‘เวียดนาม-ญี่ปุ่น’ ผนึกกำลังขับเคลื่อนการเติบโตสีเขียว

องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผนึกกำลังพันธมิตรเพื่อส่งเสริมขีดความสามารถของเวียดนามในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน อีกทั้งความร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยการจัดการทรัพยากร และการปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ผ่านความร่วมมือของธุรกิจเกษตร โดยนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติทางธรรมชาติ ซึ่งจะสอดคล้องกับกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP26)

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/vietnam-japan-to-join-forces-to-advance-green-growth/

7 เดือนแรกของปี กัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังญี่ปุ่นมูลค่ารวมกว่า 1 พันล้านดอลลาร์

องค์การการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) เปิดเผยข้อมูลการส่งออก ในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ ว่ากัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังญี่ปุ่นมูลค่ารวม 1.09 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่กัมพูชายังนำเข้าสินค้าจากญี่ปุ่นมูลค่ารวม 296 ล้านดอลลาร์ ลดลงเล็กน้อยร้อยละ 1.2 โดยสินค้าส่งออกสำคัญของกัมพูชาไปยังญี่ปุ่น ได้แก่ เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า เฟอร์นิเจอร์ เครื่องสำอาง เครื่องใช้สำนักงาน และเครื่องหนัง สำหรับสินค้านำเข้าสำคัญของกัมพูชาจากญี่ปุ่น ได้แก่ เครื่องจักร รถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เฟอร์นิเจอร์ ผ้า และพลาสติก ซึ่งญี่ปุ่นถือเป็นคู่ค้ารายสำคัญของกัมพูชา โดยเมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีการเปิดการเจรจาเกี่ยวกับข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ระดับทวิภาคี เพื่อหวังผลักดันการส่งออก รวมถึงดึงดูดการลงทุนจากญี่ปุ่นมายังกัมพูชามากขึ้น ซึ่งปัจจุบันกัมพูชาได้ลงนามใน RCEP และ AJCEP รองรับการส่งออกและนำเข้าสินค้าจากญี่ปุ่น สำหรับเมื่อปีที่ผ่านมาการค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและญี่ปุ่นมีมูลค่ารวมสูงถึง 2.45 พันล้านดอลลาร์ ตามรายงานของ JETRO คิดเป็นการส่งออกของกัมพูชาส่งมูลค่า 1.93 พันล้านดอลลาร์ ไปยังญี่ปุ่นในปีที่แล้ว เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.5 เมื่อเทียบเป็นรายปี ด้านการนำเข้าจากญี่ปุ่นมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 515 ล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 11.2

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501355347/kingdoms-exports-to-japan-top-1b/

กัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังญี่ปุ่นขยายตัว 0.4% มูลค่าแตะ 780 ล้านดอลลาร์

ในช่วง 5 เดือนแรกของปี กัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังญี่ปุ่นมูลค่ารวมแตะ 780 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 0.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามรายงานขององค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) ขณะที่การนำเข้าของกัมพูชาจากญี่ปุ่นปรับตัวเพิ่มขึ้นขึ้นเช่นกันที่ร้อยละ 1.9 หรือคิดเป็นมูลค่า 215 ล้านดอลลาร์ ส่งผลทำให้กัมพูชาเกินดุลการค้ากับญี่ปุ่น 565 ล้านดอลลาร์ โดยสินค้าส่งออกหลักของกัมพูชาไปยังญี่ปุ่น ได้แก่ เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า เฟอร์นิเจอร์ เครื่องสำอาง และเครื่องหนัง ขณะที่การนำเข้าของกัมพูชาจากญี่ปุ่น ได้แก่ เครื่องจักร รถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เฟอร์นิเจอร์ ผ้าผืน และพลาสติกจากญี่ปุ่น เป็นสำคัญ ซึ่งการส่งออกของกัมพูชาไปยังกลุ่มประเทศความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) รวมถึงญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง บ่งชี้ว่าสินค้าของกัมพูชาเป็นที่ต้องการของตลาด กล่าวโดย Penn Sovicheat โฆษกกระทรวงพาณิชย์กัมพูชา โดยในช่วงปี 2022 ปริมาณการค้าระหว่าง กัมพูชา-ญี่ปุ่น มีมูลค่ารวมสูงถึง 1,948 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นการส่งออกของกัมพูชามูลค่า 1,173 ล้านดอลลาร์ และคิดเป็นการนำเข้าสินค้าของญี่ปุ่นมูลค่า 774 ล้านดอลลาร์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501318140/cambodias-exports-to-japan-up-0-4-at-780m/

2022 มูลค่าการค้า สปป.ลาว-ญี่ปุ่น พุ่งแตะ 290.5 ล้านดอลลาร์

มูลค่าการค้าระหว่าง สปป.ลาว และญี่ปุ่นในช่วงปี 2022 มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 290.5 ล้านดอลลาร์ โดยคิดเป็นการนำเข้าของ สปป.ลาว จากญี่ปุ่นมูลค่า 149.8 ล้านดอลลาร์ สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ ยานพาหนะ (ยกเว้นรถจักรยานยนต์และรถแทรกเตอร์) ชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ แก้วและเครื่องแก้ว รถแทรกเตอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ เส้นใยสังเคราะห์ เครื่องใช้พลาสติก ฝ้ายและผลิตภัณฑ์จากฝ้าย สำหรับการส่งออกของ สปป.ลาว ไปยังญี่ปุ่นมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 140.6 ล้านดอลลาร์ ได้แก่ รองเท้า ผลิตภัณฑ์เคมีภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้า น้ำหอม เครื่องสำอาง ขนไก่ เกลือโพแทสเซียม กาแฟ ผลิตภัณฑ์เคมี กล้วยและผลไม้อื่นๆ ไปจนถึงอุปกรณ์กีฬา เมล็ดพืช ฟางและหญ้า กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ กล่าวโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและพาณิชย์ Mr. Malaythong Kommasith ระหว่างเข้าพบหารือกับคณะผู้แทนญี่ปุ่น ณ กรุงเวียงจันทน์ ซึ่งกล่าวเสริมว่ารัฐบาลญี่ปุ่นได้เขามาช่วยเหลือ สปป.ลาว นับตั้งแต่ปี 2010 ในการศึกษาความเป็นไปได้เบื้องต้นในการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมในนามสวนอุตสาหกรรมเวียงจันทน์ ผ่านความร่วมมือกับองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นตกลงที่จะให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ภายใต้การชำระคืนของรัฐบาล สปป.ลาว ให้กับผู้ถือสิทธิการใช้ที่ดินในปัจจุบัน

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten2023_Laos114.php

การค้า กัมพูชา-ญี่ปุ่น แตะเกือบ 700 ล้านดอลลาร์ ในช่วง 5 เดือนแรกของปี

การค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและญี่ปุ่น ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ มีมูลค่ารวมกว่า 699 ล้านดอลลาร์ ปรับตัวลดลงร้อยละ 10.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยญี่ปุ่นถือเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับที่ 5 รองจากจีน สหรัฐฯ เวียดนาม และไทย รายงานโดยกรมศุลกากรและสรรพสามิตกัมพูชา ซึ่งคิดเป็นการส่งออกของกัมพูชาไปยังญี่ปุ่นที่มูลค่า 442 ล้านดอลลาร์ และคิดเป็นการนำเข้าของกัมพูชาจากญี่ปุ่นที่มูลค่า 257 ล้านดอลลาร์ โดยการส่งออกในช่วงเดือนพฤษภาคมเพียงเดือนเดียวมีมูลค่าอยู่ที่ 55 ล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 20.4 จากมูลค่า 69 ล้านดอลลาร์ ในช่วงเดือนเดียวกันของปีก่อน

ด้านเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำกัมพูชา Ueno Atsushi ได้กล่าวในเวทีสาธารณะของกัมพูชาเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน ว่านักลงทุนชาวญี่ปุ่นมองเห็นถึงศักยภาพของกัมพูชา ซึ่งกัมพูชาตั้งอยู่กลางแม่น้ำโขงติดต่อกับไทยและเวียดนามเอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ อีกทั้งยังมีกำลังแรงงานที่อายุน้อยและมีต้นทุนการจ้างงานที่ถูกกว่าแรงงานในประเทศไทยและเวียดนาม รวมถึงกัมพูชายังเปิดโอกาสให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนภายใต้นโยบายส่งเสริมมากมาย ด้วยเหตุผลข้างต้นทำให้นักลงทุนญี่ปุ่นคาดว่าจะเข้ามาลงทุนยังกัมพูชาเพิ่มขึ้นในอนาคต

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501308691/cambodia-japan-bilateral-trade-nears-700-million-in-the-first-five-months/

กัมพูชาเล็งทำข้อตกลงด้านการค้าเสรีร่วมกับญี่ปุ่น

Pan Sorasak รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ มอบหมายหน่วยงานในการดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างกัมพูชาและญี่ปุ่น หลังจากในช่วงปีนี้การส่งออกสินค้าของกัมพูชาไปยังญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก ซึ่งรัฐมนตรีได้กล่าวข้อความดังกล่าวไว้ในงานสัมมนาที่มีนักธุรกิจและผู้ประกอบการจากทั้งสองประเทศเข้าร่วมหารือเกี่ยวกับการอำนวยความสะดวกทางการค้าในยุคดิจิทัลระหว่างญี่ปุ่นและกัมพูชาเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (9 มิ.ย.) โดยกล่าวเสริมว่าทั้งสองประเทศควรใช้ประโยชน์จากข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) และข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคอาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP) อย่างเต็มที่ ซึ่งในระยะถัดไปทางการกัมพูชาคาดหวังถึงการทำข้อตกลงการค้าเสรีกับญี่ปุ่นโดยตรง และกำลังเร่งศึกษา รวมถึงพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการจัดทำข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างกัน โดยปัจจุบันญี่ปุ่นถือเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 5 สำหรับสินค้าส่งออกของกัมพูชา ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ คิดเป็นมูลค่าการส่งออกของกัมพูชาไปยังญี่ปุ่นมูลค่า 442 ล้านดอลลาร์ สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า เฟอร์นิเจอร์ เครื่องสำอาง เครื่องใช้สำนักงาน และเครื่องหนัง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501306688/cambodia-eyes-free-trade-agreement-with-japan/

กัมพูชาคาดญี่ปุ่นจะเป็นพันธมิตรหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล

ญี่ปุ่นยังคงเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนกัมพูชาสู่การเป็นเศรษฐกิจดิจิทัลในอนาคต กล่าวโดย Chea Serey รองผู้ว่าการธนาคารแห่งชาติกัมพูชา ในระหว่างการให้สัมภาษณ์กับสื่อญี่ปุ่น ซึ่งความร่วมมือของญี่ปุ่นมีความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีของกัมพูชา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมฟินเทค และอุตสาหกรรมการเกษตรอย่าง AgriTech ที่ยังคงมีโอกาสเติบโตจากการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนญี่ปุ่น ซึ่งปัจจุบันบริษัท Soramitsu จากทางญี่ปุ่น ได้ร่วมพัฒนาสกุลเงิน “Bakong” ในการให้หบริการชำระเงินดิจิทัลที่ริเริ่มโดยธนาคารแห่งชาติกัมพูชา เพื่อช่วยให้การทำธุรกรรมระหว่างธนาคารง่ายขึ้น และถือเป็นการลดการใช้เงินสด นอกเหนือจาก Soramitsu แล้ว บริษัทญี่ปุ่นหลายแห่งรวมถึง Nippon Express ซึ่งเป็นบริษัทด้านขนส่งและโลจิสติกส์, Oji Group บริษัทบรรจุภัณฑ์ และ บริษัทต่างๆ ยังได้ดำเนินกิจการในกัมพูชาและมีความพร้อมในการให้ความร่วมมือกับทางการในการพัฒนาเศรษฐกิจของกัมพูชาให้เข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างเต็มรูปแบบ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501298087/japan-key-partner-in-digital-economy-drive/

ความต้องการเครื่องแต่งกายของกัมพูชา ในญี่ปุ่นขยายตัวต่อเนื่อง

การส่งออกเครื่องแต่งกายของกัมพูชาไปยังญี่ปุ่นขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงปี 2022 มีมูลค่าการส่งออกสูงถึง 1.201 พันล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.68 จากปีก่อน ขณะในช่วงไตรมาสแรกของปี 2023 มูลค่าการส่งออกเครื่องแต่งกายของกัมพูชาไปยังญี่ปุ่นพุ่งแตะ 334.145 ล้านดอลลาร์ ชี้ให้เห็นถึงความต้องการสินค้าประเภทดังกล่าวของญี่ปุ่น แต่ถึงอย่างไรการส่งออก เคหะสิ่งทอ (Home Textile) ไปยังญี่ปุ่นกลับมีแนวโน้มลดลง ซึ่งในปี 2022 ลดลงครึ่งหนึ่งเหลือมูลค่ารวม 17.327 ล้านดอลลาร์ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตามข้อมูลเชิงลึกของ Fibre2Fashion ด้วยเครื่องมือ TexPro

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501285723/japans-demand-for-cambodian-apparel-grows-home-textiles-lose-ground/

ยอดการค้าระหว่างกัมพูชา-ญี่ปุ่น แตะ 1.948 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ปี 65

สมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา เป็นประธานพิธีวางศิลาฤกษ์การก่อสร้างท่าเทียบเรือบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์แห่งใหม่ที่ท่าเริอน้ำลึกสีหนุวิลล์ (PAS) และงานครบรอบ 70 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกัมพูชา-ญี่ปุ่น รวมถึงครบรอบ 137 ปี วันแรงงานสากลแห่งชาติ ที่เมืองสีหนุวิลล์ ในขณะเดียวกันได้มีการเปิดเผยข้อมูลตัวเลขการส่งออกของกัมพูชาไปยังตลาดญี่ปุ่น อยู่ที่ 1.173 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา หวังว่าการส่งออกของประเทศไปยังญี่ปุ่นนั้น จะได้รับการส่งเสริมจากนายอุเอโนะ อัตสึชิ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำกัมพูชา เนื่องจากทั้งสองประเทศเป็นสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP)

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501282910/bilateral-trade-between-cambodia-and-japan-worth-1-948-billion-in-2022/

กกร.-เคดันเร็น ผนึกความร่วมมือลงทุน BCG ญี่ปุ่นย้ำใช้ไทยฐานผลิต

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยถึงการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้าและเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (Thai-Japan Joint Trade and Economic Committee 2023) ครั้งที่ 24 ซึ่ง กกร.ร่วมกับสมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น หรือเคดันเร็น ซึ่งเป็นองค์กรภาคเอกชนขนาดใหญ่ของญี่ปุ่น ว่า ปี 2565 ที่ผ่านมาประเทศญี่ปุ่นได้มีการเดินทางเยือนในระดับผู้นำมาที่ประเทศไทยหลายครั้ง ซึ่งนอกจากการเดินทางเยือนประเทศไทยเพื่อเข้าร่วมประชุมเอเปกในช่วงเดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมา นายคิชิดะ ฟูมิโอะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ได้เดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในช่วงเดือนพฤษภาคม ในฐานะแขกของรัฐบาลไทย โดยเป็นการเยือนไทยครั้งแรกในรอบ 9 ปีของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น โดยผลการหารือระหว่างผู้นำทั้งสองฝ่ายในครั้งนั้น ได้บรรลุผลเพื่อเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างไทยกับญี่ปุ่น โดยได้ยกระดับสถานะความสัมพันธ์จากหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน (Comprehensive Strategic Partnership) อันเป็นผลทำให้เกิดการริเริ่มและความร่วมมือที่เพิ่มขึ้นอีกหลายด้าน

ที่มา : https://mgronline.com/business/detail/9660000024843