การส่งออกของกัมพูชาเพิ่มขึ้น 15% ในช่วง 4 เดือนแรกของปี

มูลค่าการส่งออกของกัมพูชาในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 8 พันล้านดอลลาร์ คิดเป็นการขยายตัวถึงร้อยละ 15.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสหรัฐฯ ยังคงเป็นตลาดส่งออกอันดับหนึ่งของกัมพูชา รองลงมาคือเวียดนามและจีน โดยยอดการค้าระหว่างกัมพูชาและคู่ค้าทางการค้าทั้งหมด อยู่ที่ 16.67 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.1 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว จากการมีอยู่ของความตกลงการค้าเสรีระหว่างกัมพูชา-จีน และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ช่วยส่งเสริมการเติบโตด้านการส่งออกของกัมพูชา อีกทั้งกัมพูชาได้ลงนามความตกลงการค้าเสรีกับจีน เกาหลีใต้ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ซึ่งคาดว่าช่วยส่งเสริมการส่งออกไปยังประเทศเหล่านี้เพิ่มขึ้นอีกในอนาคต ด้านนายกรัฐมนตรีกัมพูชาตั้งเป้าหมายที่จะเปลี่ยนกัมพูชาให้เป็นประเทศที่ส่งออกวัตถุดิบ พร้อมทั้งมีความสามารถในการผลิตสินค้าสำเร็จรูปและกึ่งสำเร็จรูป เพื่อสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจและเสริมสร้างรายได้ให้กับภาคประชาชนต่อไป

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501487228/cambodias-exports-rise-15-in-four-months/

มะริดส่งออกผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำมูลค่า 19.41 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปีงบประมาณ 2566-2567

U Zaw Min Oo รองผู้อำนวยการกรมประมง เมืองมะริด เขตตะนาวศรี รายงานว่า ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำจากเขตตะนาวศรี ซึ่งส่วนใหญ่มาจากมะริด ถูกส่งออกผ่านเส้นทางการค้าชายแดนมอตอง ในขณะที่บางส่วนขนส่งโดยตรงจากเกาะสองไปยังระนอง ในปีงบประมาณ 2566-2567 ที่ผ่านมา ซึ่งมีการส่งออกผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำรวม 32,567.61 ตัน สร้างรายได้ 19.41 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ ยังมีการส่งออกผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ 3,854 ตันในเดือนเมษายน ซึ่งเป็นเดือนแรกของปีงบประมาณ 2567-2568 โดยมีรายได้ 3.47 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ดี อำเภอมะริดขึ้นชื่อเรื่องการผลิตปลาน้ำเค็มและกุ้ง ซึ่งผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่ส่งออกสำคัญจากเขตตะนาวศรี ได้แก่ ปลา กุ้ง ปลาเลี้ยง และผลิตภัณฑ์ทางทะเลอื่นๆ จากเกาะสอง อำเภอทวาย และมะริด ที่ถูกขนส่งผ่านห้าเส้นทางเพื่อการส่งออก และสินค้าบางส่วนยังขนส่งไปยังย่างกุ้งก่อนส่งออกไปต่างประเทศ

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myeik-district-exports-us19-41-million-worth-of-aquatic-products-in-2023-24-financial-year/

การค้าระหว่าง กัมพูชา-จีน ยังคงเติบโตต่อเนื่อง

การค้าระหว่างกัมพูชาและจีนในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2024 มีมูลค่ารวม 4.48 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 15.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยจีนยังคงเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของกัมพูชา ตามมาด้วยเวียดนาม สหรัฐฯ ไทย และญี่ปุ่น ภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (RCEP) และความตกลงการค้าเสรีกัมพูชา-จีน (CCFTA) ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2022 ช่วยส่งเสริมการเติบโตของภาคการค้าในปัจจุบัน ที่ได้รับผลประโยชน์ทางภาษีจากความตกลงการค้าทั้งสองฉบับทำให้สินค้ากัมพูชา โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรคุณภาพสูง เช่น ข้าวเปลือก กล้วยหอม มะม่วง ลองกอง มันสำปะหลัง และพริกไทย เป็นสำคัญ ซึ่งสามารถส่งออกเข้าสู่ตลาดจีนได้อย่างต่อเนื่อง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501486365/cambodia-china-trade-continues-to-rise-in-jan-april/

การส่งออกของกัมพูชาโตกว่า 13% เมื่อเทียบกับในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา

การส่งออกของกัมพูชาเติบโตโดยเฉลี่ยร้อยละ 13.3 ในระหว่างปี 2017-2023 ที่มูลค่าราว 23.47 พันล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 54.7 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศในปี 2023 โดยตัวเลขดังกล่าวเน้นย้ำโดยนายกรัฐมนตรี ฮุน มาเนต ขณะเป็นประธานในพิธีเปิด National Single Window ณ โรงแรมโซคา พนมเปญ สำหรับในช่วงไตรมาสแรกของปี 2024 แนวโน้มการส่งออกยังคงขยายตัวได้ดีที่ร้อยละ 17.2 สำหรับมูลค่าการนำเข้าและส่งออกทั้งหมดในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 12.49 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.9 เมื่อเทียบเป็นรายปี คิดเป็นการส่งออกของกัมพูชา 6,261 ล้านดอลลาร์ และการนำเข้าที่มูลค่า 6,234 ล้านดอลลาร์ ซึ่งอุตสาหกรรมเสื้อผ้า รองเท้า และสินค้าเพื่อการเดินทาง ถือเป็นแหล่งสร้างรายได้สำคัญของกัมพูชาในการส่งออก

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501484828/cambodias-exports-grow-by-13-in-past-seven-years/

บริษัทกว่า 450 แห่งยังคงไม่สามารถส่งรายได้จากการส่งออกในปี 2564 กลับประเทศได้

สถิติของกระทรวงพาณิชย์เมียนมา ระบุว่ามีบริษัทมากกว่า 450 แห่งที่ยังไม่ได้ส่งรายได้จากการส่งออกในปี 2564 กลับประเทศได้ ทั้งนี้ คิดเป็นมูลค่ามากกว่า 462 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ณ วันที่ 26 เมษายน โดยรายได้จากการส่งออกจะต้องฝากเข้าบัญชีธนาคารในประเทศภายใน 45 วันสำหรับสินค้าที่จะส่งออกไปยังประเทศในเอเชีย และภายใน 90 วันสำหรับประเทศอื่น ๆ นอกเอเชีย อย่างไรก็ดี กรมการค้าระบุเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2566 ว่าธนาคารกลางเมียนมา (CBM) ควรส่งรายชื่อบริษัทที่ไม่สามารถนำรายได้จากการส่งออกส่งกลับประเทศได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้กับกระทรวงพาณิชย์ และแจ้งให้ตัวแทนจำหน่ายที่ได้รับอนุญาต (ธนาคาร) ที่เกี่ยวข้องทราบเกี่ยวกับรายชื่อพร้อมกัน นอกจากนี้ กรมการค้าจะแจ้งให้สหพันธ์หอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งสหภาพเมียนมาร์ (UMFCCI) ทราบถึงรายชื่อเพื่อให้สามารถฝากเงินได้อีกครั้ง รวมทั้ง กรมการค้าจะระงับการจดทะเบียนผู้ส่งออก/ผู้นำเข้าเป็นเวลาสองสัปดาห์หลังจากแจ้งให้บริษัทเหล่านั้นทราบ หากรายได้จากการส่งออกไม่ถูกส่งกลับประเทศ

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/over-450-companies-still-fail-to-repatriate-export-earnings-in-2021/#article-title

การส่งออกของกัมพูชาไปยังญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นถึง 18.4%

การส่งออกของกัมพูชาไปยังญี่ปุ่นในช่วงไตรมาสแรกของปี 2024 มีมูลค่ารวมถึง 365 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยการส่งออกที่เพิ่มขึ้นยังทำให้มั่นใจได้ว่าญี่ปุ่นจะเป็นจุดหมายปลายทางด้านการส่งออกของกัมพูชาที่ใหญ่เป็นอันดับสี่ของกัมพูชาในอนาคต ซึ่งปัจจุบันคิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 5.8 ของปริมาณการส่งออกทั้งหมดของกัมพูชา สำหรับปัจจุบันญี่ปุ่นถือเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับที่ 5 ของกัมพูชา โดยมีมมูลค่าการค้าทวิภาคีสูงถึง 507 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 11 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลทำให้กัมพูชาคงเกินดุลการค้ากับญี่ปุ่นราว 223 ล้านดอลลาร์ ในช่วงเวลาดังกล่าว สำหรับสินค้าส่งออกหลักของกัมพูชาไปยังญี่ปุ่น ได้แก่ เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า เฟอร์นิเจอร์ เครื่องสำอาง กระดาษและอุปกรณ์สำนักงาน และเครื่องหนัง ด้านสินค้านำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ เครื่องจักร รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์ ผ้า และพลาสติก

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501479402/cambodias-exports-to-japan-rise-18-4/

กัมพูชาส่งออกยางพาราขยายตัวกว่า 5.1% ในช่วงไตรมาสแรกของปี

กัมพูชาส่งออกยางแห้งปริมาณรวมกว่า 69,322 ตัน ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2024 เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.1 จาก 65,921 ตัน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามรายงานของ General Directorate of Rubber โดยส่งออกไปยังจีนที่มูลค่ารวมถึง 100.5 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นการเพิ่มขึ้นร้อยละ 8 จากมูลค่า 92.9 ล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกับในช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับราคายางแห้งในปัจจุบัน 1 ตัน มีราคาเฉลี่ย 1,450 ดอลลาร์ สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วประมาณ 41 ดอลลาร์ต่อตัน ด้านการเพาะปลูกยางพาราของกัมพูชาในปัจจุบันมีทั้งหมด 407,172 เฮกตาร์ โดยต้นยางบนพื้นที่ 320,184 เฮกตาร์หรือร้อยละ 79 มีอายุมากพอที่จะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501478623/cambodias-rubber-export-up-5-1-pct-in-q1/

กัมพูชาจ่อส่งออกมะพร้าวไปยังปักกิ่งปีนี้

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (22 เม.ย.) กัมพูชาจัดพิธีลงนามส่งออกมะพร้าวไปยังจีนอย่างเป็นทางการ หลังคาดว่าจะมีการส่งออกมะพร้าวสดชุดแรกภายในปีนี้ ซึ่งพิธีจัดขึ้น ณ กรุงพนมเปญ นำโดย Sun Chanthol รองนายกรัฐมนตรีและรองประธานสภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา ร่วมกับ Wang Yi รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีน ซึ่งกัมพูชาและจีนเคยได้ลงนามในข้อตกลงด้านสุขอนามัยพืชเพื่อส่งออกมะพร้าวสดจากกัมพูชาไปยังจีนเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว ปัจจุบันกัมพูชามีสวนมะพร้าวจำนวน 13 แห่ง และโรงงานแปรรูป 5 แห่ง ที่ได้รับสิทธิ์ในการส่งออกมะพร้าวโดยตรงไปยังประเทศจีน ด้านรายงานของกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และป่าไม้ แสดงให้เห็นว่าในปี 2022 กัมพูชาได้ปลูกมะพร้าวในพื้นที่รวม 19,998 เฮกตาร์ โดยสามารถเก็บเกี่ยวมะพร้าวได้ 14,225 เฮกตาร์ หรือร้อยละ 71 สำหรับการผลิตมะพร้าวของกัมพูชาเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4 หรือคิดเป็นจำนวน 258,935 ตัน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501476326/coconut-exports-to-beijing-to-commence-this-year/

‘เวียดนาม’ เผยไตรมาสแรกปี 67 เห็นสัญญาณเชิงบวกส่งออกดีขึ้น

นาย จั่น ทัน หฮาย (Tran Thanh Hai) รองผู้อำนวยการหน่วยงานการค้าต่างประเทศของกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า กล่าวว่ายอดการส่งออกและนำเข้าในไตรมาสแรกของปีนี้ มีมูลค่า 178.04 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 15.5% เมื่อเทียบเป็นรายปี (YoY) การส่งออก 93.06 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 17%YoY และการนำเข้า 84.98 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 13.9%YoY ส่งผลให้เวียดนามเกินดุลการค้าราว 8.08 พันล้านเหรียญสหรัฐ

ทั้งนี้ คุณ Bui Huy Son หัวหน้าฝ่ายวางแผนการเงินของกระทรวงฯ กล่าวว่ากิจกรรมการค้าของเวียดนาม โดยเฉพาะการส่งออกไปยังตลาดยุโรปและอเมริกา ยังคงเผชิญกับความท้าทายและโอกาสอีกมากมายในปีนี้

นอกจากนี้ ผลประโยชน์จากข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) และอุปสงค์ตลาดโลก โดยเฉพาะยุโรปและอเมริกาที่มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น เนื่องจากภาวะเงินเฟ้อมีทิศทางชะลอตัวลงในช่วงปลายปี 2566 และมีแนวโน้มเข้าใกล้ระดับที่ธนาคารกลางตั้งเป้าไว้ในปี 2567

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnam-seeing-positive-export-signs-in-q1/283806.vnp

กัมพูชาส่งออกยางพาราแปรรูปเพิ่มขึ้นถึง 90% ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2024

ข้อมูลการค้าล่าสุดจากกรมศุลกากรและสรรพสามิต (GDCE) ระบุว่า ในช่วงสองเดือนแรกของปี 2024 กัมพูชาสามารถส่งออกยางพาราแปรรูป มูลค่า 215 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 90 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยข้อมูลนี้ชี้ให้เห็นว่าแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของการส่งออกยางพารากัมพูชา สวนทางกันกับผลผลิตยางพาราธรรมชาติทั่วโลกที่มีแนวโน้มลดลง ภายใต้ภาวะราคายางพุ่งสูงขึ้น สำหรับทั้งปี 2023 กัมพูชาสามารถทำรายได้จากการส่งออกยางพาราและผลิตภัณฑ์ยางพารา 919 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 69.6 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ขณะที่ตลาดยางพาราของกัมพูชาส่วนใหญ่ส่งออกไปยัง จีน เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ อินเดีย และสหภาพยุโรป เป็นสำคัญ ด้านผู้เชี่ยวชาญมองว่าตลาดยางธรรมชาติยังคงเผชิญกับความท้าทายที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเศรษฐกิจจีนที่เติบโตต่ำกว่าคาดในช่วงครึ่งหลังของปีที่แล้ว ซึ่งจีนเป็นผู้ผลิตยางรถยนต์รายใหญ่ที่สุดในโลก นอกจากนี้ยังมีผลกระทบจากสงครามยืดเยื้อระหว่างรัสเซีย-ยูเครน และ อิสราเอล-ฮามาส รวมถึงต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้นจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เป็นต้น

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501458804/cambodias-rubber-article-exports-rise-90-percent/