‘GDP เวียดนาม’ ปี 67 โต 6.5% เหตุส่งออกฟื้นตัว

วินาแคปปิตอล กรุ๊ป (VinaCapital Group) บริษัทจัดการกองทุนเวียดนาม คาดการณ์ว่าการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของเวียดนามในปี 2567 จะขยายตัว 6.5% ในปีหน้า โดยได้แรงหนุนมาจากการฟื้นตัวของภาคการส่งออก และได้ตั้งข้อสังเกตว่าแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจเวียดนามเป็นไปในเชิงบวก จากการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมที่เป็นแรงผลักดันการเติบโตเศรษฐกิจเวียดนามในปีหน้า

ทั้งนี้ สินค้าคงคลังที่เพิ่มขึ้นมากกว่า 20% ในช่วงปลายปีที่แล้ว สาเหตุสำคัญมาจากธุรกิจต่างๆ สั่งซื้อมากจนเกินไปในช่วงห่วงโซ่อุปทานหยุดชะงัก เนื่องจากโควิด-19 ในปี 2564 และความคาดหวังว่ามีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอย่างมาก หลังวิกฤตโควิด แต่ว่าไม่เป็นไปตามที่คาดหวังไว้

ด้วยเหตุนี้ บริษัทสหรัฐฯ จึงต้องจัดการกับสินค้าคงคลังส่วนเกินตลอดทั้งปีนี้ อย่างไรก็ตาม ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจบ่งชี้ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวกำลังสิ้นสุดลงแล้ว แสดงให้เห็นว่ายอดคำสั่งซื้อและผลผลิตในเวียดนามจะกลับมาฟื้นตัว

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnams-gdp-growth-to-rebound-to-65-in-2024-vinacapital/270154.vnp

IMF คงการคาดการณ์ GDP เวียดนามไว้ที่ 4.7% ในปีนี้

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ยังคงคาดการณ์การเติบโตของ GDP ของเวียดนามไว้ที่ร้อยละ 4.7 สำหรับในปี 2023 สำหรับระยะกลาง IMF คาดการณ์การเติบโตของ GDP เวียดนามไว้ที่ร้อยละ 5.8 และ 6.9 ในปี 2024 และ ปี 2025 ตามลำดับ ตามรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจระดับภูมิภาคของ IMF ด้าน Shanaka Peiris หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกของ IMF กล่าวว่า มีสัญญาณมากมายของการฟื้นตัวในระบบเศรษฐกิจเวียดนาม ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2023 แต่ยังคงเป็นเรื่องที่ยากสำหรับการเติบโตในปีนี้ เนื่องด้วยเวียดนามกำลังเผชิญกับความยากลำบากสำหรับภาคการส่งออก อสังหาริมทรัพย์ และการเงิน ภายใต้การฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจอย่างค่อยเป็นค่อยไป ขณะที่ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ได้ปรับลดการคาดการณ์การเติบโตของ GDP เวียดนามในปี 2023 ไว้ที่ร้อยละ 5.8 จากการประมาณการครั้งก่อนที่ได้กำหนดไว้ที่ร้อยละ 6.5 ในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา

ที่มา : https://english.news.cn/20231019/cc8d98e2736a436c8f33b4fa6793c4bc/c.html

วิกฤตขาดแคลนพลังงานไฟฟ้าในเวียดนาม ทรุดตัวต่อเนื่องจนถึงปี 2050

คณะกรรมการกำกับดูแลของสมัชชาแห่งชาติ รายงานว่าแหล่งทรัพยากรพลังงานปฐมภูมิที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติกำลังจะหมดไป เนื่องจากไฟฟ้าพลังน้ำถูกใช้อย่างเต็มประสิทธิภาพแล้ว รวมไปถึงปริมาณน้ำมันและก๊าซจากแหล่งพลังงานหลักลดลงอย่างรวดเร็ว ในขณะที่จากรายงานของธนาคารโลก ประจำเดือน ส.ค. มีการประเมินความสูญเสียของเวียดนาม พบว่าเวียดนามสูญเสียรายได้จากวิกฤตพลังงานไฟฟ้าขาดแคลนประมาณ 1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 0.3% ของ GDP

โดยผู้เชี่ยวชาญได้เตือนถึงการขาดแคลนไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องในภาคเหนือของประเทศ ทำให้จะไม่มีการจัดตั้งโรงงานใหม่เกิดขึ้นในอีก 2 ปีข้างหน้า ด้วยเหตุนี้ เวียดนามจำเป็นที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ และอาจทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนไฟฟ้าได้จนถึงปี 2050

ที่มา : https://www.retailnews.asia/power-shortage-in-vietnam-looms-until-2050/

‘ก.คลังเวียดนาม’ เผยการบริหารหนี้สาธารณะอยู่ในการควบคุมได้

กระทรวงการคลัง (MoF) เปิดเผยว่าในปี 2565 หนี้สาธารณะของเวียดนาม คิดเป็น 37.4% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในขณะที่หนี้ต่างประเทศ มีสัดส่วนราว 36.1% ของ GDP ซึ่งจากคำประกาศของกระทรวงฯ ฉบับที่ 16 ว่าด้วยหนี้สาธารณะของเวียดนามในปี 2561-2565 จากเป้าหมายที่รัฐสภากำหนดไว้ในการชำระหนี้สาธารณะในปี 2564-2568 ได้เสร็จสิ้นแล้ว

ที่มา : https://en.nhandan.vn/vietnams-public-debt-management-on-right-track-ministry-post130392.html

‘เวียดนาม’ อาจพลาดเป้าจีดีพีในปี 2566

สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เปิดเผยว่าเวียดนามอาจจะพลาดเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจในปีนี้ โดยภาคอุตสาหกรรมที่เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจเวียดนามในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เริ่มมีทิศทางที่ขะลอตัวลง ทั้งนี้ สมัชชาแห่งชาติ รายงานว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คาดว่าจะเติบโตมากกว่า 5% ต่อปี ซึ่งก่อนหน้านี้ เวียดนามตั้งเป้าหมายการเติบโตของ GDP ไว้ที่ 6.5% ในปี 2566 ลดลงจาก 8.02% ในปีที่แล้ว อย่างไรก็ตามอุปสงค์ทั่วโลกที่อ่อนแอ ได้ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของเวียดนามในปีนี้

ที่มา : https://www.reuters.com/markets/asia/vietnam-lawmakers-expect-country-miss-2023-gdp-growth-target-2023-10-16/

“เวิลด์แบงก์” หั่นคาดการณ์ GDP เอเชียเหลือโต 5% จีน-ไทย-เวียดนาม หนี้ภาคธุรกิจพุ่งเร็ว

สำนักข่าว CNBC รายงานว่า ธนาคารโลก ปรับลดการคาดการณ์การเติบโตสำหรับประเทศเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก โดยระบุถึง จีนและดีมานด์ทั่วโลกที่ซบเซา ท่ามกลางอัตราดอกเบี้ยที่ยังคงอยู่ในระดับสูงและการค้าที่ซบเซา ทั้งนี้ เวิลด์แบงก์กล่าวว่าขณะนี้คาดว่าประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกจะเติบโต 5% ในปี 2566 ตามรายงานเดือนตุลาคม ซึ่งน้อยกว่าการคาดการณ์ 5.1% ในเดือนเมษายนเล็กน้อย ขณะเดียวกันเวิลด์แบงก์คงการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจจีนในปีนี้ ไว้ไม่เปลี่ยนแปลงที่ 5.1% แต่ได้ปรับลดประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจในปีหน้า ลงเหลือ 4.4% จาก 4.8% โดยระบุถึงปัจจัยเชิงโครงสร้างในระยะยาว ระดับหนี้ที่สูงขึ้นในเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก และความอ่อนแอในภาคอสังหาริมทรัพย์เป็นเหตุผลในการปรับลดอันดับ

นอกจากนี้ยังเผชิญกับระดับหนี้ที่เพิ่มขึ้น ธนาคารโลกระบุว่า หนี้ภาครัฐทั่วไปเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เช่นเดียวกับระดับหนี้ภาคธุรกิจที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในจีน ไทย และเวียดนาม โดยเตือนว่าระดับหนี้ภาครัฐที่สูงอาจจำกัดการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชน หนี้ที่สูงขึ้นอาจนำไปสู่อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการกู้ยืมสำหรับธุรกิจเอกชนเพิ่มขึ้น

ที่มา : https://moneyandbanking.co.th/2023/64731/

‘สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด’ คาดการณ์ GDP เวียดนาม ไตรมาส 3 ฟื้นตัวต่อเนื่อง

ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (Standard Chartered) คาดการณ์ว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของเวียดนามในไตรมาสที่ 3 ของปี 2566 ขยายตัว 5.1% เมื่อเทียบเป็นรายปี (เร่งขึ้นจาก 4.1% ในไตรมาสที่ 2) แสดงให้เห็นถึงสัญญาณการฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปี ทั้งนี้ จากข้อมูลทางเศรษฐกิจ พบว่าภาวะเศรษฐกิจของเดือนกันยายนปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคม โดยได้แรงหนุนจากยอดค้าปลีก และธนาคารฯ มองว่าการค้าปลีกในเดือนกันยายน จะยังคงขยายตัวแข็งแกร่งที่ 8.2% เมื่อเทียบเป็นรายปี ในขณะที่การส่งออกและการนำเข้า ลดลง 6.2% และ 7.0% เมื่อเทียบเป็นรายปี ตามลำดับ รวมไปถึงอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงขึ้น 3.2% เมื่อเทียบเป็นรายปี

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1594407/standard-chartered-forecasts-q3-gdp-to-show-ongoing-recovery.html

ADB คาดการณ์ GDP สปป.ลาว ลดลงเหลือร้อยละ 3.7

ตามข้อมูลจากธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) การเติบโตทางเศรษฐกิจของ สปป.ลาว จะชะลอตัวลงกว่าที่คาดการณ์ไว้ในครั้งก่อน เนื่องจากเศรษฐกิจของจีนยังซึ่งเป็นประเทศคู่ค้ารายสำคัญยังคงอ่อนแอ รวมถึงสภาพอากาศที่ไม่เอื้อต่อการทำการเกษตรในประเทศ และความกดดันทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากหนี้สาธารณะที่เพิ่มสูงขึ้น ร่วมกับการอ่อนค่าของเงินกีบ โดยการคาดการณ์ทางเศรษฐกิจของ สปป.ลาว ในฉบับประจำเดือนกันยายน ได้ปรับลดลงการเติบโตทางเศรษฐกิจมาอยู่ที่ร้อยละ 3.7 จากการคาดการณ์เดิมที่ร้อยละ 4 สำหรับในปี 2024 สำหรับค่าใช้จ่ายในภาคครัวเรือนลดลงอย่างมากในช่วงครึ่งแรกของปี เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างมาก ซึ่งในช่วงเดือนกุมภาพันธ์พุ่งไปแตะกว่าร้อยละ 41.3 ร่วมกับการอ่อนค่าของสกุลเงินกีบ โดยเมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์เกิดการอ่อนค่าถึงเกือบครึ่งหนึ่ง หรือคิดเป็นอ่อนค่ากว่าร้อยละ 44 รวมถึงภาคการส่งออกที่ชะลอตัวลงกว่าที่ควรจะเป็น โดยเฉพาะกับประเทศคู่ค้าหลักที่มีการเติบโตด้านการส่งออกที่ลดลง เป็นสาเหตุที่ทำให้เศรษฐกิจของ สปป.ลาว เติบโตอย่างชะลอตัว

ที่มา : https://laotiantimes.com/2023/09/21/adb-lowers-economic-growth-rating-for-laos/

ADB ปรับ GDP กัมพูชาลดลงเหลือ 5.3%

ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ได้ปรับการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจหรือผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของกัมพูชาลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 5.3 โดยได้นำเสนอไว้ในรายงานแนวโน้มการพัฒนาเอเชีย (ADO) ประจำเดือนกันยายน 2023 จากการคาดการณ์ GDP ไว้ที่ร้อยละ 5.5 ในเดือนเมษายน สำหรับรายงานประจำเดือน ก.ย. ชี้ให้เห็นว่าการส่งออกในช่วงครึ่งปีแรกอย่าง เสื้อผ้า รองเท้า และสินค้าเพื่อการเดินทางของกัมพูชาหดตัวลงกว่าร้อยละ 18.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่การลดลงดังกล่าวได้รับการชดเชยบางส่วนด้วยการส่งออกสินค้ากลุ่มอื่นๆ ที่นอกเหนือจากเสื้อผ้า โดยเฉพาะชิ้นส่วนยานยนต์ แผงโซลาร์เซลล์ และเฟอร์นิเจอร์ มีการขยายตัวกว่าร้อยละ 22.9 ด้านการนำเข้าสินค้าลดลงร้อยละ 22.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งการนำเข้าสิ่งทอลดลงร้อยละ 17.9 เชื้อเพลิงลดลงร้อยละ 10 และยานพาหนะลดลงร้อยละ 26.9 ด้านทุนสำรองระหว่างประเทศขั้นต้นเพิ่มขึ้นเป็น 18.4 พันล้านดอลลาร์ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2023 จาก 17.8 พันล้านดอลลาร์ ณ สิ้นปี 2022 สำหรับความเสี่ยงมีแนวโน้มไปในทิศทางลบ เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลง และการไหลเข้าของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่ชะลอลง รวมถึงภาวะการเงินโลกที่ตึงตัวเป็นเวลานาน ราคาพลังงานที่สูงขึ้น ไปจนถึงความกังวลเกี่ยวกับหนี้ภาคเอกชนที่สูงและเสถียรภาพทางการเงินในประเทศที่ต่ำ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501363962/adb-revised-down-cambodias-gdp-to-5-3-percent-for-2023/

AMRO ปรับการเติบโต GDP ของกัมพูชาเหลือ 5.3%

องค์กรวิจัยเศรษฐกิจและการเงินระหว่างประเทศ สำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน+3 (AMRO) ได้ปรับลดอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) กัมพูชา ลงเหลือร้อยละ 5.3 สำหรับการประมาณการครั้งที่ 3 ภายในปี 2023 ด้วยการสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวที่เริ่มฟื้นตัว รวมถึงภาคการผลิตโดยเฉพาะสินค้าที่ไม่ใช่เครื่องนุ่งห่ม และกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศเริ่มกลับมาดำเนินการได้อีกครั้ง ขณะที่ภาคการผลิตเครื่องนุ่งห่มซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักของกัมพูชามีอัตราการเติบโตที่ช้าลง และภาคอุตสาหกรรมการก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ที่ซบเซา จึงทำให้ AMRO ปรับลดการเติบโตของ GDP ลงเหลือร้อยละ 5.3 จากร้อยละ 5.7 ที่ได้คาดการณ์ไว้ในเดือนกรกฎาคม และร้อยละ 5.9 ในเดือนเมษายนปีนี้

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501362523/amro-revises-down-cambodias-gdp-growth-to-5-3-for-2023/