ธ.ค.65 เงินเฟ้อสปป.ลาว พุ่งขึ้นเป็น 39.3%

เมื่อวันเสาร์ที่ 7 ม.ค.2566 สำนักงานสถิติสปป.ลาว ได้เผยแพร่รายงานอัตราเงินเฟ้อของประเทศพบว่า พบว่า อัตราเงินเฟ้อในสปป.ลาวเพิ่มขึ้นเป็น 39.3%  เมื่อเทียบกับเเดือนธันวาคม 2564 และมีอัตราสูงสุดในปี 2565 โดยปัจจัยสำคัญมาจากราคาที่สูงขึ้นของหมวดการสื่อสารและการขนส่ง สินค้าอุปโภคบริโภค และการอ่อนค่าเงินกีบ ซึ่งจากรายงานบ่งชี้ว่าค่าใช้จ่ายในหมวดการสื่อสารและการขนส่งเพิ่มขึ้น 50.4% (YoY) ราคาอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นขึ้น 45.9 % (YoY) ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าทุกประเภททำให้ประชาชนทั่วไปเดือดร้อนมากขึ้นโดยเฉพาะผู้ที่มีค่าแรงต่ำหรือมีรายได้น้อย

ที่มา: https://english.news.cn/20230108/c764a3747bfb472c9a7fb7321f81b690/c.html

 

เงินเฟ้อ สปป.ลาว เดือนพ.ย.65 พุ่ง 38.46%

สำนักงานสถิติแห่งสปป.ลาว เผย อัตราเงินเฟ้อของสปป.ลาว เดือนพฤศจิกายน 2565 พุ่งขึ้นเป็น 36.75%  เมื่อเทียบกับช่วงเดียวของปีก่อน และเพิ่มจากเดือนตุลาคมที่ผ่านมา 36.75% ส่งผลให้ประชากรส่วนใหญ่ในประเทศได้รับผลกระทบอย่างหนักเนื่องจากค่าครองชีพสูงขึ้น จากสถานการณ์ดังกล่าวพบว่า ต้นทุนการขนส่งเพิ่มขึ้นอย่างมากถึง 55.4% เนื่องจากราคาเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกระทบต่อราคาของใช้จำเป็นอื่นๆ เพิ่มขึ้นไปด้วย ส่วนค่าเงินกีบอ่อนค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ อย่าง ดอลลาร์สหรัฐฯ, เงินบาทไทย และเงินหยวนของจีน เป็นต้น ส่งผลให้ราคาสินค้านำเข้าปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ นายทองลุน สีสุลิด ประธานประเทศ และเลขาธิการพรรคประชาชนปฏิวัติสปป.ลาว ได้ให้คำมั่นว่าจะเร่งแก้ปัญหาเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นเพื่อควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนเงินกีบที่อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง

ที่มา: https://laotiantimes.com/2022/12/05/laos-inflation-rate-shoots-up-to-38-46-percent-in-november/

 

อัตราเงินเฟ้อกัมพูชาลดลงเหลือร้อยละ 4.9 รายงานโดยกระทรวงเศรษฐกิจ

ไตรมาส 3 ปี 2022 อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยภายในประเทศกัมพูชาปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 4.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของไตรมาสก่อน ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 7.4 ข้อมูลดังกล่าวรายงานโดยกระทรวงเศรษฐกิจและการคลัง โดยรายงานดัชนีราคาระบุว่าน้ำมันดีเซลปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 38.5, น้ำมันเบนซินปรับตัวเพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 13.6 และก๊าซหุงต้มร้อยละ 16.7 ในไตรมาสที่สามของปี 2565 ขณะที่ราคาเฉลี่ยของน้ำมันดิบอยู่ที่ 96.6 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้นร้อยละ 34.6 และราคาข้าวอยู่ที่ 429.3 ดอลลาร์ต่อตัน ซึ่งกระทรวงเศรษฐกิจระบุว่า อัตราเงินเฟ้อปรับตัวลดลงในไตรมาสที่ 3 ลดลง ขณะที่เศรษฐกิจกัมพูชาในช่วงเวลาดังกล่าวเริ่มเห็นถึงการฟื้นตัวจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น รวมกับปริมาณการส่งออกที่เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน สอดรับกับโครงการก่อสร้าง โครงการลงทุน และการเติบโตของการผลิตภายในประเทศที่ขยายตัวต่อเนื่อง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501191479/inflation-rate-drops-to-4-9-pct-says-ministry-of-economy/

เงินเฟ้อทำคน สปป.ลาว กังวลหนักเรื่องค่าครองชีพ

ราคาสินค้าเกือบทุกประเภท เช่น อาหาร พลังงาน ไปจนถึงการขนส่ง ใน สปป.ลาว ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก โดยอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 19.69 ในช่วง 10 เดือนแรกของปี ซึ่งในเดือนตุลาคมเพียงเดือนเดียว ราคามีการปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 36.75 ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 34.05 ที่ได้มีการบันทึกไว้ในเดือนกันยายน และร้อยละ 30.01 ในเดือนสิงหาคม ตามรายงานล่าสุดจากสำนักงานสถิติ สปป.ลาว โดยราคาสินค้าที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำทั่วโลก ความขัดแย้งระหว่างชาติมหาอำนาจและการอ่อนค่าของค่าเงินกีบ เป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่ผลักดันอัตราเงินเฟ้อใน สปป.ลาว ส่งผลทำให้ต้นทุนค่าครองชีพของคนในประเทศ สปป.ลาว ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น เป็นที่น่ากังวลของประชาชนเป็นอย่างมาก ซึ่งการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อได้รับการปรับขึ้นเป็นร้อยละ 17 ภายในสิ้นปี 2022 จากราคาน้ำมันที่สูงกว่าที่คาดการณ์ และค่าเงินกีบอ่อนค่าลงตามรายงานล่าสุดของธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB)

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten228_Inflation.php

‘สปป.ลาว’ จำเป็นต้องปฏิรูปเพื่อการสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ

ตามรายงาน Lao Economic Monitor ฉบับประจำเดือนตุลาคม 2565 เปิดเผยว่าการปฏิรูปจะสามารถช่วยฟื้นฟูเสถียรภาพและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน รายงานดังกล่าวยังระบุว่าเงินกีบอ่อนค่าลง 68% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐตั้งแต่ช่วงต้นปีจนถึงเดือนตุลาคม เป็นสาเหตุที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชน ในขณะที่หนี้สาธารณะและหนี้ที่รัฐบาลค้ำประกัน คาดว่าจะเกินกว่า 100% ต่อ GDP ในสิ้นปีนี้ ด้วยเหตุนี้ ธนาคารโลกจึงปรับลดคาดการณ์ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจสปป.ลาว ในปี 2565 เหลืออยู่ที่ 2.5% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ 3.8% ถึงแม้ว่าการจ้างงานจะเพิ่มขึ้นในช่วงกลางเดือนของปีนี้ ตารายได้ของคนลาวกลับเพิ่มตามมาไม่ทันเงินเฟ้อ ดังนั้น ธนาคารโลกได้เสนอให้ทำการปฏิรูป 5 ประการ ได้แก่ การยกเว้นภาษี เพิ่มรายได้ของรัฐบาลและปกป้องการใช้จ่ายทางสังคม, ปรับปรุงการบริหารการปกครองสาธารณะ, ปรับโครงสร้างหนี้สาธารณะ, เสริมสร้างความมั่งคงของภาคการเงิน และการปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten227_Reform_y22.php

เงินเฟ้อร่วง 2 เดือนติด ตุลาคมขยับเพิ่มขึ้นแค่ 5.98%

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนตุลาคม 2565 เท่ากับ 108.06 เทียบกับเดือนกันยายน 2565 เพิ่มขึ้น 0.33% และเมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม 2564 เพิ่มขึ้น 5.98% ส่งผลให้ราคาสินค้าชะลอตัวลงจากที่เคยปรับเพิ่มขึ้นในช่วงก่อนหน้านี้ และอัตราเงินเฟ้อรวม 10 เดือนของปี 2565 (มกราคม-ตุลาคม) อยู่ที่ 6.15% สำหรับแนวโน้มเงินเฟ้อในช่วง 2 เดือนที่เหลือ (เดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2565) คาดว่าจะยังคงชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องประเมินว่าไม่น่าจะถึง 6% หรือใกล้เคียง 6% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากราคาสินค้าอุปโภค-บริโภค ที่จำเป็นต่อการครองชีพหลายรายการ และบางรายการราคาทรงตัว แม้ว่าต้นทุนจะสูงขึ้น เนื่องจากมาตรการดูแลค่าครองชีพของภาครัฐ ประกอบกับสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่เริ่มคลี่คลายส่งผลให้สินค้าเกษตรเข้าสู่ตลาดมากขึ้น แต่ก็ต้องจับตาราคาพลังงานที่ยังอยู่ในระดับสูงและมีแนวโน้มสูงขึ้น รวมถึงเงินบาทที่ยังอ่อนค่า จึงประเมินว่า เงินเฟ้อทั้งปี 2565 จะอยู่ที่ระดับ 5.5-6.5% มีค่ากลางที่ 6.0% ซึ่งสอดคล้องกับเศรษฐกิจและการคาดการณ์เงินเฟ้อของหน่วยงานเศรษฐกิจต่างๆ ของประเทศ

ที่มา: https://www.naewna.com/business/690655

เดือนต.ค. 65 เงินเฟ้อสปป.ลาว พุ่งนิวไฮ! แตะ 36.75%

เดือนตุลาคม 2565 เงินเฟ้อสปป.ลาว แตะ 36.75% พุ่งสูงสุดในรอบปีนี้ โดยเพิ่มจาก 34.05% ในเดือนกันยายน 2565 และยังคงมีแนวโน้มที่สูงขึ้นเรื่อยๆ สร้างความลำบากให้กับประชาชนในประเทศท่ามกลางค่าครองชีพที่พุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยราคาขายปลีกวัสดุก่อสร้างในนครหลวงเวียงจันทน์ที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ผู้รับเหมาบางรายต้องหยุดโครงการก่อสร้างเป็นการชั่วคราวเพราะแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้นไม่ไหว ซึ่งทางการของสปป.ลาว กำลังหารือเกี่ยวกับแนวทางแก้ไขปัญหา โดยในการประชุมเต็มคณะครั้งล่าสุด วันที่ 20 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา ที่ประชุมเห็นพ้องที่จะพิจารณาเพิ่มรายได้จากการส่งออกและดำเนินการชำระเงินผ่านระบบธนาคาร ตลอดจนเรียกร้องให้ลดการนำเข้าของประเทศลง ทั้งนี้ค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องส่งผลกระทบอย่างมากต่อประชากร โดยผู้มีรายได้น้อยได้รับผลกระทบมากที่สุด ล่าสุด เมื่อเดือนสิงหาคม 2565 สปป.ลาวได้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 1,200,000 กีบ (ประมาณ 70 ดอลลาร์สหรัฐฯ)

ที่มา: https://laotiantimes.com/2022/11/07/laos-inflation-rate-hits-new-high-of-36-75-percent-in-october/

ราคาสินค้าลดฉุดเงินเฟ้อ ‘จุรินทร์’ส่งซิกเดือนตุลาคมเหลือไม่ถึง6%

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ที่ห้างแม็คโคร สาขานครราชสีมา ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครราชสีมา ว่า สถานการณ์เงินเฟ้อของไทยมีแนวโน้มชะลอตัวลง หลังจากขึ้นไปสูงสุดในเดือนสิงหาคม 2565 ที่ 7.86% พอมาเดือนกันยายน 2565 ลดลงเหลือ 6.41% ส่วนเดือนตุลาคม 2565 เท่าที่ติดตามและประเมินเบื้องต้น คาดว่าอาจจะไม่ถึง 6% สะท้อนว่าสถานการณ์ราคาสินค้าในภาพรวมมีแนวโน้มชะลอตัวลง ต่างกับหลายประเทศที่ประสบตัวเลขเงินเฟ้อสูงมาก เป็นเพราะรัฐบาลและกระทรวงพาณิชย์ทำงานร่วมกับเอกชนและหลายฝ่าย ช่วยกันกำกับดูแลราคาสินค้าและบริการ

ที่มา: https://www.naewna.com/business/690440

“เวียดนาม” คาดดัชนี CPI ปีนี้ ขยายตัว 3.27-3.51%

กระทรวงการคลัง และ คุณ Le Minh Khai รองนายกฯ กล่าวในที่ประชุมเมื่อวันที่ 13 ต.ค. คาดว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในปีนี้ ปรับตัวขึ้น 3.27%-3.51% ในขณะที่สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) คาดว่าดัชนี CPI ในเดือนกันยายน ปรับตัวขึ้น 3.94% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งหากพิจารณาตั้งแต่เดือนมกราคม-กันยายน ดัชนี CPI ปรับตัวขึ้น 2.73% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เป็นผลมาจากเศรษฐกิจเวียดนามเปิดกว้างมากขึ้นในปัจจุบันและเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อทั่วโลกที่ส่งผลกระทบต่อการนำเข้าของประเทศ ดังนั้นราคาสินค้าจำเป็นและบริการจึงปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก นอกจากนี้ ราคาเสื้อผ้า อาหารและเครื่องดื่มก็ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะราคาเนื้อหมูมักจะพุ่งสูงขึ้น เนื่องจากความต้องการสูงในช่วงเทศกาลเทด (Tet)

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/cpi-in-2022-forecast-to-expand-at-3-27-3-51-2070206.html

เดือนก.ย.65 เงินเฟ้อ สปป.ลาว พุ่งแตะ 34% สูงสุดในรอบ 22 ปี

สำนักสถิติของสปป.ลาว เผย อัตราเงินเฟ้อในเดือนกันยายน 2565 อยู่ที่ 34% สูงกว่าเดือนที่ผ่านมา 30%  (เดือนสิงหาคม 2565) สูงสุดในรอบ 22 ปี จากราคาอาหาร ยา เชื้อเพลิง และสินค้าอุปโภคบริโภค ที่พุ่งสูงขึ้น เป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก ความขัดแย้งระหว่างประเทศมหาอำนาจ และการระบาดของ COVID-19 ได้กระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และยังพบว่าเงินเฟ้อของสปป.ลาว สูงที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน จากข้อมูลของธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) เปิดเผยว่า การที่สปป.ลาว พึงพาการนำเข้ามากเกินไป และเงินกีบที่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินตราต่างประเทศเป็นสาเหตุหลักของการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อ นอกจากนี้ การประสบปัญหาอุทกภัยในปีนี้ ได้สร้างความเสียหายให้ผลผลิตทางการเกษตรและทรัพย์สินต่างๆ รวมไปถึงโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ต่างๆ ส่งผลให้มีความต้องการอาหารในประเทศเพิ่มมากขึ้น

ที่มา: https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten196_Inflation_y22.php