กระทรวงพาณิชย์กัมพูชามุ่งมั่นส่งเสริมภาคการค้าระหว่างไทย

กระทรวงพาณิชย์กัมพูชา (MoC) มุ่งมั่นที่จะปรับปรุงความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนในระดับทวิภาคีระหว่างไทย ด้วยการดึงดูดการลงทุนใหม่ๆ เข้ามายังกัมพูชา หวังเพิ่มปริมาณการค้าระหว่างทั้งสองประเทศ โดยคำกล่าวนี้เกิดขึ้นระหว่างงานสัมนา ‘การจับคู่ธุรกิจกัมพูชา-ไทย’ ซึ่งจัดโดยสมาคมผู้ประกอบการเยาวชนกัมพูชาเพื่อการพัฒนา (CYEAD) เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (28 ต.ค.) ณ กรุงพนมเปญ นำโดย Cham Nimul รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กัมพูชา โดยมีเจ้าหน้าที่รัฐบาลกัมพูชา เจ้าหน้าที่จากสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกัมพูชา และนักธุรกิจและนักลงทุนชาวไทยเข้าร่วมงาน สำหรับการค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและไทยในช่วงเดือนมกราคม-สิงหาคมของปีนี้ มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 2.58 พันล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 19.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามรายงานของกรมศุลกากรและสรรพสามิตกัมพูชา คิดเป็นการส่งออกของกัมพูชามูลค่า 646 ล้านดอลลาร์ไปยังไทย เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4 ในขณะที่การนำเข้าสินค้าจากไทยลดลงร้อยละ 25.8 เหลือมูลค่า 1.93 พันล้านดอลลาร์ ภายในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งสินค้าส่งออกหลักของกัมพูชาไปยังประเทศไทย ได้แก่ สิ่งทอ สินค้าเกษตร อัญมณี วัตถุดิบ และผลิตภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูป สำหรับสินค้านำเข้าของกัมพูชาจากประเทศไทย ได้แก่ ปลา เนื้อสัตว์ ผัก รถยนต์ ปุ๋ยอินทรีย์ อาหาร และวัสดุก่อสร้าง เป็นสำคัญ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501383488/moc-committed-to-boosting-trade-ties-with-thailand/

ทางการกัมพูชาหวังดึงนักลงทุนจีนเข้าลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานในประเทศ

ทางการกัมพูชาพร้อมดันโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งจะอำนวยความสะดวกโดยรัฐบาลแห่งชาติ ผ่านการสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่งเพื่อเอื้อต่อภาคการลงทุนภายในประเทศ หวังดึงดูดการลงทุนของจีนมายังกัมพูชาเพิ่มขึ้น ตามคำกล่าวของ Sun Chanthol รองนายกรัฐมนตรีและรองประธานสภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา (CDC) ในระหว่างการประชุมความร่วมมือจีน-กัมพูชา ประจำปี 2023 ณ ประเทศจีน โดยงานนี้จัดขึ้นโดย Global Logistic Alliance (GLA) ซึ่งเป็นเครือข่ายของบริษัทผู้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเกี่ยวกับโลจิสติกส์มากกว่า 5,000 แห่ง ที่ได้ทำการลงทุนกระจายไปยังกว่า 170 ประเทศทั่วโลก ด้านรองนายกฯ ยังได้กล่าวเสริมอีกว่าแผนดังกล่าว สอดคล้องกับแผนแม่บทของกัมพูชา ซึ่งมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานกว่า 174 โครงการ มูลค่าโครงการรวมประมาณ 5 หมื่นล้านดอลลาร์ ภายใน 10 ปีข้างหน้า ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนา ถนน ระบบราง ทางน้ำ สายการบิน ท่าเรือ โลจิสติกส์ และระบบขนส่งอัตโนมัติ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501381311/infra-push-set-to-lure-chinese-investments/

‘ฝรั่งเศส-ลาว’ เตรียมจัดประชุมเวทีเศรษฐกิจ ฉลองความสัมพันธ์ 70 ปี ทางการทูตและธุรกิจ

คณะกรรมการที่ปรึกษาการค้าต่างประเทศของฝรั่งเศสในลาว เตรียมจัดการประชุมเวทีเศรษฐกิจระหว่างฝรั่งเศสและลาว ระหว่างวันที่ 8-10 พฤศจิกายน 2566 ที่เวียงจันทน์และสะหวันนะเขต เพื่อเป็นเวทีพบปะพูดคุยทางการค้าและการลงทุนของผู้ประกอบการ นักธุรกิจและนักลงทุนฝรั่งเศสที่สนใจลงทุนในประเทศลาว โดยการประชุมครั้งนี้กำหนดให้มีการพูดคุยและนำเสนอข้อมูลเชิงลึกที่เกี่ยวข้องกับตลาดการค้าของลาว โอกาสในการสร้างเครือข่ายการค้าการลงทุน และเวทีการประชุมเชิงกลยุทธ์และปฏิบัติการทางธุรกิจที่ออกแบบมาเพื่อให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมและปัจจัยสำคัญในการทำธุรกิจในประเทศลาว

ที่มา : https://laotiantimes.com/2023/10/19/france-laos-economic-forum-celebrates-70-years-of-diplomatic-business-ties/

นักเศรษฐศาสตร์ลาวแนะ ‘ต้องดึงเม็ดเงินต่างชาติ’ เพื่อรักษาเสถียรภาพค่าเงินกีบ

ศ.ภูเพชร เคียวภิลาวงศ์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสและคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว เสนอแนะวิธีรักษาเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยนเงินกีบและจัดการกับความท้าทายทางเศรษฐกิจของลาวที่ตกต่ำจากปัญหาเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น โดยลาวจำเป็นต้องดึงดูดเงินตราต่างประเทศเข้ามามากขึ้นด้วยการเพิ่มมูลค่าของการส่งออก การท่องเที่ยว และการลงทุนจากต่างประเทศ เนื่องจากการไหลเข้าของเงินตราต่างประเทศจะช่วยรักษาเสถียรภาพของค่าเงินกีบไม่ให้อ่อนค่าลงไปกว่าปัจจุบัน นอกจากนี้ ประเด็นสำคัญที่ต้องแก้ไข คือ แก้ไขกฎระเบียบการซื้ออสังหาริมทรัพย์ของชาวต่างชาติในลาว โดยปัจจุบันยังไม่มีการออกกฎระเบียบดังกล่าวมารองรับว่าชาวต่างชาติสามารถซื้ออสังหาริมทรัพย์ในลาวได้ หากแก้ไขได้จะช่วยดึงดูดเม็ดเงินต่างชาติเข้ามาได้อีกทางหนึ่ง

ที่มา : https://www.nationthailand.com/world/asean/40031972

EEC คึกคัก ธุรกิจฟื้น ดันคลังสินค้าอัจฉริยะไทย โต 10-15% รับเทรนด์ดิสรัปต์ซัพพลายเชน

จากข้อมูลของสมาคมการจัดการระบบคลังสินค้าไทย ระบุว่า ภาพรวมการลงทุนในอุตสาหกรรมคลังสินค้าอัจฉริยะ หรือ อินทราโลจิสติกส์ ขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่องตามสภาวะการลงทุนของประเทศไทย และการเพิ่มขึ้นของดีมานด์ในตลาด โดยคาดว่าในปีนี้จะขยายตัวราว 10-15% เทียบกับช่วงก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 8,000 ล้านบาท คาดเงินสะพัด 1,000-1,200 ล้านบาท ส่วนในปี 2565 ที่ผ่านมามีมูลค่าสูงถึง 6,000-8,000 ล้านบาท เติบโตจากปี 2564 ประมาณ 5-8% ด้วยแรงหนุนจากเศรษฐกิจในประเทศที่เริ่มฟื้นตัว บวกกับโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มีความคืบหน้ามากขึ้น จึงมีการลงทุนทางด้านอินทราโลจิสติกส์อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ระบบการจัดระบบคลังสินค้าอัตโนมัติ หรือ อินทราโลจิสติกส์ มีบทบาทสำคัญในการขนส่งวัสดุภายในโรงงาน ศูนย์กระจายสินค้า บริการพัสดุ โกดังสินค้า โดยระบบเหล่านี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ คุณภาพ ความยั่งยืน ลดต้นทุน และการดำเนินงานต่างๆ ของผู้ประกอบการได้เป็นอย่างดี ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยธุรกิจ SMEs หรือกิจการขนาดเล็กและขนาดกลาง โดยมีสัดส่วนมากกว่าขนาดใหญ่ ดังนั้นเพื่อผลักดันให้ผู้ประกอบการกลุ่มนี้มีการเติบโตขึ้น “คลังสินค้า” จึงถือเป็นหนึ่งในการพัฒนาที่จำเป็นในการยกระดับมาตรฐานธุรกิจให้เทียบเท่าระดับสากล ทั้งนี้ระบบอินทราโลจิสติกส์ไทย ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของเทคโนโลยี ซึ่งไทยเป็นคน Import โดยระบบอินทราโลจิสติกส์ไทยอยู่ในอันดับ 30-35 ของโลก ขณะที่อันดับ 1 คือ สิงคโปร์ ตามมาด้วย อังกฤษ เยอรมัน ตามลำดับ ขณะเดียวกันในส่วนของงบการลงทุนของแต่ละธุรกิจในด้านอินทราโลจิสติกส์นั้นจะอยู่ราวๆ 10-15% ของงบการลงทุนทั้งหมด หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 10-20 ล้านบาทต่อโครงการโดยเฉลี่ย

ที่มา : https://www.thairath.co.th/money/business_marketing/marketing/2732127

‘ประชากรเวียดนาม’ เพียง 8% ลงทุนในหุ้น

จากข้อมูลของศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (VSD) เปิดเผยว่าประชากรเวียดนามในปัจจุบัน มีเพียง 8% หรือ 7.76 ล้านคน ลงทุนในตลาดหุ้น และจากข้อมูลในเดือนกันยายน 2566 พบว่ามียอดเปิดบัญชีซื้อขายหุ้นใหม่อยู่ที่ 172,695 บัญชี และโดยส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนรายย่อย หรือนักลงทุนรายบุคคล มีบัญชี 172,605 บัญชี ลดลงเกินกว่า 15,000 บัญชี เมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคม 2566 ทั้งนี้ จากข้อมูลในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ นักลงทุนเวียดนามเปิดบัญชีหุ้นใหม่ ประมาณ 924,205 บัญชี และนักลงทุนรายย่อย เปิดบัญชีใหม่ 923,211 บัญชี

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/over-8-percent-of-vietnam-s-population-investing-in-stocks-2198081.html

“ไทยเบฟ” วางแผนจัดตั้งโรงงานมูลค่ากว่า 7 พันล้าน ในกัมพูชา

นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่าการลงทุนจะเน้นวางรากฐานการเติบโต เพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันเป็นหลัก โดยใช้เงินลงทุนกว่า 7,000 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้จะลงทุนตั้งโรงงานผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ในกัมพูชาประมาณ 4,000 ล้านบาท เพื่อเป็นฐานขยายตลาดกัมพูชาและฐานการผลิตวิสกี้ซิงเกิ้ลมอลลต์ ขายในภูมิภาคอาเซียน ร่วมกับพันธมิตรท้องถิ่น สำหรับการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปของการบริโภคในประเทศ จากทั้งชาวไทยและต่างชาติ ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีต่อบริษัท แต่ถึงอย่างไรจำเป็นต้องประเมินถึงแรงกดดันจากภาะเงินเฟ้อ ต้นทุนด้านพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้น ไปจนถึงหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง อาจยังคงส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภค แต่เชื่อมั่นว่ารากฐานอันมั่นคงจะเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนการเติบโตที่แข็งแกร่งของเราได้อย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทยังดำเนินมาตรการบริหารอัตรากำไรอย่างรอบคอบ เพื่อบรรเทาผลกระทบต่างๆ รักษาผลกำไรสุทธิ ส่วนแบ่งตลาดและคำนึงถึงความรับผิดชอบ ความยั่งยืนเป็นสำคัญ สำหรับในช่วง 9 เดือนแรกของปี มีรายได้อยู่ที่ 216,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501371751/thaibev-plans-7-billion-baht-expansion-including-new-factory-in-cambodia/

กัมพูชาถือเป็นหนึ่งใน 10 ประเทศ ซึ่งได้รับการลงทุนจากบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานของจีน

การประชุมใหญ่เชิงวิชาการอุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้า (CEPSI) ครั้งที่ 24 มีกำหนดจัดขึ้นที่เมืองเซี่ยเหมินทางตอนใต้ของประเทศจีน ในระหว่างวันที่ 19-23 ตุลาคม นำโดยสภาการไฟฟ้าของจีน (CEC) ซึ่งโครงการลงทุนดังกล่าวครอบคลุม 10 ประเทศในภูมิภาค รวมถึงปากีสถาน กัมพูชา อุซเบกิสถาน อินโดนีเซีย และเวียดนาม ด้วยมูลค่าการลงทุนประมาณกว่า 1.95 พันล้านดอลลาร์ ด้าน Xu Guangbin ผู้อำนวยการของ CEPSI กล่าวเสริมว่าในระหว่างการประชุมจะมีเซสชันและกิจกรรมต่างๆ มากมาย เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านพลังงานระหว่างกัน รวมถึงมองหาโอกาสในการร่วมมือและการพัฒนาที่ยั่งยืนของภาคพลังงาน ภายใต้ธีม “Low Carbon Energy Powering a Green Future” โดยเชื่อว่าการประชุมดังกล่าวจะช่วยผลักดันอุตสาหกรรมพลังงานเพื่อที่จะลดการปล่อยคาร์บอนของโลกเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสีเขียวในระยะต่อไป สำหรับบริษัทพลังงานของจีนกำลังมุ่งเน้นไปที่โครงการพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น เช่น พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมทั่วโลก โดยจนถึงขณะนี้บริษัทใหญ่ๆ ได้ลงทุนและสร้างโครงการพลังงานแล้ว 16 โครงการ ภายใต้โครงการ Belt and Road Initiative ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 66.7 ของการลงทุนภาคพลังงานในต่างประเทศ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501367595/cambodia-is-among-10-countries-where-1-95-billion-of-the-total-foreign-investment-by-major-chinese-power-companies-went/

‘นายกฯ เวียดนาม’ ชวนบริษัทเซมิคอนดักเตอร์ของสหรัฐ ลงทุนในเวียดนามมากขึ้น

นายฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ นายกรัฐมนตรีเวียดนาม ร่วมรับประทานอาหารกลางวันร่วมกับประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทชั้นนำของสหรัฐอเมริกาในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมื่อวันที่ 19 ก.ย. กิจกรรมดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการเข้าร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ครั้งที่ 78 โดยมีนายมาร์ค แนปเปอร์ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำเวียดนาม และจอห์น นิวฟ์เฟอร์ ประธานและซีอีโอของสมาคมอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์สหรัฐฯ (SIA) เข้าร่วมด้วย ทั้งนี้ นักธุรกิจสหรัฐฯ ยกย่องศักยภาพของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในเวียดนาม ซึ่งมีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพสูง รวมถึงมีการส่งเสริมศักยภาพของธุรกิจในประเทศและสถาบันฝึกอบรม อีกทั้ง นายกฯ เวียดนาม เชิญชวนให้บริษัทเซมิคอนดักเตอร์ของสหรัฐฯ ลงทุนในเวียดนามมากขึ้น ทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การถ่ายทอดเทคโนโลยี การออกแบบ การผลิต การฝึกอบรมกำลังคนและสถาบันวิจัย

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/pm-calls-on-us-semiconductor-firms-to-invest-more-in-vietnam/268253.vnp

“เศรษฐา” ประกาศ ใส่เกียร์สูงดันเศรษฐกิจไทย ทวงคืนจุดหมายการลงทุนชั้นนำ

ณ โรงแรม St. Regis นครนิวยอร์ก สหรัฐฯ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาในงานเลี้ยงอาหารค่ำ (Gala Dinner) โดยสภาธุรกิจสหรัฐฯ-อาเซียน (U.S.-ASEAN business Council: USABC) และหอการค้าสหรัฐฯ (U.S. Chamber of Commerce: USCC) ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่นายกรัฐมนตรี โดยนายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญดังนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวขอบคุณสำหรับงานเลี้ยงที่จัดขึ้นเพื่อเป็นเกียรติ ถือเป็นวาระสำคัญอันหนึ่งของการเยือนต่างประเทศครั้งแรกในครั้งนี้ การเข้าร่วมงานของแขกทุกคนในวันนี้สะท้อนให้เห็นถึงความสนใจ และความสำคัญที่ภาคเอกชนสหรัฐฯ มีต่อประเทศไทย หวังว่างานในวันนี้จะเป็นพื้นฐาน (platform) ในการสร้างเครือข่ายและความร่วมมือใหม่ๆ ที่เชื่อมโยงประเทศและเศรษฐกิจของไทยและสหรัฐฯ ถือเป็นหุ้นส่วนธรรมชาติและมีผลประโยชน์ร่วมกัน (natural and mutually-beneficial partners) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านเศรษฐกิจ ที่ในปีนี้ฉลองครบรอบ 190 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-สหรัฐฯ การค้าระหว่างไทย-สหรัฐฯ ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งแม้จะมีการแพร่ระบาดทั่วโลก ด้วยมูลค่ามากกว่า 65,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปีผ่านมา ทำให้สหรัฐฯ กลับมาเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับ 2 ของไทยเป็นครั้งแรก ในรอบ 15 ปี ในขณะที่การผลักดันเศรษฐกิจของประเทศเข้าสู่ “เกียร์สูง” (high gear) อาทิ นโยบาย digital wallet และ Blockchain เป็นต้น รวมถึงการบริโภคที่เพิ่มขึ้นควบคู่กับความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้น อาทิ การเติบโตอย่างยั่งยืนและครอบคลุม เศรษฐกิจสีเขียว และการเปลี่ยนผ่านพลังงาน การสร้างไทยให้เป็นประเทศนวัตกรรม ที่ครอบคลุม และบูรณาการสำหรับลูกหลานในอนาคต (an “Innovative, Inclusive and Integrated (3Is) Thailand”) อาทิ การเปิดตลาดใหม่ เร่งเดินหน้าเจรจา FTA การสร้างกลไกใหม่แห่งการเติบโตแบบครอบคลุม และการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business) ทั้งนี้ ที่ผ่านมา รัฐบาลได้ดำเนินการหลายอย่างเพื่อลดข้อจำกัด และข้อห่วงกังวล เพื่ออำนวยความสะดวก และสร้างบรรยากาศที่น่าดึงดูดสำหรับการลงทุนต่างประเทศ

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/politics/1089603