‘เวียดนาม’ ทำรายได้จากการส่งออกข้าวสูงสุดเป็นประวัติการณ์

กระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบท (MARD) เปิดเผยว่าเวียดนามทำสถิติส่งออกข้าวสูงสุดในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ อยู่ที่ 6.61 ล้านตัน หรือคิดเป็นมูลค่าราว 3.66 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 23.1% และ 40.4% ตามลำดับ โดยเฉพาะเดือน ก.ย. เพียงเดือนเดียว เวียดนามส่งออกข้าวไปยังต่างประเทศ ปริมาณ 8 แสนตัน และราคาส่งออกข้าวเฉลี่ยที่ 618 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ซึ่งเป็นราคาส่งออกข้าวอยู่ในระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ทำให้เวียดนามมีรายได้จากการส่งออกข้าวทะลุ 495 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ ฟิลิปปินส์เป็นผู้นำเข้าข้าวจากเวียดนามรายใหญ่ที่สุดในช่วง 8 เดือนแรกปีนี้ คิดเป็นสัดส่วน 40.3% ของการส่งออกข้าวทั้งหมด รองลงมาจีนและอินโดนีเซีย 13.5% และ 12.4% ตามลำดับ

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1594890/viet-nam-s-rice-exports-revenue-surges-to-new-record.html

กัมพูชาส่งออกข้าวไปยังต่างประเทศรวมกว่า 327.4 ล้านดอลลาร์ สำหรับในช่วง 9 เดือน

สหพันธ์ข้าวกัมพูชา (CRF) รายงานถึงสถานการณ์ส่งออกข้าวสารของกัมพูชามีปริมาณรวมกว่า 456,581 ตัน สำหรับในช่วง 9 เดือนแรกของปี สร้างรายได้เข้าประเทศรวมกว่า 327.4 ล้านดอลลาร์ โดยได้ทำการส่งออกยัง 57 ประเทศ ทั่วโลก ซึ่งจีนยังคงเป็นประเทศคู่ค้าหลักของกัมพูชาที่ปริมาณการส่งออก 155,366 ตัน คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 99.6 ล้านดอลลาร์ ด้าน Chan Sokheang ประธาน CRF ได้ตั้งเป้าหมายการส่งออกข้าวสารทั้งปีไว้ที่ 700,000 ตัน สำหรับในปี 2023 โดยเฉาพะ ข้าวหอม ข้าวอินทรีย์ ข้าวขาว ข้าวนึ่ง และข้าวจาโปนิกา เป็นสำคัญ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501372820/cambodia-earns-327-4-million-from-rice-export-in-9-months/

‘เมียนมา’ เผยสัปดาห์ที่ 2 ของเดือน ก.ย. ส่งออกข้าวทะลุ 26,420 ตัน

ตามข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าการส่งออกข้าวและข้าวหักของเมียนมา 26,420 ตัน ในช่วงสัปดาห์ที่ 2 ของเดือน ก.ย. และจากข้อมูลตั้งแต่วันที่ 9-15 ก.ย. เมียนมาส่งออกข้าวผ่านทางทะเล ปริมาณมากกว่า 14,610 ตัน คิดเป็นมูลค่าราว 8.08 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และผ่านทางชายแดนเมียนมา-จีน ปริมาณกว่า 2,009 ตัน มูลค่า 0.898 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งรวมทั้งสองเส้นทางได้ประมาณ 16,620 ตัน มูลค่ารวมทั้งสิ้น 8.97 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ ตลาดส่งออกข้าวสำคัญของเมียนมา ได้แก่ ประเทศในเอเชีย 10,900 ตัน ตามมาด้วยสหภาพยุโรป 2,150 ตัน และประเทศแอฟริกา 1,560 ตัน

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmar-exports-over-26420-tonnes-of-rice-in-sept-2nd-week/#article-title

‘เมียนมา’ ตั้งเป้าส่งออกข้าว ต.ค.-ธ.ค. ทะลุ 2 แสนตัน

นายเย มิน ออง ประธานสหพันธ์ข้าวเมียนมา กล่าวในงานแถลงข่าวเมื่อวันที่ 23 ก.ย. ว่าเมียนมาได้ตั้งเป้ายอดส่งออกข้าวเฉลี่ยมากกว่า 2 แสนตันในช่วง 3 เดือน (ต.ค.-ธ.ค.) และคาดว่าจะเพิ่มสัดส่วนการส่งออกข้าวมากขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ถึงแม้ว่าการส่งออกข้าวจะปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงแรกของปีงบประมาณนี้ ทั้งนี้ ราคาข้าวในตลาดโลกพุ่ง เป็นผลมาจากการที่อินเดียระงับการส่งออกข้าว อาจส่งผลให้การส่งออกข้าวของเมียนมาเพิ่มสูงขึ้น

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmar-set-to-export-exceeding-200000-tonnes-of-rice-per-month-in-oct-dec/#article-title

‘แคนาดา’ ตลาดศักยภาพของข้าวเวียดนาม

หน่วยกิจการพรมแดนแคนาดา (CBSA) รายงานว่าภายหลังจากข้อตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ทีมีผลบังคับใช้แล้ว ส่งผลให้การส่งออกข้าวของเวียดนามไปยังตลาดเหล่านี้เพิ่มขึ้น 60% หรือเกือบ 9.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2561-2565 และช่วยให้เวียดนามอยู่ในอันดับที่ 5 ของกลุ่มผู้ส่งออกข้าวไปยังตลาดแถบอเมริกาเหนือ ทั้งนี้ คุณ Dinh Trung Dung ผู้อำนวยการของบริษัท Vietnam CanadaTrading Ltd กล่าวว่าแคนาดานับเป็นตลาดบริโภคข้าวขนาดใหญ่ โดยมีความต้องการประมาณ 5 แสนตันต่อปี อย่างไรก็ดี ตลาดแห่งนี้มีข้อกำหนดที่เข้มงวดในเรื่องคุณภาพของสินค้า

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1593988/canada-a-potential-market-for-viet-nam-s-rice-insiders.html

กัมพูชาตั้งเป้าส่งออกข้าวสารไปยังจีนขยายตัว 20%

นายกรัฐมนตรี ฮุน มาเน็ต กล่าวว่า กัมพูชากำลังวางแผนที่จะเพิ่มปริมาณการส่งออกข้าวสารไปยังจีนอีกร้อยละ 20 โดยได้กล่าวไว้ในระหว่างการประชุมพบปะกับแรงงาน รวมถึงโรงงาน 18 แห่ง ในจังหวัดตาแก้ว ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และเจ้าหน้าที่อาวุโสจากทุกกระทรวงเข้าร่วมงาน ด้านนายกฯ ยังได้รายงานอีกว่าหลังการเดินทางไปเยือนจีน ทางการกัมพูชาได้หารือกับญี่ปุ่นและประเทศสมาชิกอาเซียน หวังกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รวมถึงดึงดูดการลงทุนและเปิดโอกาสทางการค้ากับประเทศต่างๆ ปัจจุบันความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างจีนถือเป็นประโยชน์ต่อกัมพูชาเป็นอย่างมากด้วยการได้รับโครงการลงทุนขนาดใหญ่จำนวนมากที่สร้างงานให้กับคนในท้องถิ่นกัมพูชาหลายแสนตำแหน่ง และเพิ่มมูลค่าการส่งออกของประเทศ โดยเฉพาะในภาคเกษตรกรรม ซึ่งหลังจากการได้ร้องขอในการเพิ่มโควต้าการส่งออกข้าวของกัมพูชา ทางการได้ร้องขอให้ภาคเอกชนโดยเฉพาะผู้ส่งออกข้าวร่วมมือกันส่งเสริมการส่งออกข้าวและเพิ่มมาตรฐานให้สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501363031/cambodia-plans-to-increase-export-of-milled-rice-to-china-by-20/

‘เมียนมา’ มุ่งเจาะตลาดบังกลาเทศ ขายข้าวแบบจีทูจี

สำนักงานส่งเสริมการค้าของเมียนมา เปิดเผยว่าบังกลาเทศยื่นข้อเสนอให้มีการซื้อข้าวจากเมียนมา เนื่องจากข้าวมีคุณภาพดีและจะทำการขายข้าวรูปแบบของรัฐบาลต่อรัฐบาล (G-to-G) ในปีนี้ โดยข้อตกลงในครั้งนี้จะกำหนดราคาขึ้นอยู่กับคุณภาพเมล็ดข้าว นอกจากนี้ หลังจากอินเดียระงับการส่งออกข้าว ส่งผลให้ราคาข้าวในตลาดโลกพุ่งสูงสุด ด้วยเหตุนี้ ประเทศในภูมิภาคเอเชียต่างจับตาทิศทางตลาดข้าวของเมียนมา

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmar-rice-aimed-for-bangladesh-market-under-g-to-g-pact-2/#article-title

‘เมียนมา’ ส่งออกข้าวพุ่ง หลังอินเดียห้ามส่งออก

นายเยมินอ่อง ประธานสมาพันธ์ผู้ค้าข้าวเมียนมา เปิดเผยว่าผลผลิตข้าวหรืออุปทานข้าวทั่วโลกที่ตึงตัว มีส่วนช่วยการส่งออกข้าวในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ฟื้นตัวดีขึ้น และจะผลักดันให้เป้าหมายการส่งออกข้าวของเมียนมาทะลุ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ เมียนมาส่งออกข้าวในเดือน เม.ย.-ก.ค. อยู่ที่ราว 320,000 ตัน ทำรายได้จากการส่งออกข้าว 138 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หลังจากรัฐบาลให้ความสำคัญกับคุณภาพสูงของข้าว แต่เมื่อเดือนที่ผ่านมา อินเดียได้ระงับการส่งออกข้าว เพื่อควบคุมราคาข้าวในประเทศ ก่อนจะถึงการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นในต้นปีหน้า ทำให้ราคาข้าวของคู่แข่งในภูมิภาค อาทิเช่น ข้าวไทยและเวียดนามปรับตัวสูงขึ้น และคาดว่าเมียนมาจะส่งออกข้าวเพิ่มขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

ที่มา : https://economictimes.indiatimes.com/small-biz/trade/exports/insights/myanmar-eyes-surge-in-rice-exports-after-india-curbs-supply/articleshow/102758953.cms

อินโดนีเซียเล็งนำเข้าข้าวกัมพูชา

Joko Widodo ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ให้คำมั่นสัญญากับนายกรัฐมนตรี Hun Sen เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (11 ส.ค.) ถึงการนำเข้าข้าวจากกัมพูชาเพื่อยกระดับการค้าทวิภาคี โดยทางอินโดนีเซียจะส่งคณะผู้แทนเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการนำเข้าข้าวจากกัมพูชา ซึ่งก่อนหน้านี้รัฐบาลกัมพูชาและอินโดนีเซียเคยได้ลงนามในข้อตกลงการซื้อข้าวระหว่างกันในปี 2012 เป็นครั้งแรก แต่ยังไม่ได้สรุปโควตาปริมาณการส่งออกและประเภทของข้าว

ขณะเดียวกันนายกรัฐมนตรีฮุน เซน ชื่นชมความเคลื่อนไหวดังกล่าว โดยเรียกร้องให้อินโดนีเซียลงทุนในภาคอุตสาหกรรมข้าวในกัมพูชา ซึ่งนักลงทุนอินโดนีเซียสามารถถือครองสัดส่วนการลงทุนได้สูงถึงร้อยละ 100 ในการจัดตั้งโรงสี โกดัง และเครือข่ายรับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกร เพื่อสร้างความมั่นคงในการส่งออก สำหรับในช่วงครึ่งแรกของปีกัมพูชาส่งออกข้าวสารไปยังตลาดต่างประเทศกว่า 329,633 ตัน ไปยัง 52 ประเทศทั่วโลก โดยเน้นการส่งออกไปที่ข้าวหอมพรีเมียม ข้าวหอม ข้าวขาวเมล็ดยาว ข้าวนึ่ง และข้าวอินทรีย์ สร้างรายได้เข้าประเทศกว่า 229 ล้านดอลลาร์ รายงานโดยสหพันธ์ข้าวกัมพูชา (CRF) ซึ่งในขณะเดียวกันกัมพูชาส่งออกข้าวเปลือก ณ ชายแดนประเทศกว่า 2.2 ล้านตัน สร้างรายได้เข้าประเทศประมาณ 578 ล้านดอลลาร์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501342422/indonesia-eyes-cambodian-rice-imports/

‘เมียนมา’ เผยราคาข้าวในประเทศพุ่ง

ศูนย์ค้าส่งข้าวเมียนมา (วาดัน) รายงานว่าราคาพันธุ์ข้าว ปอว์ ซาน (Pawsan) เกรดพรีเมี่ยม ปรับตัวเพิ่มขึ้น 135,000 จ๊าตต่อกระสอบ เนื่องจากความตื่นตระหนกของชาวเมียนมาที่แห่ซื้อข้าว ภายหลังจากที่ธนาคารกลางเมียนมาออกธนบัตรใหม่ที่มีมูลค่า 20,000 จ๊าต ในวันที่ 31 ก.ค. 2566 ส่งผลให้ราคาข้าวพุ่งสูงขึ้น ไม่เพียงแต่ราคาพันธุ์ข้าว ปอว์ ซาน ปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่ข้าวพันธุ์อื่นๆ ในตลาดก็เพิ่มสูงขึ้นเช่นเดียวกัน ด้วยเหตุนี้ เพื่อรักษาเสถียรภาพของราคาข้าว ทางสหพันธ์ข้าวเมียนมา (MRF) ร่วมมือกับบริษัทส่งออกและโครงการอื่นๆ เมื่อวันที่ 7 ส.ค. ในการกำหนดการขายข้าวและราคาข้าว

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/surge-in-prices-detected-in-domestic-rice-market/#article-title