‘ประชากรเวียดนาม’ เพียง 8% ลงทุนในหุ้น

จากข้อมูลของศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (VSD) เปิดเผยว่าประชากรเวียดนามในปัจจุบัน มีเพียง 8% หรือ 7.76 ล้านคน ลงทุนในตลาดหุ้น และจากข้อมูลในเดือนกันยายน 2566 พบว่ามียอดเปิดบัญชีซื้อขายหุ้นใหม่อยู่ที่ 172,695 บัญชี และโดยส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนรายย่อย หรือนักลงทุนรายบุคคล มีบัญชี 172,605 บัญชี ลดลงเกินกว่า 15,000 บัญชี เมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคม 2566 ทั้งนี้ จากข้อมูลในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ นักลงทุนเวียดนามเปิดบัญชีหุ้นใหม่ ประมาณ 924,205 บัญชี และนักลงทุนรายย่อย เปิดบัญชีใหม่ 923,211 บัญชี

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/over-8-percent-of-vietnam-s-population-investing-in-stocks-2198081.html

‘เวียดนาม’ แม่เหล็กดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ

‘Global Finance’ นิตยสารการเงินการธนาคาร ได้เผยแพร่บทความผ่านเว็บไซต์ ระบุว่าเวียดนามเป็น 1 ในประเทศชั้นนำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เป็นประเทศที่ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) มากที่สุด เนื่องจากเวียดนามมีข้อได้เปรียบหลายประการ รวมถึงประชากรเวียดนาม จำนวน 100 ล้านคนที่มีอายุต่ำกว่า 25 ปี ทั้งนี้ หอการค้ายุโรป (EuroCham) เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจว่าผู้ประกอบการเลือกเวียดนามเป็น 1 ใน 3 ตัวเลือกอันดับต้นๆ ของการลงทุน ในขณะเดียวกัน เอสแอนด์พี โกลบอล (S&P Global) ระบุว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของเวียดนามเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจในครึ่งแรกของปีนี้มีทิศทางชะลอตัวลง แต่ธนาคารโลกคาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปีนี้

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnam-poweful-magnet-for-foreign-direct-investment/268452.vnp

‘เวียดนาม’ คาดปีนี้ ต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทะลุ 13 ล้านคน

กระทรวงวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยวของเวียดนาม เปิดเผยว่ารัฐบาลปรับคาดการณ์นักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้ อยู่ที่ 12.5-13 ล้านคน จากเดิมประมาณ 8 ล้านคน เพิ่มขึ้น 56% จากแผนที่ตั้งเป้าไว้ตั้งแต่ต้นปี ซึ่งการปรับแผนประมาณการดังกล่าวมาจากได้รับสัญญาณเชิงบวกในเดือนกันยายนที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเกินกว่า 1.05 ล้านคน และนับเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกันที่มีนักท่องเที่ยวเกิน 1 ล้านคน อีกทั้ง สำนักงานการท่องเที่ยวแห่งชาติเวียดนาม ระบุว่าในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ 8.9 ล้านคน และนักท่องเที่ยวในประเทศ 93.5 ล้านคน โดยวชาวเกาหลีใต้เป็นนักท่องเที่ยวต่างขาติเดินทางเข้าเวียดนามมากที่สุด 2.6 ล้านคน รองลงมาจีน และไต้หวัน (จีน)

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnam-expects-to-welcome-13-million-foreign-visitors-this-year/268987.vnp

‘ธนาคารโลก’ หั่นคาดการณ์เศรษฐกิจเวียดนามเหลือ 4.7% ปีนี้

จากรายงานการวิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจมหภาคและสถานการณ์ความยากจนในเวียดนามของธนาคารโลก เปิดเผยว่าได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามในปีนี้ ชะลอตัวลงเหลือเพียง 4.7% และกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นที่ 5.5% ในปี 2567 และ 6.0% ในปี 2568 โดยธนาคารโลกมองว่าเศรษฐกิจที่เติบโตช้าลง เป็นผลมาจากการบริโภคของภาคเอกชนที่ลดลง ตลาดอสังหาฯ ตกต่ำ และอุปสงค์ภายนอกที่ชะลอตัวลงอย่างมาก นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี 2566 คาดว่าจะอยู่ที่ 3.5% เนื่องจากเงินเดือนข้าราชการเพิ่มขึ้น

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/wb-projects-vietnam-s-economic-growth-to-slow-to-4-7-this-year-2197044.html

‘S&P Global’ เผยดัชนี PMI ภาคการผลิตเวียดนาม ปรับตัวลดลงเล็กน้อย มียอดคำสั่งซื้อใหม่ เดือน ก.ย.

รายงานของ S&P Global ระบุว่าดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของเวียดนาม เดือน ก.ย.66 อยู่ที่ระดับ 49.7 จากระดับ 50.5 ในเดือน ส.ค.66 ได้ส่งสัญญาถึงภาวะถดถอยทางธุรกิจแก่ภาคอุตสาหกรรมในเวียดนาม ถึงแม้ว่ายอดคำสั่งซื้อใหม่จะเพิ่มขึ้นเป็นครั้งที่สองติดต่อกัน อย่างไรก็ดี จากข้อมูลพื้นฐานแสดงให้เห็นว่าสภาพแวดล้อมทางการตลาดมีความแข็งแกร่งและความเชื่อมั่นทางธุรกิจดีขึ้น แต่หากพิจารณาในภาพรวมยังเผชิญกับอุปสรรคหลากประการ ได้แก่ ภาวะเงินเฟ้อสูง ผลผลิตและการจ้างงานลดลง ต้นทุนวัตถุดิบและราคาผลผลิตที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1594585/viet-nam-records-21-68-billion-trade-surplus-in-nine-months.html

“เวิลด์แบงก์” หั่นคาดการณ์ GDP เอเชียเหลือโต 5% จีน-ไทย-เวียดนาม หนี้ภาคธุรกิจพุ่งเร็ว

สำนักข่าว CNBC รายงานว่า ธนาคารโลก ปรับลดการคาดการณ์การเติบโตสำหรับประเทศเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก โดยระบุถึง จีนและดีมานด์ทั่วโลกที่ซบเซา ท่ามกลางอัตราดอกเบี้ยที่ยังคงอยู่ในระดับสูงและการค้าที่ซบเซา ทั้งนี้ เวิลด์แบงก์กล่าวว่าขณะนี้คาดว่าประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกจะเติบโต 5% ในปี 2566 ตามรายงานเดือนตุลาคม ซึ่งน้อยกว่าการคาดการณ์ 5.1% ในเดือนเมษายนเล็กน้อย ขณะเดียวกันเวิลด์แบงก์คงการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจจีนในปีนี้ ไว้ไม่เปลี่ยนแปลงที่ 5.1% แต่ได้ปรับลดประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจในปีหน้า ลงเหลือ 4.4% จาก 4.8% โดยระบุถึงปัจจัยเชิงโครงสร้างในระยะยาว ระดับหนี้ที่สูงขึ้นในเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก และความอ่อนแอในภาคอสังหาริมทรัพย์เป็นเหตุผลในการปรับลดอันดับ

นอกจากนี้ยังเผชิญกับระดับหนี้ที่เพิ่มขึ้น ธนาคารโลกระบุว่า หนี้ภาครัฐทั่วไปเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เช่นเดียวกับระดับหนี้ภาคธุรกิจที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในจีน ไทย และเวียดนาม โดยเตือนว่าระดับหนี้ภาครัฐที่สูงอาจจำกัดการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชน หนี้ที่สูงขึ้นอาจนำไปสู่อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการกู้ยืมสำหรับธุรกิจเอกชนเพิ่มขึ้น

ที่มา : https://moneyandbanking.co.th/2023/64731/