“เวียดนาม” รั้งตำแหน่งเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับ 3 ของอาเซียน ปี 2570

ตามรายงานล่าสุดของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เปิดเผยว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของเวียดนามจะขยายตัวอย่างมากในช่วง 5 ปีข้างหน้า และขึ้นเป็นอันดับ 3 ในอาเซียนภายในปี 2570 โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาตัวเลขของขนาดเศรษฐกิจอินโดนีเซีย มีมูลค่าสูงถึง 1.29 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ รองลงมาประเทศไทย 522.01 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปีนี้ ขณะที่ประเทศอื่นๆ อาทิเช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์และเวียดนาม มีมูลค่าของ GDP อยู่ที่ 439.37, 424.43, 411.98 และ 408.95 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ ทั้งนี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ คาดการณ์ว่าในช่วงปี 2568-2570 จีดีพีของเวียดนามจะขึ้นเป็นอันดับ 3 ในอาเซียน +6

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/vietnamese-gdp-set-to-rank-third-in-asean-by-2027-2066437.html

5 ประเทศชั้นนำของโลก เข้ามาลงทุนในเวียดนามเท่าไร?

ตามรายงานของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เปิดเผยว่าในปี 2564 สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยมูลค่าของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) เกือบ 22,940 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ รองลงมาจีน 16,863 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ, ญี่ปุ่น เยอรมนีและสหราชอาณาจักร ตามลำดับ โดยทั้ง 5 ประเทศข้างต้นได้เข้ามาลงทุนในเวียดนามมาหลายปีแล้ว หากพิจารณาในช่วงเดือน ม.ค.-ส.ค. 2565 ญี่ปุ่นเป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ที่สุดในเวียดนาม คิดเป็นมูลค่ากว่า 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากจำนวนโครงการใหม่ 123 โครงการ ตามมาด้วยจีนกลายมาเป็นนักลงทุนรายใหญ่อันดับ 2 ในเวียดนาม สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักและเยอรมนี

นอกจากนี้ กระทรวงการวางแผนและการลงทุนของเวียดนาม (MPI) ระบุว่าอุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูปเป็นสาขาการลงทุนที่น่าสนใจที่สุดสำหรับนักลงทุนชาวญี่ปุ่น

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/how-much-do-the-5-largest-economies-invest-in-vietnam-2059410.html

“IMF” ประเมินการเติบโตทางเศรษฐกิจเวียดนามมีทิศทางที่ดี

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ระบุว่าในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ เศรษฐกิจมีการฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว เนื่องจากเวียดนามผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโรค หลังจากปรับตัวให้ใช้ชีวิตร่วมกับโควิด-19 ได้และส่งเสริมการฉีดวัคซีน โดยภาครัฐฯ มีการส่งเสริมมาตรการช่วยเหลือทางด้านเศรษฐกิจและสังคม อาทิ สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำและโครงการของภาครัฐอื่นๆ ประกอบกับภาคอุตสาหกรรมที่มีความแข็งแกร่งและการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและการค้าปลีก ทั้งนี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ คาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจเวียดนาม อยู่ที่ 7% ในปี 2565 อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจยังคงได้รับแรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อ โดยส่วนใหญ่เป็นเพียงบางรายการสินค้า ได้แก่ เชื้อเพลิงและบริการที่เกี่ยวข้อง (การขนส่ง) นอกจากนี้ ราคาผู้บริโภคในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ ปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่ยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่ากรอบเป้าหมายของธนาคารกลางไว้ที่ 4%

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/imf-optimistic-about-vietnams-economic-growth-post968532.vov

เจ้าหน้าที่ IMF มองเวียดนามถูกทางในการผลักดันการปฏิรูปเศรษฐกิจ

สำนักข่าวเวียดนาม (VNA) อ้างผู้เชี่ยวชาญจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ว่าเวียดนามมาถูกทางในการเร่งปฏิรูปเศรษฐกิจ แต่จำเป็นต้องปรับปรุงเพื่อให้สอดคล้องกับการดำเนินงานของรัฐบาลที่มุ่งเน้นไปที่การเติบโตอย่างยั่งยืน ครอบคลุมและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ คุณ Era Dabla-Norris หัวหน้านโยบายเศรษฐกิจการเงินขององค์กร IMF ประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เปิดเผยว่าหนึ่งในความท้าทายสำคัญในการจัดสรรทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ คือความแตกต่างของเศรษฐกิจ ธุรกิจ ภาคส่วนและแรงงาน โดยการแก้ไขปัญหาข้างต้นนั้น จำเป็นต้องมีการปฏิรูปโครงสร้างเพื่อปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและยกระดับศักยภาพ รวมถึงนโยบายเพื่อสร้างความมั่นใจในการแข่งขัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)

ที่มา : https://www.zawya.com/en/world/china-and-asia-pacific/vietnam-on-right-track-in-pushing-economic-reform-imf-official-hcaaps13

“IMF” มองเวียดนามกลายเป็นเศรษฐกิจใหญ่อันดับที่ 5 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เปิดเผยรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (World Economic Outlook) พบว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของเวียดนามในปี 2564 อยู่ที่ 368 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้เวียดนามกลายเป็นเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 5 ในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และจัดอยู่ในอันดับที่ 41 ของโลก โดยสหรัฐอเมริกายังเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุด มีมูลค่า 22,940 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ รองลงมาจีน 16,863 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ รายได้ต่อหัวของคนเวียดนาม อยู่ที่ 3,743 ดอลลาร์สหรัฐต่อคน นอกจากนี้ เมื่อพิจารณารายได้ต่อหัวของคนทั่วโลก พบว่าอันดับ 1 คือ ลักเซมเบิร์ก มี GDP ต่อหัวมากที่สุดในโลก อยู่ที่ 131,302 ดอลลาร์สหรัฐต่อคน รองลงมาไอร์แลนด์ ($102,394) และสวิตเซอร์แลนด์ ($93,515) เป็นต้น ในขณะที่ประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบว่าสิงคโปร์อยู่ในอันดับที่ 1 ของรายได้ต่อหัวมากที่สุด อยู่ที่ 66,263 ดอลลาร์สหรัฐต่อคน รองลงมาคือบรูไน ($33,979), มาเลเซีย ($11,125), ไทย ($7,809) และอินโดนีเซีย ($4,225)

ที่มา : https://en.dangcongsan.vn/daily-hot-news/vietnam-becomes-fifth-largest-economy-in-southeast-asia-imf-598783.html

‘IMF’ คาดการณ์เศรษฐกิจเวียดนามปี 65 โต 6%

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจเวียดนามในปี 2565 ขยายตัว 6% และจะพุ่งขึ้น 7.2% ในปี 2566 ปัจจัยสำคัญที่ทำให้คาดการณ์ในครั้งนี้เป็นผลมาจากการใช้นโยบายให้ปรับตัวร่วมกับการระบาดของโควิด-19 และการประสบความสำเร็จจากการฉีดวัคซีน ควบคุมการระบาด ทั้งนี้ นาง Era Dabla-Norris หัวหน้าคณะทำงานกองทุนการเงินระหว่างประเทศฝ่ายภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ได้เข้าร่วมหารือกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายอาวุโสของธนาคารกลางเวียดนาม (SBV), กระทรวงการคลัง (MOF), สำนักงานวางแผนและการลงทุน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อที่จะปรึกษาหารือเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงการให้คำแนะนำด้านนโยบายเศรษฐกิจ ซึ่งจากข้อมูลของเจ้าหน้าที่ IMF เปิดเผยว่าความขัดแย้งในยูเครน คาดว่าจะส่งผลกระทบการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและเพิ่มแรงกดดันเงินเฟ้อ ถึงแม้ว่าราคาสินค้าสูงขึ้น แต่ภาวะเงินเฟ้อยังสามารถควบคุมได้และอยู่ในระดับต่ำกว่าเป้าหมายที่ 4%

ที่มา : https://hanoitimes.vn/vietnam-forcast-to-achieve-gdp-growth-of-6-this-year-imf-320607.html

 

IMF คาดการณ์เศรษฐกิจกัมพูชาโตร้อยละ 2.2

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของกัมพูชา (GDP) ว่าจะมีการเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 2.2 ในปีนี้ ลดลงจากที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ที่ร้อยละ 4.2 โดยได้รายงานเพิ่มเติมว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชาในอนาคตนั้นขึ้นอยู่กับว่ากัมพูชาจะควบคุมการแพร่ระบาดได้ดีเพียงใด จนสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เดินทางกลับมาท่องเที่ยวในกัมพูชาอีกครั้ง ซึ่งปัจจุบันกัมพูชาได้ทำการเร่งฉีดวัคซีนให้กับประชากรแล้วกว่าร้อยละ 83 ของประชากรทั้งหมดประมาณ 16 ล้านคน โดยตั้งเป้าการกระจายวัคซีนไว้อย่างน้อยร้อยละ 91 ของประชากร ซึ่ง IMF กล่าวเพิ่มเติมอีกว่าการขาดดุลทางการคลังของกัมพูชาคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นเกือบร้อยละ 6 ในปีนี้ เนื่องจากรายรับทางด้านภาษีที่ลดลงและความต้องการใช้จ่ายด้านสุขภาพและความช่วยเหลือทางสังคมที่สูงขึ้น โดยคากว่าหนี้สาธารณะจะปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 36 ของ GDP ซึ่งในปี 2019 ปริมาณหนี้สาธารณะคิดเป็นร้อยละ 29

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50944430/economy-will-grow-2-2-before-recovery-says-imf/

ไทยเฮ!‘IMF’จัดสรรเงินช่วย แนะใช้1.4แสนล้านบ.สู้โควิด

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF มีมติให้จัดสรรเงินจากกองทุน SDRs จำนวนมากถึง 6.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐให้กับประเทศสมาชิก ขณะที่ไทยที่ได้รับเงินจัดสรรด้วยในวงเงินราว 1.4 แสนล้านบาทหรือ 4.4 พันล้านดอลลาร์ ขณที่ รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า รัฐบาลควรหารือกับ ธปท. เพื่อนำเงิน SDRs ที่ได้รับการจัดสรรมาใหม่จำนวนนี้มาใช้ด้านการคลัง โดยมุ่งไปที่การเยียวยาผู้ว่างงานและลงทุนทางการศึกษา การจัดซื้อวัคซีนและการลงทุนทางด้านสาธารณสุข เห็นควรใช้ SDRs ไปแลกกับเงินสกุลหลักเพื่อนำมาจัดซื้อวัคซีน นอกจากเป็นการช่วยเหลือประเทศและประชาชนแล้ว ยังเป็นการช่วยเสริมสภาพคล่องในระบบการเงินโลกอีกด้วย

ที่มา: https://www.naewna.com/business/601657

CLMV รับแรงหนุนที่แตกต่าง หลังเศรษฐกิจโลกฟื้น

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปี 2564 เป็น 6.0% จากเดิมที่ 5.5% สะท้อนมุมมองเชิงบวกต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกอย่างแข็งแกร่งหลังวิกฤตโควิด นำโดยเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างสหรัฐฯ และจีน ซึ่งคาดว่าจะส่งผลบวกต่อกลุ่มประเทศ CLMV ในระดับที่แตกต่างกันตามความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การส่งออก รายได้ส่งกลับของแรงงานในต่างประเทศ การลงทุนโดยตรง (FDI) และการท่องเที่ยว

เวียดนามเป็นประเทศที่ได้รับประโยชน์สูงสุดจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก  จากสัดส่วนการส่งออกที่สูงถึง 104% ของ GDP   โดยมีการผลิตและส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในสัดส่วนสูง นอกเหนือจากอานิสงส์จากรายได้นำส่งกลับของแรงงาน ซึ่งมีสัดส่วนถึง 5.8% ของ GDP

ขณะที่กัมพูชาอาจเป็นอีกประเทศที่ได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของตลาดส่งออกหลักอย่างสหรัฐฯ จีน และยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน เนื่องจากสัดส่วนของการลงทุนโดยตรงสูงถึง 60%​ โดยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและอสังหาริมทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง

ในส่วนของประเทศสปป.ลาว อาจเป็นประเทศใน CLMV ที่โครงสร้างการส่งออกได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกน้อยที่สุด เนื่องจากการส่งออกมีสัดส่วนไม่มากเมื่อเทียบกับขนาดของเศรษฐกิจ    โดยในด้านการลงทุนตรงจากต่างประเทศ น่าจะได้รับอานิสงส์น้อยกว่ากัมพูชา เนื่องจากสัดส่วนการลงทุนตรงมีเพียง 22% 

ขณะที่เมียนมา ปัจจัยการเมืองภายในประเทศน่าจะลดทอนผลบวกจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก   ในขณะที่สัดส่วนการลงทุนตรงโดยรวมอยู่ที่ 13% ต่ำสุดในกลุ่ม CLMV

ในส่วนของภาคการท่องเที่ยว  เนื่องจากประเทศใน CLMV ส่วนใหญ่พึ่งพานักท่องเที่ยวจากจีนและนักท่องเที่ยวในภูมิภาค ซึ่งมีการฉีดวัคซีนล่าช้ากว่าประเทศในตะวันตก ทำให้โอกาสที่จะบรรลุการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในปี 2564 มีไม่มาก ส่งผลให้การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวน่าจะจำกัดเฉพาะนักท่องเที่ยวจากตะวันตก ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 10% ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมดใน CLMV

ที่มา : https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-social-media/Pages/CLMV-FB-28-06-21.aspx

‘IMF’ คง GDP เวียดนามปีนี้ โต 6.5%

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เปิดเผยรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลกว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของเวียดนาม คาดว่าอยู่ที่ 6.5% ในปีนี้ สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 6% จากนั้นจะฟื้นตัวเป็น 7.2% ในปีหน้า ซึ่งตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจดังกล่าว ทำให้เวียดนามเป็นประเทศเศรษฐกิจที่เติบโตได้เร็วเป็นอันดับที่ 2 ในกลุ่มเศรษฐกิจหลัก 5 ประเทศของอาเซียน ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจเวียดนามจะเติบโตในเชิงบวก อัตราการว่างงานลดลงเหลือ 2.7% ในปีนี้ จากระดับ 3.3% ในปีที่แล้ว นอกจากนี้ เศรษฐกิจโลกคาดว่าจะเติบโตที่ 6% สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ สะท้อนให้เห็นถึงมาตรการกระตุ้นทางการคลังเพิ่มเติมในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ และมีแนวโน้มฟื้นตัวจากการใช้วัคซีนในช่วงครึ่งหลังของปีนี้

ที่มา : http://hanoitimes.vn/imf-maintains-vietnam-gdp-growth-forecast-at-65-in-2021-316951.html