กรมการค้าต่างประเทศ ดัน 4 ยุทธศาสตร์ค้าชายแดน

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ได้เชิญหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง กับการค้าชายแดนและผ่านแดน มาประชุมเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์การส่งเสริมการค้า การลงทุนชายแดนและผ่านแดน ปี 2567-2570 ใน 4 ยุทธศาสตร์ย่อย ได้แก่ 1.พัฒนาขีดความสามารถการแข่งขันของไทย 2.ยกระดับศักยภาพ อำนวยความสะดวกของด่านชายแดน 3.ส่งเสริมและใช้ประโยชน์จากกรอบความตกลงและกรอบความร่วมมือต่างๆ 4.ส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ชายแดนและประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อเพิ่มมูลค่าการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดนเป็น 2 ล้านล้านบาท ในปี 2570

อย่างไรก็ดี มูลค่าการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดน เดือน ก.ย. อยู่ที่ 148,564 ล้านบาท ลดลง 3.32% เป็นไทยส่งออก 87,480 ล้านบาท ลดลง 3.97% ไทยนำเข้า 61,084 ล้านบาท ลดลง 2.37% ได้ดุลการค้า 26,396 ล้านบาท ส่วน 9 เดือนแรกปีนี้ มีมูลค่า 1,311,372 ล้านบาท ลดลง 2.26% เป็นไทยส่งออก 755,206 ล้านบาท ลดลง 2.06% ไทยนำเข้า 556,167 ล้านบาท ลดลง 2.53% ได้ดุลการค้า 199,039 ล้านบาท

ที่มา : https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ/2737374

‘ราคาส่งออกข้าวเวียดนาม’ พุ่งแซงไทย

จากข้อมูลของสมาคมอาหารเวียดนาม (VFA) เปิดเผยว่าราคาส่งออกข้าวของเวียดนามยังคงแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ อยู่ที่ 117 เหรียญสหรัฐต่อตัน แซงหน้าข้าวไทย และจากข้อมูลเมื่อวันที่ 31 ต.ค. พบว่าราคาส่งออกข้าวเวียดนามปรับตัวเพิ่มขึ้น 5-10 เหรียญสหรัฐต่อตัน โดยเฉพาะราคาข้าวหัก 5% ที่เพิ่มสูงขึ้น 10 เหรียญสหรัฐต่อตัน อยู่ที่ 653 เหรียญสหรัฐ แซงหน้าข้าวไทยที่ 92 เหรียญสหรัฐต่อตัน

ทั้งนี้ นับตั้งแต่ทางการอินเดียห้ามการส่งออกข้าวเมื่อปลายเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา ส่งผลให้ราคาข้าวเวียดนามเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยแตะระดับสูงสุดใหม่ในรอบกว่า 15 ปี

นอกจากนี้ กรมศุลกากรเวียดนาม ระบุว่าในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ เวียดนามส่งออกข้าวมากกว่า 7.1 ล้านตัน มูลค่าราว 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 17% และ 35% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ตามลำดับ

ที่มา : https://en.nhandan.vn/vietnams-seaport-throughput-rebounds-in-10-months-post130835.html

‘เวียดนาม’ ต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทะลุ 10 ล้านคน

สำนักงานการท่องเที่ยวแห่งชาติเวียดนาม (VNAT) และสำนักงานสถิติแห่งชาติ (GSO) เปิดเผยว่าเวียดนามดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติมากกว่า 1 ล้านคนต่อเดือน เป็นระยะเวลา 4 เดือนติดต่อกัน ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมายังเวียดนามในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ อยู่ที่ประมาณ 10 ล้านคน เพิ่มขึ้น 4.2 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ทั้งนี้ ชาวเกาหลีใต้ยังคงเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติรายใหญ่ที่สุดในเวียดนาม มีจำนวนกว่า 2.9 ล้านคน รองลงมาชาวจีน 1.3 ล้านคน สหรัฐฯ ไต้หวัน ญี่ปุ่น ไทย มาเลเซียและอื่นๆ ตามลำดับ

นอกจากนี้  นักท่องเที่ยวชาวไทย นับเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีการเติบโตมากที่สุดในตลาดการท่องเที่ยวเวียดนาม โดยเฉพาะในเดือน ต.ค.66 มีนักท่องเที่ยวชาวไทยเดินทางมายังเวียดนาม จำนวน 41,000 คน เพิ่มขึ้น 28% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/intl-visitor-arrivals-improve-sharply/

สปป.ลาว-ไทย กระชับความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์

นายกรัฐมนตรี สปป.ลาว และเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีของไทย ยืนยันถึงความมุ่งมั่นในการส่งเสริมมิตรภาพเพื่อนบ้านที่ดีและความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดของทั้งสองประเทศ ซึ่งนำไปสู่การตระหนักถึงความร่วมมือเชิงกลยุทธ์เพื่อการเติบโตและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศร่วมกัน เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการเสริมสร้างความร่วมมือทวิภาคีและพหุภาคีทั้งในด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว รวมถึงส่งเสริมความร่วมมือในการสร้างและยกระดับโครงสร้างพื้นฐานที่เชื่อมโยงระหว่างลาวกับไทยผ่านระบบถนนและทางรถไฟ ตลอดจนโครงการท่องเที่ยวเชิงนิเวศผ่านชุมชนระหว่างทั้งสองประเทศ รวมถึงให้คำมั่นที่จะส่งเสริมกลไกการประสานงานและความร่วมมือระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าของลาว กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของไทยต่อไป เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าชายแดนไทย-ลาว และสนับสนุนระหว่างกันในเวทีระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/laos-thailand-strengthen-strategic-partnership/270428.vnp

กระทรวงพาณิชย์กัมพูชามุ่งมั่นส่งเสริมภาคการค้าระหว่างไทย

กระทรวงพาณิชย์กัมพูชา (MoC) มุ่งมั่นที่จะปรับปรุงความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนในระดับทวิภาคีระหว่างไทย ด้วยการดึงดูดการลงทุนใหม่ๆ เข้ามายังกัมพูชา หวังเพิ่มปริมาณการค้าระหว่างทั้งสองประเทศ โดยคำกล่าวนี้เกิดขึ้นระหว่างงานสัมนา ‘การจับคู่ธุรกิจกัมพูชา-ไทย’ ซึ่งจัดโดยสมาคมผู้ประกอบการเยาวชนกัมพูชาเพื่อการพัฒนา (CYEAD) เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (28 ต.ค.) ณ กรุงพนมเปญ นำโดย Cham Nimul รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กัมพูชา โดยมีเจ้าหน้าที่รัฐบาลกัมพูชา เจ้าหน้าที่จากสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกัมพูชา และนักธุรกิจและนักลงทุนชาวไทยเข้าร่วมงาน สำหรับการค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและไทยในช่วงเดือนมกราคม-สิงหาคมของปีนี้ มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 2.58 พันล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 19.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามรายงานของกรมศุลกากรและสรรพสามิตกัมพูชา คิดเป็นการส่งออกของกัมพูชามูลค่า 646 ล้านดอลลาร์ไปยังไทย เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4 ในขณะที่การนำเข้าสินค้าจากไทยลดลงร้อยละ 25.8 เหลือมูลค่า 1.93 พันล้านดอลลาร์ ภายในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งสินค้าส่งออกหลักของกัมพูชาไปยังประเทศไทย ได้แก่ สิ่งทอ สินค้าเกษตร อัญมณี วัตถุดิบ และผลิตภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูป สำหรับสินค้านำเข้าของกัมพูชาจากประเทศไทย ได้แก่ ปลา เนื้อสัตว์ ผัก รถยนต์ ปุ๋ยอินทรีย์ อาหาร และวัสดุก่อสร้าง เป็นสำคัญ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501383488/moc-committed-to-boosting-trade-ties-with-thailand/

นายกฯ หนุนศุลกากรหนองคาย One Stop Service ดันส่งออกชายแดน-จีน

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวระหว่างเป็นประธานการประชุมติดตามประเด็นปัญหาการส่งออก ขั้นตอนพิธีศุลกากร การค้าชายแดนและการพัฒนา One Stop Service ระหว่างราชอาณาจักรไทย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และสาธารณรัฐประชาชนจีน ณ สำนักงานศุลกากร จังหวัดหนองคาย เมื่อวันที่ 29 ต.ค. ที่ผ่านมา โดยนายเศรษฐา ระบุว่า ตนต้องการให้จังหวัดได้พัฒนาระบบโลจิสติกส์ เพื่อแก้ไขปัญหาอุปสรรคต่างๆ เพื่อผลักดันศูนย์ให้บริการเบ็ดเสร็จ (One Stop Service :OSS) ทำให้การบริการภาครัฐรวมอยู่ในระบบเดียว และมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งนี้ เพื่อรองรับความต้องการและส่งออกสินค้าไปยังประเทศจีน หากจังหวัดหนองคายดำเนินการเป็นจังหวัดแรก ที่รวมบริการทั้งหมด เพื่อขยายตัวอย่างไปจังหวัดต่างๆ สำหรับไทย-จีนมีความสัมพันธ์ที่ดี ซึ่งจากการพูดคุยหารือนักลงทุนประเทศจีนมีความสนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก พร้อมทั้งสินค้าเกษตร ขอให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเร่งประสานงานให้เกิดความร่วมมือ นำนักลงทุนมาลงทุนในประเทศไทยให้เกิดผลเป็นรูปธรรม โดยปัจจุบันจุดผ่อนปรนจังหวัดหนองคายมีด่านชายแดนริมโขงอยู่ 4 จุด ซึ่งค่อนข้างแออัดหลังจากสถานการณ์โควิดปรับตัวดีขึ้น แต่ถึงอย่างไรก็ยังคงเปิดไม่ครบทุกจุด ด้านมูลค่าการค้า ณ จุดผ่านแดนอยู่ที่ประมาณ 400-500 ล้านบาท โดยไทยเป็นฝ่ายเกินดุลการค้ากับ สปป.ลาว มาโดยตลอด

ที่มา : https://www.prachachat.net/economy/news-1425864

‘ลาว-จีน-เมียนมา-ไทย’ เสร็จสิ้นภารกิจร่วมลาดตระเวนแม่น้ำโขง ครั้งที่ 134

หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายจากลาว จีน เมียนมา และไทย สนธิกำลังเพื่อทำการลาดตระเวนร่วมในแม่น้ำโขง ครั้งที่ 134 โดยการลาดตระเวนร่วมครั้งนี้มีเรือ 5 ลำ และเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย 114 นาย จาก 4 ประเทศ ครอบคลุมเส้นทางน้ำเป็นระยะทางกว่า 600 กิโลเมตร โดยปฏิบัติการดังกล่าวใช้เวลา 4 วัน 3 คืน ในระหว่างการลาดตระเวน ประเทศต่าง ๆ มุ่งเน้นไปที่การปราบปรามอาชญากรรมข้ามพรมแดนเพื่อความปลอดภัยและเสถียรภาพริมแม่น้ำ และทำการประชุมแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งจัดขึ้นที่แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ความมั่นคงในพื้นที่แม่น้ำโขง ทั้งสี่ประเทศบรรลุฉันทามติในการร่วมกันต่อสู้กับการฉ้อโกงผ่านระบบโทรคมนาคมและอาชญากรรมข้ามพรมแดนอื่น ๆ รวมถึงกระชับความร่วมมือในอนาคตให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ทั้งนี้ แม่น้ำโขง หรือในจีนเรียกกันว่าแม่น้ำล้านช้าง เป็นแม่น้ำที่สำคัญสำหรับการขนส่งข้ามพรมแดน ทั้งสี่ประเทศได้ดำเนินการลาดตระเวนร่วมกันในแม่น้ำโขงตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ. 2554 เป็นต้นมา

ที่มา : https://english.news.cn/20231027/a22c8b9f0c11468b8a5a696aa43e1758/c.html

‘เวียดนาม-ไทย’ ตั้งเป้ามูลค่าการค้า 25 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

นายฟาม มินห์ จิญ นายกรัฐมนตรีเวียดนาม และนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ หารือร่วมกันในการส่งเสริมการค้าและการลงทุน โดยเฉพาะการเชื่อมโยงเครือข่ายภายใต้ห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงการเชื่อมโยงไปยังภาคอุตสาหกรรม ท้องถิ่น ธุรกิจและอื่นๆ เป็นต้น

ทั้งนี้ นายปานปรีย์ กล่าวว่าธุรกิจไทยมีความเชื่อมั่นในศักยภาพของสภาพแวดล้อมการลงทุนในเวียดนาม และหวังว่าจะขยายกิจการให้เติบโตขึ้น ในขณะเดียวกัน นายกฯเวียดนาม เสนอให้รัฐบาลไทยส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่ดีให้กับชุมชนชาวเวียดนามในไทย และรู้สึกยินดีกับเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้นระหว่างทั้งสองประเทศ

นอกจากนี้ เวียดนามและไทย ได้ตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าการค้า 25 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขจัดอุปสรรคทางการค้าและอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าระหว่างทั้งสองประเทศ

ที่มา : https://www.nationthailand.com/world/asean/40032235

ก.ล.ต. ร่วมประชุมหน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุนอาเซียน (ACMF) ระดับเลขาธิการ ครั้งที่ 39

ก.ล.ต. ร่วมการประชุม ASEAN Capital Market Forum (ACMF) ครั้งที่ 39 ซึ่งมีผู้บริหารระดับสูงสุดของหน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุนในอาเซียน ผู้แทนจากธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) สำนักเลขาธิการอาเซียน และผู้แทนจากองค์กรที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมเพื่อหารือทิศทางเชิงนโยบายและการดำเนินงานของ ACMF ภายใต้ ACMF Action Plan 2564-2568 เพื่อผลักดันการเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนของตลาดทุนในภูมิภาค นางวรัชญา ศรีมาจันทร์ รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) พร้อมผู้แทน เข้าร่วมการประชุมหน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุนอาเซียน (ACMF) ครั้งที่ 39 ซึ่งจัดขึ้น ณ จังหวัดบาหลี สาธารณรัฐอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2566 ซึ่งมีหน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุนสาธารณรัฐอินโดนีเซียเป็นเจ้าภาพ โดยที่ประชุมได้เห็นชอบต่อการดำเนินการด้านการเงินเพื่อความยั่งยืนที่สำคัญ ได้แก่ การจัดทำแนวทางในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การเงินเพื่อความยั่งยืน แผนการศึกษาเพื่อพัฒนาตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจที่เหมาะสมกับบริบทของอาเซียน และเห็นชอบคู่มือสำหรับการเสนอขายกองทุนรวมที่มุ่งเน้นลงทุนอย่างยั่งยืน ภายใต้กรอบการทำงาน ASEAN CIS* (Handbook for ASEAN CIS-SRF) ภายใต้ ASEAN Green Lane และการเผยแพร่บนเว็บไซต์ของ ACMF ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกในการเสนอขายกองทุนรวมเพื่อความยั่งยืน ภายใต้โครงการ ASEAN CIS รวมทั้งเห็นชอบแนวทางปรับปรุงวิธีการประเมิน ASEAN Corporate Governance Scorecard (ACGS) ให้สอดคล้องกับแนวทางสากล และกำหนดการประเมิน ACGS ในปี 2567

ที่มา : https://www.ryt9.com/s/prg/3462408

ผู้เชี่ยวชาญไทยชี้ BRI หนุนความร่วมมือ ‘อาเซียน-จีน’หลากหลาย

ผู้เชี่ยวชาญชาวไทยแสดงทัศนะว่าแผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) ของจีนเสริมสร้างความร่วมมือด้านกำลังการผลิตในกลุ่มประเทศอาเซียน รวมถึงไทย และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกลุ่มประเทศอาเซียนและจีนในด้านต่างๆ เช่น การค้าและการผลิตให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น

สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซินหัวเมื่อไม่นานนี้ว่ากลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศกำลังพัฒนา มีศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่มากมาย และมีโอกาสสำคัญที่จะร่วมมือกับจีนทั้งด้านการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานและความร่วมมือด้านกำลังการผลิต

ทั้งนี้ จีนเป็นหนึ่งในคู่ค้าสำคัญที่สุดของกลุ่มประเทศอาเซียน ขณะการยกระดับทางอุตสาหกรรมและการพัฒนาที่มีคุณภาพสูงของจีนส่งอิทธิพลต่อกลุ่มประเทศอาเซียนในวงกว้าง ด้านความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) และข้อตกลงการค้าเสรีจีน-อาเซียน ได้ส่งเสริมความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนระหว่างกลุ่มประเทศอาเซียนและจีนให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น

ที่มา : https://www.naewna.com/inter/763294