กัมพูชาอนุมัติโครงการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียน 5 โครงการ

รัฐบาลกัมพูชาอนุมัติโครงการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียน 5 โครงการ ซึ่งคาดว่าจะมีกำลังการผลิตรวม 520 เมกะวัตต์ หวังช่วยเพิ่มกำลังการผลิตให้กับกริดไฟฟ้าของประเทศ และช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จากข้อมูลของ Phay Siphan รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและโฆษกรัฐบาล กล่าวว่า 1 ใน 5 โครงการ เป็นการจัดตั้งโรงไฟฟ้าพลังน้ำ Stung Russey Chrum Kandal ขนาดกำลังการผลิต 70 เมกะวัตต์ และโครงการไฟฟ้าพลังน้ำ Stung Veay Thmar Kambot ขนาดกำลังการผลิต 100 เมกะวัตต์ ในจังหวัดเกาะกง ขณะที่อีก 4 โครงการ เป็นโครงการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ โดยโครงการขนาดใหญ่ที่สุดอยู่ที่ 150 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ในจังหวัดโพธิสัตว์ โครงการถัดมา 2 โครงการ มีขนาดกำลังการผลิตที่ 60 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ในจังหวัดกำปงชนังและในจังหวัดสวายเรียง และโครงการสุดท้ายมีขนาดกำลังการผลิตอยู่ที่ 80 เมกะวัตต์ ในจังหวัดไพรแวง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501265922/five-renewable-energy-investment-projects-with-installed-power-generating-capacity-of-520-mw-approved/

NBC กำหนดนโยบายทางการเงิน หวังลดการพึ่งพาสกุลเงินดอลลาร์ในระบบ

ภาคธนาคารถือเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจกัมพูชา จากผลกระทบของสถานการณ์โควิด-19 โดยธนาคารแห่งชาติกัมพูชา (NBC) ได้ดำเนินนโยบายทางการเงินที่ผ่อนคลายและรอบคอบเพื่อตอบสนองความต้องการของระบบเศรษฐกิจ ซึ่ง NBC ยังได้พยายามเป็นอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่าน เพื่อที่จะลดระดับความสำคัญของสกุลเงินดอลลาร์ในระบบเศรษฐกิจ โดยการส่งเสริมการใช้สกุลเงินเรียล (KHR) ที่เป็นสกุลเงินท้องถิ่น หลังจากการทบทวนเสถียรภาพทางการเงินปี 2021 ของ NBC ซึ่งปัจจุบันระบบเศรษฐกิจของกัมพูชามีการใช้เงินดอลลาร์มากกว่าร้อยละ 80 จนส่งผลทำให้เกิดข้อจำกัดต่อบทบาทของ NBC ในการควบคุมปริมาณเงินและอัตราดอกเบี้ยภายในประเทศ ขณะที่ปัจจุบัน NBC ได้กำหนดกฎระเบียบที่มุ่งส่งเสริมทางด้านสินเชื่อโดยอ้างอิงสกุลเงินเรียล เพื่อผลักดันการใช้สกุลเงินท้องถิ่น ด้วยการกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ภายในประเทศปล่อยสินเชื่อด้วยสกุลเงินเรียลอย่างน้อยร้อยละ 10 ของการปล่อยสินเชื่อทั้งหมด

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501263299/riel-based-deposits-and-lending-help-nbcs-de-dollarisation-efforts-2/

การส่งออกของกัมพูชาในช่วงเดือน ก.พ. ขยายตัวร้อยละ 1

แม้การส่งออกของสินค้ากลุ่มเสื้อผ้าสำเร็จรูปจะหดตัว แต่มูลค่าการส่งออกโดยภาพรวมกลับเพิ่มขึ้นร้อยละ 1 ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2023 เทียบกับการลดลงร้อยละ 23.6 ในช่วงเดือนมกราคม ตามรายงานของกระทรวงเศรษฐกิจและการคลัง โดยการส่งออกเครื่องแต่งกายลดลงร้อยละ 4.5 ในช่วงเดือน ก.พ. จากการส่งออกเครื่องนุ่งห่มไปยังตลาดหลักที่ลดลง อาทิเช่น ส่งออกไปยังสหภาพยุโรปลดลงร้อยละ 14.7, สหราชอาณาจักรลดลงร้อยละ 10.8, ญี่ปุ่นลดลงร้อยละ 3.5 และส่งออกไปยังประเทศในกลุ่มสมาชิกอาเซียนลดลงร้อยละ 5.2 ขณะที่การส่งออกเครื่องนุ่งห่มไปยังจีนกลับขยายตัวกว่าร้อยละ 16.4 และส่งออกไปยังสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 2.7 ในช่วงเวลาเดียวกัน การส่งออกของสินค้ากลุ่มที่ไม่ใช่เครื่องนุ่งห่มขยายตัวร้อยละ 8.6 ในช่วงเดือนดังกล่าว เทียบกับการลดลงร้อยละ 24.7 ในช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา ซึ่งสินค้าที่ขยายตัวโดดเด่นทางด้านการส่งออก ได้แก่ ชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้า, จักรยาน, ไม้, ข้าว, มันสำปะหลัง, กล้วย, มะม่วง และสินค้าเกษตรอื่นๆ ขณะที่การนำเข้าของกัมพูชาปรับตัวลดลงร้อยละ 14.7 ในช่วงเดือน ก.พ.

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501263373/cambodian-exports-value-up-1-in-february/

กระทรวงฯ ท่องเที่ยวกัมพูชา เน้นแนวคิด IBEST ดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ

กระทรวงการท่องเที่ยวกัมพูชาจ่อนำแนวคิด IBEST มาใช้เพื่อการดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ ให้เข้ามาท่องเที่ยวภายในประเทศกัมพูชามากขึ้น กล่าวโดย Song Tong Hap เลขาธิการกระทรวงการท่องเที่ยว ในระหว่างการประชุมเชิงปฏิบัติการของกระทรวง ซึ่งแนวคิด IBEST จะเน้นคุณภาพในการให้บริการ สิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย เทคโนโลยี และความสะดวกในการจองใช้บริการ โดย I ย่อมาจาก Improving คือการปรับปรุงคุณภาพการให้บริการในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว, B ย่อมาจาก Booking หมายถึงพัฒนาระบบการจอง ในขณะที่ E ย่อมาจาก Environment หมายถึงเน้นการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม การดำเนินการตามมาตรฐานสีเขียว และการมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาสิ่งแวดล้อมด้านการท่องเที่ยว, S ย่อมาจาก Safety คือการคำนึงถึงความปลอดภัยรอบด้าน และ T ย่อมาจาก Technology คือการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาปรับใช้ให้เกิดความสะดวกมากยิ่งขึ้น โดยแนวคิด IBEST เป็นเหมือนแผนที่นำทางสำหรับธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศเพื่อใช้เป็นพื้นฐานในการปรับผลิตภัณฑ์และการให้บริการของภาคธุรกิจให้สอดคล้องกับความต้องการในปัจจุบัน และเพื่อเป็นแผนในการสนับสนุนแคมเปญ Visit Cambodia Year 2023 ซึ่งเป็นแคมเปญหลักในการกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวกัมพูชาในช่วงปี 2023 โดยในช่วงปี 2022 กัมพูชาได้ให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ 2.28 ล้านคน เพิ่มขึ้นถึง 1,058% จากปีก่อน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501262731/ministry-focuses-on-ibest-concept-to-attract-tourists/

นายกฮุนเซน วางยุทธศาสตร์พัฒนาภาคการเกษตร

นายกรัฐมนตรี ฮุน เซน ได้สรุปแผนยุทธศาสตร์ใหม่ภายใต้นโยบายระดับชาติประจำปี 2022-2030 ในการพัฒนาภาคการเกษตรเพื่อสร้างเสาหลักเศรษฐกิจใหม่ในโซนภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ โดยได้กล่าวในพิธีปิดการประชุมประจำปีของกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมง (MAFF) ซึ่งนายกฯ ฮุน เซน กล่าวว่า MAFF จะต้องร่วมในการพัฒนาและลงทุนโดยเฉพาะต้นกล้าพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งในปี 2022 ข้าวที่ปลูกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของกัมพูชาได้รับรางวัล World’s Best Rice 2022 Award จากงาน World Rice Conference เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2022 นอกจากนี้ การส่งออกเม็ดมะม่วงหิมพานต์ของกัมพูชาไปยังตลาดต่างประเทศสูงถึง 1.18 ล้านตัน แซงหน้าไอวอรีโคสต์ซึ่งส่งออกที่ปริมาณ 1.1 ล้านตัน ด้วยสถานการณ์ข้างต้น ทำให้ภาครัฐฯ ต้องเร่งพัฒนาความสามารถทั้งการเพาะปลูก การแปรรูป และการวิจัย ไปจนถึงการพัฒนาบรรจุภัณฑ์อย่างเหมาะสม พร้อมกับรัฐบาลวางแผนที่จะปล่อยเงินกู้ 100 ล้านดอลลาร์ สำหรับการพัฒนาตลาดสินค้าเกษตร

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/1262572/pm-outlines-new-strategies-for-agriculture-development/

ไพรแวก ถูกจัดให้เป็นจังหวัดที่สามารถผลิตข้าวได้เป็นอันดับต้นๆ ของกัมพูชา

ไพรแวก ถูกจัดให้เป็นจังหวัดที่สามารถผลิตข้าวได้เป็นอันดับต้นๆ ของกัมพูชา โดยเฉพาะเพื่อการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ กล่าวโดย Chea Somethy ผู้ว่าการจังหวัดไพรแวง จากข้อมูลในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาจังหวัดไพรแวกสามารถผลิตข้าวเปลือกได้มากกว่า 7 ล้านตัน หรือเฉลี่ยมากกว่า 1 ล้านตันต่อปี ซึ่งหลังหักจากการบริโภคภายในจังหวัดแล้ว พบว่ามีข้าวเปลือกส่วนเกินกว่า 5 ล้านตัน และได้ทำการกระจายไปยังตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ สร้างรายได้ประมาณกว่า 1,250 ล้านดอลลาร์ ซึ่งปัจจุบัน Ouk Samnang ผู้อำนวยการกรมวิชาการเกษตร ป่าไม้ และประมงจังหวัดไพรแวง กล่าวเสริมว่า การขยายตัวของผลผลิตข้าวในจังหวัดมาจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการชลประทาน จนทำให้เกษตรกรสามารถปลูกข้าวได้หลายครั้งต่อปี

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501261721/prey-veng-the-biggest-rice-producer-in-cambodia/

ฮุนเซนคาดจีนยังคงเป็นตลาดสำคัญสำหรับกัมพูชาและอาเซียน

จีนยังคงเป็นตลาดสำคัญสำหรับภาคการค้า ของทั้งกัมพูชาและประเทศในกลุ่มสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) กล่าวโดยนายกรัฐมนตรีฮุนเซน ซึ่งปัจจุบันกัมพูชาได้จัดทำข้อตกลงการค้าเสรีกัมพูชา-จีน (CCFTA), เขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA) และข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ส่งผลทำให้ภาคการค้าระหว่างประเทศได้รับประโยชน์จากการยกเลิกภาษี ในขณะที่ภาคการท่องเที่ยวคาดว่านักท่องเที่ยวจีนจะหลั่งไหลเข้ามายังกัมพูชาเป็นจำนวนมาก หลังจากจีนปรับนโยบายในการรับมือต่อโควิด-19 ให้เหมาะสม โดยการค้าของกัมพูชากับจีนในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ 2023 มีมูลค่าอยู่ที่ 1.7 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งลดลงมากกว่าร้อยละ 15 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ปริมาณการค้าในช่วงปี 2022 สูงถึง 14.5 พันล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้นร้อยละ 19 เมื่อเทียบกับปี 2021 ซึ่งสินค้าส่งออกของกัมพูชาไปยังจีนส่วนใหญ่ ได้แก่ เสื้อผ้าและสินค้าเกษตร ขณะที่สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ ฝ้าย สิ่งทอ ฝ้าย โลหะ วัสดุก่อสร้าง เครื่องใช้และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501262376/prime-minister-hun-sen-says-china-huge-market-for-cambodia-other-asean-countries/

เวียดนาม-กัมพูชา วางแผนอำนวยความสะดวกด้านการค้าระหว่างกัน

นายกรัฐมนตรีเวียดนาม Phạm Minh Chính ให้การต้อนรับ Prak Sokhonn รองนายกรัฐมนตรีกัมพูชาและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งได้เดินทางไปเยือนยังเวียดนามอย่างเป็นทางการ เพื่อหารือและสร้างความร่วมมือระหว่างกันในการกระตุ้นการค้าระหว่างประเทศ โดยในปี 2022 การค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและเวียดนามแตะ 1 หมื่นล้านดอลลาร์ คิดเป็นการขยายตัวเกือบร้อยละ 11 เมื่อเทียบกับปี 2021 ขณะที่การลงทุนของนักลงทุนเวียดนามในกัมพูชามีมากถึง 205 โครงการ ด้วยมูลค่าเงินลงทุนรวม 29,400 ล้านดอลลาร์ ส่งผลทำให้เวียดนามถือเป็นกลุ่มนักลงทุนรายใหญ่รายสำคัญของกัมพูชาในปัจจุบัน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501260736/vietnam-cambodia-seek-to-further-facilitate-cross-border-trade/

จีนยังคงเป็นแหล่งวัตถุดิบรายใหญ่ให้กับอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มกัมพูชา

นายกรัฐมนตรีฮุนเซน กล่าวว่า จีนยังคงเป็นแหล่งวัตถุดิบที่ใหญ่ที่สุดให้กับอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มกัมพูชา โดยผู้ผลิตเครื่องนุ่งห่มในกัมพูชานำเข้าวัตถุดิบในการผลิตมากกว่าร้อยละ 80 จากจีน ก่อนที่จะทำการผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปไปยังประเทศต่างๆ ซึ่งภาคอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มหรือการ์เม้นท์ ถือเป็นอุตสาหกรรมหลักที่สร้างรายได้ให้กับประเทศมากที่สุด ในขณะเดียวกันก็สร้างการจ้างงานให้กับคนในท้องถิ่นนับแสนคน โดยในปี 2022 กัมพูชาส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่มมูลค่า 9.03 พันล้านดอลลาร์ คิดเป็นกว่าร้อยละ 40.1 ของการส่งออกทั้งหมดที่มีมูลค่ารวมกว่า 22.48 พันล้านดอลลาร์ ตามรายงานของกรมศุลกากรและสรรพสามิต

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501260728/china-remains-as-top-supplier-of-raw-materials-to-cambodias-garment-industry/