CSG พร้อมสร้างสมดุลในการจัดหาพลังงานให้แก่ สปป.ลาว

China Southern Power Grid (CSG) กำลังมองหาโอกาสทางธุรกิจมากขึ้น ภายในเขตลุ่มแม่น้ำล้านช้าง-ลุ่มแม่น้ำโขง (LMC) โดยเฉพาะในประเทศ สปป.ลาว หลังจากที่ได้รุกลงทุนด้านพลังงานและการค้าภายในภูมิภาคแล้วในปัจจุบัน ด้าน Li Xinhao ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายความร่วมมือระหว่างประเทศของ CSG กล่าวว่า บริษัท พร้อมให้การช่วยเหลือและร่วมมือกับกลุ่มประเทศในเขตลุ่มแม่น้ำล้านช้าง-ลุ่มแม่น้ำโขง เพื่อสร้างสมดุลในด้านการจัดหาไฟฟ้าในภูมิภาค ซึ่งในช่วงฤดูแล้งของ สปป.ลาว ทางการจำเป็นต้องนำเข้าพลังงานไฟฟ้าเพื่อตอบสนองต่อความต้องการภายในประเทศ โดยในอนาคต CSG จะสร้างสายส่งไฟฟ้าเพิ่มขึ้นใน สปป.ลาว เพื่อเป็นการสร้างความแข็งแกร่งด้านพลังงาน ภายในสิ้นปี 2022 บริษัท ได้นำส่งไฟฟ้ากว่า 40,212 GWh ไปยังเวียดนาม 1,228 GWh ไปยัง สปป.ลาว และ 4,969 GWh ไปยังเมียนมา รวมถึงทำการซื้อไฟคืนจากเมียนมา 23,279 GWh

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_132_China_CSG_y23.php

พาณิชย์หนุนโมเดล “คาเฟ่อเมซอน” ปักหมุด สปป.ลาว

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ได้นำคณะเดินทางเยือนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ระหว่างวันที่ 7-8 ก.ค. 2566 และได้พบหารือกับผู้บริหารบริษัท ปตท. และ Cafe Amazon สาขาเมืองหลวงพระบาง เพื่อหารือเรื่องโอกาสการขยายการค้า และการลงทุนใน สปป.ลาว พร้อมเยี่ยมชมกิจกรรมฟาร์มควายนมแห่งแรกของหลวงพระบาง เพิ่มทางเลือกทางโภชนาการสำหรับผู้แพ้นมวัว โดยพบว่า สปป.ลาว เป็นตลาดที่มีศักยภาพสำหรับการลงทุนร้านคาเฟ่ แม้จะเป็นประเทศขนาดเล็กที่มีประชากรเพียง 7.5 ล้านคน แต่เป็นแหล่งปลูกกาแฟที่มีชื่อเสียงของโลก

ทั้งนี้ มูลค่าการค้าระหว่างประเทศไทย-สปป.ลาว ในช่วง 5 เดือนแรก 111,816.37 ล้านบาท ไทยส่งออก 67,564.83 ล้านบาท นำเข้า 44,251.54 ล้านบาท ได้ดุลการค้า 23,313.29 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปี 2565 ที่มีมูลค่าการค้า 112,940.02 ล้านบาท ไทยส่งออก 64,289.16 ล้านบาท นำเข้า 48,650.86 ล้านบาท ได้ดุลการค้า 15,638.3 ล้านบาท

ที่มา : https://www.prachachat.net/economy/news-1343466

2024 สปป.ลาว ตั้งเป้ารับนักท่องเที่ยว 4.6 ล้านคน

รัฐบาล สปป.ลาว หวังดึงดูดนักท่องเที่ยวอย่างน้อย 4.6 ล้านคน ภายในช่วงปี 2024 ผ่านแคมเปญ Visit​ Laos Year​ 2024 โดยคาดว่าจะสร้างรายได้เข้าประเทศประมาณกว่า 712 ล้านดอลลาร์ ซึ่งคาดการณ์ว่ามากกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนนักท่องเที่ยวดังกล่าวจะเป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ข้อมูลข้างต้นกล่าวโดย Suanesavanh Vignaket​ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสารสนเทศ วัฒนธรรม และการท่องเที่ยว สปป.ลาว ซึ่งคาดว่าเทศกาลธาตุหลวงในเวียงจันทน์ การเฉลิมฉลองปีใหม่ สปป.ลาว และการเฉลิมฉลองในแขวงหลวงพระบางเพื่อเฉลิมฉลองวันออกพรรษา จะเป็นช่วงที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้ออกมาเที่ยวมากที่สุด เช่นเดียวกับเทศกาลอื่นๆ ที่นอกเหนือจากที่กล่าว ด้านกระทรวงฯ กำลังเร่ง​ส่ง​แผนการกระตุ้นการท่องเที่ยว​ให้กับ​รัฐบาล ในการ​อนุมัติเพื่อทำการจัดแคมเปญต่อไป โดยในปี 2018 ช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 สปป.ลาว ให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวมากถึง 4.1 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.2 เมื่อเทียบกับปี 2017

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Laostargeting130.php

สมาชิกสภาแห่งชาติขอรัฐบาล สปป.ลาว ซ่อมแซมถนนหมายเลข 13

สภาแห่งชาติ (NA) ของแขวงหลวงพระบาง ได้ขอให้รัฐบาลดำเนินการซ่อมแซมถนนหมายเลข 13 ทางตอนเหนือของประเทศ เนื่องจากรถบรรทุกที่มีการบรรทุกน้ำหนักมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งถนนสายดังกล่าวถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญภายในประเทศ โดยเฉพาะในส่วนระหว่างอำเภอ Kasy, Phoukhoun และ Xieng Ngeun และทางเชื่อมไปยังถนนหมายเลข 7 ที่นำไปสู่จังหวัด Xieng Kuang ซึ่งหน่วยงานผู้รับผิดชอบอย่างกระทรวงโยธาธิการและขนส่ง ได้เร่งพิจารณาแนวทางฉุกเฉินในการซ่อมแซมถนน เพื่อไม่ให้การเดินทางระหว่างเวียงจันทน์และแขวงทางภาคเหนือเป็นอุปสรรค อีกทั้งยังสนับสนุนให้มีการตรวจสอบน้ำหนักรถบรรทุกเป็นการป้องกันการบรรทุกน้ำหนักเกินขนาด จนส่งผลทำให้ถนนเสื่อมสภาพไวกว่าปกติ ในขณะเดียวกัน กระทรวงกำลังมองหาสถานที่ที่เหมาะสมในการสร้างสถานีชั่งน้ำหนักเพิ่มเติมในอนาคตเพื่อลดผลกระทบดังกล่าว

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_128_NAmember_y23.php

คาดรัฐบาล สปป.ลาว ใช้งบประมาณ 22 ล้านดอลลาร์ สำรวจสำมะโนประชากร

รัฐบาล สปป.ลาว คาดว่าจะใช้งบประมาณ 22.2 ล้านดอลลาร์ จ้างงานเจ้าหน้าที่ 18,000 คน เพื่อจัดทำสำมะโนประชากรและเคหะแห่งชาติครั้งที่ 5 โดยถือเป็นสถิติสำคัญเกี่ยวกับลักษณะทางประชากร เศรษฐกิจและสังคม ขณะที่การสำรวจสำมะโนประชากรได้รับความช่วยเหลือจาก UNFPA, USIAD, DFAT Australia และธนาคารโลก ทั้งทางด้านความร่วมมือทางเทคนิคและการเงิน ซึ่งสถิติดังกล่าวถือว่ามีความสำคัญต่อการกำหนด การติดตาม ประเมินผล และการประเมินแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นอย่างมาก เพื่อให้สอดรับกับโครงสร้างของประชากร ด้านรองนายกรัฐมนตรี ศ.ดร. Kikeo Khaykhamphithoune ระบุเสริมว่า ปัจจุบันประชากรของ สปป.ลาว มีอยู่ประมาณ 7.5 ล้านคน โดยอ้างอิงจากการจัดทำสำมะโนประชากรและเคหะจำนวน 4 ครั้ง นับตั้งแต่ปี 1985-2015 ครอบคลุมการสำรวจประชากรทุกกลุ่ม โดยเฉพาะผู้ด้อยโอกาสและกลุ่มเปราะบาง เช่น คนจน คนชรา คนพิการ ผู้ย้ายถิ่น วัยรุ่นและเด็กผู้หญิง

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_127_Govt_y23.php

สปป.ลาว ขาดดุลเงินตราต่างประเทศ กระทบภาคสินเชื่อและการท่องเที่ยว

ผู้ว่าการธนาคารกลาง สปป.ลาว ได้เน้นย้ำถึงต้นตอของการขาดแคลนเงินตราต่างประเทศ และกำหนดมาตรการหลัก เพื่อจัดการกับปัญหาเหล่านี้ในระหว่างการประชุมกับคณะสภาแห่งชาติ โดย สปป.ลาว ประสบกับปัญหาขาดดุลเงินตราต่างประเทศมาตั้งแต่ปี 2010 ซึ่งหมายความว่าการไหลเข้าของเงินตราต่างประเทศน้อยกว่าการไหลออก ทำให้เกิดความไม่สมดุลในระบบเศรษฐกิจ จนทำให้รัฐบาลต้องจำกัดจำนวนเงินกู้เนื่องจากหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้น โดยเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ดุลการชำระเงินโดยรวมขาดดุล นอกจากนี้ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลให้ สปป.ลาว สูญเสียรายรับในรูปเงินตราต่างประเทศเป็นจำนวนมาก จากการที่ภาคการท่องเที่ยวที่หยุดชะงักและการลงทุนจากต่างประเทศที่ลดลงอย่างมาก ซึ่งถือเป็นแหล่งที่มาหลักของเงินตราต่างประเทศของ สปป.ลาว ขณะที่ในปี 2022 มูลค่าการส่งออกของ สปป.ลาว อยู่ที่ 8.19 พันล้านดอลลาร์ แต่เข้าประเทศเพียง 2.7 พันล้านดอลลาร์ ตัวอย่างเช่น ในปี 2022 สปป.ลาว มีรายได้จากการส่งออกไฟฟ้าประมาณ 2.2 พันล้านดอลลาร์ แต่ไหลเข้า สปป.ลาว เพียง 500 ล้านดอลลาร์ เนื่องจากนักลงทุนได้รับอนุญาตให้ชำระหนี้ในต่างประเทศ จากการกู้เงินนอกประเทศเพื่อสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าใน สปป.ลาว

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Bol126.php

ท่าเรือ สปป.ลาว-มาเลเซีย มองหาช่องทางการเชื่อมโยงระหว่างกัน

Sake Philangam กรรมการผู้จัดการของท่าเรือบกท่านาแล้ง สปป.ลาว และ Mr. Wan Ahmad Azheed Wan Mohamad กรรมการผู้จัดการกลุ่มและซีอีโอของ Mutiara Perlis Sdn Bhd ได้จัดพิธีลงนามในบันทึกความร่วมมือระหว่างกัน (MoC) โดยมีนายกรัฐมนตรีของ สปป.ลาว และมาเลเซียร่วมเป็นสักขีพยาน ซึ่งทั้งสองฝ่ายมีความต้องการในการเชื่อมโยงด้านโลจิสติกส์ระหว่างกัน เพื่อเป็นการส่งเสริมการค้าการลงทุนต่อไปในอนาคต ขณะที่รัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งชาติลาวและการรถไฟมาเลเซีย Keretapi Tanah Melayu Berhad (KTMB) ก็ได้ลงนามใน MoC ที่คล้ายคลึงกัน เพื่อเป็นการส่งเสริมการขนส่งทางราง หวังเชื่อมโลจิสติกส์ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งหากเกิดการเชื่อมกันอย่างสมบูรณ์จะช่วยลดระยะเวลาและต้นทุนในการขนส่งลงอย่างมาก โดยเฉพาะการขนส่งสินค้าไปยังจีนที่เป็นตลาดส่งออกสำคัญของกลุ่มประเทศอาเซียน ยกตัวอย่างเช่น การขนส่งทุเรียนจากประเทศไทยผ่านทางรถไฟใช้เวลาเพียง 3 วัน ในการขนส่งไปยังจีน เร็วกว่าการขนส่งแบบดังเดิมถึงสองเท่า และด้วยความได้เปลี่ยนนี้คาดว่าจะถือเป็นการดึงดูดนักลงทุน เข้ามาลงทุนยังภูมิภาคมากยิ่งขึ้น อีกทั้ง สปป.ลาว ยังได้เพิ่มสิ่งจูงใจในการเข้ามาลงทุนอีกมากมาย เช่น ยกเว้นภาษีนิติบุคคล 8-16 ปี การลดหย่อนภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นต้น อีกทั้ง สปป.ลาว ยังมีข้อตกลงทางด้านการค้าอีกหลายฉบับกับนานาประเทศทั่วโลก

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_LaoMalasian125.php

คาดเขตพัฒนานครเวียงจันทน์หนุนการลงทุนภายใน สปป.ลาว

คาดเขตพัฒนาเวียงจันทน์สร้างโอกาสสำหรับการลงทุนภายในประเทศ ภายใต้แรงจูงใจ อาทิเช่น ลดหย่อนภาษี ไปจนถึงสิทธิพิเศษในการเข้าถึงตลาด โดยเขตพัฒนาดังกล่าวถือเป็นโครงการร่วมทุนระหว่าง สปป.ลาว-จีน ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองหลวงเวียงจันทน์ของ สปป.ลาว สำหรับผู้ลงทุนจะได้รับสิทธิพิเศษด้วยการยกเว้นภาษีกำไรเป็นระยะเวลาตั้งแต่ 5-10 ปี ขึ้นอยู่กับประเภทของสินค้าและการส่งออก และเมื่อระยะเวลายกเว้นภาษีสิ้นสุดลง จะมีการเสนอนโยบายการลดภาษีลงในรูปแบบขั้นบันได ด้าน Xiong Jun ผู้จัดการทั่วไปของ Lao-China Joint Venture Investment Co., Ltd. ซึ่งเป็นผู้พัฒนาเขตเศรษฐกิจ กล่าวเสริมว่า นอกจากนี้ จะได้รับการยกเว้นภาษีสำหรับกำไร ยังมีการยกเว้นภาษีสำหรับสิ่งก่อสร้างและวัตถุดิบนำเข้า ไปจนถึงการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ให้เป็นศูนย์ สำหรับพื้นที่เขตพัฒนาตั้งอยู่บนพื้นที่ 1,149 เฮกตาร์ ในเขตไขยเชษฐา โดยเริ่มก่อสร้างระยะที่ 1 นับตั้งแต่ปี 2010 จนถึงปัจจุบันผู้พัฒนาได้ลงนามข้อตกลงกับ 127 บริษัท จากประเทศต่างๆ เช่น จีน ไทย ญี่ปุ่น มาเลเซีย สิงคโปร์ สปป.ลาว สหรัฐอเมริกา และสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อทำธุรกิจในโซนนี้ ในจำนวนนี้ บริษัท 64 แห่ง ได้เปิดสายการผลิตและดำเนินการแล้ว สร้างงานได้มากถึง 6,000 ตำแหน่ง ในจำนวนนี้เป็นแรงงานในท้องถิ่นกว่า 4,000 ตำแหน่ง

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten124_Vientiane_y23.php

สภาแห่งชาติ สปป.ลาว เรียกร้องให้รัฐบาลหาทางออกให้กับเศรษฐกิจที่ย่ำแย่

คณะกรรมาธิการสมัชชาแห่งชาติ (NA) ได้เรียกร้องให้รัฐบาล สปป.ลาว จัดการกับปัญหาทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างเร่งด่วน ซึ่งอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนเป็นจำนวนมาก โดยได้กล่าวไว้ในวันเปิดการประชุมสมัยสามัญครั้งที่ 5 ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ชุดที่ 9 นำโดยรองประธานรัฐสภา Sommad Pholsena ซึ่งได้เรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมที่กำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน โดยอัตราเงินเฟ้อในช่วงเดือนพฤษภาคมปีก่อนอยู่ที่ร้อยละ 12.81 ก่อนจะไต่ระดับขึ้นเป็นร้อยละ 39.27 ในช่วงเดือนธันวาคม ซึ่งส่งผลทำให้ประชาชนคนส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากการขยายตัวของอัตราเงินเฟ้อเป็นอย่างมาก ด้านคณะกรรมการของ NA ยังแนะนำให้รัฐบาลสร้างงานให้กับคนในท้องถิ่นเพิ่มขึ้น เพื่อเป็นการสร้างพื้นฐานการดำเนินชีวิตที่ดี รวมถึงเป็นการยกระดับผู้คนให้พ้นจากความยากจนและลดค่าครองชีพซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังต้องเร่งดำเนินการจัดการกับขบวนการค้ายาเสพติด ลดอัตราอาชญากรรม นอกจากนี้ รัฐบาลควรดำเนินการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น การสกัดแร่เถื่อน การบุกรุกที่ดินของรัฐและผู้ถือสิทธิการใช้ที่ดิน การทำลายป่าและแหล่งน้ำ ซึ่งส่งผลต่อมลภาวะทางอากาศ

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten123_NA_y23.php

นายกฯ มาเลเซียเยือน สปป.ลาว เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระดับทวิภาคี

การมาเยือน สปป.ลาว อย่างเป็นทางการ ของนายกรัฐมนตรี Datuk Seri Anwar Ibrahim นายกฯ มาเลเซีย ในช่วงวันที่ 26-27 มิ.ย. ซึ่งคาดว่าจะกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกันหลัง สปป.ลาว จะต้องเป็นประธานในการจัดการประชุมอาเซียนในปีหน้าที่จะต้องรับตำแหน่งต่อจากอินโดนีเซีย โดยผู้นำทั้งสองพร้อมที่จะเป็นสักขีพยานในการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MoC) ระหว่าง Keretapi Tanah Melayu Berhad (KTMB) และรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งชาติ สปป.ลาว (LNRSE) รวมถึง Mutiara Perlis Sdn Bhd (MPSB) ขณะที่ท่าเรือบกท่านาแล้ง (TDP) กล่าวว่า การค้าทวิภาคีระหว่างมาเลเซียและ สปป.ลาว เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 425 จากมูลค่าการค้ารวม 48.7 ล้านดอลลาร์ ในปี 2021 เป็น 255.6 ล้านดอลลาร์ ในปี 2022 เนื่องจากความต้องการผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ของมาเลเซียที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งมาเลเซียยังคงเป็นกลุ่มประเทศผู้เข้ามาลงทุนโดยตรงมายัง สปป.ลาว (FDI) รายใหญ่อันดับ 4 ของประเทศ รองจากจีน ไทย และเวียดนาม ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในโครงการลงทุนภาคพลังงาน เขตการค้าเสรี ยานยนต์ และการธนาคาร

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten122_PM_Anwar_y23.php