การเยือนของ นายกรัฐมนตรีจิ่ญ ที่มีความสำคัญต่อทั้งเวียดนามและสปป.ลาว

นายกรัฐมนตรีเวียดนาม ฝ่าม มิ่นห์ จิ่ญ จะเยือน สปป.ลาว ในวันที่ 9-10 มกราคม 2025 เพื่อเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการร่วมเวียดนาม-สปป.ลาว ครั้งที่ 47 โดยจะทบทวนความร่วมมือในปี 2024 และวางแผนสำหรับปี 2025 เน้นด้านการค้า การลงทุน การศึกษา และความมั่นคง รวมถึงการลงนามข้อตกลงความร่วมมือการเปิดสวนมิตรภาพลาว-เวียดนาม และการจัดประชุมความร่วมมือด้านการลงทุน อย่างไรก็ดี การเยือนนี้สะท้อนความมุ่งมั่นของทั้งสองประเทศในการพัฒนาที่ยั่งยืนและความมั่นคงในภูมิภาค

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freefreenews/freecontent_006_PM_y25.php

สถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของเวียงจันทน์ดึงดูดนักท่องเที่ยวกว่า 300,000 คนในปี 2024

ในปี 2024 สถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของเวียงจันทน์ เช่น พระธาตุหลวง หอพระแก้ว และวัดศรีสะเกษ ดึงดูดนักท่องเที่ยวกว่า 300,000 คน โดยสร้างรายได้กว่า 9 พันล้านกีบ (400,000 ดอลลาร์สหรัฐ) อย่างไรก็ตาม นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มาจากเกาหลีใต้ ไทย และจีน จากการพัฒนาและประชาสัมพันธ์สถานที่ท่องเที่ยว ทำให้ช่วยเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวได้อย่างมาก อีกทั้ง มีแผนปรับปรุงเพิ่มเติมในปี 2025 เพื่อดึงดูดความสนใจนักท่องเที่ยวระดับโลก

ที่มา : https://laotiantimes.com/2025/01/09/vientianes-top-tourist-sites-attract-over-300000-visitors-in-2024/

รัฐบาล สปป.ลาว ประเมินความก้าวหน้าในแผนเศรษฐกิจและหารือแนวทางสำหรับปี 2025

รัฐบาล สปป.ลาว ได้ประเมินแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมปี 2024 และกำหนดลำดับความสำคัญสำหรับปี 2025 ในการประชุมสองวันมานี้ โดยประเด็นที่หารือรวมถึงความท้าทายทางเศรษฐกิจ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การขาดแคลนไฟฟ้า การจัดการที่ดิน การปฏิรูปการศึกษา และการบริหารงาน อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีโซเนไซ สีพันดอน เน้นย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือและการวางแผนอย่างละเอียดเพื่อบรรลุเป้าหมายแผนพัฒนาฉบับที่ 9

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freefreenews/freecontent_004_Govt_evaluates_y25.php

เงินเฟ้อ สปป.ลาว ลดลง 16.9% ในเดือนธันวาคม

ในเดือนธันวาคม 2024 อัตราเงินเฟ้อของ สปป.ลาว ลดลงเหลือ 16.9% หลังจากเพิ่มขึ้นในเดือนก่อนหน้านี้ โดยหมวดที่มีการขึ้นราคาสูงสุดคือ ที่อยู่อาศัย การศึกษา และสุขภาพ ทั้งนี้ รัฐบาล สปป.ลาว ได้ดำเนินมาตรการเพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ รวมถึงการควบคุมอัตราแลกเปลี่ยน การส่งเสริมการผลิตในประเทศ และการปฏิรูปภาษี แม้ว่าความพยายามเหล่านี้จะมีผล อย่างไรก็ตามแต่ราคาสินค้ายังสูงทำให้ส่งผลกระทบต่อประชาชน อีกทั้ง ค่าเงินกีบยังคงเผชิญความท้าทายอีกด้วย

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freefreenews/freecontent_004_Laos_inflation_y25.php

การลงนามความร่วมมือระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมฯ เวียดนาม และ สถานทูต สปป.ลาว

กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าของเวียดนามและสถานทูต สปป.ลาว ในเวียดนามได้ยืนยันความร่วมมือในด้านเศรษฐกิจ การค้า อุตสาหกรรม และพลังงาน ท่ามกลางการประชุมที่กรุงฮานอย ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2025 การค้าทวิภาคีระหว่างสองประเทศในปี 2024 มีมูลค่าถึง 2.2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 34% จากปี 2023 อย่างไรก็ตาม ความร่วมมือในด้านพลังงานยังมีบทบาทสำคัญ โดยเวียดนามนำเข้าถ่านหินและไฟฟ้าจาก สปป.ลาว เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freefreenews/freecontent_003_Vietnam_y25.php

SCB EIC ประเมินเศรษฐกิจ CLMV ปี 2568 จะเติบโตชะลอลงเล็กน้อยตามเศรษฐกิจโลกที่แผ่วลง แต่อุปสงค์ในประเทศช่วยบรรเทาผลกระทบได้บ้าง

เศรษฐกิจ CLMV ปี 2568 มีแนวโน้มเติบโตชะลอลงเล็กน้อย

SCB EIC ประเมินเศรษฐกิจ CLMV ปี 2568 มีแนวโน้มเติบโตชะลอลงเล็กน้อยตามเศรษฐกิจโลกที่จะแผ่วลง จากผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมของนโยบาย Trump 2.0 เช่น ผลจากสหรัฐฯ ขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนและประเทศอื่น ๆ สินค้าจีนราคาถูกเข้ามาตีตลาดในประเทศมากขึ้นทดแทนตลาดสหรัฐฯ อัตราดอกเบี้ยนโยบายประเทศเศรษฐกิจหลักปรับลดน้อยกว่าที่เคยคาดไว้จากแรงกดดันเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจโลกและภูมิรัฐศาสตร์ที่เร่งตัว อย่างไรก็ตาม อุปสงค์ในประเทศ CLMV มีแนวโน้มปรับดีขึ้นตามการจ้างงาน ช่วยบรรเทาผลกระทบจากอุปสงค์ต่างประเทศชะลอตัวได้บ้าง นอกจากนี้ เศรษฐกิจภูมิภาคอาเซียนที่เติบโตดีจะช่วยสนับสนุนภาคท่องเที่ยวของเศรษฐกิจ CLMV ให้ขยายตัวต่อเนื่องได้ รวมถึงเศรษฐกิจ CLMV จะได้อานิสงส์จากการย้ายฐานการผลิตของบริษัทข้ามชาติเพื่อลดความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์และหลีกเลี่ยงอัตราภาษีนำเข้าสหรัฐฯ ที่อาจปรับสูงขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกต่อการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศและการส่งออกในระยะต่อไป ในปี 2568 SCB EIC ประเมินว่า เศรษฐกิจกัมพูชาจะขยายตัว 6.0% (ทรงตัวจากปี 2567) สปป.ลาว 4.3% (ลดลงจาก 4.5% ในปี 2567) เมียนมา 2.2% (ลดลงจาก 2.3% ในปี 2567) และเวียดนาม 6.5% (ลดลงจาก 6.8% ในปี 2567)

ปัจจัยเฉพาะของแต่ละประเทศใน CLMV มีความสำคัญต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ

เวียดนามมีแนวโน้มเติบโตดีที่สุดในกลุ่ม เนื่องจากได้ประโยชน์จากกระแสการย้ายฐานการผลิตมายังภูมิภาคอาเซียน ด้วยห่วงโซ่อุปทานในประเทศที่มีความพร้อม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงระยะทางการขนส่งไปตลาดจีนที่สั้น ตลาดในประเทศที่เติบโตดี และความได้เปรียบด้านต้นทุนการผลิตและสนธิสัญญาการค้าเสรีต่าง ๆ กัมพูชาจะเติบโตดีรองลงมา จากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ช่วยสนับสนุนตลาดแรงงานในประเทศ และเสถียรภาพการคลังที่ยังมั่นคงสามารถใช้นโยบายการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีก อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจจีนที่เติบโตชะลอลงจะเป็นปัจจัยกดดันเพราะกัมพูชาพึ่งพาจีนสูงในหลายด้าน สปป.ลาวยังเปราะบางสูง แม้จะได้อานิสงส์จากอุปสงค์ในภูมิภาคอาเซียน แต่เสถียรภาพด้านการคลังและเสถียรภาพด้านต่างประเทศยังเปราะบางมาก ท่ามกลางค่าเงินกีบอ่อน เงินเฟ้อสูง ทุนสำรองระหว่างประเทศต่ำ และต้นทุนการกู้ยืมสูงขึ้นหลังถูกจัดอันดับเครดิตที่ระดับ Speculative ปัจจัยเหล่านี้จะกดดันศักยภาพเศรษฐกิจต่อไป เมียนมาขยายตัวต่ำต่อเนื่อง ผลจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจซบเซาท่ามกลางเหตุการณ์รุนแรงที่ยังไม่คลี่คลาย ขณะที่มาตรการคว่ำบาตรจากชาติตะวันตกมีส่วนทำให้อุปสงค์ต่างประเทศอ่อนแอลงมาก ประกอบกับปัญหาอื่น ๆ เช่น เงินจัตอ่อนค่า เงินเฟ้อเร่งตัว และการขาดแคลนปัจจัยการผลิตจากเส้นทางการขนส่งและการค้าหยุดชะงัก

เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศ CLMV อาจเผชิญกับความเสี่ยงในหลายด้าน

เศรษฐกิจ CLMV จะต้องเผชิญความเสี่ยงด้านต่ำหลายด้าน ทั้งจากนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง และอาจมีการกีดกันการค้าประเทศวงกว้างกว่าที่ Trump หาเสียงไว้ โดยเฉพาะเวียดนามที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ สูง นอกจากนี้ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ อาจแข็งขึ้นจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกและภูมิรัฐศาสตร์ รวมถึงอัตราดอกเบี้ยปลายทาง (Terminal rate) ของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักที่จะสูงกว่าคาดการณ์เดิม กดดันให้ค่าเงินกลุ่มประเทศ CLMV เผชิญแรงกดดันอ่อนค่ามากขึ้น ส่งผลทำให้เงินเฟ้อลดลงช้า และหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นในบางประเทศที่พึ่งพาการกู้จากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ขณะเดียวกัน มูลค่าหนี้เสียที่ยังอยู่ในระดับสูงในบางประเทศอาจกดดันการปล่อยกู้ของธนาคารพาณิชย์และเป็นความเสี่ยงต่อความมั่นคงทางการเงินในประเทศ รวมทั้งกดดันการลงทุนภายในประเทศ สุดท้ายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนับว่าเป็นความเสี่ยงสำคัญที่ต้องจับตา เนื่องจากจะกระทบต่อผลผลิตการเกษตรและสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจ ซึ่ง CLMV จัดว่าเป็นภูมิภาคที่อ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศลำดับต้น ๆ ของโลก

อ่านต่อได้ที่ : https://www.scbeic.com/th/detail/product/clmv-outlook-dec24