กองทรัสต์เกือบ 700 หน่วย เข้าจดทะเบียนในกัมพูชา มูลค่ากว่า 1.22 พันล้านดอลลาร์

จำนวนกองทรัสต์ซึ่งจดทะเบียนในประเทศกัมพูชาเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แสดงให้เห็นว่ากลุ่มกองทรัสต์กำลังได้รับความนิยมในหมู่นักลงทุนต่างชาติมากขึ้น ด้าน Sok Dara ผู้อำนวยการทั่วไปของหน่วยงานกำกับดูแลกองทรัสต์ (TR) เปิดเผยว่า มีกองทรัสต์มากถึงกว่า 683 หน่วย ที่ได้รับการจดทะเบียนกับหน่วยงานกำกับดูแลของกัมพูชา โดยคิดเป็นมูลค่ารวม 1.22 พันล้านดอลลาร์ ณ วันที่ 14 พฤศจิกายนปีนี้ โดยว่า 580 หน่วย ได้รับการจดทะเบียนในภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งการเติบโตอย่างรวดเร็วของภาคส่วนดังกล่าวเกิดขึ้นจากความเชื่อมั่นและความเข้าใจของนักลงทุน โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติตลอดจนความต้องการของภาคการธนาคารในการสนับสนุนการลงทุนของนักลงทุน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501392880/nearly-700-trusts-registered-with-1-22-billion/

นักลงทุนจีนจ่อลงทุนจัดตั้งโรงงานผลิตยางรถยนต์มูลค่า 500 ล้านดอลลาร์ ในกัมพูชา

นักลงทุนจีนเข้าลงทุนจัดตั้งโรงงานผลิตยางรถยนต์มูลค่า 500 ล้านดอลลาร์ โดยนับเป็นโรงงานผลิตยางรถยนต์แห่งที่ 4 ในกัมพูชา หลังจากสภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา (CDC) อนุมัติโครงการลงทุนดังกล่าว ด้านนายกฯ ฮุน มาเน็ต กล่าวเสริมว่าการมีโรงงานผลิตยางรถยนต์ภายในประเทศจะเป็นส่วนช่วยให้ภาคเกษตรกรรม อย่างในฝั่งของเกษตรกรผู้เพาะปลูกยางพาราในกัมพูชา ไม่จำเป็นต้องส่งออกยางไปยังตลาดต่างประเทศเนื่องจากนำมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตยางรถยนต์ภายในประเทศ รวมถึงนายกฯ ยังได้ขอให้สถาบันซึ่งเกี่ยวข้องกับภาคเอกชน และสมาคมยางกัมพูชา จัดทำกลไกประสานการแก้ไขปัญหาทางเทคนิคและปัญหาการเพาะปลูก เพื่อให้แน่ใจว่าห่วงโซ่อุปทานการผลิตยางรถยนต์ภายในประเทศกัมพูชาจะสมบูรณ์แบบ สำหรับในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ กัมพูชาส่งออกยางแห้งปริมาณกว่า 242,304 ตัน ส่วนใหญ่ส่งออกไปยังมาเลเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ และจีน สร้างรายได้เข้าประเทศราว 320 ล้านดอลลาร์ ตามการรายงานของ General Directorate of Rubber (GDR) ปัจจุบันกัมพูชามีสวนยางพาราครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด 404,578 เฮกตาร์ ซึ่งร้อยละ 78 ของพื้นที่พร้อมที่จะให้ผลผลิตน้ำยางดิบ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501392268/cambodia-to-get-500m-chinese-tyre-factory/

สนามบินเสียมราฐ-อังกอร์ ตั้งเป้าต้อนรับนักท่องเที่ยว 12 ล้านคน ภายในปี 2040

ท่าอากาศยานนานาชาติเสียมราฐ-อังกอร์ (SAI) ตั้งเป้าให้การต้อนรับนักท่องเที่ยว 12 ล้านคน ภายในปี 2040 โดยท่าอากาศยานดังกล่าวมีท่าเทียบเครื่องบินในปัจจุบัน 38 ท่าเทียบ สามารถรองรับผู้โดยสารได้ราว 7 ล้านคนต่อปี ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 12 ล้านคนในปี 2040 ขณะที่ปริมาณการขนส่งสินค้าทางอากาศต่อปีอยู่ที่ 10,000 ตันต่อปี และจะเพิ่มขึ้นเป็น 26,000 ตันต่อปี หลังจากทางการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภายในสนามบินแล้วเสร็จ โดยสนามบิน SAI ตั้งอยู่ห่างจากสนามบินเสียมราฐประมาณ 35 ไมล์ ห่างจากนครวัดเพียง 10 นาที หากเดินทางด้วยรถยนต์ ซึ่งปัจจุบันมีสายการบิน 8 แห่ง ให้บริการเชื่อมการเดินทางมายังสนามบินดังกล่าว

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501392258/new-siem-reap-airport-eyes-12-million-flyers-by-2040/

ภาคการท่องเที่ยวอาเซียนผนึกกำลังภาคการขนส่ง ดันการเติบโตภาคนักท่องเที่ยว

การประชุมระหว่างคณะรัฐมนตรีการท่องเที่ยวอาเซียนและรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมของอาเซียน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ณ กรุงพนมเปญ นำโดย Sok Soken รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวกัมพูชา ได้มีฉันทามติในประเด็นเร่งด่วนร่วมกันในการสนับสนุนความร่วมมือของภาคการท่องเที่ยวและการขนส่งของอาเซียน ในการผลักดันให้ภาคการท่องเที่ยวอาเซียนกลับมาเติบโตอีกครั้งหลังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด รวมถึงมีความพยายามที่จะเพิ่มการไหลเวียนด้านการเดินทางของนักท่องเที่ยวภายในกลุ่มประเทศอาเซียน สำหรับทางการกัมพูชาให้ความสำคัญกับการปรับใช้กลยุทธ์เพื่อขับเคลื่อนภาคการท่องเที่ยว ให้กลายมาเป็นเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจที่สำคัญ รวมถึงผลักดันให้ภาคสังคมเกิดการเติบโตด้วยการเพิ่มโอกาสการจ้างงานสร้างรายได้ โดยปัจจุบันนักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่มสำคัญมาจากสหภาพยุโรป ซึ่งมีปริมาณนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 80 และนักท่องเที่ยวจากกลุ่มชาติเอเชียเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 60 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2019 ก่อนเกิดการแพร่ระบาด สร้างรายได้เข้าประเทศกว่า 239.60 ล้านดอลลาร์ โดยมีอัตราการเติบโตต่อปี (CAGR 2023-2027) ที่เฉลี่ยร้อยละ 10.34 ซึ่งคาดว่ามูลค่าจะปรับเพิ่มขึ้นสู่ 355.20 ล้านดอลลาร์ ภายในปี 2027

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501391621/asean-tourism-joins-forces-with-transport-sector-to-boost-numbers/

นายกฯ ฮุน มาเน็ต โปรโมทโครงการ ‘Visit Siem Reap 2024’ หนุนการท่องเที่ยวกัมพูชา

นายกรัฐมนตรีฮุน มาเน็ต ประกาศโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยว ‘Visit Siem Reap 2024’ ซึ่งคาดว่าจะช่วยส่งเสริมภาคเอกชนด้านการท่องเที่ยว ผ่านมาตรการจูงใจด้านภาษีและการอำนวยความสะดวกด้านการเดินทางของนักท่องเที่ยว โดยนายกฯ ได้ประกาศไว้ในระหว่างการกล่าวปาฐกถาพิเศษในการประชุมภาครัฐ-เอกชน (G-PSF) ครั้งที่ 19 ซึ่งการออกมาโปรโมทในครั้งนี้ถือเป็นการกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวภายในพื้นที่จังหวัดเสียมราฐ ด้วยการที่จังหวัดมีสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญอย่างอุทยานโบราณคดีอังกอร์ ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกโดย UNESCO ขณะที่นายกฯ ยังได้วางแผนที่จะสนับสนุนภาคธุรกิจด้วยการให้ธนาคารและสถาบันการเงิน ปรับโครงสร้างสินเชื่อที่ให้แก่ผู้ประกอบด้านการท่องเที่ยวและนักลงทุนในภาคการบริการ ให้เข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น โดยปัจจุบันได้มีการจัดสรรเงินทุนให้กับภาคดังกล่าวไปแล้วกว่า 50 ล้านดอลลาร์ ในการฟื้นฟูหลังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501391623/pm-announces-visit-siem-reap-2024-initiative/

จีนพร้อมสนับสนุนภาคพลังงานกัมพูชา

ทางการกัมพูชาพร้อมตอบสนองต่อความต้องการด้านพลังงานภายในประเทศ ภายใต้การร่วมมือของนักลงทุนจีน โดยเฉพาะการช่วยลดต้นทุนการบริโภคพลังงานของภาคครัวเรือนกัมพูชาซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 0.25 ดอลลาร์ต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง ซึ่งสูงกว่ามากเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน อย่างประเทศไทยมีต้นทุนต่อกิโลวัตต์ชั่วโมงอยู่ที่ 0.139-0.141 ดอลลาร์ต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง และเวียดนามโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 0.073-0.078 ดอลลาร์ต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง สิ่งนี้พิสูจน์แล้วว่ากัมพูชามีต้นทุนทางด้านพลังงานที่สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน แต่ด้วยความพยายามของรัฐบาลในการปรับปรุงภาคพลังงานได้เริ่มดำเนินโครงการไว้ตั้งปี 2018 ด้วยการเปิดตัวโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาด 400 เมกะวัตต์ “Lower Sesan 2” ในจังหวัดสตึงแตรง ภายใต้เงินทุนสนับสนุนจาก China Hwaneng Group จับมือร่วมกับ Royal Group ด้วยเม็ดเงินลงทุนกว่า 800 ล้านดอลลาร์ ในการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำครอบคลุมกำลังการผลิตคิดเป็นกว่าร้อยละ 51 ของกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดของกัมพูชา

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501391160/china-proves-godsend-for-cambodias-energy-sector/

ส่งออกกัมพูชาโตแตะ 18.5 พันล้านดอลลาร์ ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2023

กรมศุลกากรและสรรพสามิตกัมพูชา (GDCE) รายงานสถานการณ์การส่งออกของประเทศมีมูลค่ารวมสูงถึง 18.59 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว สำหรับสินค้าส่งออกหลักของกัมพูชา ได้แก่ เครื่องแต่งกาย รองเท้า สินค้าเพื่อการท่องเที่ยว จักรยาน และสินค้าเกษตร เป็นสำคัญ โดยเน้นการส่งออกไปยังตลาดหลักอย่าง สหรัฐฯ เวียดนาม จีน ไทย และญี่ปุ่น ซึ่งกัมพูชาส่งออกสินค้าไปยัง สหรัฐฯ มากที่สุดที่มูลค่าการส่งออกรวม 7.49 พันล้านดอลลาร์ ลดลงเล็กน้อยละ 1.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ด้านการส่งออกไปยังเวียดนามเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 40 หรือคิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 2.26 พันล้านดอลลาร์ ในขณะที่การส่งออกไปยังจีนเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.3 คิดเป็นมูลค่า 1.17 พันล้านดอลลาร์ ตามรายงานของ GDCE โดยส่วนใหญ่ใช้ประโยชน์จากข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) และข้อตกลงการค้าเสรีกับจีนและเกาหลี ที่เริ่มมีผลบังคับใช้นับตั้งแต่ปี 2022 เป็นต้นมา ซึ่งถือว่ามีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมากในการส่งเสริมภาคการผลิตในประเทศ และมีส่วนสำคัญในการดึงดูดการลงทุนใหม่ๆ จากต่างประเทศ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501391190/cambodias-exports-reach-18-5b-in-10-months/