทาย” พบว่าเวียดนามเป็นประเทศที่ได้รับผลประโยชน์หลักจากความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) โดยข้อตกลงการค้าเสรีดังกล่าว คาดว่าจะยกเลิกภาษีสินค้าของประเทศสมาชิกลง 90% ภายในระยะเวลา 20 ปี ในขณะเดียวกันการเป็นสมาชิกในข้อตกลงจะเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับสถานะทางการค้าของเวียดนามและเป็นส่วนช่วยสำคัญในการฟื้นตัวหลังโควิด-19 สินค้าส่งออกหลักที่ได้รับผลประโยชน์จากข้อตกลง RCEP ได้แก่ สินค้าไอที สิ่งทอ รองเท้า เกษตรกรรม ยานยนต์และอุปกรณ์สื่อสาร

นอกจากนี้ RCEP จะช่วยผลักดันภาคการส่งออกของเวียดนามและการเข้าถึงตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่ อาทิ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้และอินโดนีเซีย ข้อตกลงดังกล่าวจะช่วยลดต้นทุนแก่ผู้ผลิตเวียดนามและการเข้าถึงห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1189946/standard-chartered-bank-regional-focus-to-support-viet-nams-post-covid-recovery.html

‘ข้อตกลง EVFTA’ กระตุ้นการส่งออกข้าวเวียดนามไปยังสหภาพยุโรป

กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า (MoIT) เปิดเผยว่าในไตรมาสแรกของปีนี้ การส่งออกข้าวของเวียดนามไปยังตลาดยุโรปเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากผลประโยชน์ของข้อตกลงการค้าเสรียุโรป-เวียดนาม (EVFTA) โดยปริมาณการส่งออกข้าวไปยังสหภาพยุโรป จำนวน 15,500 ตัน ทำรายได้ประมาณ 12 ล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้น 24% ในแง่ของปริมาณและ 10.5% ในแง่ของมูลค่า เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ในขณะที่เมื่อพิจารณาราคาส่งออกข้าวในตลาดยุโรป พบว่าเพิ่มขึ้น 9% อยู่ที่ 755 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ซึ่งราคาส่งออกข้าวเวียดนามในตลาดยุโรปสูงกว่าราคาเฉลี่ย เนื่องจากข้าวส่วนใหญ่ที่ส่งออกไปยังตลาดยุโรปเป็นข้าวหอมที่มีมูลค่าสูง อย่างไรก็ตาม ข้าวส่งออกของเวียดนามยังคงไม่สามารถแข่งขันทางด้านราคาในตลาดยุโรปกับคู่แข่งรายอื่นๆ ได้ เช่น กัมพูชา ไทย และอินเดีย

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1178059/evfta-boosts-viet-nams-rice-exports-to-the-eu.html