กัมพูชาเร่งการส่งออกเม็ดมะม่วงหิมพานต์ไปยังญี่ปุ่น

เม็ดมะม่วงหิมพานต์แปรรูปจำนวนกว่า 7.6 ตัน ที่ผ่านการแปรรูปในจังหวัดกำปงธม ได้ทำการส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก โดยเม็ดมะม่วงหิมพานต์ชุดแรกที่ส่งไปยังประเทศญี่ปุ่นภายใต้สัญญาระหว่างทางกัมพูชาร่วมกับ Top Planning Japan Co Ltd. ซึ่งผู้ประกอบการในกัมพูชาวางแผนที่จะส่งออกเม็ดมะม่วงหิมพานต์ชุดที่สองอีกกว่า 9 ตัน โดยจะผลิตในปลายเดือนนี้ แสดงให้เห็นว่าเม็ดมะม่วงหิมพานต์ของกัมพูชาเป็นที่ต้องการของตลาดในต่างประเทศจากการที่ญี่ปุ่นทำการนำเข้า ซึ่งในปัจจุบันตลาดที่ใหญ่ที่สุดสำหรับเม็ดมะม่วงหิมพานต์ของกัมพูชาคือเวียดนาม ข้อมูลจากกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมง ระบุว่าในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2021 กัมพูชาส่งออกเม็ดมะม่วงหิมพานต์รวม 801,732 ตัน ไปยังเวียดนาม เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 321 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยส่วนอื่นๆจะจัดส่งไปยังจีน อินเดีย ญี่ปุ่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และประเทศไทย

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50870058/cashew-nuts-bound-for-japan/

“เวียดนาม-ญี่ปุ่น” จับมือร่วมส่งเสริมการดำเนินงาน ภายใต้ข้อตกลง CPTPP

เวียดนามและญี่ปุ่นได้ตกลงที่จะส่งเสริมความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด เพื่อดำเนินการตามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ซึ่งได้บรรลุฉันทานมติมาจากการเจราทางโทรศัพท์ระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการฟื้นฟูเศรษฐกิจของญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคมที่ผ่านมา อีกทั้ง เวียดนามยอมรับที่จะสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุนชาวญี่ปุ่นที่ต้องการลงทุนในเวียดนาม และการเคลื่อนไหวดังกล่าวนั้น ช่วยให้เวียดนามกลายเป็นจุดเชื่อมโยงที่สำคัญในห่วงโซ่อุปทานของธุรกิจญี่ปุ่น โดยเฉพาะสาขาผลิตยานยนต์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ เสื้อผ้าและสิ่งทอ สิ่งเหล่านี้จะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อความสัมพันธ์แบบทวิภาคีทั้งทางเศรษฐกิจและการค้า

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnam-japan-to-work-closely-for-effective-implementation-of-cptpp/202091.vnp

ญี่ปุ่นยกระดับความร่วมมือทางยุทธศาสตร์กับลาว

สถานทูตญี่ปุ่นได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับแผนปฏิบัติการใหม่สำหรับความร่วมมือในอนาคตระหว่างสปป.ลาวและญี่ปุ่น เมื่อไม่นานมานี้ Mr.Yoshihide Suga นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นได้โทรศัพท์ไปหานายMr.Phankham Viphavanh นายกรัฐมนตรีสปป.ลาว การหารือกันครั้งนี้เป็นการแลกเปลี่ยนทางโทรศัพท์ครั้งแรกระหว่างผู้นำสูงสุดของทั้งสองประเทศ ในโอกาสที่นี้ได้มีการประกาศ ‘แผนปฏิบัติการ’ เพื่อความก้าวหน้าของหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างญี่ปุ่นและสปป.ลาวต่อสาธารณะ แผนปฏิบัติการประกอบด้วยหัวข้อหลัก 5 หัวข้อ ได้แก่ ด้านการเมืองและความมั่นคง ความร่วมมือทางเศรษฐกิจการพัฒนาเศรษฐกิจ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การค้าและการลงทุน ข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจและสังคมวัฒนธรรม

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Japan_90.php

ญี่ปุ่นไฟเขียวร่วมข้อตกลงหุ้นส่วนการค้า RCEP ร่วมกับจีนและอาเซียน

รัฐสภาญี่ปุ่นได้อนุมัติในวันนี้ให้ญี่ปุ่นมีส่วนร่วมในข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งเป็นข้อตกลงการค้าเสรีที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยข้อตกลงดังกล่าวลงนามโดย 15 ประเทศในกลุ่มเอเชีย-แปซิฟิกซึ่งรวมถึงจีน และ 10 ชาติสมาชิกอาเซียน ข้อตกลง RCEP จะช่วยสร้างเขตการค้าเสรีที่มีสัดส่วนสูงถึงราว 30% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP), การค้าและประชากรของโลก โดยนับเป็นครั้งแรกที่ญี่ปุ่นจะมีส่วนร่วมในข้อตกลงการค้าที่เกี่ยวข้องกับจีนและเกาหลีใต้ซึ่งเป็นประเทศคู่ค้ารายใหญ่อันดับ 1 และอันดับ 3 ของญี่ปุ่น ข้อตกลง RCEP จะมีผลบังคับใช้หลังการให้สัตยาบันของ 6 ชาติสมาชิกอาเซียน และอีก 3 ประเทศ โดยในวันนี้ (28 เม.ย.) ข้อตกลง RCEP จะช่วยให้ประเทศที่ลงนามไม่ต้องเสียภาษีสำหรับรายการสินค้า 91% จากทั้งหมด และยังออกกฎระเบียบที่สอดคล้องกันเกี่ยวกับการลงทุนและทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อส่งเสริมการค้าเสรี

ที่มา : https://www.ryt9.com/s/iq29/3218572

ญี่ปุ่นพิจารณาตอบโต้การรัฐประหารของเมียนมา

หัวหน้าคณะรัฐมนตรีของญี่ปุ่นกล่าวว่ารัฐบาลกำลังติดตามสถานการณ์การรัฐประหารภายในเมียนมาและจะพิจารณาว่าจะตอบสนองต่อสถานการณ์ในเมียนมาอย่างไร ในแง่ของความร่วมมือทางเศรษฐกิจและนโยบายโดยติดตามความคืบหน้าของสถานการณ์พร้อมทั้งคำนึงถึงผลกระทบจากประเทศที่เกี่ยวข้องด้วย ซึ่งคำกล่าวนี้เกิดขึ้นหลังจากเกาหลีใต้กล่าวว่าจะระงับการแลกเปลี่ยนทางด้านกลาโหมกับเมียนมาและทำการห้ามส่งออกอาวุธเข้าประเทศหลังการรัฐประหารเมื่อเดือนที่แล้ว จากการกระทำของรัฐบาลเมียนมาในการจัดการผู้ประท้วงด้วยความรุนแรง จนทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 138 คน ในเมียนมานับตั้งแต่การประท้วงเริ่มต้นขึ้น ตัวเลขผู้เสียชีวิตอ้างอิงจาก กลุ่มสิทธิมนุษยชน สมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง (AAPP)

ที่มา : https://www.straitstimes.com/asia/se-asia/japan-says-considering-response-to-myanmars-military-coup

กัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังญี่ปุ่นในเดือนมกราคมลดลง

การส่งออกของกัมพูชาไปยังญี่ปุ่นลดลงในเดือนมกราคมเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามข้อมูลที่เปิดเผยโดยองค์การการค้าภายนอกของญี่ปุ่น (JETRO) ซึ่งกัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังญี่ปุ่นมูลค่ารวม 138 ล้านดอลลาร์ ในเดือนมกราคมลดลงร้อยละ 7.8 เมื่อเทียบกับเดือนมกราคมปีที่แล้ว ส่วนการนำเข้าสินค้าของกัมพูชาจากญี่ปุ่นในช่วงเดียวกันมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 37 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.4 โดยการค้าทวิภาคีรวมอยู่ที่ 176 ล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 3.7 เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2020 ซึ่งรองประธานหอการค้ากัมพูชากล่าวว่าแม้ปริมาณการค้าจะลดลง แต่เชื่อมั่นว่าหลังจากทั่วโลกได้มีการให้วัคซีนป้องกันโควิด-19 ไประยะหนึ่งแล้วจะส่งผลให้กิจกรรมทางด้านการค้าระหว่างประเทศฟื้นตัวขึ้นโดยถือเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนและการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจภายในประเทศ สินค้าส่งออกที่สำคัญของกัมพูชาไปยังญี่ปุ่น ได้แก่ เสื้อผ้า กระเป๋าเดินทาง รองเท้า เฟอร์นิเจอร์ เครื่องสำอาง กระดาษ เครื่องใช้สำนักงาน และเครื่องหนัง ส่วนสินค้าส่งออกสำคัญของญี่ปุ่นไปยังกัมพูชา ได้แก่ เครื่องจักร รถยนต์ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เฟอร์นิเจอร์ เสื้อผ้า และพลาสติก เป็นต้น

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50824888/cambodias-exports-to-japan-down-in-january/

รัฐบาลญี่ปุ่นตั้งกองทุนสนับสนุนการพยากรณ์ในลุ่มน้ำแม่น้ำโขง

รัฐบาลญี่ปุ่นมอบเงินสนับสนุน 2.9 ล้านดอลลาร์ ให้แก่คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) เพื่อช่วยดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาในภูมิภาค โดยการระดมทุนครั้งใหม่นี้ถือเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาต่อความท้าทายในภูมิภาคที่จะต้องเผชิญในอนาคต ซึ่งแผนยุทธศาสตร์ฉบับใหม่จะดำเนินการจนถึงปี 2024 จะช่วยให้กลุ่ม MRC และประเทศสมาชิกได้คอยติดตามและประเมินสถานการณ์ของลุ่มแม่น้ำ เพื่อเตรียมปรับตัวและรับมือกับสถานการณ์นั้น ๆ ให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยแม่น้ำโขงถือเป็นที่ตั้งและจุดกำเนิดของความหลากหลายทางวัฒนธรรมโดยมีกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ มากกว่า 95 กลุ่ม ที่อาศัยอยู่ในบริเวณลุ่มน้ำโขง ที่ได้พึ่งพาทรัพยากรทางธรรมชาติจากแม่น้ำโขงมาอย่างยาวนาน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50819129/japanese-govt-helps-fund-mekong-forecasting-system/

ญี่ปุ่นช่วยฟื้นฟูชุมชนสปป.ลาวจากอุทกภัยทางธรรมชาติ

รัฐบาลญี่ปุ่นบริจาคเงิน 180 ล้านเยนญี่ปุ่น (ประมาณ 1.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในช่วงสองปีเพื่อบรรเทาผลกระทบจากฝนตกหนักและน้ำท่วมในแขวงสะหวันนะเขตและแขวงทางตอนใต้ของสปป.ลาว ภายใต้ข้อตกลงระหว่างปี 2564 ถึง 2565 กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมสถานทูตญี่ปุ่นประจำสปป. ลาวและโครงการอาหารโลก (WFP) จะแจกจ่ายข้าวให้กับประชาชนประมาณ 35,000 คน เพื่อสนับสนุนความพยายามในการฟื้นฟูด้านวามมั่นคงของอาหารนอกจากนี้ WFP รวมถึงการสนับสนุนการฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานทางการเกษตร รวมถึงแผนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์มั่นคงและมีประสิทธิภาพเพื่อเป็นรากฐานที่สำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Japan_36.php

ญี่ปุ่นตอกย้ำการร่วมพัฒนาเมืองของกัมพูชา

ฟอรัมครั้งที่สองระหว่างกัมพูชากับญี่ปุ่น ตอกย้ำการพัฒนาเขตเมืองกัมพูชาให้เป็นเมือง “อัจฉริยะ” ซึ่งทำการประชุมผ่านทางออนไลน์ระหว่างกระทรวงการจัดการที่ดินการวางผังเมืองและการก่อสร้าง (MLMUPC) ของกัมพูชา และกระทรวงที่ดินโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งและการท่องเที่ยวของญี่ปุ่น โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวง MLMUPC กล่าวถึงการประชุมที่จัดขึ้นเพื่อผลักดันโอกาสทางธุรกิจให้เกิดความต่อเนื่องระหว่างสองประเทศ และส่งเสริมการลงทุนจากญี่ปุ่นมายังกัมพูชาเพิ่มมากขึ้น ซึ่งในการพูดคุยกันรัฐมนตรีกระทรวงฯ ของญี่ปุ่นกล่าวว่าญี่ปุ่นจะสนับสนุน แบ่งปันแนวทางในการปฏิบัติ และประสบการณ์ที่ดีกับกัมพูชา เกี่ยวกับการขยายตัวของเมืองโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการบริหารอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้รัฐบาลกัมพูชาถือว่าภาคเอกชนเป็นกลไกในการผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจและมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ การพัฒนาการจ้างงาน การส่งเสริม SMEs ไปจนถึงการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (IR4.0) ของกัมพูชา

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50815380/japan-cambodia-forum-reinforces-urban-development-in-kingdom/

องค์กร NGO ของญี่ปุ่น มอบทุนสนับสนุนให้แก่กัมพูชา

องค์กรความร่วมมือแบบให้เปล่าแก่โครงการซึ่งดำเนินการโดย NGO ของญี่ปุ่น ได้ตกลงที่จะมอบเงินจำนวน 754,321 ดอลลาร์ แก่สององค์กรภายใต้กรอบของโครงการ Grant Assistance สำหรับโครงการนอกภาครัฐ (NGO) ของญี่ปุ่น ซึ่งสัญญาดังกล่าวลงนามโดยเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศกัมพูชาและตัวแทนของผู้รับทุนทั้งสองราย โดยรายแรกคิดเป็นจำนวน 371,479 ดอลลาร์ สำหรับการพัฒนาหลักสูตรการพลศึกษาของมหาวิทยาลัยในระยะเวลา 4 ปี ณ สถาบันการพลศึกษาแห่งชาติ ภายใต้โครงการ Hearts of Gold คาดว่าจะมีนักเรียนมากกว่า 930,000 คน ในกัมพูชาได้รับการศึกษาทางกายภาพที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นจากการริเริ่มโครงการ และมอบเงินสนับสนุนอีกมูลค่า 382,842 ดอลลาร์ เพื่อสนับสนุนเกษตรกรรายย่อยในการทำเกษตรพันธสัญญา สำหรับเมล็ดมะม่วงหิมพานต์อินทรีย์ ผ่านสหกรณ์การเกษตรในโครงการ International Volunteers of Yamagata (IVY) เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรภายในประเทศให้ยั่งยืน โดยการให้ความช่วยเหลือแบบให้เปล่าสำหรับโครงการ NGO ของญี่ปุ่นในกัมพูชามีขึ้นตั้งแต่ปี 2002 โดยการให้ความช่วยเหลือในการฟื้นฟูและพัฒนาเศรษฐกิจภายในกัมพูชาในระดับรากหญ้า นับตั้งแต่ก่อตั้งขึ้นรัฐบาลญี่ปุ่นได้จัดหาเงินกว่า 42 ล้านดอลลาร์สำหรับโครงการ 133 โครงการ โดยให้ความสำคัญกับสาขาการศึกษาระดับประถมศึกษา สุขภาพ และภาคการเกษตร

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50814017/japanese-ngo-projects-awarded-grants/