กัมพูชารายงานภาวะการณ์ลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ

ธนาคารแห่งชาติกัมพูชารายงานถึงสถิติการอนุญาตลงทุน จากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) มูลค่ารวม 39,000 ล้านดอลลาร์ ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยประเทศจีนถือเป็นประเทศที่เข้ามาลงทุนในกัมพูชามากที่สุดในช่วงเวลาดังกล่าว คิดเป็นมูลค่าการลงทุนรวม 17.3 พันล้านดอลลาร์ หรือร้อยละ 44.2 ของทุนจดทะเบียนทั้งหมด ด้านเกาหลีใต้รองลงมาด้วยเงินทุนจดทะเบียนรวม 4.1 พันล้านดอลลาร์ ตามด้วยเวียดนามที่ 2.5 พันล้านดอลลาร์ และสิงคโปร์ด้วยเงินลงทุน 2.4 พันล้านดอลลาร์ตามลำดับ โดยไทยเข้ามาลงทุนในกัมพูชาด้วยมูลค่าเงินลงทุนที่ได้รับอนุมัติรวม 1.8 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศส่วนใหญ่ครอบคลุมภาคการเกษตร โรงงานการผลิตและแปรรูป ภาคการเงิน โรงแรมและร้านอาหาร การก่อสร้าง เขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ และอสังหาริมทรัพย์ เป็นสำคัญ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50978345/cambodia-registers-39-billion-in-fdis-during-first-six-months/

‘เวียดนาม’ เผยยอดการลงทุนจากต่างประเทศใหม่ 30 พันล้านเหรียญสหรัฐ ปีนี้

ตามรายงานทางสถิติของสำนักงานการลงทุนต่างประเทศภายใต้กระทรวงวางแผนและการลงทุน เปิดเผยว่าเวียดนามดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศใหม่ที่ได้รับอนุมัติ 2.72 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในเดือน พ.ย. ส่งผลให้ยอดการลงทุนตั้งแต่เดือน ม.ค.-พ.ย. อยู่ที่ 26.46 พันล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าในปีนี้ ตัวเลขการลงทุนจากต่างประเทศจะสูงถึง 30 พันล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องจากนักลงทุนสหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลีใต้และสิงคโปร์ มีความเชื่อมั่นต่อสภาพแวดล้อมทางการลงทุนของเวียดนามและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ หลังวิกฤติโควิด-19 นอกจากนี้ ภาคอุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูป ยังคงเป็นสาขาที่ดึงดูดความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติมากที่สุด ด้วยเม็ดเงินลงทุนราว 14 พันล้านเหรียญสหรัฐ (53% ของทุนจดทะเบียน) รองลงมาภาคการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า 5.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/new-foreign-investment-approvals-seen-hitting-us30-billion-this-year/

 

ปีงบฯ 63-64 เงินลงทุนจากต่างประเทศไหลสู่เมียนมาเพียง 3.791 พันล้านดอลลาร์

จากข้อมูลของคณะกรรมการด้านการลงทุนและจดทะเบียนธุรกิจ (DICA) พบว่า ตั้งแต่เดือนต.ค.63 ถึงเดือนก.ย.64 ของปีงบประมาณ 2563-2564 มีการลงทุนจากต่างประเทศเข้าสู่เมียนมาเพียง 3.791 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยลงทุนในภาคเกษตรกรรม 9.988 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภาคปศุสัตว์และการประมง 19.698 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภาคการผลิต 286.023 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภาคพลังงาน 3,121.323 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภาคการขนส่งและการสื่อสาร 133.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภาคการโรงแรมและการท่องเที่ยว 81 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภาคอสังหาริมทรัพย์  8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภาคนิคมอุตสาหกรรม 28.21 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และภาคอื่นๆ  103.656 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งในปีงบประมาณ 2562-2563 มีโครงการลงทุนทั้งหมด 245 รายการ เม็ดลงทุนรวม 4.235 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และได้อนุมัติการลงทุนเพิ่มอีก 1.291 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับ 110 โครงการที่ดำเนินการอยู่ รวมทั้งสิ้น 5.56 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งตามแผนส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศของเมียนมาตั้งเป้าไว้สูงถึง 8.5 พันล้านดอลลาร์ในปีงบประมาณ 2564-2565 แต่เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงต้องมีการทบทวนใหม่ ทั้งนี้เมียนมากำลังเร่งดำเนินการตามแผนส่งเสริมการลงทุน 20 ปี โดยมุ่งเป้าเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางให้ได้ภายในปี 2573

ที่มา: https://news-eleven.com/article/217365

ไทยชูแผนคุมโควิด-เปิดประเทศ สร้างความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนสหรัฐ

นายสรรเสริญ สมะลาภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยหลังประชุมทางไกล กับคณะนักธุรกิจ จากสภาธุรกิจสหรัฐฯ-อาเซียน (U.S.-ASEAN Business Council : USABC) ทั้งนี้ ได้ใช้โอกาสนี้สร้างความมั่นใจแก่นักลงทุนสหรัฐฯ ในการรับมือการแพร่ระบาดของโควิด-19 และความพร้อมการเปิดประเทศ และยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันในระยะยาวบนฐานเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG Model และการดึงดูดการลงทุนเข้าสู่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ปัจจุบัน สหรัฐฯ เป็นคู่ค้าอันดับ 3 รองจากจีนและญี่ปุ่น โดยช่วง 8 เดือนของปี 64 (ม.ค.-ส.ค.) มีมูลค่า 36,460 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 9.56% โดยส่งออกไปสหรัฐฯ มูลค่า 26,884 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 20.56% และนำเข้ามูลค่า 9,576 ล้านเหรียญสหรัฐลด 12.79%

ที่มา: https://www.naewna.com/business/609480

ต่างชาติแห่ลงทุนในเวียดนาม แม้เผชิญการระบาดของโควิด-19

เว็บไซต์ DigiTimes รายงานว่าแม้จะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แต่เวียดนามยังคงดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ โดยจากข้อมูลของ Fitch Solutions ชี้ว่าท่ามกลางการระบาดโควิด-19 เวียดนามยังคงได้รับเลือกให้เป็นประเทศที่ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติจำนวนมาก ซึ่งผู้ประกอบการอิเล็กทรอนิกส์ต่างชาติส่วนใหญ่ 65% ได้ตั้งฐานการผลิตในภาคเหนือของเวียดนาม ขณะที่ประมาณ 30% สร้างโรงงานในภาคใต้และอีก 2-3 แห่งในภาคกลาง ทั้งนี้ ตามรายงานของบริษัทวิจัยเทคโนโลยีและให้คำปรึกษาด้านเทคโนโลยีระดับโลก “Technavio” เผยว่าตลาดเซมิคอนดักเตอร์กในเวียดนาม มีแนวโน้มเติบโตราว 19% ในปี 2020-2024 เป็นมูลค่ากว่า 6.16 พันล้านดอง

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/foreign-investment-poured-in-vietnam-despite-covid-19-883511.vov

เมื่อไทยเริ่มไม่ใช่จุดสนใจของโลก ส่งออกไม่ดี ไม่มีเทคชั้นสูง ได้แค่รับจ้างผลิต นักลงทุนไทยยังหนี

โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP Research)

บทวิเคราะห์ของ KKP Research เกียรตินาคินภัทร จับสัญญาณว่าประเทศไทยกำลังได้รับความสนใจลดลงในหลายมิติ

มิติแรก “การลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงิน” เช่น

  • ตลาดหุ้น ที่นักลงทุนต่างชาติมีสัญญาณขายสุทธิอย่างต่อเนื่อง
  • นักลงทุนในไทยก็เริ่มออกไปลงทุนต่างประเทศมากขึ้นเรื่อย ๆ

ในปี 2021 รับเพียงในไตรมาส 1 นักลงทุนไทยออกไปลงทุนในต่างชาติแล้วกว่า 3 แสนล้านบาท

มิติที่สองคือ “การลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ” เช่น

  • ในปัจจุบันต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทยลดลงเรื่อย ๆ เมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งในภูมิภาค
  • ในขณะที่บริษัทไทยก็เริ่มออกไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้นเช่นกัน

มิติที่สามคือ “การสูญเสียความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออก” ดังนี้

  • ในปี 2021 การส่งออกทั่วภูมิภาคขยายตัวอย่างแข็งแกร่งตามเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวได้เร็ว
  • แต่สัญญาณที่เราเห็นคือ การส่งออกของไทยฟื้นตัวได้ช้ากว่าหลายประเทศในโลก
  • โดยเฉพาะอย่างยิ่งไทยมีสัดส่วนของสินค้าส่งออกที่ใช้เทคโนโลยีต่ำกว่าประเทศคู่แข่ง ซึ่งสะท้อนว่าไทยมีคู่แข่งที่น่ากลัวเพิ่มขึ้นและต่างชาติกำลังมีความต้องการสินค้าไทยลดน้อยลง

ความสามารถในการแข่งขันที่ลดลงมาจากปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยที่ซ้อนกันอยู่เป็นชั้นๆ ดังต่อไปนี้ สาเหตุในชั้นแรก เกิดจากสินค้าส่งออกหลักของไทยปัจจุบันกำลังเผชิญความท้าทายใหม่ ๆ โดยสินค้าใน 5 กลุ่มหลัก ได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์ สินค้าเกษตรและปิโตรเคมี

สาเหตุในชั้นที่สอง ไทยไม่มีสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูง และทำหน้าที่เพียงรับจ้างผลิต เมื่อพิจารณาโครงสร้างการเติบโตของสินค้าส่งออกไทยในช่วงกว่า 25 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีการเติบโตในกลุ่มสินค้าเทคโนโลยีขั้นกลางเฉพาะรถยนต์

ในขณะที่ไม่มีทิศทางการพัฒนาไปสู่การส่งออกในกลุ่มสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูงที่ชัดเจน

  • เมื่อเทียบกับต่างประเทศไทยมีสัดส่วนการส่งออกสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูงที่น้อยกว่าภูมิภาค คือ 19%
  • เมื่อเทียบกับการส่งออกทั้งหมดเท่านั้นในปี 2019 เทียบกับเวียดนามที่ 28% และเอเชียที่ 26%
  • ยิ่งไปกว่านั้นยังมีการเติบโตเฉลี่ยในช่วงปี 2010-2019 ในกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เพียง 2.2% ในขณะที่เอเชียโตเฉลี่ยถึง 6.6%

โครงสร้างการส่งออกที่ยังเป็นสินค้าแบบเก่า ทำให้ในช่วงที่ผ่านมาการส่งออกไทยฟื้นตัวได้ช้ากว่าหลายประเทศในภูมิภาค

อีกประเด็นที่น่ากังวลคือ ประเทศไทยทำหน้าที่เป็นเพียงผู้รับจ้างผลิตสินค้าและไม่ได้เป็นเจ้าของเทคโนโลยี เมื่อพิจารณามูลค่าเพิ่มจากการผลิต (Value added) ที่บริษัทไทยสร้างได้ พบว่าอยู่ในสัดส่วนคงที่มาโดยตลอด สะท้อนว่าในช่วงที่ผ่านมายังไม่เกิดกระบวนการถ่ายโอนเทคโนโลยีใหม่ๆ มาสู่ประเทศไทย

สาเหตุในชั้นสุดท้าย นโยบายของรัฐยังไม่สนับสนุนให้เกิดการพัฒนาระยะยาว เมื่อพิจารณาจากดัชนีความสามารถในการแข่งขันที่จัดทำโดย IMD (World Competitiveness Index) ไทยอยู่ในลำดับที่ 40 ในปี 2019 ซึ่งแม้ไทยไม่อยู่ในลำดับที่แย่มาก แต่มีอุปสรรคใหญ่ที่ไม่สามารถแก้ไขได้ในระยะเวลาสั้น ๆ และส่งผลไปถึงโครงสร้างเศรษฐกิจที่ไม่สามารถพัฒนาไปตามเทรนด์โลกทั้งในช่วงที่ผ่านมาและต่อเนื่องถึงอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการผูกขาดของตลาดสินค้าในประเทศจากปัญหาการคอร์รัปชั่น การเอื้อประโยชน์พวกพ้องทำให้ไม่เกิดการลงทุนในสินค้ากลุ่มใหม่ ๆ เพราะไม่คุ้มค่าสำหรับบริษัท ปัญหาด้านคุณภาพแรงงาน  ที่แรงงานยังไม่ถูกพัฒนาไปเป็นแรงงานที่มีทักษะสูง และไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและท้าทายของเศรษฐกิจระยะยาว ปัญหาด้านโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐในไทยยังไม่ให้ความสำคัญในการมีโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล และการปฏิรูปกฎระเบียบที่เหมาะสมพร้อมดึงดูดการลงทุน

จุดเปลี่ยนประเทศไทย

ปัญหาความสามารถในการแข่งขันอาจกำลังผลักให้เศรษฐกิจไทยก้าวเข้าสู่จุดเปลี่ยนในอย่างน้อยสองประเด็นสำคัญ คือ

  1. เศรษฐกิจไทยในอดีตที่พึ่งพาการส่งออกและการท่องเที่ยวอาจไม่ได้ผลอีกต่อไปในอนาคต
  2. ดุลการค้าของไทยอาจจะเกินดุลลดลงและสร้างความเสี่ยงกับฐานะการเงินระหว่างในระยะยาว

ข้อเสนอของ KKP Research

สินค้าส่งออกไทยยังมีข้อได้เปรียบในแง่ความซับซ้อนของสินค้าที่อยู่ในระดับค่อนข้างดีและสามารถต่อยอดสู่สินค้าใหม่ ๆ ได้ แนวทางการพัฒนาสินค้าของไทยยังสามารถต่อยอดจากสินค้ากลุ่มเดิมทั้งจากการเร่งให้เกิดการถ่ายโอนเทค​โนโลยีมาสู่ผู้ประกอบการไทย และการขยายการผลิตสินค้าไปในกลุ่มที่ใช้เทคโนโลยีใกล้เคียงเดิม โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้ายานยนต์และอุปกรณ์ขนส่ง เครื่องจักร และเคมีภัณฑ์

KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร ประเมินว่าเพื่อให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีได้ ภาคเอกชนมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน และรัฐก็มีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทาง ส่งเสริม และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญใน 4 ด้าน คือ

  1. การพัฒนาคุณภาพปัจจัยการผลิต ลดกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกิจ พัฒนาการศึกษาและคุณภาพแรงงานให้มีทักษะที่ภาคอุตสาหกรรมต้องการ
  2. การเข้าถึงตลาดและเพิ่มขนาดของตลาด เพื่อขายสินค้าผ่านการทำข้อตกลงการค้าเสรี อย่างไรก็ตามไทยยังต้องพัฒนาเศรษฐกิจและสินค้าในประเทศให้ตรงกับความต้องการของตลาดโลก
  3. โครงสร้างพื้นฐานและปัจจัยทางภูมิศาสตร์ที่ทันสมัย เช่น การขนส่ง การปรับปรุงกฎระเบียบด้านภาษีและการใช้สิทธิทางภาษีให้วางแผนและเข้าใจง่าย การเตรียมความพร้อมด้าน ICT และ High Speed Broadband
  4. สถาบันเศรษฐกิจที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะการส่งเสริมการแข่งขันที่เสรี ปราศจากการคอร์รัปชัน ซึ่งจะเป็นแรงจูงใจให้เกิดการลงทุนในสินค้ากลุ่มใหม่ ๆ ได้

ที่มา :

/1 บทวิเคราะห์โดย KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร

/2 https://brandinside.asia/turing-point-of-thai-export-kkp-research/

7 เดือนแรกของปีงบฯ 63-63 ภาคปศุสัตว์ ประมง ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศถึง 5 โครงการ

ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 ถึงสิ้นเดือนเมษายน 2564 -ของปีงบประมาณ 2563-2564 คณะกรรมการการลงทุนและการบริหารบริษัท (DICA) เผย ภาคปศุสัตว์และประมงดึงดูดโครงการลงทุนจากต่างประเทศจำนวน 5 โครงการ สร้างรายได้กว่า 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ประกอบด้วย ฟาร์มสัตว์ปีก สุกร ไก่เนื้อ และกุ้ง ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2531-2532 มีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ 16 ประเทศประมาณ 926.218 ล้านดอลลาร์ไหลเข้าสู่ภาคปศุสัตว์และการประมง ในจำนวนนั้น ประเทศไทยมีการลงทุนสูงสุด โดยมีมูลค่ามากกว่า 380 ล้านดอลลาร์ รองลงมาคือสิงคโปร์ด้วยเงินประมาณ 130 ล้านดอลลาร์

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/livestock-fisheries-attract-five-foreign-investment-projects-in-seven-months/

เวียดนามเผย 4 เดือนแรกของปีนี้ ดึงดูด FDI กว่า 12.25 พันล้านเหรียญสหรัฐ

สำนักงานการลงทุนจากต่างประเทศ (FIA) เผยในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ เวียดนามดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) 12.25 พันล้านเหรียญสหรัฐ ตามสถิติชี้ให้เห็นว่าเงินทุนจดทะเบียนใหม่และการปรับเพิ่มเงินทุน รวมถึงเม็ดเงินซื้อหุ้นกิจการ มีมูลค่าสูงถึง 12.25 พันล้านเหรียญสหรัฐ ณ วันที่ 20 เมษายน ทั้งนี้ ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ การลงทุนจากต่างประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น 18.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ด้วยมูลค่า 10.13 พันล้านเหรียญสหรัฐ ถึงแม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างไรก็ตาม นักลงทุนต่างชาติส่วนใหญ่เข้ามาลงทุนในภาคอุตสาหกรรม ด้วยสัดส่วน 42.4% ของยอดลงทุนรวม รองลงมาการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า อสังหาริมทรัพย์และภาคการค้าปลีกค้าส่ง ตามลำดับ ในขณะที่ สิงคโปร์เป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ที่สุดในเวียดนาม ด้วยมูลค่า 4.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ รองลงมาญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ตามลำดับ

ที่มา : https://vov.vn/en/economy/vietnam-lures-us1225-billion-in-foreign-investment-over-four-month-period-853531.vov

เวียดนามคงเป็นจุดหมายปลายที่ปลอดภัยแก่การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ

จากการประชุม “Connections for Development Forum 2021” ณ กรุงฮานอย เมื่อวันที่ 26 เมษายน นายฝ่าม บิ่งห์ มิงห์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าเวียดนามควรเตรียมรับมือกับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศระลอกที่ 4 ที่เกิดขึ้นไปทั่วโลก ท่ามกลางการแข่งขันการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศและผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ทั้งนี้ ภาคการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) จะคงเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันการพัฒนาของประเทศต่อไป โดยรัฐบาลมีบทบาทสำคัญเกี่ยวกับประเด็นที่มีผลต่อการดึงดูด FDI อีกทั้ง รองนายกฯ ยังเน้นน้ำว่ารัฐบาลจะมุ่งเน้นไปการแก้ไขปัญหาอยู่ 4 ประเด็นสำคัญ เพื่อเป็นแนวทางต่อการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศให้เพิ่มสูงขึ้นในอนาคตข้างหน้า ตลอดจนรักษาเสถียรภาพทางการเมืองให้มีความมั่งคง นอกจากนี้ รัฐบาลจะให้ความสำคัญกับการปรับปรุงกฎหมาย ยกระดับขีดความสามารถของหน่วยงานรัฐฯ เพื่อให้มีความโปร่งใสและมีประสิทธิภาพการทำงานให้ดีขึ้น

ที่มา : https://vov.vn/en/economy/vietnam-remains-safe-destination-for-development-of-fdi-inflows-853072.vov

เซ็นทรัลเดินหน้าลุยลงทุนเวียดนาม 1.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ อีก 5 ปีข้างหน้า

บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดแผนการลงทุนในเวียดนามอีก 5 ปีข้างหน้า จำนวน 35 ล้านบาท (1.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ) นายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานกรรมการบริษัท กล่าวว่าตลอดระยะเวลา 9 ปีของธุรกิจที่ดำเนินกิจการในเวียดนาม กลุ่มธุรกิจอาหารยังคงเป็นภาคที่สำคัญ ด้วยสัดส่วน 70% ของรายได้ทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน บริษัทตั้งเป้าที่จะพัฒนาธุรกิจที่มิใช้ประเภทอาหารและ “Omni Channel Platform” ทั้งนี้ คุณ Philippe Broianigo ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร – เซ็นทรัลรีเทล เวียดนาม กล่าวว่าบริษัทได้จัดทำแผนโรดแมป เป็นระยะเวลา 5 ปี โดยมุ่งที่จะขยายธุรกิจในลักษณะการเจาะตลาดหลายช่องทางทั้งศูนย์กลางเมือง ขานเมืองและชนบท รวมถึงปรับปรุงแบรนด์ธุรกิจอาหาร เป็นต้น นอกจากนี้ บริษัทได้เปิดตัวศูนย์การค้า GO! หลายจังหวัดในเวียดนาม และปีนี้ ธุรกิจยังคงขยายกิจการ 6 พันล้านบาท (191.8 ล้านเหรียญสหรัฐ)

 ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/917608/central-retail-to-invest-11-billion-in-viet-nam-in-next-5-years.html