Heinken Vietnam เพิ่มทุน 70 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายโรงงานในจังหวัดบ่าเหรี่ยะ-หวุงเต่า

ทางหน่วยงานจังหวัดบาเหรี่ยะ-หวุงเต่าอนุญาติให้บริษัทเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมอย่าง Heinken Viet Nam Brewery ได้เพิ่มเงินทุนจาก 312.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขึ้นมาเป็น 381.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ด้วยการเพิ่มเงินทุนดังกล่าว บริษัทคาดว่ากำลังการผลิตจะเพิ่มสูงขึ้นอยู่ในระดับ 1.1 พันล้านลิตรในปี 2563 ทั้งนี้ ในต้นปี 2563  ทางจังหวัดได้ออกใบอนุญาตการลงทุนอีกหลายโครงการ รวมไปถึงโครงการที่มาจากญี่ปุ่น “Seiko PMC Corporation” (28 ล้านดอลลาร์สหรัฐ), SeAH M&H Vietnam (35.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และ Arakawa Chemical Industries (45.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) นอกจากนี้ ในปีที่แล้ว จังหวัดมีโครงการลงทุนใหม่ 108 โครงการ และโครงการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ 49 โครงการ ด้วยมูลค่าการลงทุน 623 ล้านดอลลาร์สหรัฐและโครงการลงทุนภายในประเทศ 59 โครงการ ด้วยมูลค่าการลงทุน 566 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยในปีนี้ จังหวัดบาเหรี่ยะ-หวุงเต่าจะอนุญาติโครงการที่ดำเนินงานอยู่ 40 โครงการ ให้สามารถเพิ่มเงินลงทุนอยู่ที่ 524 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/heineken-vietnam-invests-additional-70-million-usd-in-vung-tau-factory/168247.vnp

ทิศทางส่งออกกุ้งเวียดนามปี 63 เติบโตได้ดี

จากข้อมูลของสมาคมผู้ส่งออกและผู้ผลิตอาหารทะเลเวียดนาม (VASEP) เปิดเผยว่ามูลค่าส่งออกอาหารทะเลปีที่แล้ว อยู่ที่ 3.36 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 5.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา แม้ว่าการส่งออกลดลง แต่ในปัจจุบันน่าจะกลับมาขยายตัวเป็นบวกจากการส่งออกไปยังผู้นำเข้ารายใหญ่ในปีนี้ ซึ่งในปีที่แล้ว พบว่ายอดส่งออกกุ้งขาวแปซิฟิก (White Leg Shrimp) อยู่ที่ 2.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 3.4 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 70.1 ของมูลค่าส่งออกกุ้งรวมทั้งสิ้น ทั้งนี้ มูลค่าส่งออกกุ้งกุลาดำและกุ้งประเภทอื่นๆ มีส่วนแบ่งส่งออกกุ้งทั้งหมดร้อยละ 15.9 และ 9.4 ตามลำดับ สำหรับตลาดจีนมีความเข็มงวดในด้านคุณภาพสินค้าและการตรวจสอบถิ่นกำเนิดสินค้าย้อนหลังที่ผ่านตามเขตชายแดน รวมไปถึงสถานการณ์ของสงครามการค้าสหรัฐ-จีน ที่มีความไม่แน่นอน นอกจากนี้ ในปี 62 สหภาพยุโรปยังคงเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 20.5 ของมูลค่าการส่งออกกุ้งทั้งหมด ด้วยมูลค่า 689.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 17.7 เมื่อเทียบกับปี 61 ซึ่งในปีนี้การส่งออกกุ้งจะฟื้นตัวจากปัจจัยหลายประการ ได้แก่ ภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดสหรัฐที่เรียกเก็บสำหรับการนำเข้าสินค้ากุ้งจากเวียดนามร้อยละ 0 ขณะที่ ข้อตกลงการค้าเสรีเวียดนาม-สหภาพยุโรป (EVFTA) ที่มีผลบังคับใช้เดือนมิ.ย.63 จะส่งผลให้เวียดนามส่งออกกุ้งไปยังตลาดสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้น

ที่มา : https://english.vov.vn/economy/shrimp-exports-expected-to-enjoy-fruitful-advantages-throughout-2020-409701.vov

จังหวัดเตี่ยงยางตั้งเป้าส่งออกปี 63 แตะ 3.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

จังหวัดเตี่ยงยางตั้งอยู่ในบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ตั้งเป้าหมายมูลค่าการส่งออกปี 63 อยู่ที่ 3.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.8 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ซึ่งผู้อำนวยของกรมอุตสาหกรรมและการค้าประจำจังหวัด ระบุว่าด้านการผลิตและการส่งออกในปีนี้จะราบรื่น เนื่องมาจากหน่วยงานรัฐบาลและกระทรวงที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันแก้ปัญหา/อุปสรรคในการทำธุรกิจ รวมถึงส่งเสริมสตาร์ทอัพและนวัตกรรม ทั้งนี้ จากข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่มีผลบังคับใช้ ส่งผลให้จังหวัดดังกล่าวดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเพิ่มขึ้นและเปิดโอกาสให้การส่งออกเติบโตด้วย ดังนั้น ทางหน่วยงานจังหวัดจึงได้กำหนดแนวทางพัฒนากระบวนการผลิตและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจในท้องถิ่น รวมไปถึงส่งเสริมสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการทำธุรกิจและขยายตลาดเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ จากรายงานของคณะกรรมการประชาชนประจำจังหวัด ระบุว่าในปี 63 มูลค่าส่งออกของจังหวัดมากกว่า 178 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยสินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ ข้าว ผักผลไม้ เป็นต้น

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/591878/tien-giang-sets-export-target-of-34-billion-in-2020.html

บริษัทอุตสาหกรรมและการแปรรูปเวียดนาม คาดว่าผลผลิตจะเพิ่มสูงขึ้นและมีเสถียรภาพ

สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) ทำการสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการอุตฯและแปรรูปเวียดนาม 6,500 ราย ในช่วงไตรมาสที่ 4/2562 พบว่าผู้ประกอบการร้อยละ 46.9 คาดว่าผลผลิตจะเติบโตสูงขึ้นและร้อยละ 37.9 เชื่อว่าการดำเนินงานธุรกิจยังคงเหมือนเดิมกับไตรมาสที่ 1 – 4 ของปีที่แล้ว ซึ่งในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 ผู้ประกอบการร้อยละ 55.3 และ 34.0 คาดว่าการดำเนินงานจะขยายตัวและมีเสถียรภาพ ตามลำดับ เมื่อเทียบช่วงครึ่งหลังของปีที่แล้ว ขณะเดียวกัน บริษัท FDI ส่วนใหญ่ร้อยละ 87.9 มองว่าในเดือนม.ค.-มี.ค. มีการเติบโตและเสถียรภาพได้ดีขึ้น รองลงมารัฐวิสาหกิจ (85.2%) และกิจการที่ไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ (83.5%) ทั้งนี้ ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 ผู้ประกอบการอุตฯและแปรรูปส่วนใหญ่ร้อยละ 84.8 มองว่าการผลิตจะขยายตัวและมีความมั่งคงเพิ่มสูงขึ้น

ที่มา : https://english.vov.vn/economy/most-processing-manufacturing-companies-expect-production-growth-stability-409639.vov

เวียดนามเผยปี 62 ส่งออกข้าวไปฟิลิปปินส์เพิ่มขึ้น

จากรายงานของกรมศุลกากรเวียดนาม (GDC) เปิดเผยว่าในปี 2562 เวียดนามส่งออกข้าวไปยังฟิลิปปินส์ 884.94 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 92.58 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว สำหรับมูลค่าการส่งออกทั้งหมดไปยังฟิลิปปินส์อยู่ที่ 3.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.63 เมื่อเทียบกับปี 2561หากจำแนกรายการสินค้าส่งออกที่มีมูลค่ามากกว่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ได้แก่ คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (+1.88% คิดเป็นมูลค่า 189.68 ล้านดอลลาร์สหรัฐ), กาแฟ (+9.4%), อาหารทะเล (+1.94%) และเสื้อผ้า (+3.53%) เป็นต้น ทั้งนี้ ข้าวมีส่วนแบ่งการส่งออกในตลาดฟิลิปปินส์ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 23.73 ของมูลค่าส่งออกทั้งหมดไปยังต่างประเทศ ซึ่งจากตัวเลขสถิติ พบว่าในปีที่แล้ว มูลค่าส่งออกข้าวของเวียดนามลดลงอยู่ที่ 2.76 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 3 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว เนื่องมาจากราคาข้าวในตลาดโลกลดลง แต่ในส่วนของปริมาณส่งออกข้าวอยู่ที่ประมาณ 6.3 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/rice-exports-to-philippines-in-2019-surge/168177.vnp

‘กรมวิชาการเกษตร’ เคลียร์เส้นทางส่งออกผลไม้ไทย มะพร้าวอ่อนเนื้อหอมสุดเตรียมรุกตลาดเวียดนาม

นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ในช่วงระหว่างวันที่ 3 -7 กุมภาพันธ์ 2563 นี้ ได้นำคณะเจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตรและสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เดินทางไปสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม โดยได้เข้าพบนายธานี แสงรัตน์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงฮานอย เพื่อหารือและเตรียมการสำหรับการส่งออกผลไม้ไทยไปจีนในฤดูกาลผลิตและส่งออกผลไม้ในปี 2563 ผ่านประเทศเวียดนาม ซึ่งทางเวียดนามมีความต้องการนำเข้ามะพร้าวอ่อนจากไทย จากข้อมูลการส่งออกผลไม้ไทยทั้งสดและอบแห้งไปยังเวียดนามในปี 2562 พบว่ามีมูลค่ากว่า 26,000 ล้านบาท ทั้งนี้ วัตถุประสงค์ในการหารือดังกล่าวเพื่อแก้ไขปัญหาที่พบระหว่างการขนส่งสินค้าผลไม้สดไปจีนโดยผ่านประเทศที่สาม และเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการที่ส่งออกผลไม้สดไปจีน เนื่องจากในการส่งออกผลไม้สดจากไทยไปจีนนิยมขนส่งไปทางบก ขณะนี้ กรมวิชาการเกษตรและมกอช.อยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อขอให้จีนอนุญาตการขนส่งผลไม้สดผ่านเส้นทางที่มีศักยภาพนอกเพิ่มเติมจากเส้นทางเดิมที่ไทยและจีนมีพิธีสารร่วมกันในปัจจุบัน ได้แก่ เส้นทาง R3A และ R9 เป็นต้น โดยในระหว่างนี้ กรมวิชาการเกษตรจะตรวจสอบและควบคุมให้สินค้าผลไม้สดจากไทยที่ส่งออกไปจีนเป็นไปตามเงื่อนไขในพิธีสารดังกล่าวและสอดคล้องกับเงื่อนไขการนำเข้าของจีนอย่างเคร่งครัด

ที่มา : https://www.matichon.co.th/economy/news_1943719