คาดค้าชายแดนไทยปี 64 ฝ่าวิกฤตเติบโตกว่า 28%

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การค้าชายแดนและผ่านแดนของไทยในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2564 เติบโตสูง 38% ผลจากเศรษฐกิจในหลายประเทศมีสัญญาณพื้นตัวจากโควิด-19 โดยเฉพาะการส่งออกไปจีนตอนใต้ คาดว่าการส่งออกชายแดนและผ่านแดนตลอดปี 2564 เติบกว่า 28% ทำสถิติใหม่ที่ราว 980,000 ล้านบาท และมีโอกาสขยายตัวถึง 33% แตะมูลค่าสูงถึง 1,020,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ตลาดจีนตอนใต้เป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย แซงหน้ามาเลเซียได้เป็นครั้งแรก โดยเฉพาะการเปิดเส้นทางรถไฟความเร็วสูงเชื่อมจีน-สปป.ลาว ในเดือนธ.ค.64 ทำให้การขนส่งสินค้าไปยังมณฑลหยุนหนานมีความรวดเร็ว ประหยัดค่าขนส่ง และมีมูลค่าการส่งออกช่วยขับเคลื่อนการส่งออกไปจีนตอนใต้ให้น่าสนใจมากขึ้นไปอีก จากเดิมที่สินค้าส่วนใหญ่ไปกระจุกตัวที่เขตปกครองตนเองกว่างซีเป็นหลัก

ที่มา: https://www.posttoday.com/economy/news/664721

 

การค้า กัมพูชา-ไทย ปรับตัวเพิ่มขึ้น ในช่วง 8 เดือน

การค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.14 คิดเป็นมูลค่า 5,238 ล้านดอลลาร์ ในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ รายงานโดยกระทรวงพาณิชย์ของไทย แสดงให้เห็นว่าตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนสิงหาคม กัมพูชาส่งออกสินค้ามูลค่ารวม 623 ล้านดอลลาร์ ไปยังประเทศไทย ลดลงร้อยละ 31.70 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนการนำเข้าของกัมพูชาจากประเทศไทยในช่วงเวลาดังกล่าวกลับขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.76 คิดเป็นมูลค่า 4,614 ล้านดอลลาร์ โดยสินค้าภาคการเกษตรถือเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของกัมพูชาไปยังประเทศไทย ในขณะที่การส่งออกของไทยไปกัมพูชาส่วนใหญ่ประกอบด้วย ปุ๋ยทางการเกษตร อาหารและเครื่องสำอาง ซึ่งทั้งสองประเทศตั้งเป้าทำการค้าทวิภาคีร่วมกันสูงถึง 15 พันล้านดอลลาร์ ภายในปี 2023 โดยเมื่อปีที่แล้วมูลค่าการค้าทวิภาคีระหว่างสองประเทศอยู่ที่ 7.236 พันล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 23 จากปี 2019

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50943079/cambodia-thailand-eight-month-trade-inches-up/

‘อาคม’ชี้ GDP โตแม้โควิดป่วน ‘กสิกร’ฟันธงส่งออกปีนี้พุ่ง12.4%

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยภายในงาน Sustainable Thailand 2021 ว่า ที่ผ่านมา รัฐบาลได้แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจโควิด-19  ผ่านหลายโครงการ เช่น คนละครึ่ง ยิ่งใช้ยิ่งได้ เป็นต้น เพื่อรักษาระดับการบริโภคภายในประเทศไว้ คาดว่าในปี 2565 เศรษฐกิจจะเติบโตอยู่ที่ 4-5% ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้คาดการณ์ส่งออกในปี 2564 ที่ 12.4% โดยมองว่า 4 เดือนที่เหลือของปี 2564 การส่งออก จะยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูง แต่อาจชะลอตัวลงเล็กน้อยจากช่วง 8 เดือนแรก ทำให้การส่งออกเดือนส.ค. 2564 ขยายตัวอยู่ที่ 8.93% ชะลอลงจาก 20.3% ในเดือนก.ค.2564 อย่างไรก็ตาม การส่งออกไปใน CLMV (กัมพูชา-ลาว-เมียมา-เวียดนาม) กลับมาหดตัวในรอบ 6 เดือน โดยหดตัวอยู่ที่ 0.03% หลังการส่งออกไปเวียดนาม (-17.2%) กลับมาปรับตัวลดลงอย่างมากหลังเผชิญสถานการณ์การระบาดที่รุนแรง

ที่มา: https://www.naewna.com/business/605045

 

สะพานบ่อแก้ว-ไซยะบุรี แล้วสำเร็จไปแล้วกว่า 66 เปอร์เซ็นต์

สะพานคนทึน-ห้วยแก้ว ซึ่งทอดข้ามแม่น้ำโขงเชื่อมจังหวัดบ่อแก้วและไซยะบุรี เสร็จสมบูรณ์แล้วกว่า 66 % การก่อสร้างโครงการเริ่มขึ้นในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2560 ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาลลาวเป็นมูลค่ากว่า 180,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งจะแล้วเสร็จภายใน 36 เดือน หลังจากสร้างแล้วเสร็จ สะพานจะมีความสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคโดยการเพิ่มการไหลเวียนของผลิตภัณฑ์ ให้ทางลัดสำหรับยานพาหนะที่วิ่งผ่านพื้นที่ และอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างลาวและไทยทั้งนี้ยังเป็นไปแผนยุทธศาสตร์ชาติที่จะนำพาสปป.ลาวสู่ประเทศที่เชื่อมต่อการขนส่งระดับภูมิภาค เป็นการส่งเสริมขนส่งในประเทศและการเชื่อมต่อการค้ากับประเทศเพื่อนบ้านให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ที่มา : https://laotiantimes.com/2021/09/21/bokeo-xayaboury-bridge-now-over-66-percent-completed/

‘SCG’ เล็งขยายการลงทุนเพิ่มอีก 353 ล้านเหรียญสหรัฐในเวียดนาม

บริษัทยักษ์ใหญ่สัญชาติไทย ‘บมจ.เอสซีจี แพคเกจจิ้ง’ ประกาศแผนขยายการลงทุนในเวียดนาม ด้วยเม็ดเงินกว่า 353 ล้านเหรียญสหรัฐ วัตถุประสงค์ของแผนงานดังกล่าวเพื่อสร้างโรงงานใหม่ในจังหวัดหวิญฟุ้ก (Vinh Phuc) ทางตอนเหนือของประเทศ ซึ่งจะเพิ่มกำลังการผลิต 74% สู่ระดับปริมาณการผลิตบรรจุภัณฑ์กระดาษ 870,000 ตันต่อปี ทั้งนี้ เวียดนามเป็นผู้บริโภคและผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดในภูมิภาค ทำให้เป็นที่สนใจของนักลงทุนข้ามชาติ นายวิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เอสซีจี แพคเกจจิ้ง (CSCGP) กล่าวว่าความต้องการบรรจุภัณฑ์และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องมีแนวโน้มขยายตัวประมาณ 6-7% ต่อปี ตั้งแต่ปี 2564-2567

ที่มา : https://e.vnexpress.net/news/business/companies/thai-packaging-firm-eyes-353-mln-expansion-in-vietnam-4359690.html

ผลกระทบช่วงการ LOCKDOWN กรกฎาคม -สิงหาคม 2564

สถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยผลสำรวจผลกระทบช่วงการ Lockdown กรกฎาคม -สิงหาคม 2564 จากกลุ่มตัวอย่างหอการค้าจังหวัดทั่วประเทศ จำนวน 284 ราย และกลุ่มตัวอย่างภาคประชาชนจำนวน 1,164 ราย ผลการศึกษา ดังนี้

1. ผลการสำรวจกลุ่มตัวอย่างหอการค้าจังหวัดทั่วประเทศ พบว่า ได้รับผลกระทบทางลบมากถึงร้อยละ 74.16 โดยที่ระหว่างการ Lockdown กับการเปิดให้ดำเนินการธุรกิจ/เศรษฐกิจ ส่วนใหญ่เห็นว่า ควรเปิดให้ดำเนินการธุรกิจ/เศรษฐกิจ ร้อยละ 77.32 มาตรการที่รัฐบาลออกมาช่วยเหลือประชาชนในช่วง COVID 19 พบว่าอยู่ในระดับไม่เพียงพอ ร้อยละ 48.22% และมีความพึงพอใจในมาตรการอยู่ในระดับน้อย ร้อยละ 46.50 ด้านทัศนะต่อการผ่อนคลายมาตรการ Lockdown พบว่า เห็นด้วยกับการผ่อนคลายมาตรการ Lockdown อยู่ในระดับมาก ร้อยละ 61.24 โดยมีความพอใจอยู่ในระดับปานกลาง ร้อยละ 54.08 ส่วนผลกระทบจากการผ่อนคลายมาตรการ Lockdown พบว่าได้รับผลกระทบทางบวกถึง ร้อยละ 64.2 ด้านมุมมองต่อการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนในจังหวัด พบว่า เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ร้อยละ 50.00 ส่วนรูปแบบการจ้างงานในจังหวัด ส่วนใหญ่ร้อยละ 47.31 เป็นการจ้างงานไม่เต็มเวลา/ถูกลดชั่วโมงการทำงานลง หลังการผ่อนคลายมาตรการ มองว่าธุรกิจกลับมาดำเนินได้ปกติ เหมือนกับช่วงก่อน COVID 19  ภายในเดือนตุลาคม ร้อยละ 32.63 ส่วนมุมมองต่อภาวะเศรษฐกิจของจังหวัดเมื่อเทียบกับปีก่อน ส่วนใหญ่ ร้อยละ 73.40 เติบโตน้อยกว่า 0.0 และมุมมองต่อภาวะเศรษฐกิจไทยเมื่อเทียบกับปีก่อน ส่วนใหญ่ ร้อยละ 76.09 เติบโตน้อยกว่า 0.0 เช่นกัน ขณะที่ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล คือ ควรจัดหาวัคซีนให้เพียงพอเพื่อนำมาฉีดให้ประชาชนในประเทศให้เร็วและทั่วถึงที่สุด ควรกำหนดมาตรการฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชัดเจนทั้งในระยะสั้นและระยะยาว และผ่อนคลายมาตรการการกักกันโรค (Lockdown) เพื่ออำนวยความสะดวกในการดาเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เป็นต้น

2. ผลการสำรวจกลุ่มตัวอย่างภาคประชาชน พบว่า ได้รับผลกระทบทางลบมากถึงร้อยละ 72.7 โดยที่ระหว่างการ Lockdown กับการเปิดให้ดำเนินการธุรกิจ/เศรษฐกิจ ส่วนใหญ่เห็นว่า ควรเปิดให้ดำเนินการธุรกิจ/เศรษฐกิจ ร้อยละ 59.2 ด้านมาตรการที่รัฐบาลออกมาช่วยเหลือประชาชนในช่วง COVID 19 พบว่าอยู่ในระดับน้อย ร้อยละ 33.5% โดยมีความพึงพอใจในมาตรการอยู่ในระดับปานกลาง ร้อยละ 48.6 ด้านทัศนะต่อการผ่อนคลายมาตรการ Lockdown พบว่า เห็นด้วยกับการผ่อนคลายมาตรการ Lockdown อยู่ในระดับปานกลาง ร้อยละ 51.1 มีความพอใจอยู่ในระดับปานกลาง ร้อยละ 51.4 ส่วนผลกระทบจากการผ่อนคลายมาตรการ Lockdown พบว่าได้รับผลกระทบทางบวกถึง ร้อยละ 44.7 ด้านรูปแบบการจ้างงาน ส่วนใหญ่ร้อยละ 57.9 ยังทำงานเป็นปกติ ส่วนมุมมองหลังการผ่อนคลายมาตรการ มองว่าธุรกิจกลับมาดำเนินได้ปกติ เหมือนกับช่วงก่อน COVID 19  ภายในเดือนพฤศจิกายน ร้อยละ 42.5 ขณะที่ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล ได้แก่ เพิ่มมาตรการช่วยเหลือและเยียวยา ให้ครอบคลุมทุกกลุ่มทุกพื้นที่ ปรับปรุงและพัฒนาการบริหารจัดการสถานการณ์ COVID 19 ให้ได้ดีกว่านี้ และกำหนดแผนพัฒนาระบบเศรษฐกิจที่สามารถนำมาปรับใช้ได้จริงในสถานการณ์ปัจจุบัน เป็นต้น

ที่มา: สถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

แนะรัฐให้ต่างชาติซื้อบ้านได้เฉพาะ กทม. อีอีซี ภูเก็ต ราคาเกิน 10 ล้านขึ้นไป

นายวิชัย วิรัตกพันธ์ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่า การขยายสิทธิให้ชาวต่างชาติเข้ามาถือครองชุดบ้านจัดสรรได้เพิ่มขึ้น ควรกำหนดให้ซื้อได้เฉพาะบ้าน หรือคอนโดฯ ระดับหรูที่มีราคา 10 ล้านบาทขึ้นไป เพื่อไม่ให้มาแย่งซื้อที่อยู่อาศัยจากคนชั้นกลาง หรือคนทำงาน ซึ่งนิยมซื้อบ้านราคาปานกลาง 3-8 ล้านบาท เพราะอาจทำให้ที่อยู่อาศัยราคาแพงขึ้น นอกจากนี้ ควรกำหนดโซนถือครองบางพื้นที่ เฉพาะในเขตเศรษฐกิจสำคัญ เช่น  กรุงเทพฯ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) หรือภูเก็ต ไม่ควรเปิดให้เข้ามาถือครองได้อิสระ ส่วนการขยายกรรมสิทธิ์เกิน 30 ปี  ควรแบ่งเป็นช่วง ๆ ต่ออายุได้อีกครั้งละ 30 ปี อีก 2 ครั้ง รวมเป็น 90 ปี รวมถึงการถือครองคอนโดฯ แม้จะขยายสัดส่วนเข้าอยู่ได้เกิน 49% แต่ก็ควรจำกัดสิทธิการโหวตไม่เกินกึ่งหนึ่งเหมือนเดิม เพื่อให้คนไทยยังเป็นเสียงส่วนใหญ่อยู่

ที่มา: https://www.dailynews.co.th/news/292995/

คลังชงเพิ่มกรอบเพดานก่อหนี้สาธารณะ70%

วันจันทร์นี้ (20ก.ย.)จะมีการประชุมคณะกรรมการวินัยการเงินการคลังที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานและมีคณะกรรมการที่มาจากผู้บริหารระดับสูงของ 4 หน่วยงาน ประกอบด้วย กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) และสำนักงบประมาณ โดยมีวาระสำคัญคือ การขยายกรอบการก่อหนี้สาธารณะ โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลังหรือสศค.ได้เสนอทางเลือก คือ การขยายกรอบเพดานการก่อหนี้ให้ไม่เกิน 70% ของจีดีพี จากปัจจุบันที่อยู่ไม่เกิน 60% ของจีดีพี ขณะที่กรอบเพดานการก่อหนี้ที่เพิ่มขึ้นมา 10% นั้น จะทำให้รัฐบาลมีช่องทางการกู้เงินได้เพิ่มอีกราว 2 ล้านล้านบาท ทั้งนี้ ตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ไทยเคยมีระดับหนี้เฉียดเข้าใกล้ 60% ต่อจีดีพีแต่ไม่เคยทะลุ 60% ต่อจีดีพี

ที่มา: https://www.bangkokbiznews.com/news/961051

ปีงบประมาณ 63-64 ไทยขึ้นแท่นคู่ค้าหลักของเมียนมา

จากข้อมูลขององค์การสถิติกลาง (Central Statistical Organization – CSO)  10 เดือนที่ผ่านมา (ต.ค.63-ก.ค.64) ของปีงบประมาณ 2563-2564 มูลค่าการค้าระหว่างไทยและเมียนมา มีมูลค่า 4.117 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตามมาด้วยคู่ค้าสำคัญในภูมิภาค ได้แก่ สิงคโปร์และมาเลเซีย นอกจากนี้ การส่งออกส่วนใหญ่นอกจากไทยแล้วจีนถือเป็นคู่ค้านอกภูมิภาคที่สำคัญของเมียนมา ซึ่งการค้าระหว่างเมียนมาและไทยแบ่งเป็นการส่งออกมีมูลค่ากว่า 2.548 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และการนำเข้ามีมูลค่ากว่า 1.569 ดอลลาร์สหรัฐฯ โดยการส่งออกก๊าซธรรมชาติจากเขตตะนาวศรีส่งผลให้การค้าชายแดนกับไทยเพิ่มขึ้นอย่างมากในปีที่ผ่านมา และสินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ ผลิตภัณฑ์ประมง ถ่านหิน ดีบุกเข้มข้น (SN 71.58 เปอร์เซ็นต์) มะพร้าว (สดและแห้ง) ถั่ว ข้าวโพด หน่อไม้ งา เครื่องนุ่งห่ม ฯลฯ เป็นหลัก ส่วนการนำเข้าจะเป็นสินค้าทุน เช่น เครื่องจักร สินค้าอุตสาหกรรมดิบ เช่น ซีเมนต์และปุ๋ย และสินค้าอุปโภคบริโภค เช่น เครื่องสำอาง น้ำมันพืชที่รับประทานได้ และผลิตภัณฑ์อาหาร เมียนมามีการค้าขายชายแดนกับไทยผ่านพื้นที่ชายแดนท่าขี้เหล็ก เมียวดี มะริด มอตอง ตีกี คอทุ่ง และเมเซ ตามลำดับ โดยเมียวดีเป็นชายแดนที่มูลค่าการค้าที่ใหญ่ที่สุด รองลงมาคือ ตีกี อย่างไรก็ตาม การค้าผ่านชายแดนซบเซาจากวิกฤตโควิด-19 ส่งผลให้การค้าทางบกลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/thailand-tops-among-trading-partners-in-regional-countries-this-fy/#article-title

อะไรทำให้ ‘เวียดนาม’ เนื้อหอม ดึงดูดนักลงทุน ก้าวสู่ฐานการผลิตโลก สวนทาง ‘ไทย’ ที่กำลังโดนทิ้ง

โดย รุ่งนภา พิมมะศรี I กองบรรณาธิการสายเศรษฐกิจ ไทยรัฐพลัส

ความสามารถในการแข่งขันของไทยลด และกำลังโดนทิ้ง

ความกังวลที่ว่านักลงทุนรายใหม่จะไม่เข้ามา และนักลงทุนรายเดิมจะหนีไป เกิดขึ้นจริงแล้ว ดังที่มีข่าว ข้อมูล และตัวเลขต่างๆ-บริษัทต่างชาติปิดบริษัท บริษัทต่างชาติย้ายฐานการผลิต แรงงานร่ำไห้หน้าโรงงานในวันทำงานวันสุดท้าย คือเหตุการณ์ที่ปรากฏให้เห็นเป็นข่าวอยู่เรื่อยมา และข้อเท็จจริงอันหนึ่งที่อาจจะฟังดูเศร้าๆ คือ บริษัทสัญชาติไทยเองก็ไปลงทุนตั้งฐานการผลิตในเวียดนาม

ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ไม่ใช่ว่าไม่มีนักลงทุนรายใหม่เข้ามาลงทุนในไทยเลย เพียงแต่ตัวเลขจำนวนโครงการและมูลค่าการลงทุนใน 3 ปีหลังลดลง และมูลค่าไม่สูงเท่าประเทศคู่แข่งรายสำคัญอย่างเวียดนาม

เมื่อช่วงกลางปี 2564 ที่เพิ่งผ่านมา มีข่าวอันลือลั่นจากรายงานของ KKP Research ที่ว่าโลกกำลังจะทิ้งไทย ซึ่งข้อมูลในรายงานบอกว่า เมื่อเทียบการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศใน 5 ประเทศอาเซียน ได้แก่ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ พบว่าสัดส่วนของไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง จากที่เคยมีสัดส่วนอยู่มากกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ ในช่วงปี 2547-2550 แต่ในช่วงปี 2559-2562 ลดเหลือประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ซึ่งเป็นผลมาจากเศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้างที่ทำให้ความสามารถในการแข่งขันอ่อนแอลง

ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ว่าสถิติการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนของโครงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมาเป็นอย่างไรบ้าง

เวียดนามดึงดูดนักลงทุนเก่ง สวนทางกับไทย

กราฟเทียบมูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ของไทยกับเวียดนาม จากคลังข้อมูลของธนาคารโลก (World Bank) ช่วยให้เห็นภาพความสามารถในการดึงดูดนักลงทุนของเวียดนามชัดขึ้น

ปี 2563 ข้อมูลจากกระทรวงการวางแผนและการลงทุน ประเทศเวียดนาม ระบุว่า 11 เดือนแรกของปี 2563 การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในเวียดนามมีมูลค่า 17,200 ล้านดอลลาร์ โดยภาคการผลิตและการแปรรูปดึงดูดการลงทุนมากที่สุด ส่วนประเทศที่เข้าไปลงทุน 5 อันดับแรก ได้แก่ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ไต้หวัน และฮ่องกง

“ยังมีนักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจ ไว้วางใจ และมีความจำเป็นต้องลงทุนในเวียดนามเป็นจำนวนมาก แต่เนื่องจากผลกระทบของโควิด-19 ทำให้การเดินทางของนักลงทุน ตลอดจนการตัดสินใจลงทุนครั้งใหม่ และการขยายขนาดโครงการโดยตรงจากต่างประเทศยังคงได้รับผลกระทบ” ข้อมูลจากทางการเวียดนาม

และในปี 2564 นี้ นับถึงวันที่ 20 มิถุนายน 2564 มูลค่าเงินทุนจากโครงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในเวียดนาม อยู่ที่ประมาณ 9,240 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 306,832 ล้านบาท มากกว่าของไทยในช่วงเวลาเดียวกันที่มีมูลค่า 278,658 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 6.8 เปอร์เซ็นต์จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

ปัจจัยเด่นของเวียดนามที่โดนใจบริษัทต่างชาติ

เป็นเรื่องที่น่าสนใจว่าอะไรเป็นเหตุผล เป็นปัจจัยสนับสนุนที่ทำให้บริษัทต่างชาตินิยมเลือกเวียดนามเป็นฐานการผลิต? ไม่ว่าจะสำหรับการขยายฐานการผลิตเพิ่มเติม หรือย้ายฐานการผลิตมาจากประเทศอื่น

ศูนย์พัฒนาการค้าและธุรกิจไทยในอาเซียน สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครโฮจิมินห์ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เคยวิเคราะห์ปัจจัยที่ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้าไปลงทุนในเวียดนาม ว่ามี 6 ปัจจัย ดังนี้

  1. ความมีเสถียรภาพของรัฐบาล

เวียดนามปกครองด้วยระบอบสังคมนิยม มีพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียว คือพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม ซึ่งมีบทบาทในการกำหนดแนวทางการบริหารประเทศทุกด้าน ทําให้การบริหารประเทศเป็นไปอย่างราบรื่น และนโยบายต่างๆ ได้รับการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันผู้นำประเทศมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนในการบริหารประเทศ และมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างจริงจัง ซึ่งช่วยสร้างความมั่นใจให้แก่นักลงทุนต่างชาติที่สนใจเข้ามาลงทุนในเวียดนาม

  1. ทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์

เวียดนามมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะพลังงาน และแร่ธาตุ เช่น มีแหล่งน้ำมันดิบกระจายอยู่ทั่วทุกภาค เป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันดิบรายสำคัญอันดับ 3 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากมาเลเซีย และอินโดนีเซีย, มีปริมาณเชื้อเพลิงสำรอง เช่น ก๊าซธรรมชาติ ปิโตรเลียม และถ่านหินอยู่มาก รวมทั้งแร่ธาตุสําคัญ คือ บอกไซต์ โปแตสเซียม และเหล็ก นอกจากนี้ ยังมีป่าไม้ มีทรัพยากรดินและน้ำอย่างเพียงพอทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพเอื้อต่อการเพาะปลูก

  1. เป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพ

เวียดนามมีประชากรมากถึง 90 ล้านคน ชาวเวียดนามเริ่มมีกำลังซื้อมากขึ้นตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และชาวเวียดนามโพ้นทะเลหรือที่เรียกว่า ‘เวียดกิว’ ซึ่งมีประมาณ 3 ล้านคน โอนเงินกลับประเทศปีละประมาณ 3,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ชาวเวียดนามส่วนใหญ่ต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีคุณภาพดีจำนวนมากและเพิ่มขึ้นทุกปี

  1. เน้นนโยบายเป็นมิตรกับทุกประเทศ

เวียดนามให้ความสำคัญกับมิตรประเทศ รวมถึงนโยบายด้านความปลอดภัย ทําให้เวียดนามไม่เคยตกเป็นเป้าหมายของการก่อการร้าย และแทบไม่มีปัญหาอาชญากรรมขั้นร้ายแรง ประกอบกับเวียดนามมีกฎหมายที่เข้มงวดและมีบทลงโทษรุนแรง ส่งผลให้เวียดนามเป็นประเทศที่มีความปลอดภัยสูงแห่งหนึ่งของโลก ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้นักลงทุนเกิดความเชื่อมั่นและตัดสินใจเข้าไปลงทุน

  1. เวียดนามให้ความสำคัญกับการพัฒนาเส้นทางคมนาคมขนส่ง

มีการพัฒนาเส้นทางคมนาคมขนส่ง ทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ ตลอดจน สาธารณูปโภคต่างๆ ให้มีความสะดวกและทันสมัยยิ่งขึ้น เพื่อรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการพัฒนาเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจแนวตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor: EWEC)

  1. ความได้เปรียบด้านแรงงาน

ชาวเวียดนาม 48 ล้านคน หรือคิดเป็น 55 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากรเวียดนามทั้งหมดอยู่ในวัยทำงาน มีอายุระหว่าง 15-64 ปี และอัตราการรู้หนังสือของชาวเวียดนามสูงกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของประชากร ทำให้เวียดนามมีแรงงานคุณภาพจำนวนมาก อัตราค่าจ้างแรงงานต่ำ และยังสามารถหาแรงงานได้ง่าย นายจ้างสามารถรับสมัครแรงงานได้โดยตรง ไม่ต้องผ่านกระทรวงแรงงานของเวียดนาม ในขณะเดียวกัน ชาวเวียดนามก็มีความสนใจสมัครงานโดยเฉพาะกับบริษัทต่างชาติ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นจุดแข็งของตลาดแรงงานในเวียดนาม

อ่านต่อ : https://plus.thairath.co.th/topic/money/100479