RCEP, FTA กัมพูชา-จีน ขยายตลาดส่งออกกัมพูชา

Ly Thuch ประธานคณะกรรมการแห่งชาติกัมพูชา และคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก (UN-ESCAP) กล่าวว่า ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) และข้อตกลงการค้าเสรี กัมพูชา-จีน (CCFTA) ถือเป็นส่วนสำคัญในการขยายตลาดส่งออกของกัมพูชาให้กว้างขึ้น โดยการส่งออกทั้งหมดของกัมพูชาไปยังประเทศสมาชิก RCEP อื่นๆ มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 3.28 พันล้านดอลลาร์ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2022 หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้ว่าปัจจุบันยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายในหลายๆด้าน ซึ่งรวมถึงการแข่งขันทางภูมิศาสตร์ การเมือง สงครามการค้า และเทคโนโลยี โดยการสนับสนุนพหุภาคี ความร่วมมือระหว่างประเทศ และการค้าเสรี จะเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโต

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501122325/rcep-cambodia-china-fta-give-cambodia-larger-exporting-markets/

H1 กัมพูชาส่งออกไปยังกลุ่มประเทศ RCEP เพิ่มขึ้น 10%

กระทรวงพาณิชย์กัมพูชารายงานถึงการส่งออกของกัมพูชาในช่วง 6 เดือนแรกของปี ไปยังกลุ่มประเทศสมาชิก RCEP ซึ่งมีมูลค่าการส่งออกรวมถึง 3.28 พันล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเวียดนาม จีน และญี่ปุ่น ถือเป็นประเทศผู้นำเข้ารายสำคัญ ที่มูลค่า 1.17 พันล้านดอลลาร์ ไปยังเวียดนาม, 612 ล้านดอลลาร์ ไปยังจีน และ 542 ล้านดอลลาร์ ไปยังญี่ปุ่น ซึ่งความตกลงการค้าเสรี RCEP ปัจจุบันประกอบด้วย 15 ประเทศ โดยเป็นประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) 10 ประเทศ ได้แก่ บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย สปป.ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม และคู่ค้าอีก 5 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์กล่าวว่า RCEP ถือเป็นตัวเร่งสำคัญสำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501118292/cambodias-export-to-other-rcep-countries-up-10-pct-in-h1/

กัมพูชาส่งออกข้าวไปยังจีนเพิ่มขึ้น 17% ในช่วงครึ่งแรกของปี

กัมพูชาส่งออกข้าวสารปริมาณรวมกว่า 168,280 ตัน ไปยังประเทศจีนในช่วงครึ่งแรกของปี 2022 หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยจีนยังคงเป็นผู้นำเข้าข้าวรายสำคัญของกัมพูชาคิดเป็นกว่าร้อยละ 51.4 ของการส่งออกข้าวสารทั้งหมดของกัมพูชา ซึ่งหลังจากข้อตกลงการค้าระดับภูมิภาค (RCEP) มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา ทางประธานสหพันธ์ข้าว (CRF) ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าปริมาณการค้าข้าวสารกับจีนและกัมพูชาจะต้องปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501115402/cambodias-rice-export-to-china-up-over-17-pct-in-h1/

ทางการกัมพูชาหวังผู้ส่งออกใช้ประโยชน์ RECP

Pan Sorasak รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ของกัมพูชา กล่าวกับผู้ส่งออกภายในประเทศถึงประโยชน์จากข้อตกลงด้านความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ที่ผ่านมา ซึ่งทางการกัมพูชา กล่าวว่า RCEP จะเป็นแรงผลักดันในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของกัมพูชาให้เกิดความยั่งยืน โดยการเข้าร่วม RCEP ของกัมพูชาจะส่งผลให้อัตราภาษีศุลกากรสำหรับสินค้าที่มีการซื้อขายระหว่างประเทศผู้ลงนามปลอดภาษีกว่าร้อยละ 90 ของสินค้าที่มีการ นำเข้า-ส่งออก ภายในอีก 20 ปีข้างหน้า ซึ่งรัฐมนตรีกล่าวเสริมว่า ภาคการส่งออกของกัมพูชาจะเติบโตอยู่ที่ประมาณร้อยละ 9.4-18.0 โดยหากเป็นไปตามการคาดการณ์จะส่งผลทำให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตระหว่างร้อยละ 2.0-3.8 ต่อปี ซึ่งในปัจจุบันตามรายงานของกระทรวงพาณิชย์ การส่งออกทั้งหมดของกัมพูชาไปยังประเทศสมาชิก RCEP มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 1.95 พันล้านดอลลาร์ ในไตรมาสแรกของปี 2022 เพิ่มขึ้นร้อยละ 11 จากมูลค่า 1.75 พันล้านดอลลาร์ ในช่วงเดียวกันของปีก่อน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501104118/cambodian-minister-tells-exporters-to-reap-benefits-of-rcep/

‘สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด’ มองศก.เวียดนาม การฟื้นตัวหลังโควิด

ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด รายงานผลการวิจัยระดับโลกในหัวข้อ “เวียดนาม – RCEP: โอกาสและความท้าทาย” พบว่าเวียดนามเป็นประเทศที่ได้รับผลประโยชน์หลักจากความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) โดยข้อตกลงการค้าเสรีดังกล่าว คาดว่าจะยกเลิกภาษีสินค้าของประเทศสมาชิกลง 90% ภายในระยะเวลา 20 ปี ในขณะเดียวกันการเป็นสมาชิกในข้อตกลงจะเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับสถานะทางการค้าของเวียดนามและเป็นส่วนช่วยสำคัญในการฟื้นตัวหลังโควิด-19 สินค้าส่งออกหลักที่ได้รับผลประโยชน์จากข้อตกลง RCEP ได้แก่ สินค้าไอที สิ่งทอ รองเท้า เกษตรกรรม ยานยนต์และอุปกรณ์สื่อสาร

นอกจากนี้ RCEP จะช่วยผลักดันภาคการส่งออกของเวียดนามและการเข้าถึงตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่ อาทิ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้และอินโดนีเซีย ข้อตกลงดังกล่าวจะช่วยลดต้นทุนแก่ผู้ผลิตเวียดนามและการเข้าถึงห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1189946/standard-chartered-bank-regional-focus-to-support-viet-nams-post-covid-recovery.html

คาด RCEP FTA กระตุ้นเศรษฐกิจกัมพูชาหลังโควิด-19 คลี่คลาย

ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) รวมถึงข้อตกลงการค้าเสรีต่างๆ (FTA) จะเป็นตัวเร่งการเติบโตทางเศรษฐกิจสำคัญในช่วงหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดย RCEP และ CCFTA ได้เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2022 ด้าน Sim Sokheng รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์กัมพูชา กล่าวว่า ข้อตกลงข้างต้นจะทำให้กัมพูชาเข้าถึงตลาดได้มากขึ้น และจะมีบทบาทสำคัญในการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะนักลงทุนชาวจีน ให้เข้ามาลงทุนในประเทศกัมพูชามากขึ้น ซึ่งทางรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์กัมพูชากล่าวเสริมว่า RCEP จะส่งเสริมภาคการส่งออกให้เติบโตที่ร้อยละ 9.4 โดยคาดว่าจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตจากร้อยละ 2 สู่ร้อยละ 3.8 ในปีนี้ สำหรับ CCFTA คาดว่าจะส่งเสริมให้การส่งออกของกัมพูชาไปยังประเทศจีนเพิ่มขึ้นน้อยละ 25 ในอนาคต

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501062382/rcep-cambodia-china-fta-catalysts-for-economic-growth-in-post-pandemic/

นักลงทุนมาเลเซียเข้าลงทุนในกัมพูชามูลค่ารวมกว่า 3.2 พันล้านดอลลาร์

สภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา (CDC) ได้รายงานถึงการจดทะเบียนโครงการลงทุนของมาเลเซียรวมจำนวน 162 โครงการ มูลค่า 3.2 พันล้านดอลลาร์ ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2022 โดย CDC ได้กล่าวรายงานในการประชุมระหว่างรองเลขาธิการคณะกรรมการการลงทุนกัมพูชาของ CDC และเอกอัครราชทูตมาเลเซียประจำกัมพูชา ซึ่งผู้แทนมาเลเซียแสดงความสนใจที่จะลงทุนเพิ่มเติมในด้านการศึกษา อสังหาริมทรัพย์ เหมืองแร่ และพลังงานในระหว่างการประชุม

โดยปัจจุบันกัมพูชามีข้อตกลงพิเศษทางการค้า ได้แก่ FTA กับจีน เกาหลีใต้ ไปจนถึง RCEP และ GSP ของสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกา และ EBA ของสหภาพยุโรป ซึ่งถือเป็นปัจจัยที่จะดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนในกัมพูชามากขึ้นจากผลประโยชน์ทางการค้าต่างๆ อย่างเช่นมาเลเซียซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มนักลงทุนต่างชาติกลุ่มสำคัญของกัมพูชาในภาคอสังหาริมทรัพย์ โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า และโรงงานแปรรูป ปัจจุบันปริมาณการค้าระหว่างกัมพูชา-มาเลเซียเกินกว่า 500 ล้านดอลลาร์ในปี 2021 เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.14 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501048791/3-2-billion-worth-malaysia-investment-projects-registered-in-cambodia/

คาด RCEP กระตุ้นส่งออกกัมพูชาร้อยละ 9-18 ต่อปี

สถาบันวิจัยทางเศรษฐกิจเพื่ออาเซียนและเอเชียตะวันออก (ERIA) ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับภาคการค้าภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) แสดงให้เห็นว่าการส่งออกของกัมพูชาคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 9.4-18 ต่อปี จากการเข้าเป็นสมาชิกภายใต้ข้อตกลง RCEP ซึ่งจะส่งผลทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศกัมพูชาจากที่เคยเติบโตร้อยละ 2 เพิ่มขึ้นเป็นเติบโตร้อยละ 3.8 กล่าวโดย Pan Sorasak รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กัมพูชา ซึ่งปัจจุบัน RCEP ครอบคลุมกลุ่มประชากรประมาณร้อยละ 30 ของโลก คิดเป็นร้อยละ 30 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศทั่วโลก และคิดเป็นร้อยละ 28 ของการค้าโลก

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501041189/rcep-set-to-boost-cambodia-exports-by-9-18-yearly/

“เวิลด์แบงก์” ประเมินเวียดนามได้รับผลประโยชน์ทางการค้าและรายได้มากที่สุดในสมาชิก RCEP

ตามรายงานของธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) เปิดเผยว่าได้ทำการวิเคราะห์ผลกระทบจากการเข้าร่วมสมาชิกของเวียดนามจากความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) โดยพิจารณาแบบจำลองจาก 4 ปัจจัยที่สะท้อนให้ทราบถึงสถานะของธุรกิจ 1) การปรับลดภาษีของกลุ่ม RCEP เพียงข้อตกลงการค้าฉบับเดียวเท่านั้น 2) ลดอัตราภาษีศุลกากรและมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี อาทิ การลดภาษีสินค้าเกษตร 35%,  สินค้าอุตสาหกรรม 25% และบริการ 25% 3) ต้นทุนการค้าระหว่างสมาชิกลดลง 1% ในช่วงปี 2565-2578 4) ผลผลิตเพิ่มขึ้นจากการเปิดกว้างทางการค้าและต้นทุนการค้าที่ลดลง ดังนั้น ผลจากการวิเคราะห์ พบว่ารายได้และการค้าที่แท้จริงของเวียดนามขยายตัวได้ดี ตลอดจนได้รับผลประโยชน์สูงสุดในสมาชิก RCEP รายได้ที่ทแจริงเพิ่มขึ้น 4.9% เมื่อเทียบกับระดับพื้นฐาน

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnam-to-get-highest-trade-income-gains-among-rcep-members-wb-post926211.vov

‘แบงก์ชาติสิงคโปร์’ มั่นใจเวียดนามได้รับผลประโยชน์หลักจากข้อตกลง RCEP

ธนาคารแห่งชาติสิงคโปร์ (DBS) รายงานว่าอัตราภาษีศุลกากรเฉลี่ยของเวียดนามในกรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) อยู่ที่ 1.2% ต่ำกว่าเกาหลีใต้ 4.8% หรือจีน 2.8% ชี้ให้เห็นถึงเวียดนามเป็นหนึ่งในประเทศของสมาชิกอาเซียนที่ได้รับประโยชน์จากการลดภาษีศุลกากร เหตุจากการเปิดกว้างทางการค้าของเวียดนามในระดับสูง ในขณะที่ภาพรวมของการค้าเวียดนามกับสมาชิกใน RCEP นั้นอยู่ในระดับสูง และทำให้ภาคธุรกิจได้รับผลประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรีดังกล่าว ตลอดจนผลของข้อตกลงการค้าเสรียังช่วยให้เวียดนามยกระดับการส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ข้อตกลงการค้าเสรียังก่อให้เกิดการเพิ่มการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ถึงแม้ว่าสิงคโปร์ยังคงมีส่วนแบ่งทางการลงทุน FDI เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่การไหลเข้าของเม็ดเงินทุนไปยังเวียดนามนั้น มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นและอยู่ในอันดับที่ 1 ใน 3 ของประเทศรับเงินทุนจากกลุ่มสมาชิกอาเซียน+6

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/singaporean-bank-considers-vietnam-key-beneficiary-of-rcep-post924478.vov