ค้าชายแดนไทย-เมียนมา ดิ่งฮวบ !

กระทรวงพาณิชย์เมียนมา เผย การค้าชายแดนไทย-เมียนมาลดลง 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ระหว่างวันที่ 1 ต.ค.63 ถึง 9 ก.ค.64 ของปีงบประมาณปัจจุบัน ซึ่งการค้าไทย-เมียนมาทั้ง 7 ด่านชายแดนแตะ 3.26 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปีงบประมาณปัจจุบัน ลดลงจากปีก่อน 3.27 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากด่านการค้าชายแดนทั้ง 7 แห่ง ได้แก่ ท่าขี้เหล็ก เมียวดี คอทุ่ง มะริด ตีกี มอตอง และแม่สาย โดยการส่งออกจะเป็นสินค้าเกษตร ป่าไม้และสัตว์ แร่ธาตุ สินค้าที่ผลิต และสินค้าเบ็ดเตล็ดอื่น ๆ ส่วนการนำเข้าสินค้าจะเป็น ยา เครื่องสำอาง อาหารและเครื่องดื่ม เครื่องเขียน รองเท้า เสื้อผ้า เครื่องจักร และสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ การค้าระหว่างเมียนมาและ 4 ประเทศเพื่อนบ้านระหว่างวันที่ 1 ต.ค.63 ถึง 9 ก.ค.64 มีมูลค่ากว่า 8.44 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลง 392 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/thai-myanmar-border-trade-decreases/#article-title

เมื่อไทยเริ่มไม่ใช่จุดสนใจของโลก ส่งออกไม่ดี ไม่มีเทคชั้นสูง ได้แค่รับจ้างผลิต นักลงทุนไทยยังหนี

โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP Research)

บทวิเคราะห์ของ KKP Research เกียรตินาคินภัทร จับสัญญาณว่าประเทศไทยกำลังได้รับความสนใจลดลงในหลายมิติ

มิติแรก “การลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงิน” เช่น

  • ตลาดหุ้น ที่นักลงทุนต่างชาติมีสัญญาณขายสุทธิอย่างต่อเนื่อง
  • นักลงทุนในไทยก็เริ่มออกไปลงทุนต่างประเทศมากขึ้นเรื่อย ๆ

ในปี 2021 รับเพียงในไตรมาส 1 นักลงทุนไทยออกไปลงทุนในต่างชาติแล้วกว่า 3 แสนล้านบาท

มิติที่สองคือ “การลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ” เช่น

  • ในปัจจุบันต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทยลดลงเรื่อย ๆ เมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งในภูมิภาค
  • ในขณะที่บริษัทไทยก็เริ่มออกไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้นเช่นกัน

มิติที่สามคือ “การสูญเสียความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออก” ดังนี้

  • ในปี 2021 การส่งออกทั่วภูมิภาคขยายตัวอย่างแข็งแกร่งตามเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวได้เร็ว
  • แต่สัญญาณที่เราเห็นคือ การส่งออกของไทยฟื้นตัวได้ช้ากว่าหลายประเทศในโลก
  • โดยเฉพาะอย่างยิ่งไทยมีสัดส่วนของสินค้าส่งออกที่ใช้เทคโนโลยีต่ำกว่าประเทศคู่แข่ง ซึ่งสะท้อนว่าไทยมีคู่แข่งที่น่ากลัวเพิ่มขึ้นและต่างชาติกำลังมีความต้องการสินค้าไทยลดน้อยลง

ความสามารถในการแข่งขันที่ลดลงมาจากปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยที่ซ้อนกันอยู่เป็นชั้นๆ ดังต่อไปนี้ สาเหตุในชั้นแรก เกิดจากสินค้าส่งออกหลักของไทยปัจจุบันกำลังเผชิญความท้าทายใหม่ ๆ โดยสินค้าใน 5 กลุ่มหลัก ได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์ สินค้าเกษตรและปิโตรเคมี

สาเหตุในชั้นที่สอง ไทยไม่มีสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูง และทำหน้าที่เพียงรับจ้างผลิต เมื่อพิจารณาโครงสร้างการเติบโตของสินค้าส่งออกไทยในช่วงกว่า 25 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีการเติบโตในกลุ่มสินค้าเทคโนโลยีขั้นกลางเฉพาะรถยนต์

ในขณะที่ไม่มีทิศทางการพัฒนาไปสู่การส่งออกในกลุ่มสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูงที่ชัดเจน

  • เมื่อเทียบกับต่างประเทศไทยมีสัดส่วนการส่งออกสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูงที่น้อยกว่าภูมิภาค คือ 19%
  • เมื่อเทียบกับการส่งออกทั้งหมดเท่านั้นในปี 2019 เทียบกับเวียดนามที่ 28% และเอเชียที่ 26%
  • ยิ่งไปกว่านั้นยังมีการเติบโตเฉลี่ยในช่วงปี 2010-2019 ในกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เพียง 2.2% ในขณะที่เอเชียโตเฉลี่ยถึง 6.6%

โครงสร้างการส่งออกที่ยังเป็นสินค้าแบบเก่า ทำให้ในช่วงที่ผ่านมาการส่งออกไทยฟื้นตัวได้ช้ากว่าหลายประเทศในภูมิภาค

อีกประเด็นที่น่ากังวลคือ ประเทศไทยทำหน้าที่เป็นเพียงผู้รับจ้างผลิตสินค้าและไม่ได้เป็นเจ้าของเทคโนโลยี เมื่อพิจารณามูลค่าเพิ่มจากการผลิต (Value added) ที่บริษัทไทยสร้างได้ พบว่าอยู่ในสัดส่วนคงที่มาโดยตลอด สะท้อนว่าในช่วงที่ผ่านมายังไม่เกิดกระบวนการถ่ายโอนเทคโนโลยีใหม่ๆ มาสู่ประเทศไทย

สาเหตุในชั้นสุดท้าย นโยบายของรัฐยังไม่สนับสนุนให้เกิดการพัฒนาระยะยาว เมื่อพิจารณาจากดัชนีความสามารถในการแข่งขันที่จัดทำโดย IMD (World Competitiveness Index) ไทยอยู่ในลำดับที่ 40 ในปี 2019 ซึ่งแม้ไทยไม่อยู่ในลำดับที่แย่มาก แต่มีอุปสรรคใหญ่ที่ไม่สามารถแก้ไขได้ในระยะเวลาสั้น ๆ และส่งผลไปถึงโครงสร้างเศรษฐกิจที่ไม่สามารถพัฒนาไปตามเทรนด์โลกทั้งในช่วงที่ผ่านมาและต่อเนื่องถึงอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการผูกขาดของตลาดสินค้าในประเทศจากปัญหาการคอร์รัปชั่น การเอื้อประโยชน์พวกพ้องทำให้ไม่เกิดการลงทุนในสินค้ากลุ่มใหม่ ๆ เพราะไม่คุ้มค่าสำหรับบริษัท ปัญหาด้านคุณภาพแรงงาน  ที่แรงงานยังไม่ถูกพัฒนาไปเป็นแรงงานที่มีทักษะสูง และไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและท้าทายของเศรษฐกิจระยะยาว ปัญหาด้านโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐในไทยยังไม่ให้ความสำคัญในการมีโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล และการปฏิรูปกฎระเบียบที่เหมาะสมพร้อมดึงดูดการลงทุน

จุดเปลี่ยนประเทศไทย

ปัญหาความสามารถในการแข่งขันอาจกำลังผลักให้เศรษฐกิจไทยก้าวเข้าสู่จุดเปลี่ยนในอย่างน้อยสองประเด็นสำคัญ คือ

  1. เศรษฐกิจไทยในอดีตที่พึ่งพาการส่งออกและการท่องเที่ยวอาจไม่ได้ผลอีกต่อไปในอนาคต
  2. ดุลการค้าของไทยอาจจะเกินดุลลดลงและสร้างความเสี่ยงกับฐานะการเงินระหว่างในระยะยาว

ข้อเสนอของ KKP Research

สินค้าส่งออกไทยยังมีข้อได้เปรียบในแง่ความซับซ้อนของสินค้าที่อยู่ในระดับค่อนข้างดีและสามารถต่อยอดสู่สินค้าใหม่ ๆ ได้ แนวทางการพัฒนาสินค้าของไทยยังสามารถต่อยอดจากสินค้ากลุ่มเดิมทั้งจากการเร่งให้เกิดการถ่ายโอนเทค​โนโลยีมาสู่ผู้ประกอบการไทย และการขยายการผลิตสินค้าไปในกลุ่มที่ใช้เทคโนโลยีใกล้เคียงเดิม โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้ายานยนต์และอุปกรณ์ขนส่ง เครื่องจักร และเคมีภัณฑ์

KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร ประเมินว่าเพื่อให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีได้ ภาคเอกชนมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน และรัฐก็มีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทาง ส่งเสริม และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญใน 4 ด้าน คือ

  1. การพัฒนาคุณภาพปัจจัยการผลิต ลดกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกิจ พัฒนาการศึกษาและคุณภาพแรงงานให้มีทักษะที่ภาคอุตสาหกรรมต้องการ
  2. การเข้าถึงตลาดและเพิ่มขนาดของตลาด เพื่อขายสินค้าผ่านการทำข้อตกลงการค้าเสรี อย่างไรก็ตามไทยยังต้องพัฒนาเศรษฐกิจและสินค้าในประเทศให้ตรงกับความต้องการของตลาดโลก
  3. โครงสร้างพื้นฐานและปัจจัยทางภูมิศาสตร์ที่ทันสมัย เช่น การขนส่ง การปรับปรุงกฎระเบียบด้านภาษีและการใช้สิทธิทางภาษีให้วางแผนและเข้าใจง่าย การเตรียมความพร้อมด้าน ICT และ High Speed Broadband
  4. สถาบันเศรษฐกิจที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะการส่งเสริมการแข่งขันที่เสรี ปราศจากการคอร์รัปชัน ซึ่งจะเป็นแรงจูงใจให้เกิดการลงทุนในสินค้ากลุ่มใหม่ ๆ ได้

ที่มา :

/1 บทวิเคราะห์โดย KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร

/2 https://brandinside.asia/turing-point-of-thai-export-kkp-research/

อาเซียน-ฮ่องกง FTA อีก 5 สาขาไทยได้ประโยชน์

นายดวงอาทิตย์ นิธิอุทัย รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้เข้าร่วมการประชุมและทำหน้าที่ประธานฝ่ายอาเซียนในการประชุมคณะกรรมการร่วมกำกับการดำเนินงานภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ฮ่องกง (AHKFTA-JC) ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยที่ประชุมได้รับทราบความคืบหน้าการเจรจาเรื่องการลงทุน กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดเฉพาะรายสินค้า และการบังคับใช้ตารางการลดภาษี ที่มีการแปลงพิกัดจากของภาคีสมาชิก ซึ่งปัจจุบันเหลือเพียงบรูไน ที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ และที่ประชุมได้เห็นชอบขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการภายใต้ความตกลง AHKFTA เพิ่มเติมใน 5 สาขา ได้แก่ สุขอนามัยและสุขอนามัยพืช มาตรฐาน กฎระเบียบทางเทคนิค ทรัพย์สินทางปัญญา เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้า และ การส่งเสริมการลงทุน จากเดิมที่เห็นชอบแล้ว 5 สาขา โดยไทยมีความตกลงกับฮ่องกง 2 ฉบับ คือ ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ฮ่องกง (AHKFTA) และความตกลงด้านการลงทุนอาเซียน-ฮ่องกง (AHKIA) ซึ่งครอบคลุมการเปิดเสรีการค้าสินค้าและการค้าบริการ การส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการ

ที่มา : https://www.innnews.co.th/news/news_144568/

รัฐบาลลาวและ Electricité De France (EDF) ได้ลงนามในข้อตกลงการพัฒนาโครงการ Nam Theun 2-Solar

รัฐบาลลาวและ Electricité De France (EDF) ได้ลงนามในข้อตกลงการพัฒนาโครงการ Nam Theun 2-Solar ซึ่งเป็นโครงการพลังงานแสงอาทิตย์แบบลอยตัวแบบไฮบริดที่ใหญ่ที่สุดในโลก ครอบคลุมพื้นที่ 3.2 ตารางกิโลเมตร คาดจะมีกำลังการผลิตติดตั้ง 240MWp ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการไฟฟ้าพลังน้ำที่ใหญ่ที่สุดในสปป.ลาว ผู้พัฒนาโครงการที่นำโดย EDF ร่วมกับ Lao Holding State Enterprise (LHSE) และ บริษัท ผลิตไฟฟ้า (EGCO) ของประเทศไทยตั้งเป้าที่จะเริ่มการก่อสร้างในปี 2565 และเริ่มดำเนินการในปี 2567 โครงการน้ำเทิน-2 โซลาร์จะจัดหาไฟฟ้าที่สะอาด ปลอดภัย โดยไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือสังคม ที่สำคัญประหยัดน้ำซึ่งช่วยให้สามารถเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์แบบแปรผันเป็นไฟฟ้าพลังน้ำเพิ่มเติมและมีเสถียรภาพ เป็นนวัตกรรมในการผลิตไฟฟ้าหมุนเวียนในลักษณะที่น่าเชื่อถือยิ่งขึ้น สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติสปป.ลาวในการส่งเสริมพลังงานควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Namtheun2_135.php

เชื่อนักลงทุนเข้าใจไทยล็อคดาวน์ดีกว่าปล่อยลากยาว

นายวิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่การตลาด บมจ.อมตะคอร์ปอเรชัน เผย มาตรการยกระดับควบคุมพื้นที่สูงสุด 10 จังหวัดที่เริ่มวันที่ 12 ก.ค. ของรัฐบาล เชื่อว่า จะกระทบระยะสั้นเท่านั้น และในสายตานักลงทุนต่างชาติเข้าใจถึงสถานการณ์เป็นอย่างดี ซึ่งหากไทยยังปล่อยให้มีการแพร่ระบาดและเสียชีวิตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นมากกว่า ทั้งนี้สิ่งสำคัญคือการบริหารจัดการด้านวัคซีนทั้งระบบ ทั้งในเรื่องการจัดหา แผนการกระจาย ให้ถึงมือประชาชนและครอบคลุมจำนวนประชากร 70% เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ควบคู่ไปด้วย

ที่มา: https://www.dailynews.co.th/news/47803/

สปป.ลาว-ไทยร่วมมือแก้ปัญหาแรงงานข้ามชาติ

ทางการสปป.ลาวและไทยตกลงที่จะดำเนินการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับแรงงานต่อไปเพื่อให้มั่นใจว่าการย้ายถิ่นของแรงงานจะปลอดภัย ซึ่งควรรวมถึงคนงานที่เข้าถึงการจ้างงานถาวรและมีสิทธิได้รับมาตรการด้านสวัสดิการที่ดีและยุติธรรมในประเทศไทย ท่ามกลางการแพร่กระจายของ Covid-19 ทั้งสองประเทศจะทบทวนนโยบายด้านแรงงานเพื่อให้ความช่วยเหลือแรงงานสปป.ลาว รวมถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการปิดโรงงานอันเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำพวกเขายังได้พิจารณาแนวทางในการแก้ไขปัญหาแรงงานที่ไม่มีเอกสาร รวมทั้งเน้นที่การช่วยเหลือแรงงานผิดกฎหมายที่ต้องการกลับบ้านหรือช่วยเหลือผู้ที่ต้องการทำงานในประเทศไทยต่อไปอย่างถูกกฎหมาย นางอนุสร คำสิงห์สวัสดิ์ อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงานและการจัดหางาน สังกัดกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมของลาว กล่าวว่า “ฝ่ายสปป.ลาวเสนอให้เจ้าหน้าที่ของไทยอนุญาตให้แรงงานต่างด้าวที่ไม่มีเอกสารจากสปป.ลาวทำงานอย่างถูกกฎหมายได้อีกสักระยะหนึ่งจนกว่าวิกฤตที่เกิดจากโควิด-19 จะคลี่คลาย

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Laosthai_133.php

อสังหาฯ หวั่นเจ็บแต่ไม่จบแนะ 3 แผนสกัด

นายอธิป พีชานนท์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า มาตรการล็อกดาวน์ในครั้งนี้ รัฐบาลต้องวางแผนการปฏิบัติงานที่ชัดเจนว่า ระหว่างล็อกดาวน์ 14 วัน โดยมี 3 วาระที่ต้องดำเนินการเร่งด่วน คือ 1.จัดให้มีการตรวจคัดกรองให้มากที่สุด 70 -80% ของคนในพื้นที่ ของประชาชนให้้มีโอกาสได้ตรวจคัดกรองในราคาที่ไม่แพง 2.เร่งฉีดวัคซีนในพื้นที่สีแดง ป้องกันการติดเชื้อเพิ่มขึ้น และ 3.เยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์ จะดูแลอย่างไร เพราะสุดท้ายต้องกลับภูมิลำเนาทำให้เกิดการแพร่เชื้อในต่างจังหวัดเพิ่มขึ้น

ที่มา: https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/948347

อันดับไทย ‘ดิ่ง’ ฟื้นตัวโควิดช้า ‘ต่ำสุดอาเซียน’

หนังสือพิมพ์นิกเคอิจัดทำดัชนีฟื้นตัวจากโควิด-19 ไทยติดอันดับเกือบท้ายตาราง 118 จากกว่า 120 ประเทศและดินแดน ต่ำสุดในอาเซียน โดยดัชนีการฟื้นตัวจากโควิด-19 ที่หนังสือพิมพ์นิกเคอิของญี่ปุ่นจัดทำขึ้น วัดจากกว่า 120 ประเทศ/ดินแดน อันดับสูงหมายถึง ประเทศ/ดินแดนนั้นใกล้ฟื้นตัวเต็มที เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อยืนยันแล้วต่ำ อัตราการฉีดวัคซีนดี และ/หรือมาตรการรักษาระยะห่างเข้มงวดลดลง ซึ่งไทยอยู่ในอันดับ 118 คะแนนรวม 26 คะแนน ต่ำกว่ามาเลเซีย ที่อยู่ในอันดับ 114 คะแนนรวม 29 คะแนน อินโดนีเซีย อันดับ 110 (31 คะแนน) ฟิลิปปินส์ อันดับ 108 (32 คะแนน) เวียดนามและกัมพูชาครองอันดับ 100 ร่วมกัน (34 คะแนน) สปป.ลาว อันดับ 66 (48 คะแนน) โดยสิงคโปร์ทำได้ดีที่สุดในอาเซียนอยู่ที่อันดับ 12 (65 คะแนน) ส่วนที่หนึ่งของตารางตกเป็นของ จีน 76.5 คะแนน ตามด้วย มอลตา (76 คะแนน) อันดับ 3 โปแลนด์ (69 คะแนน) อันดับ 4 อิตาลี (68 คะแนน) อันดับ 5 ออสเตรีย (67.5 คะแนน)

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/947712

โควิด-19 พ่นพิษร้านอาหารเจ๊ง 7 หมื่นล้าน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าจากการกลับมาระบาดของโควิด-19 ในประเทศโดยเฉพาะในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล จึงได้ปรับลดประมาณการมูลค่าธุรกิจร้านอาหารในปี 2564 โดยประเมินทิศทางไว้ 2 กรณี ดังนี้  1.ควบคุมได้เร็ว ธุรกิจกลับมาเปิดได้ตามปกติ ส่งผลให้เกิดการฟื้นตัวของธุรกิจ คาดว่ามูลค่าจะหายไป 5.5 หมื่นล้านบาท เมื่อเทียบกับปีก่อน เหลือเพียง 3.50 แสนล้านบาท (-13.5%) 2.กรณีเลวร้าย การระบาดยาวนานกว่า 30 วันและมีการการมาตรการควบคุมอยู่ คาดว่ามูลค่าในปี 2564 จะหายไป 7.0 หมื่นล้านบาทเมื่อเทียบกับปีก่อน หรือเหลือเพียง 3.35 แสนล้านบาท (-17.3%) นอกจากนี้ภาครัฐควรช่วยเหลือให้ครอบคลุม เช่น ค่าเช่าและค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภค การเข้าถึงสภาพคล่อง รวมถึงเกณฑ์การชดเชยทต่อผู้ประกอบการและกลูกจ้างที่ชัดเจนและครอบคลุม

ที่มา: https://www.naewna.com/business/585387

พาณิชย์โหมแฟร์ออนไลน์ 5 เดือนสั่งซื้อพุ่ง 7 พันล้าน

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เผยว่า ครึ่งปีแรก 2564 กรมดำเนินการส่งเสริมการส่งออกผ่านช่องทางออนไลน์ตามนโยบายนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ สามารถสร้างยอดขายสินค้าได้ถึง 7,600 ล้านบาท ด้านการจัดกิจกรรมรูปแบบใหม่ mirror-mirror ที่ผู้ประกอบการไม่ต้องเดินทางไป ส่งไปแค่สินค้าเพื่อไปจัดแสดงและใช้วิธีการเจรจาผ่านออนไลน์นั้น ได้นำมาใช้ร่วมงาน Gulfood 2021 ที่ดูไบ งาน Foodex Japan 2021 สำหรับแผนฯช่วงครึ่งปีหลังนี้จะมีการจัดงาน 15 งาน อาทิ THAILOG LOGISTIX Virtual Exhibition งาน TOP Thai Brands, Thailand Week, Mini Thailand Week ในประเทศอาเซียน อินเดีย และบังกลาเทศ

ที่มา: https://www.prachachat.net/economy/news-703641