เอกชนไทย–ลาวเดินหน้าขยายโอกาสการค้า ลงทุน ท่องเที่ยว

ประธานกรรมการหอการค้าไทยเผยเอกชน ไทย-สปป.ลาว เดินหน้าขยายโอกาสการค้า ลงทุน ท่องเที่ยว เสนอรัฐเร่งเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจทุกมิติของ 2 ประเทศ เพื่อให้การค้าการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นในอนาคต นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในโอกาสที่ ฯพณฯ พันคำ  วิพาวัน นายกรัฐมนตรี สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 1-2 มิถุนายน 2565 ถือเป็นโอกาสที่สำคัญอย่างยิ่งที่ผู้นำของทั้งสองประเทศจะได้กระชับความสัมพันธ์ และร่วมกำหนดวิสัยทัศน์ในการขับเคลื่อนความสัมพันธ์ไทย-สปป.ลาว ให้ก้าวหน้าต่อไป โดยเฉพาะในบริบทการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากสถานการณ์โรคติดเชื้อโควิด-19 และการเสริมสร้างความเข้มแข็งในการรับมือกับความผันผวนของสถานการณ์ระหว่างประเทศในปัจจุบัน

ที่มา : https://tna.mcot.net/business-953320

Q1 การค้าระหว่าง กัมพูชา-ฮังการี พุ่งแตะ 2.23 ล้านดอลลาร์

ฮังการีถือเป็นหนึ่งในตลาดส่งออกสำคัญของกัมพูชา โดยมีมูลค่าการค้าระหว่างกัมพูชาสูงถึง 2.23 ล้านดอลลาร์ ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2022 รายงานโดย Ok Bung ซึ่งปัจจุบันรักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวเสริมว่ากัมพูชาพยายามปรับตัวอย่างหนักเพื่อที่จะใช้ชีวิตร่วมกับโควิด-19 ในรูปแบบชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) ทั้งในด้านการค้าและการลงทุน ที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประเทศ ด้านเอกอัครราชทูตฮังการีแสดงความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าที่จะกระชับความสัมพันธ์อันดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการค้า รวมถึงยังคงจะให้การสนับสนุนนักธุรกิจและนักลงทุนชาวฮังการีมองหาโอกาสในการทำธุรกิจในกัมพูชาในระยะถัดไป

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501084662/cambodia-hungary-trade-at-2-23-million-for-q1/

รัฐบาลสั่งดำเนินการอำนวยความสะดวกทางการค้า กระตุ้นการขนส่งและการส่งออก

รองนายกรัฐมนตรีและประธานคณะกรรมการที่ดูแลการอำนวยความสะดวกทางการค้า ลงนามคำสั่งมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ปรับปรุงขั้นตอนเพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าและเร่งรัดการขนส่งสินค้าและการส่งออกสินค้า เช่น ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ไม้และผลิตภัณฑ์จากป่าที่ไม่ใช่ไม้ และแร่ธาตุ ดร.ซนไซ สิภาโดน แนะนำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดกฎระเบียบที่ชัดเจนและคล่องตัว เพื่อลดขั้นตอนที่เกี่ยวข้องทั้งหมดและลดการใช้จ่าย ซึ่งจะทำให้การขนส่งสินค้าเร็วขึ้น อย่างไรก็ตาม การขนส่งพืชผลทางการค้า เช่น ข้าว กาแฟ ถั่ว มันสำปะหลัง ข้าวโพดหวาน ผลไม้ และผัก ไม่จำเป็นต้องให้ผู้ขนส่งต้องขออนุญาตจากทางการอีกต่อไป ซึ่งหมายความว่าสามารถขนส่งผลิตภัณฑ์เหล่านี้ได้โดยไม่ต้องขออนุญาต เพื่อความคล่องตัว การปรับปรุงวิธีการและกฎระเบียบต่างๆ เป็นไปเพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพในการค้าสอดรับกับการเติบโตของประเทศและการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Govt99.php

กัมพูชา-เกาหลี ร่วมหารือพัฒนาศักยภาพภาคการค้าระหว่างกัน

กัมพูชาและสาธารณรัฐเกาหลีได้หารือร่วมกันถึงศักยภาพทางการค้าระหว่างทั้งสองประเทศ โดยการอภิปรายเกิดขึ้นระหว่าง Pan Sorasak รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และ Gyuhwa Jang รองประธานสมาคมผู้นำเข้าแห่งเกาหลี (KOIMA) และคุณ Yu Lin ประธานบริษัท GADOSH Korea Co., Ltd. บริษัทนำเข้ามะม่วงรายสำคัญของกัมพูชา ด้านรัฐมนตรีกล่าวถึงความพร้อมของกระทรวงในการสนับสนุนและอำนวยความสะดวกให้กับนักธุรกิจในการทำธุรกิจในกัมพูชา และสนับสนุนให้ฝ่ายเกาหลีศึกษาความเป็นไปได้ในการนำเข้าผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่มีศักยภาพอื่นๆ ของกัมพูชา เช่น ลำไยและกล้วย โดยยังแนะนำให้นักลงทุนเกาหลีลงทุนในการสร้างโรงงานแปรรูปสินค้าทางการเกษตรเพื่อส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศอีกด้วย

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501069705/cambodia-korea-discuss-trade-potential/

เปิดจุดผ่านแดน ไทย-กัมพูชา กระตุ้นการค้าและการท่องเที่ยว

หลังจากที่รัฐบาลไทยอนุญาตให้เปิดพรมแดนกับกัมพูชาอีกครั้ง ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม ที่ผ่านมา โดยสมาคมและบริษัทเอกชนหลายแห่งในภาคการท่องเที่ยวของกัมพูชา ไทย และเวียดนาม ได้ร่วมมือกันวางแผนกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวอีกครั้ง ซึ่งในต้นเดือนพฤษภาคม สมาคมการท่องเที่ยวเอเชียแปซิฟิก (PATA) นำโดย Thuon Sinan นายกสมาคม ได้ร่วมกันประชุมแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาทำความเข้าใจเกี่ยวกับขึ้นตอนการเดินทาง ตลอดจนการจัดทำเอกสาร ณ จุดผ่านแดนทั้งฝั่งกัมพูชาและไทย หลังไทยผ่อนคลายเงื่อนไขการข้ามพรมแดน ซึ่งได้กำหนดผู้เดินทางไว้ 3 ประเภท คือ ผู้เดินทางที่ได้รับวัคซีนแล้ว ผู้เดินทางที่ยังไม่ได้รับวัคซีน และ ผู้เดินทางที่อาศัยอยู่ในจังหวัดชายแดนและถือบัตรผ่านแดน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501069719/opening-of-the-cambodian-thai-border-boosts-tourism/

ไตรมาส 1 การค้ากัมพูชาพุ่ง หลังคุมโควิดได้ ร่วมกับ FTA

การจัดการกับวิกฤตการณ์โควิด-19 ของรัฐบาลกัมพูชาอย่างมีประสิทธิภาพ และการมีข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ของกัมพูชา ถือเป็นส่วนช่วยสำคัญ ในการเพิ่มปริมาณการค้าระหว่างประเทศของกัมพูชาในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ โดยการค้าระหว่างประเทศของกัมพูชา ณ ไตรมาส 1 อยู่ที่ 13.1 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามรายงานล่าสุดของกรมศุลกากรและสรรพสามิต (GDCE) ซึ่งการส่งออกมีมูลค่าถึง 5.7 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.7 และการนำเข้ามีมูลค่า 7.4 พันล้านดอลลาร์ ลดลงเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.9 โดยจีนยังคงเป็นคู่ค้ารายสำคัญของกัมพูชา ซึ่งมีมูลค่าการค้าระหว่างกัมพูชาอยู่ที่ 2.87 พันล้านดอลลาร์ ในไตรมาสแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับปีก่อน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501060030/cambodias-q1-trade-jumps-on-covid-19-handling-ftas/

การค้า กัมพูชา-ไทย ในช่วง 2 เดือนแรก แตะ 1.3 พันล้านดอลลาร์

การค้าระหว่างกัมพูชาและไทยในช่วงสองเดือนแรกของปีนี้ คิดเป็นมูลค่ากว่า 1.3 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยกัมพูชานำเข้าสินค้าจากไทยมูลค่าอยู่ที่ 1.12 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ตามรายงานทางสถิติอย่างเป็นทางการของกระทรวงพาณิชย์ของประเทศไทย ซึ่งสินค้าส่งออกหลักของกัมพูชาไปยังประเทศไทย ได้แก่ สิ่งทอ สินค้าเกษตร อัญมณี วัตถุดิบ และผลิตภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูป ในขณะที่สินค้านำเข้าสำคัญจากไทย ได้แก่ ปลา เนื้อสัตว์ ผัก รถยนต์ ปุ๋ยอินทรีย์ อาหาร และวัสดุก่อสร้าง โดยทั้งสองประเทศตั้งเป้าหมายทางด้านการค้าทวิภาคีไว้ที่ 15 พันล้านดอลลาร์ภายในปี 2023

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501054340/cambodia-thailand-jan-feb-trade-tops-1-3-billion/

กัมพูชา-สิงคโปร์ ร่วมส่งเสริมการค้าทวิภาคี

กัมพูชา-สิงคโปร์ ร่วมหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับความพยายามในการฟื้นฟูวิกฤตหลังวิกฤตโควิด-19 และความคืบหน้าของการตอบสนองของอาเซียนต่อวิกฤตโควิด-19 ไปจนถึงการส่งเสริมการค้าทวิภาคีระหว่างกัน โดยกัมพูชาและสิงคโปร์ยืนยันอีกครั้งถึงความมุ่งมั่นในการเสริมสร้างความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและสิงคโปร์มีมูลค่าสูงถึง 4.2 พันล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว ในด้านการลงทุนของสิงคโปร์ในกัมพูชาระหว่างปี 1994-2020 มีมูลค่ารวมกันอยู่ที่ 1.29 พันล้านดอลลาร์ โดยสิงคโปร์นำเข้าสินค้าทางการเกษตรจากกัมพูชาเพิ่มขึ้น รวมไปถึงพริกไทย น้ำตาลปี๊บ มะม่วง และข้าวสาร เป็นสำคัญ ในขณะที่การนำเข้าของกัมพูชาจากสิงคโปร์ ได้แก่ น้ำมัน เครื่องจักร อาหารและเครื่องดื่ม กระดาษ อัญมณี และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501042016/cambodia-singapore-to-further-boost-bilateral-trade/

“เวิลด์แบงก์” ประเมินเวียดนามได้รับผลประโยชน์ทางการค้าและรายได้มากที่สุดในสมาชิก RCEP

ตามรายงานของธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) เปิดเผยว่าได้ทำการวิเคราะห์ผลกระทบจากการเข้าร่วมสมาชิกของเวียดนามจากความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) โดยพิจารณาแบบจำลองจาก 4 ปัจจัยที่สะท้อนให้ทราบถึงสถานะของธุรกิจ 1) การปรับลดภาษีของกลุ่ม RCEP เพียงข้อตกลงการค้าฉบับเดียวเท่านั้น 2) ลดอัตราภาษีศุลกากรและมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี อาทิ การลดภาษีสินค้าเกษตร 35%,  สินค้าอุตสาหกรรม 25% และบริการ 25% 3) ต้นทุนการค้าระหว่างสมาชิกลดลง 1% ในช่วงปี 2565-2578 4) ผลผลิตเพิ่มขึ้นจากการเปิดกว้างทางการค้าและต้นทุนการค้าที่ลดลง ดังนั้น ผลจากการวิเคราะห์ พบว่ารายได้และการค้าที่แท้จริงของเวียดนามขยายตัวได้ดี ตลอดจนได้รับผลประโยชน์สูงสุดในสมาชิก RCEP รายได้ที่ทแจริงเพิ่มขึ้น 4.9% เมื่อเทียบกับระดับพื้นฐาน

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnam-to-get-highest-trade-income-gains-among-rcep-members-wb-post926211.vov

‘เวิลด์แบงก์’ เผยเวียดนามคงเกินดุลการค้าในช่วงต้นปี 65

ตามรายงาน “Vietnam Macro Monitoring” ของธนาคารโลก (World Bank) เปิดเผยว่าภาวะการค้าของเวียดนามยังคงเกินดุลการค้า ถึงแม้ว่าการส่งออกมีแนวโน้มชะลอตัว ในส่วนของภาคการผลิตอุตสาหกรรมนั้น ยังคงเติบโตเป็นบวก แม้ในอัตราการเติบโตจะชะลอตัว ในขณะที่ยอดค้าปลีกมีทิศทางที่เป็นบวกเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงปลายเดือน เม.ย.64 ในอีกด้านหนึ่ง การดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในเดือน ม.ค. มีมูลค่า 2.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 4.2%YoY โดยได้รับแรงสนับสนุนมาจากการเพิ่มเม็ดเงินลงทุนจำนวนมากไปยังโครงการปัจจุบันและผ่านการควบรวมกิจการ นอกจากนี้ ราคาพลังงานปรับตัวพุ่งสูงขึ้น ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เพิ่มขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ราคาอาหารยังคงอยู่ในระดับทรงตัวหรือไม่เปลี่ยนแปลง เนื่องจากมีการควบคุมเงินเฟ้อ

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnamese-trade-balance-remains-in-surplus-in-early-2022-post924758.vov