‘เวียดนาม’ เผยดัชนีภาคอุตสาหกรรม โต 3.1%

กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า (MoIT) รายงานว่าดัชนีภาคอุตสาหกรรมและแปรรูป ประจำเดือน ธ.ค.66 เพิ่มขึ้น 3.1% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า และเพิ่มขึ้น 5.1% เมื่อเทียบเป็นรายปี อย่างไรก็ตาม กระทรวงฯ ระบุว่าดัชนีเพิ่มขึ้นเพียง 1.8% ในปีที่แล้ว ซึ่งต่ำกว่าอัตราการเติบโตที่ 7.1% จากปีก่อน ในขณะเดียวกัน มูลค่าเพิ่มของภาคอุตสาหกรรมในปีนี้ เพิ่มขึ้น 3.62% ทั้งนี้ กระทรวงฯ มองว่าตัวเลขอัตราการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงสถานการณ์ของอุตสาหกรรมทั้งประเทศที่เผชิญกับความท้าทายและอุปสรรรค โดยมูลค่าเพิ่มการผลิตเติบโตในอัตราที่ต่ำที่สุด ตั้งแต่ปี 2554-2566 และมีส่วนช่วยผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไม่มากนัก

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/sales-index-of-processingmanufacturing-up-31/276097.vnp

‘สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด’ คาด GDP เวียดนาม ปี 67 โต 6.7%

ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจหรือผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของเวียดนาม ในปี 2567 อยู่ที่ 6.7% (6.2% และ 6.9% ในช่วงครึ่งแรกและครึ่งหลังของปี ตามลำดับ) ในขณะที่นายทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ประจำประเทศไทยและเวียดนาม มองว่าแนวโน้มเศรษฐกิจเวียดนามยังคงอยู่อยู่ในระยะกลาง พร้อมกับคงรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจและยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขัน ตลอดจนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/standard-chartered-forecasts-vietnams-2024-gdp-growth-at-67/276076.vnp

นักลงทุนต่างชาติจำเป็นต้องเปิดบัญชีธนาคารในประเทศลาว

ธนาคารแห่ง สปป. ลาว ได้ออกมติเกี่ยวกับการควบคุมเงินตราต่างประเทศ ซึ่งกำหนดให้นักลงทุนต่างประเทศต้องเปิดบัญชีธนาคารเฉพาะในประเทศลาวเพื่อดำเนินการธุรกรรมทางการเงินของตน การตัดสินใจดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่รัฐบาลพบว่ากระแสการลงทุนจากต่างประเทศในระบบธนาคารนั้นต่ำกว่ามูลค่าเงินลงทุนที่ตกลงกันไว้มาก การเคลื่อนไหวของธนาคารกลางเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของรัฐบาลเพื่อให้แน่ใจว่าสกุลเงินต่างประเทศจะเข้าสู่ระบบธนาคารมากขึ้น และใช้เพื่อแก้ไขการขาดแคลนในดุลการชำระเงินโดยรวม โดยเชื่อว่าการรักษาเสถียรภาพของมูลค่าเงินกีบจะช่วยแก้ไขปัญหาทางการเงินของประเทศได้

ที่มา: https://www.vientianetimes.org.la/freefreenews/freecontent_07_Foreign_y24.php

ประธานาธิบดี สปป.ลาว ให้คำมั่นว่าจะเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจของประเทศให้เป็นอิสระ

นายทองลุน สีสุลิด เลขาธิการคณะกรรมการกลางพรรคปฏิวัติประชาชนลาวและประธานาธิบดี สปป.ลาว ให้คำมั่นว่าจะเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจของประเทศให้เป็นอิสระและเป็นเจ้าระบบเศรษฐกิจอย่างแท้จริง โดยเขาได้กล่าวในที่ประชุมภาคการเงินทั่วประเทศที่จัดขึ้นที่นครหลวงเวียงจันทน์ว่า “นับจากนี้ไป คณะกรรมการกลางพรรคและกรมการเมือง จะกำหนดนโยบายเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศ โดยเฉพาะระบบเศรษฐกิจ จากสถานการณ์ที่ต้องพึ่งพาภายนอกอย่างมากในปัจจุบันไปสู่พื้นฐานความเป็นอิสระและความเป็นเจ้าระบบเศรษฐกิจของลาวเอง” ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่า สปป.ลาว จะต้องผลิตทุกอย่างใช้เอง แต่แนวคิดนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้าสินค้าของประเทศ โดยหันมาใช้ทรัพยากรภายในประเทศและพื้นที่ที่มีศักยภาพอื่นๆ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อให้ชาวลาวมีส่วนร่วมในกระบวนการนี้มากขึ้น การทำการค้าและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างยั่งยืน และเพื่อส่งออกผลิตภัณฑ์ไปยังตลาดโลกในวงกว้าง ทุนจากต่างประเทศ ความรู้ และเทคโนโลยีควรได้รับการส่งเสริมเพื่อนำทรัพยากรไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ในขณะเดียวกันก็ต้องเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์เหล่านี้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ที่มา: https://www.vientianetimes.org.la/freefreenews/freecontent_05_President_y24.php

กกร. จ่อถกประเมินศก. ปี’67 ความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์เสี่ยงสูง

นายเกียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ที่ประกอบด้วย ส.อ.ท. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและสมาคมธนาคารไทยจะหารือประจำเดือนมกราคม 2567 ในวันที่ 10 ม.ค. โดยเบื้องต้นคงจะต้องมีการประเมินตัวเลขเศรษฐกิจไทยปี 2567 อีกครั้งเพื่อให้สอดรับกับทิศทางต่างๆ ทั้งแนวโน้มการท่องเที่ยว การส่งออก การลงทุนทั้งรัฐและเอกชน ที่ยอมรับว่าปัจจัยภายนอกโดยเฉพาะความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ยังคงกดดันการเติบโตของทั้งเศรษฐกิจโลกและไทยอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตามท่ามกลางเศรษฐกิจโลก ความข้ดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ เศรษฐกิจไทยเองก็ยังคงเผชิญกับหนี้ครัวเรือนในระดับสูงจึงเห็นว่ามีความจำเป็นที่รัฐบาลต้องเร่งรัดการแก้ไขปัญหาหนี้สินให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว ควบคู่กับการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมออกมาโดยเร็ว นอกจากนี้การที่รัฐบาลเร่งดูแลค่าครองชีพประชาชนนับเป็นแนวทางที่ดีโดยเฉพาะค่าไฟฟ้าแต่จะยั่งยืนกว่าหากรัฐบาลปรับโครงสร้างให้เกิดความเป็นธรรมทุกฝ่ายโดยการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) ด้านพลังงานเพื่อระดมความเห็นทุกภาคส่วนเพื่อการปรับปรุงโครงสร้างพลังงานทั้งระบบที่จะนำไปสู่ความยั่งยืน

ที่มา : https://mgronline.com/business/detail/9670000001844

‘เวียดนาม’ เผยแรงกดดันเงินเฟ้อผ่อนคลายลง ส่งสัญญาณชะลอตัว

จากการประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) ที่จัดขึ้นโดยสถาบันการเงินและเศรษฐกิจ นาย Nguyen Duc Do รองผู้อำนวยการสถาบัน อธิบายว่าถึงภาวะเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน โดยเฉพาะสหรัฐฯ และจีนที่มีทิศทางชะลอตัวลงในปีนี้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการส่งออกของเวียดนาม ในขณะที่ตลาดอสังหาฯ เผชิญกับความท้าทายและอุปสรรค นับเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั้งประเทศและทำให้การเติบโตต่ำลงในปีนี้ นอกจากนี้ ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) อยู่ที่ราว 2.5% – 3.5% ทางด้านรองศาสตราจารย์ ดร. โง ตรี กล่าวเน้นย้ำว่าเป้าหมายเงินเฟ้อที่รัฐสภาอนุมัติไว้ที่ 4% – 4.5% น่าจะมีความเป็นไปได้ เนื่องจากความสามารถของรัฐบาลในการควบคุมราคาสินค้า รวมถึงกับอุปสงค์โดยรวมที่ยังไม่มีสัญญาณการฟื้นตัว

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/inflationary-pressure-to-ease-in-2024-economists-2235656.html

‘แบงก์ชาติเวียดนาม’ มีแนวโน้มที่จะไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

สำนักข่าวเวียดนาม เผยแพร่รายงานที่อ้างอิงจากนายด่าว มีง ตือ (Dao Minh Tu) รองผู้ว่าการธนาคารกลางเวียดนาม ชี้ให้เห็นว่าเวียดนามไม่น่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และมีทิศทางที่จะกำหนดนโยบายการก่อหนี้ใหม่ เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการในปีนี้ และมองว่าธนาคารกลางจะพิจารณาอัตราดอกเบี้ยที่จะไม่เพิ่มภาระต้นทุน และปรับสมดุลเพื่อเป็นไปตามการเติบโตของเศรษฐกิจโลกและรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจเชิงมหภาค

ที่มา : https://english.news.cn/20240104/8a44ca486df74e57aa193e879684b11b/c.html

การลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษทั่ว สปป.ลาว เติบโตในปี 2566

แม้ สปป.ลาว เผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจในปี 2566 แต่การลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษทั่วประเทศยังเติบโตได้ โดยมีบริษัทประมาณ 178 แห่ง เข้าไปลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ (SEZ) ทั่วประเทศ ทำให้เกิดโอกาสในการทำงานมากกว่า 3,600 ตำแหน่ง การลงทุนประกอบด้วยบริษัทในภาคบริการ 127 แห่ง ภาคอุตสาหกรรม 18 แห่ง ภาคการค้า 30 แห่ง และภาคเกษตรกรรม 3 แห่ง การลงทุนรวมกันมีมูลค่าเป็นเงิน 520 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีทุนจดทะเบียน 178 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ เขตเศรษฐกิจพิเศษยังสนับสนุนให้เกิดร้านค้าและสถานประกอบการกว่า 2,645 แห่ง สร้างรายได้ต่อปีสูงถึง 174 พันล้านกีบ (มากกว่า 8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ให้กับงบประมาณของรัฐบาล โดยธุรกิจเหล่านี้จ้างคนงาน 3,644 คน แบ่งเป็นแรงงานลาว 3,572 คน และแรงงานต่างด้าว 72 คน

ที่มา: https://laotiantimes.com/2024/01/03/laos-sezs-surge-with-major-investments-fueling-economic-growth-amid-lingering-concerns-for-worker-safety

‘เวียดนาม’ เผยค่าแรงเพิ่ม 6.9% ในปี 66

สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) รายงานว่าในปีที่แล้ว คนงานเวียดนามมีรายได้ต่อเดือน เพิ่มขึ้น 6.9% คิดเป็นเม็ดเงินอยู่ที่ 7.1 ล้านดอง เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยแรงงานเพศชายมีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 8.1 ล้านดองต่อเดือน ในขณะที่แรงงานเพศหญิงมีรายได้ที่ 6 ล้านดองในปี 2566 ทั้งนี้ คนงานในทุกภาคส่วนของระบบเศรษฐกิจมีความพึงพอใจต่อการเพิ่มขึ้นของค่าจ้างในไตรมาสที่ 4 ของปี 2566 โดยเฉพาะแรงงานที่อยู่ในเขตราบลุ่มปากแม่น้ำโขงที่ได้รับค่าจ้างเพิ่มขึ้นมากที่สุด รายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 8.7 ล้านดอง เพิ่มขึ้น 3.5% ในขณะเดียวกัน แรงงานที่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงใต้ ปรับขึ้นค่าแรงต่ำที่สุดที่ 2.3% อย่างไรก็ดีแรงงานยังคงมีรายได้เฉลี่ย 9 ล้านดองต่อเดือน

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/vietnamese-worker-incomes-rise-by-6-9-in-2023/

‘เวียดนาม’ เผยสัดส่วนหนี้สาธารณะ ปี 66 แตะ 37% ต่อ GDP

กระทรวงการคลัง เปิดเผยว่าหนี้สาธารณะของเวียดนามในปี 2566 มีมูลค่า 3.8 พันล้านล้านด่อง หรือคิดเป็น 37% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ซึ่งตัวเลขหนี้สาธารณะดังกล่าวอยู่ในระดับไม่เกินเพดาน 60% ตามที่รัฐสภากำหนดไว้ และยังต่ำกว่าประมาณการณ์ของกระทรวงฯ

ทั้งนี้ นายโฮ ดึก ฟอก  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่าถึงแม้เวียดนามจะเผชิญกับความท้าทายของเศรษฐกิจโลก แต่นโยบายการคลังของเวียดนามในปีที่แล้ว สามารถบรรลุความสำเร็จมาได้ อย่างไรก็ดี เมื่อประเมินปี 2567 กระทรวงการคลังประมาณการณ์ถึงปัจจัยและความท้าทายต่างๆ และมองว่าการจัดเก็บงบประมาณของรัฐ คาดว่าจะอยู่ที่ 1.7 พันล้านล้านด่อง ในขณะที่การใช้จ่ายงบประมาณที่ 2.1 พันล้านล้านด่อง

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnams-2023-public-debt-at-37-of-gdp-post1069195.vov