เส้นทางเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจลาว ปี 67 มุ่งเน้นการท่องเที่ยว ยกเครื่องโครงสร้างพื้นฐาน

ปี 2566 ที่ผ่านมา สปป.ลาว เผชิญกับความท้าทายทางเศรษฐกิจ ทั้งปัญหาอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น การขาดแคลนแรงงาน และการขาดดุลการค้าที่เพิ่มมากขึ้น เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาของประเทศ รัฐบาล สปป.ลาว ได้ริเริ่มแคมเปญ Visit Lao Year 2024 โดยหันมาใช้การท่องเที่ยวเป็นกลยุทธ์สำคัญในการเอาชนะปัญหาทางเศรษฐกิจ และวางรากฐานสำหรับการเป็นประธานอาเซียนในปี 2567 โดยมีมาตรการปรับปรุงการเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะ เน้นที่การลดความซับซ้อนของการขายตั๋วสำหรับรถไฟลาว-จีน แผนดังกล่าวยังรวมถึงการดำเนินโครงการโครงสร้างพื้นฐานให้เสร็จสิ้น เช่น ถนนและสนามบิน การฟื้นฟูทางหลวงที่ได้รับความเสียหายจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ และการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคการบริการ โดยความพยายามเหล่านี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อป้องกันไม่ให้สภาพถนนที่ไม่ดีส่งผลกระทบต่อนักท่องเที่ยวในช่วงปีเยือนลาวปี 2567

ที่มา: https://laotiantimes.com/2023/12/27/laos-charts-course-for-growth-in-2024-with-tourism-focus-infrastructure-overhaul-amidst-economic-challenges/

รัฐบาล สปป.ลาว ‘ตั้งเป้าลดปัญหาเงินเฟ้อในปี 2567’

รายงานล่าสุดจากสำนักงานสถิติลาวเผยว่า ในเดือนธันวาคม 2566 อัตราเงินเฟ้อ สปป.ลาว อยู่ที่ 24.4% แม้ว่าจะปรับลดลงเล็กน้อยจาก 25.24% ในเดือนก่อน โดยเงินเฟ้อใยหมวดหมู่โรงแรมและร้านอาหารมีราคาเพิ่มขึ้นสูงสุดเมื่อเทียบเป็นรายปีที่ 35.9% ตามมาด้วยหมวดเสื้อผ้าและรองเท้า การรักษาพยาบาล และของใช้ในครัวเรือน สาเหตุหลักเกิดจากเงินกีบที่อ่อนค่าลง ผลผลิตในประเทศปรับลดลง มูลค่าการนำเข้าที่สูง และความยากลำบากในการควบคุมราคาในตลาดท้องถิ่น ทำให้ความพยายามของรัฐบาลในการควบคุมราคาสินค้ายังเผชิญกับความท้าทาย ส่งผลให้ราคาสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อรับมือกับความท้าทายทางเศรษฐกิจที่กำลังดำเนินอยู่ ธนาคารแห่งลาว (BOL) ให้คำมั่นที่จะใช้นโยบายการเงินเข้มงวด โดยมุ่งเน้นที่การรักษาเสถียรภาพของค่าเงินกีบ ซึ่งเป็นมาตรการสำคัญในการควบคุมต้นทุนสินค้าและบริการ ซึ่งสอดคล้องกับแผนของรัฐบาลที่จะลดอัตราเงินเฟ้อลง 9% ในปี 2567 ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 26-27 ธันวาคม 2566 นายกรัฐมนตรี สอนไซ สีพันดอน ได้สั่งการให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องปรับปรุงระบบการจัดเก็บรายได้ให้ทันสมัย ​​ระบุแหล่งรายได้ใหม่ และลดการรั่วไหลทางการเงิน นอกจากนี้ ยังมุ่งมั่นที่จะปรับปรุงกฎระเบียบด้านเงินตราต่างประเทศ เพิ่มรายได้จากการส่งออก และดึงดูดการลงทุนเพื่อรักษาเสถียรภาพของมูลค่าเงินกีบและลดอัตราเงินเฟ้อ

ที่มา: https://laotiantimes.com/2023/12/29/government-targets-lower-inflation-rates-in-2024/

สปป.ลาว-จีน ‘เล็งขยายทางด่วนเวียงจันทน์ถึงมณฑลยูนนาน’ เชื่อมการค้าและการลงทุน

นายหวัง ห่าว รองผู้ว่าการมณฑลยูนนานของจีนได้เรียกร้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและพาณิชย์ของ สปป.ลาว และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ให้การสนับสนุนโครงการความร่วมมือขยายทางด่วนจากนครหลวงเวียงจันทน์ ของ สปป.ลาว ถึงชายแดนมณฑลยูนนานของจีน จากเดิมที่มีทางด่วนเฟสที่ 1 เชื่อมระหว่างเวียงจันทน์กับวังเวียงที่เปิดให้ใช้งานมาตั้งแต่ปลายปี 2563 นอกจากนี้ สปป.ลาว ได้ขอให้ทางการจีนให้ความช่วยเหลือในการกำหนดแผนยุทธศาสตร์สำหรับการพัฒนาและการจัดการธุรกิจอีคอมเมิร์ซ รวมถึงการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียน หลังจากการค้าชายแดนระหว่าง สปป.ลาวและมณฑลยูนนานมีการเติบโตอย่างมาก จนถึงขณะนี้ มีบริษัทข้ามชาติจากมณฑลยูนนานมาลงทุนในลาวแล้วกว่า 297 บริษัท มีมูลค่าการลงทุนรวม 4.24 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งสองฝ่ายยกย่องความสำคัญของทางรถไฟลาว-จีน ซึ่งเชื่อมโยงมณฑลยูนนานกับเมืองหลวงของลาวที่มีส่วนในการสนับสนุนการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวอย่างมีนัยสำคัญ

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freefreenews/freecontent_244LaosChina_23.php

ประธานประเทศลาวแนะผู้นำแขวงบอลิคำไซ ‘เพิ่มการผลิตสินค้าเพื่อทดแทนการนำเข้า’

นายทองลุน สีสุลิด ประธานประเทศลาว แนะผู้นำและเจ้าหน้าที่แขวงบอลิคำไซให้สนับสนุนการผลิตและการบริโภคสินค้าที่ผลิตในลาว เพื่อลดการนำเข้าและปรับปรุงคุณภาพชีวิตของคนในท้องถิ่น และเน้นย้ำการให้ความสำคัญกับการให้ความรู้ประชาชนเกี่ยวกับอุดมการณ์ทางการเมืองมากขึ้น เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีบทบาทเชิงรุกในทุกด้านของการพัฒนาประเทศ นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ยังได้รับคำแนะนำให้เสริมสร้างความมั่นคงภายในท้องถิ่น ระงับการกระทำที่ไม่พึงประสงค์โดยทันที เพื่อลดความยากจนทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ กำชับให้เจ้าหน้าที่ของรัฐได้รับการแต่งตั้งตามคุณธรรมเพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ได้สำเร็จตามที่กำหนดเป้าหมายไว้ ทั้งนี้ ผู้นำแขวงบอลิคำไซ ได้กล่าวต่อประธานประเทศว่า ‘ความสำเร็จในการพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการป้องกันประเทศ การรักษาสันติภาพ และการลดความยากจน ซึ่งสะท้อนผ่านตัวเลข GDP ของแขวงบอลิคำไซ ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ มีมูลค่ามากกว่า 7 ล้านล้านกีบ คิดเป็น 100.14% ของเป้าหมายที่ตั้งไว้ในปีนี้ นอกจากนี้ หมู่บ้านกว่า 264 แห่ง คิดเป็น 92% ของหมู่บ้านทั้งหมดในแขวงบอลิคำไซ ได้รับการประกาศว่าปราศจากความยากจน และประมาณ 95% ของครัวเรือนขณะนี้อยู่เหนือเส้นความยากจน

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freefreenews/freecontent_243President_23.php

‘ADB’ คาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามปี 67 โต 6%

จากรายงานแนวโน้มการพัฒนาเอเชีย (ADO) ของธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) คาดการณ์ว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของเวียดนามในปี 2567 ขยายตัว 6% ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญของธนาคารฯ มองว่าจากอุปสงค์จากต่างประเทศที่อ่อนแอเกินกว่าที่คาดไว้ ยังคงเป็นอุปสรรคต่อภาคอุตสาหกรรมและบริการ ตลอดจนส่งผลกระทบต่อการจ้างงานและการบริโภคในประเทศ นอกจากนี้ การดำเนินนโยบายการเงินเชิงรุกและมีความรอบคอบ เพื่อที่จะควบคุมราคาน้ำมัน ค่าไฟฟ้า อาหาร การดูแลสุขภาพ การศึกษา ล้วนมีผลทำให้เกิดเงินเฟ้อ ด้วยเหตุนี้ เงินเฟ้อของเวียดนามคาดว่าจะอยู่ที่ 3.8% ในปีนี้ ก่อนที่จะปรับตัวสูงขึ้น 4% ในปีหน้า

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/adb-projects-6-gdp-growth-for-vietnam-next-year-post1065201.vov

สปป.ลาว เชิญชวนทั่วโลกสนับสนุนแคมเปญ ” Visit Laos Year 2024″

เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างประเทศใน สปป.ลาว รัฐบาลได้ติดต่อกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยส่งคำเชิญชวนให้ประเทศต่างๆ สนับสนุนแคมเปญ ” Visit Laos Year 2024″ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้มากขึ้น ซึ่งท้ายที่สุดแล้วจะมีส่วนช่วยการเติบโตทางเศรษฐกิจประเทศ ด้วยวัตถุประสงค์นี้ สปป.ลาว จึงมุ่งเน้นไปที่ประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะจีน ซึ่งใช้ประโยชน์จากความใกล้ชิดทางภูมิศาสตร์และโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมที่ได้รับการพัฒนาสำหรับชื่อมโยงทั้งสองประเทศเข้าด้วยกัน นอกจากนี้ สายการบินหลักๆ เช่น Lao Airlines และ China Eastern Airlines ในปัจจุบันได้ให้บริการเที่ยวบินตรงที่เชื่อมต่อเมืองสำคัญๆ ของทั้งสองประเทศ เช่น นครหลวงเวียงจันทน์และกว่างโจว รวมถึงคุนหมิงในจีน อย่างไรก็ตาม รัฐบาล สปป.ลาว ได้แสวงหาการสนับสนุนในระดับโลกเพิ่มเติมไม่เพียงแต่จีนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ไทยและเวียดนามด้วย ทั้งนี้ กระทรวงสารสนเทศ วัฒนธรรม และการท่องเที่ยว ระบุว่า ปี 2567 คาดว่าจะเป็นตัวเร่งการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยคาดว่าจะดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ 2.7 ล้านคน และสร้างรายได้ 401 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ที่มา : https://laotiantimes.com/2023/12/11/laos-targets-global-audience-for-visit-laos-year-2024/?fbclid=IwAR1stwiLNLvo5s5ZfIJXVrlwMKhZmqQAD9TceTM-m6Oi4fLBLxA4gXGnGjM

ธนาคาร-ผู้นำทางธุรกิจ จัดประชุมอัพเดทสถานการณ์เศรษฐกิจ สปป.ลาว ในปัจจุบัน

ธนาคาร ANZ Laos ร่วมกับ AustCham Lao จัดงานประชุมอัพเดทสถานการณ์เศรษฐกิจ สปป.ลาว ซึ่งเป็นการนำเสนอข้อมูลสถานะปัจจุบันในเชิงลึกเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจของ สปป.ลาว โดยมีเจ้าหน้าที่ธนาคาร สมาชิกหอการค้าต่างประเทศ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากภาคเอกชนเข้าร่วม บางส่วนของกิจกรรมในงานเริ่มจากการนำเสนอของ Mr.Khoon Goh หัวหน้าฝ่ายวิจัยเอเชียของธนาคาร ANZ ที่นำเสนอข้อมูลการเปลี่ยนแปลงภาวะเศรษฐกิจระดับโลกและระดับภูมิภาคในปัจจุบัน และการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อประเทศลาวในปีหน้าอย่างไร โดยเริ่มจากเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาที่กำลังเข้าใกล้จุดสิ้นสุดของวัฏจักรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่เศรษฐกิจจะเริ่มรู้สึกถึงผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งก่อน ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาชะลอตัวในปีหน้า ขณะที่เศรษฐกิจของประเทศจีน เริ่มมีการฟื้นตัวจากแรงผลักดันของการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ และคาดการณ์ว่าเมื่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคจีนกลับมา ผู้บริโภคจีนก็จะมีเม็ดเงินส่วนเกินประมาณ 6.2 ล้านล้านเหรียญดอลลาร์ ที่จะผลักดันการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจทั้งในประเทศจีน และแผ่กระจายการบริโภคมายังประเทศเพื่อนบ้านรวมถึงประเทศลาว นอกจากนี้ นายเพชรสถาพร แก้ววงวิจิตร อธิบดีกรมบริหารการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ธนาคารแห่ง สปป. ลาว ได้นำเสนอภาพรวมที่ครอบคลุมเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบที่ประกาศใช้ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี ฉบับที่ 10 ว่าด้วยการดำเนินการจัดการเงินตราต่างประเทศ โดยมุ่งเป้าไปที่การรักษาเสถียรภาพของสกุลเงินกีบ การเสริมสร้างทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ และรักษามูลค่าของเงินกีบ

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freefreenews/freecontent_236_Bankers_y23.php

World Bank วิเคราะห์เศรษฐกิจ สปป.ลาว ส่งสัญญาณฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป

World Bank หรือธนาคารโลก คาดการณ์เศรษฐกิจ สปป.ลาว จะเติบโตที่ร้อยละ 4.1 ในปี 2567 แต่ความท้าทายจะยังคงมีอยู่ จากผลของอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น หนี้ต่างประเทศที่สูง และขาดแคลนแรงงาน การขยายตัวทางเศรษฐกิจ สปป.ลาว ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการฟื้นตัวด้านการท่องเที่ยว บริการขนส่งและโลจิสติกส์ และการลงทุนจากต่างประเทศที่เพิ่มมากขึ้น แต่อัตราการเติบโตต่ำกว่าที่คาดไว้ก่อนหน้า ตามข้อมูลของธนาคารโลกแสดงให้เห็นว่าอัตราเงินเฟ้อทำให้ต้นทุนการบริโภคและธุรกิจเพิ่มขึ้น ส่งผลให้การใช้จ่ายของครัวเรือนในด้านอาหาร การศึกษา และสุขภาพลดลง อัตราเงินเฟ้อยังทำให้เงินออมลดลง ส่งผลให้หลายครอบครัวเสี่ยงต่อการตกอยู่ในความยากจน “แม้ว่าราคาสินค้านำเข้าบางชนิดในตลาดโลกจะลดลง แต่อัตราเงินเฟ้อของลาวยังคงอยู่ในระดับสูง โดยสูงถึงร้อยละ 26 ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดยอัตราเงินเฟ้อของราคาอาหารอยู่ที่ร้อยละ 29 ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อครัวเรือนที่ยากจน” นอกจากนี้ ค่าเงินของประเทศที่อ่อนค่าลงเป็นสาเหตุหลัก โดยเฉลี่ยแล้ว ค่าเงินกีบที่ลดลงร้อยละ 1 จะทำให้ราคาผู้บริโภคเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 ดังนั้น อัตราเงินเฟ้อจะยังคงสูงจนกว่าอัตราแลกเปลี่ยนจะมีเสถียรภาพ ทั้งนี้ เงินกีบอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องตลอดปี 2566 โดยมีมูลค่าลดลงร้อยละ 29 เมื่อเทียบกับเงินบาท และร้อยละ 21 เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐจนถึงเดือนตุลาคม ความสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทานของเงินตราต่างประเทศและการไหลเข้าของรายได้จากการส่งออกที่จำกัด ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจลาว

ที่มา: https://www.vientianetimes.org.la/freefreenews/freecontent_235Laossees_23.php

มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว-เกาหลี วางแผนจัดตั้งอุตสาหกรรมนมใน สปป.ลาว

มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว (NUOL) และมหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล (SNU) ประเทศเกาหลีใต้ กำลังหารือกันถึงแผนการจัดตั้งฟาร์มโคนมในประเทศลาว หลังจากเปิดตัวหลักสูตรโคนมครั้งแรกในภาควิชาปศุสัตว์ที่คณะเกษตรศาสตร์ NUOL คาดว่าโครงการนี้จะใช้เวลาดำเนินการ 7 ปี ซึ่งประกอบด้วยองค์ประกอบหลัก 4 ส่วน ภายใต้มูลค่ารวม 2.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยขั้นแรกได้เปิดสอนหลักสูตรผลิตภัณฑ์นมที่กรมปศุสัตว์ ตามด้วยการเขียนตำราเรียนและสื่ออื่นๆ ให้นักศึกษาและคณาจารย์นำไปใช้ จากนั้นอาจารย์และนักวิจัยชาวลาวจะได้รับเชิญให้ไปเยือนเกาหลีเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถด้านการวิจัยของตนสุดท้ายจะมีการสร้างฟาร์มต้นแบบและโรงงานผลิตนมที่คณะเกษตรโดยร่วมมือกับบริษัทการเกษตรในประเทศลาว เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เรียนรู้ไปยังเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมของ สปป.ลาว

ที่มา: https://www.vientianetimes.org.la/freefreenews/freecontent_234_Lao_Korean_y23.php

อัตราเงินเฟ้อของลาวลดลงเล็กน้อยเป็น 25.24% ในเดือนพฤศจิกายน

สำนักงานสถิติ สปป.ลาว ระบุว่าอัตราเงินเฟ้อของลาวในเดือนพฤศจิกายนอยู่ที่ร้อยละ 25.24 ลดลงเล็กน้อยจากร้อยละ 25.8 ในเดือนตุลาคม เงินกีบที่อ่อนค่าถูกมองว่าเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่ผลักดันอัตราเงินเฟ้อในช่วงนี้ จากข้อมูลอัตราเงินเฟ้อในเดือนพฤศจิกายน พบว่า ราคาสินค้าในหมวดโรงแรมและร้านอาหาร อยู่ร้อยละ 35.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อน ราคาอาหารปรุงสุก เช่น ปลาย่าง ยำเนื้อรสเผ็ด และก๋วยเตี๋ยว รวมถึงราคาเบียร์ ไวน์ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อื่นๆ ผลักดันราคาสินค้าหมวดนี้ หมวดอื่นๆ ที่ผลักดันอัตราเงินเฟ้อ ได้แก่ หมวดเสื้อผ้าและรองเท้า ร้อยละ 31.8 หมวดเครื่องมือทางการแพทย์และยา ร้อยละ 26.5 หมวดอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 26.4 หมวดของใช้ในครัวเรือน ร้อยละ 25.3  เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และหมวดยาสูบ ร้อยละ 24.5 ส่วนหมวดการสื่อสารและการขนส่ง ร้อยละ 22.1 ต้นทุนสินค้าและบริการมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลงในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา หลังจากที่อัตราเงินเฟ้อแตะระดับสูงสุดที่ร้อยละ 41.26 ในเดือนกุมภาพันธ์ ปัจจัยบวกประการหนึ่ง คือ การที่ สปป.ลาว เกินดุลการค้ามากกว่า 943 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 โดยมีการส่งออกมากกว่า 5.95 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และการนำเข้ามูลค่า 5.01 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ที่มา : https://english.news.cn/20231128/386e00e66b6145809ca4526bc42744fb/c.html