CIB อนุมัติโครงการลงทุนใหม่ 11 โครงการ ด้วยมูลค่า 57.3 ล้านดอลลาร์

คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนกัมพูชา (CIB) หน่วยงานร่วมสภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา (CDC) ได้อนุมัติข้อเสนอการลงทุนใหม่ 11 บริษัท โดยคาดว่าจะสร้างงานใหม่ให้กับคนในท้องถิ่นเกือบ 11,000 ตำแหน่ง ด้วยการลงทุนรวม 57.3 ล้านดอลลาร์ ซึ่งบริษัท 9 แห่ง อยู่ในภาคการผลิตเสื้อผ้า รองเท้า และสินค้าเดินทาง (GFT) โดยจากข้อมูลของ CDC ในปีที่แล้ว CDC ได้อนุมัติโครงการลงทุนมูลค่ากว่า 4.68 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2021 คิดเป็นโครงการลงทุนจากบริษัทในท้องถิ่นที่ 2.7 พันล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 57 ของการลงทุนทั้งหมด ขณะที่ได้ออกใบรับรองการลงทะเบียนขั้นสุดท้ายสำหรับโครงการลงทุนใหม่ที่ไม่ได้อยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ (SEZ) มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 3.4 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 49 ขณะเดียวกันโครงการลงทุนที่ลงทะเบียนใน SEZ กลับลดลงกว่าร้อยละ 39 มาอยู่ที่มูลค่า 1.2 พันล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยการลงทุนจากต่างประเทศส่วนใหญ่ที่เข้ามายังกัมพูชา ได้แก่ ไทย ญี่ปุ่น หมู่เกาะเคย์แมน สิงคโปร์ เกาหลี หมู่เกาะบริติชเวอร์จิน มาเลเซีย และออสเตรเลีย เป็นสำคัญ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501237969/57-3m-worth-projects-cleared-to-generate-11000-new-jobs/

เดือนพ.ย. 65 เขตเศรษฐกิจพิเศษ ‘ติละวา” ดูดเม็ดเงิน FDI กว่า 2.188 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

คณะกรรมการการลงทุนและการบริหารบริษัท (DICA) ของเมียนมา เผยตัวเลข การลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ณ เดือนพฤษจิกายน 2565 ในเขตเศรษฐกิจพิเศษติละวา (Thilawa SEZ)  มีมูลค่ากว่า 2.188 พันล้านดอลลาร์สหรัฐได้ภายใต้กฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษ ปัจจุบัน มีโรงงานประมาณ 102 แห่งที่ดำเนินการในโซน A และ B ของ Thilawa SEZ โดยภาคพลังงานมีการลงทุนสะสมไปแล้วมากกว่า 3.121 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้ DICA มีความยินดีและให้การต้อนรับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศและการลงทุนในประเทศของชาวเมียนมาในทุกภาคอุตสาหกรรม อีกทั้งกระทรวงกลาโหมและกระทรวงที่เกี่ยวข้องพร้อมที่จะอำนวยความสะดวกในการลงทุนอีกด้วย

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/thilawa-sez-attracts-over-us2-188-bln-as-of-nov-2022/#article-title

ทุนจีนขยายการลงทุนต่อเนื่องใน SSEZ กัมพูชา พัฒนาห่วงโซ่อุปทานระดับโลก

เขตเศรษฐกิจพิเศษสีหนุวิลล์ (SSEZ) ซึ่งจีนเป็นผู้ลงทุนในกัมพูชา ได้เปลี่ยนให้จังหวัดชายฝั่งทางตะวันตกเฉียงใต้ของพระสีหนุ ให้มีความเชื่อมโยงกับห่วงโซ่อุปทานระดับภูมิภาคและระดับโลก ด้าน Long Dimanche รองผู้ว่าราชการจังหวัด กล่าวว่า SSEZ ถือเป็นเขตอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในแง่ของขนาดเมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจของกัมพูชา ซึ่งเขตอุตสาหกรรมดังกล่าวมีขนาดกว่า 11 ตารางกิโลเมตร ปัจจุบันมีโรงงานประมาณ 170 แห่ง ทั้งจากจีน ยุโรป สหรัฐฯ ประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และภูมิภาคอื่นๆ ด้วยเงินลงทุนรวมกว่า 1.3 พันล้านดอลลาร์ สร้างการจ้างงานกว่า 30,000 ตำแหน่ง เน้นไปที่ภาคการผลิตเสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋าและเครื่องหนัง รวมไปถึงเครื่องจักร วัสดุก่อสร้าง เฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้าน ชิ้นส่วนรถยนต์ และยางรถยนต์ เป็นต้น ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าและส่งออกผ่าน SSEZ เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 1.9 พันล้านดอลลาร์ ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 21 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยในอนาคตคาดว่า SSEZ จะสามารถรองรับโรงงานได้ทั้งหมด 300 แห่ง ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า และจะสร้างงานให้กับชาวกัมพูชามากถึง 100,000 ตำแหน่ง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501181084/chinese-invested-economic-zone-integrating-cambodias-sihanoukville-into-regional-global-supply-chains-official/

เขตพัฒนาเศรษฐกิจใหม่สีทันดอนเปิดตัวเมกะโปรเจกต์ใน สปป.ลาว

เขตพัฒนาเศรษฐกิจใหม่สีทันดอน (SEZ) ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของ สปป.ลาว กำลังเริ่มก่อสร้างโครงการพัฒนาที่สำคัญ 2 โครงการ หลังจากเสร็จสิ้นการสำรวจที่ดินที่ดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่เขตและรัฐบาล โดยหนึ่งในโครงการพัฒนาคือโรงแรมขนาดใหญ่ใกล้กับแม่น้ำโขงและน้ำตกคอนพะเพ็ง ซึ่งรูปแบบอาคารจะสร้างขึ้นในรูปแบบแคนคู่ คาดว่าจะมีความสูงประมาณ 238.98 เมตร และคาดว่าจะเป็นอาคารที่สูงที่สุดใน สปป.ลาว โดยอีกหนึ่งโครงการคือคลังสินค้า ตั้งอยู่ห่างจากชายแดน สปป.ลาว-กัมพูชา 3 กม. โดยระยะแรกของการพัฒนาครอบคลุมพื้นที่ 120,000 ตารางเมตร ซึ่งโครงการจะประกอบด้วยคลังสินค้า สำนักงานศุลกากร หอพักของบริษัท พื้นที่ห้องเย็น และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อปรับปรุงภาคการขนส่งในพื้นที่และส่งเสริมการค้าในภูมิภาค ในขณะที่ต้นทุนการก่อสร้างของทั้งสองโครงการยังไม่เปิดเผย ซึ่งการพัฒนาเฟสแรกของเขตพัฒนาเศรษฐกิจใหม่สีทันดอนมีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2025 โดยมีมูลค่าการลงทุนประมาณ 600 ล้านดอลลาร์ เริ่มก่อสร้างขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2018

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten148_Sithandone.php

ปริมาณการค้าผ่าน SEZ กัมพูชา พุ่ง 38% ในช่วงครึ่งปีแรก

ปริมาณการค้าทั้งการนำเข้าและส่งออกของกัมพูชา ซึ่งดำเนินการผ่านเขตเศรษฐกิจพิเศษสีหนุวิลล์ (SSEZ) มีมูลค่ากว่า 1.37 พันล้านดอลลาร์ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2022 หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้นร้อยละ 38 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการเติบโตในช่วงครึ่งแรกของปีนี้สะท้อนให้เห็นถึงการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจและสังคมในท้องถิ่นหลังได้รับผลกระจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้านปลัดกระทรวงพาณิชย์ของกัมพูชาและโฆษก Penn Sovicheat กล่าวเสริทว่า SSEZ ถือเป็นตัวอย่างที่สำคัญจากความร่วมมือภายใต้กรอบ Belt and Road Initiative (BRI) ซึ่งคาดว่าจะเป็นส่วนช่วยในการส่งเสริมเศรษฐกิจของกัมพูชาในยุคหลังการแพร่ระบาด

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501115409/chinese-invested-economic-zone-in-cambodia-registers-trade-increase-of-38-pct-in-h1/

‘เวียดนาม’ เผยเขตเศรษฐกิจในภาคใต้ แม่เหล็กดึงดูดต่างชาติลงทุน FDI

ข้อได้เปรียบหลายอย่างทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน การคมนาคมและทรัพยากรมนุษย์ของเวียดนาม หลังจากสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้แล้ว เขตเศรษฐกิจในภาคใต้ยังคงเป็นจุดหมายปลายทางการลงทุนชั้นนำของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) โดยกิจการอย่างแพนดอร่า “Pandora” ผู้ผลิตเครื่องประดับสัญชาติเดนมาร์ก ประกาศว่าจะลงทุนก่อสร้างโรงงานใหม่ที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม VSIP (Vietnam Singapore Industrial Park) จังหวัดบิน เยือง ภาคใต้ของประเทศ ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) สาเหตุสำคัญที่กิจการเข้ามาลงทุนในครั้งนี้เนื่องมาจากความพร้อมด้านทักษะของแรงงาน โครงสร้างพื้นฐานและสนามบิน ทั้งนี้ ตามรายงานของคณะกรรมการประชาชนประจำจังหวัด เปิดเผยว่าในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ จังหวัดบิน เยือง (Binh Duong) ดึงดูดเม็ดเงินทุนกว่า 2.35 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ มีจำนวนโครงการใหม่ 16 โครงการ และโครงการปัจจุบัน 9 โครงการจากจำนวนกิจการรวมทั้งสิ้น 53 แห่ง ในขณะเดียวกัน ตั้งแต่ต้นปีนี้จนถึงวันที่ 20 เม.ย. นครโฮจิมินห์ได้ดึงดูดเม็ดเงินทุนได้แล้วกว่า 1.28 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 12.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/key-southern-economic-region-a-magnet-for-fdi/229153.vnp

เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ เติบโตในการพัฒนา โครงการลงทุน

เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ (GTSEZ) กำลังเติบโตจากโครงการพัฒนาและการลงทุน โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ การเกษตร ปศุสัตว์ โรงแรม การท่องเที่ยว ย่านที่อยู่อาศัย สถานบันเทิงและขณะนี้บริษัทกว่า 500 แห่งกำลังเข้ามาลงทุนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำได้รับการพัฒนาภายใต้การดูแลของกลุ่มดอกงิ้วคำ ซึ่งได้รับสัมปทานบนที่ดิน 10,000 เฮกตาร์ โดย 3,000 เฮกตาร์เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ และ 7,000 เฮกตาร์เป็นพื้นที่คุ้มครอง เป้าหมายการพัฒนาของ GTSEZ มีสามประการ ขั้นตอนแรกคือการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ขั้นตอนที่สองคือการดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาในพื้นที่ และขั้นตอนที่สามคือการสร้างร้านค้า ร้านอาหาร และสถานบันเทิง ตลอดจนสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในท้องถิ่นในการผลิตทางการเกษตร ภายใต้สัปทานสัญญาเช่าที่ดิน 99 ปี กลุ่มดอกงิ้วคำผู้ถือครองสัปทานดังกล่าวเห็นพ้องกันว่าจะพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ (GTSEZ) ให้เป็นศูนย์กลางเมืองและศูนย์กลางการท่องเที่ยวแห่งใหม่มาพร้อมกับโครงการลงทุน เช่น โครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ การเกษตร ปศุสัตว์ โรงแรม และย่านที่อยู่อาศัย พร้อมปกป้องสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมกิจกรรมการค้าตามแนวชายแดนของลาว ไทย เมียนมาร์ และจีน

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Golden80.php

โครงการลงทุนนอกเขตเศรษฐกิจพิเศษเพิ่มขึ้นกว่า 236% ภายใน 2 เดือน

โครงการลงทุนใหม่กว่า 35 โครงการ ได้รับการอนุมัติจากสภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา (CDC) ในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้น 14 โครงการจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยเงินทุนทั้งหมดเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 236 สู่มูลค่า 2 พันล้านดอลลาร์ ตามรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจและสังคมของกระทรวงเศรษฐกิจและการคลังกัมพูชา ซึ่งโครงการลงทุนที่ได้รับใบอนุญาตคาดว่าจะสร้างงานใหม่ให้กับคนในท้องถิ่นได้ประมาณ 31,000 ตำแหน่ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 75.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2021 ด้าน Lim Heng รองประธานหอการค้ากัมพูชากล่าวว่ากฎหมายการลงทุนฉบับใหม่และอัตราการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่สูง เป็นปัจจัยสำคัญที่ดึงดูดการลงทุนใหม่มายังกัมพูชา โดยกระทรวงสาธารณสุขกัมพูชากล่าวว่าจนถึงขณะนี้ได้ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เป็นโดสแรกให้กับประชาชนแล้วกว่า 14.87 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 92.97 ของประชากรทั้งหมด 16 ล้านคน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501062415/non-sez-investment-projects-up-236-percent-in-value-within-two-months/

เวียดนามขยายการสนับสนุนภาคการลงทุนในสปป.ลาว

เวียดนามตกลงที่จะให้ความช่วยเหลือภาคการลงทุนในสปป.ลาวต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านการฝึกอบรมด้านเทคนิคสำหรับเจ้าหน้าที่ฝ่ายวางแผนและการลงทุน ภายใต้ข้อตกลงดังกล่าว เวียดนามจะจัดให้มีการฝึกอบรมเกี่ยวกับการลงทุนของภาคเอกชนและเขตเศรษฐกิจพิเศษ วิธีจัดการและจัดสรรเงินทุนสำหรับโครงการลงทุนภาครัฐและโครงการช่วยเหลือต่างประเทศ สนับสนุนความทันสมัยของภาคการวางแผนและการลงทุนของสปป.ลาวโดยการปรับปรุงและพัฒนาโปรแกรมการจัดการที่ล้ำสมัย ที่จัดทำโดยกระทรวงการวางแผนและการลงทุนของเวียดนาม ทั้งหมดนี้จะส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสองประเทศและส่งเสริมการจัดการการลงทุนสำหรับธุรกิจในแต่ละประเทศ ตลอดจนมีบทบาทสำคัญในการร่วมกันส่งเสริมวิสาหกิจที่ได้ทำข้อตกลงในการดำเนินการตามแผน

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Vietnam_57_22.php

FDI กัมพูชาขยายตัวร้อยละ 22 มูลค่าแตะ 4.35 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2021

ตามรายงานของสภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา (CDC) กัมพูชาสามารถดึงเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ได้จำนวน 4.35 พันล้านดอลลาร์ในปี 2021 เพิ่มขึ้นร้อยละ 22 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยจีน สหรัฐฯ และสิงคโปร์ ถือเป็นกลุ่มทุนรายใหญ่ของกัมพูชา ซึ่งภายหลังรัฐบาลกัมพูชาได้ประกาศกรอบยุทธศาสตร์และแผนงานสำหรับการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 ประจำปี 2021-2023 โดยมีเสาหลัก 3 ประการ ได้แก่ การกู้คืน การปฏิรูป และการสร้างความยืดหยุ่น เพื่อการกระจายความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ การอำนวยความสะดวกทางการค้า กฎหมายที่จะเกิดขึ้น รวมถึงเกี่ยวกับเขตเศรษฐกิจพิเศษและการดำเนินการตามกฎหมายด้านการลงทุนฉบับใหม่ ซึ่งได้รับความสนใจอย่างมากทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก โดยมีเป้าหมายที่จะยกระดับมาตรฐานให้สูงขึ้นและสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยมากขึ้นสำหรับนักลงทุน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501037592/cambodia-fdi-inflows-zoom-22-percent-at-4-35-billion-in-2021/