กระทรวงพาณิชย์กัมพูชาลงนาม MoU สำหรับการพัฒนาภายในประเทศ

กระทรวงพาณิชย์ (MoC) ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MoU) 2 ฉบับ ระหว่างบริษัทที่ปรึกษาด้านการค้าปลีกและการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ BRB และ อีกฉบับกับบริษัท โคคา โคลา ประจำประเทศกัมพูชา โดยการลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกับบริษัทที่ปรึกษาด้านการค้าปลีกและการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ BRB คาดจะมีส่วนช่วยในการส่งเสริมพัฒนาขีดความสามารถของชุมชนผู้ผลิตเครื่องปั้นดินเผา งานแฮนด์เมด งานหัตถกรรม และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ในจังหวัดกำปงชนัง ซึ่งจัดให้มีการฝึกอบรมทรัพยากรมนุษย์ พัฒนาผลิตภัณฑ์ ขยายตลาด และเพิ่มอัตราการผลิตผลิตภัณฑ์ รวมถึงการลงบันทึกความเข้าใจกับ โคคา โคลา มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการพัฒนาการค้าการเพิ่มการใช้ผลิตภัณฑ์ “Made in Cambodia” ปรับปรุงขีดความสามารถของวิสาหกิจกัมพูชาและสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมการค้า ภายใต้คอนเซ็ป “Made in Cambodia” ซึ่งรัฐบาลก็ได้เริ่มกระตุ้นให้ธุรกิจภายในประเทศยื่นขอฉลากคุณภาพสำหรับผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นร่วมด้วย เพื่อเป็นการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ภายในประเทศ นอกจากนี้กระทรวงจะร่วมมือกับภาคเอกชนในการแก้ไขปัญหาและความท้าทายที่ต้องเผชิญในห่วงโซ่อุตสาหกรรมร่วมกันต่อไป

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50803679/ministry-of-commerce-signs-two-development-mous/

พาณิชย์ปรับแผนหนุนเกษตรกร-เอสเอ็มอีใช้เอฟทีเอควบคู่ค้าขายออนไลน์

นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รมช.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้มอบนโยบายให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ปรับกลยุทธ์การทำงาน ปี 2564 แก้เกมโควิด-19 ระบาดระลอกใหม่ โดยให้เน้นการใช้เทคโนโลยีออนไลน์สำหรับกิจกรรมฝึกอบรมเสริมสร้างองค์ความรู้ เพื่อติดอาวุธให้กับกลุ่มเกษตรกรเอสเอ็มอี สหกรณ์ และวิสาหกิจชุมชน พร้อมใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ควบคู่ไปด้วย เพื่อให้สามารถจับคู่ธุรกิจเพิ่มยอดขาย และบุกตลาดต่างประเทศได้จริง โดยอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เสริมว่า สำหรับโครงการสำคัญที่กรม จะดำเนินการ ในปี 2564 และจะเพิ่มการนำเทคโนโลยีออนไลน์มาใช้ในการจับคู่ธุรกิจ ตามนโยบายของ รมช.พาณิชย์ ได้แก่ โครงการจัดทัพโคนมไทย บุกตลาดต่างประเทศด้วยเอฟทีเอ เน้นขยายตลาดส่งออกไปอาเซียนและจีน โครงการจับมือผู้ประกอบการใน 4 จังหวัดชายแดนใต้ เพิ่มการส่งออกต่างประเทศด้วยเอฟทีเอ ร่วมกับ ศอ.บต. โครงการเพิ่มศักยภาพเกษตรกรไทยให้สามารถเพิ่มการส่งออกโดยใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอร่วมกับสภาเกษตรกรแห่งชาติ โครงการพัฒนาความพร้อมทางการค้าสหกรณ์ไทยสู่โลกการค้าเสรี และโครงการยกระดับผู้ประกอบการไทยผ่านโลกการค้าเสรี ร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยมีความตกลงเอฟทีเอ จำนวน 14 ฉบับ รวมอาร์เซ็ป กับ 18 ประเทศ ได้แก่ สมาชิกอาเซียน 9 ประเทศ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เปรู ชิลี และฮ่องกง โดยในปี 2562 การค้าของไทยกับประเทศคู่เอฟทีเอ 18 ประเทศ มีมูลค่ารวม 302,991 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 2 ใน 3 สัดส่วน 63% ของมูลค่าการค้าไทย กับโลก

ที่มา : https://www.khaosod.co.th/economics/news_5726321

กระทรวงพาณิชย์กัมพูชาลงนาม MoU ในการพัฒนาห่วงโซ่คุณค่าธุรกิจการเกษตร

กระทรวงพาณิชย์ และ บริษัท Yamato Green ซึ่งเชี่ยวชาญด้านการผลิตผักปลอดสารพิษจากญี่ปุ่นที่มีชื่อเสียง ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MoU) ในการร่วมพัฒนาภาคการเกษตรเมื่อวานนี้เพื่อพัฒนาห่วงโซ่คุณค่าสำหรับการผลิตสินค้าภาคธุรกิจเกษตรในกัมพูชา โดยเชื่อว่าการลงนามฉบับนี้จะสร้างความร่วมมือที่ดีในการรับมือกับความท้าทายในห่วงโซ่คุณค่าเพื่อเสริมสร้างผลผลิตให้มีคุณภาพ เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด ทั้งเชื่อว่าวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รวมถึงชุมชนเกษตรกรจะสามารถสร้างห่วงโซ่อุปทานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันในด้านการเจาะตลาดและกระจายตลาดไปยังต่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50801454/commerce-ministry-signs-agri-business-value-chain-development-mou/

ผู้เชี่ยวชาญแนะรัฐบาลกัมพูชาลดภาษีนำเข้าสินค้าบางส่วนลง

กระทรวงพาณิชย์ได้เสนอแนะให้ลดภาษีนำเข้าผลิตภัณฑ์ประเภทเครื่องจักรกลไฟฟ้าและชิ้นส่วนอะไหล่เพื่อลดต้นทุนการผลิตในภาคการผลิตลง โดยจากการสำรวจของกระทรวงฯ พบว่าอัตราภาษีนำเข้าสินค้าและชิ้นส่วนของกัมพูชาในปัจจุบันสูงถึงร้อยละ 15 ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทยและเวียดนามตรึงไว้ที่ร้อยละ 5 และ 3 ตามลำดับ ซึ่งเจ้าหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์กล่าวว่าหากกัมพูชาต้องการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศมากขึ้นเพื่อให้เกิดความได้เปรียบทางด้านการผลิตที่ส่งผลโดยตรงต่อความสามารถในการส่งออกและยังส่งเสริมการกระจายความเสี่ยงจากตลาดส่งออกที่มีอยู่ในปัจจุบัน โดยจะต้องดำเนินการลดภาษีนำเข้าสำหรับสินค้าประเภทเครื่องจักรกลร่วมด้วยเพื่อลดต้นทุนการผลิตสำหรับบริษัทข้ามชาติที่จะทำการลงทุนหรือทำการพัฒนาในกัมพูชา ซึ่งรัฐบาลได้เคลื่อนไหวในการลดอัตราภาษีในสินค้าบางรายการ เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2020 ที่ผ่านมาได้ประกาศลดภาษีนำเข้าและภาษีพิเศษสำหรับสินค้า 35 ประเภท จุดประสงค์คือเพื่อช่วยเหลือวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในท้องถิ่นเนื่องจากการเติบโตของภาคส่วนเหล่านั้นทำให้เศรษฐกิจของประเทศมีการพัฒนาอย่างยั่งยืนและสร้างโอกาสในการจ้างงานมากขึ้น

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50800405/experts-cite-need-for-import-tariff-reductions/

รัฐบาลกัมพูชาเร่งพิจารณาการจัดงานแสดงสินค้าภายในประเทศ

เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงพาณิชย์กล่าวว่ากระทรวงกำลังพิจารณาว่าจะดำเนินการต่อหรือยกเลิกงานแสดงสินค้าที่จะจัดขึ้นในกัมพูชา จากสถานการณ์การแพรระบาดของ COVID-19 ที่ยังคงไม่แน่นอน โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าวว่าหากมีการจัดงานแสดงสินค้าขึ้นจะมีกำหนดอยู่ระหว่างวันที่ 24 ถึง 27 ธันวาคม ซึ่งเมื่อ 4 ปีก่อนงานแสดงสินค้าได้รับการสนับสนุนอย่างมากจากหน่วยงานในพื้นที่ บริษัท ผู้ผลิต ลูกค้าและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องได้เดินทางมายังงาน “Buy Cambodian Campaign” ซึ่งการจัดงานครั้งนี้มีถือว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมากเนื่องจากเป็นการส่งเสริมการใช้สินค้าในท้องถิ่นและช่วยลดการไหลเข้าของสินค้าจากต่างประเทศเข้าสู่กัมพูชา ทั้งยังเป็นการถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้ผลิตในพื้นที่เพื่อช่วยในการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพถูกสุขอนามัยและความปลอดภัย รวมถึงบรรจุภัณฑ์ที่ดึงดูดใจ ด้วยต้นทุนที่ต่ำทำให้สามารถแข่งขันกับสินค้านำเข้าได้

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50788020/local-goods-exhibition-hangs-in-the-balance/

พาณิชย์ นำร่องตั้งกองทุนหนุนการค้าไทย-ลาว สกัดชาติมหาอำนาจรุกหนัก

นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สั่งการให้สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) หรือ ITD เร่งศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้ง “กองทุนช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกทางการค้า (Trade Facilitation) ไทย-สปป. ลาว” เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางการค้าและอำนวยความสะดวกทางการค้า (Trade Facilitation) ระหว่างไทยกับ สปป. ลาว โดยการยกระดับประสิทธิภาพด้านการขนส่งสินค้าข้ามแดน เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้าการลงทุนให้แก่นักธุรกิจ ผู้ประกอบการ ไทย และ สปป.ลาว ทั้งนี้ แนวคิดการจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกทางการค้าไทย-ลาว เกิดจากการได้ลงพื้นที่พบปะกับนักธุรกิจไทยที่ได้เข้าไปทำการค้าและลงทุนใน สปป.ลาว ซึ่งมักพบปัญหาหลายอย่าง เช่น ต้นทุนในการติดต่อประสานงานในการค้าขายและต้นทุนการขนส่งสินค้าข้ามแดนสูง การขนส่งสินค้าทางเรือ และการจัดการเอกสารการค้าผ่านแดน รวมถึงการขออนุญาตนำเข้าส่งออกใช้เวลานาน การจัดเก็บค่าธรรมเนียม การตรวจคนเข้าเมือง การศุลกากร และการกักกัน มีขั้นตอนที่ยุ่งยากและมีต้นทุนแฝงที่ค่อนข้างสูง ปัญหาเหล่านี้ถือเป็นข้อจำกัดที่ส่งผลกระทบต่อการค้าขายระหว่างกันของไทยและสปป.ลาว

ที่มา : https://www.matichon.co.th/economy/news_2434800

รมว.พาณิชย์ถก JFCCT เร่งลดอุปสรรคการค้า-ดึงดูดลงทุนหลังโดนผลกระทบโควิด

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย (JFCCT) นำโดยนายสแตนลีย์ คัง ประธาน JFCCT ว่า วันนี้ได้พบปะหารือตัวแทนหลายประเทศในกลุ่มหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย โดยประเด็นที่ 1 คือเรื่อง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ซึ่ง JFCCT ต้องการให้ผู้ประกอบธุรกิจต่างด้าวสามารถถือหุ้นได้ 100% ในการประกอบธุรกิจในประเทศไทย ภายใต้บัญชี 3 บางรายการในช่วง 3 ปีนี้ เพื่อดึงดูดการลงทุนเข้ามาประเทศไทยในช่วงโควิด ซึ่งเรื่องนี้กระทรวงพาณิชย์รับจะพิจารณาให้ ภายใต้ขั้นตอนกระบวนการตามที่กฎหมายกำหนด เรื่องที่ 2 คือ การเจรจาการค้าเสรี (FTA) กับหลายกลุ่ม ที่มีความชัดเจนอย่างน้อย 5 ประเทศ 5 กลุ่ม คือ FTA ไทย-EU, ไทย-UK, ไทย-EFTA กลุ่มประเทศแถวสวิส นอร์เวย์, ไทย-ยูเรเซีย และอาเซียนกับแคนาดา เรื่องที่ 3 คือ มาตรการฟื้นการท่องเที่ยวที่ภาคเอกชนต่างประเทศ อยากเห็นการกำหนดเงื่อนเวลาที่จะให้กักตัวอย่างชัดเจนและจะมีมาตรการผ่อนคลายเพิ่มขึ้นเมื่อใด ส่วนเรื่องที่ 4 เกี่ยวข้องกับระบบการขนส่งที่ภาคเอกชนต่างประเทศ ต้องการเห็นการขนถ่ายสินค้าที่สะดวกขึ้น อย่างไรก็ตาม สำหรับการพบปะกันนั้น จะเปิดโอกาสให้หอการค้าต่างประเทศได้หารือกับกระทรวงพาณิชย์มากขึ้น เพื่อจะได้ติดตามความคืบหน้า และร่วมกันทำงานคลี่คลายปัญหาที่ติดขัด เพื่อช่วยกันฟื้นเศรษฐกิจและเป้าหมายในการเพิ่มมูลค่าการส่งออกของไทยด้วย

ที่มา : https://www.ryt9.com/s/iq03/3172940

ส่งออก ส.ค.ฟื้นติดลบแค่ 7.94% มูลค่าทะลุ 2 หมื่นล้านเหรียญในรอบ 5 เดือน

“พาณิชย์” เผยการส่งออกเดือน ส.ค. 63 ฟื้นตัวต่อเนื่อง มูลค่าเกิน 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ในรอบ 5 เดือนอัตราการขยายตัวติดลบเหลือ 7.94% ส่วนยอดรวม 8 เดือนลบเหลือ 7.75% คาดแนวโน้มยังเป็นขาขึ้นลักษณะเหมือนเครื่องหมายถูก มั่นใจทั้งปีลบไม่เกิน 2 หลัก น่าจะลบ 5% ถึงลบ 8% โดย น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยในเดือน ส.ค. 2563 มีมูลค่า 20,212.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 7.94% ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่น่าพอใจ ทั้งในแง่มูลค่าที่กลับมาส่งออกเกิน 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐในรอบ 5 เดือนนับจากเดือน เม.ย. 2563 และการขยายตัวติดลบน้อยลง จากที่เคยลบสูงสุดถึง 23.17% ในเดือน มิ.ย. 2563 ถือว่าพ้นจุดต่ำสุดแล้ว ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 15,863.0 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 19.68% ทำให้เกินดุลการค้ามูลค่า 4,349.4 ล้านเหรียญสหรัฐ และยอดรวม 8 เดือนปี 2563 (ม.ค.-ส.ค.) มีมูลค่า 153,374.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 7.75% นำเข้ามูลค่า 134,981.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 15.31% เกินดุลการค้ามูลค่า 18,393.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนในต่างประเทศก็มีการส่งออกที่ลดลง เช่น ญี่ปุ่น ลด 16.6% สหภาพยุโรป 15 ประเทศ ลด 16.9% อาเซียน 5 ประเทศ ลด 16.5% CLMV ลด 9.3% เป็นต้น ทั้งนี้ มองว่าการส่งออกของไทยทั้งปีจะไม่ติดลบในระดับ 2 หลักอย่างที่หลายๆ ฝ่ายได้ประเมินเอาไว้ น่าจะติดลบ 5% ถึงลบ 8% โดยการส่งออกลบ 5% ต้องส่งออกให้ได้เดือนละ 20,145 ล้านเหรียญสหรัฐ และลบ 8% ต้องส่งออกให้ได้เดือนละ 18,298 ล้านเหรียญสหรัฐ

ที่มา : https://mgronline.com/business/detail/9630000097477

พาณิชย์ถกสภาธุรกิจอียู-อาเซียน หาแนวทางฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19

“พาณิชย์” หารือสภาธุรกิจสหภาพยุโรป-อาเซียน และบริษัทชั้นนำของยุโรปที่ทำธุรกิจในอาเซียนกว่า 50 ราย ผ่านระบบทางไกล แลกเปลี่ยนมุมมองการรับมือวิกฤตโควิด-19 และแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจ นายสรรเสริญ สมะลาภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 15 ก.ย. 2563 ที่ผ่านมา ได้รับมอบหมายจากนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้เข้าร่วมหารือกับสภาธุรกิจสหภาพยุโรป-อาเซียน (EU-ASEAN Business Council: EU-ABC) ผ่านระบบการประชุมทางไกล เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองของไทยเกี่ยวกับการรับมือกับวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และการฟื้นเศรษฐกิจในระดับประเทศและระดับภูมิภาค โดยไทยได้ใช้โอกาสนี้สร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคเอกชนสหภาพยุโรปว่า ไทยให้ความสำคัญกับการยกระดับความสัมพันธ์ทางการค้ากับสหภาพยุโรป การอำนวยความสะดวกทางการค้าด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล การส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติ การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การยกระดับมาตรฐานสินค้าส่งออกของไทย โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและอาหาร

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/898079

“พาณิชย์” ประกาศเริ่มใช้งานระบบการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองใหม่ 20 ก.ย.นี้

กรมการค้าต่างประเทศประกาศเริ่มใช้ระบบการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองแบบใหม่ ตั้งแต่วันที่ 20 ก.ย.นี้เป็นต้นไป นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า สำนักเลขาธิการอาเซียน แจ้งว่าประเทศสมาชิกสามารถใช้ระบบการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองแบบใหม่ หรือที่เรียกว่าระบบ AWSC (ASEAN Wide Self-Certification) เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการในการขึ้นทะเบียนเป็น “ผู้ส่งออกที่ได้รับการรับรอง” (Certified Exporter) โดยผู้ส่งออกสามารถขึ้นทะเบียนได้ผ่านเว็บไซต์กรมการค้าต่างประเทศ (www.dft.go.th) เพื่อดำเนินการกรอกข้อมูลการขึ้นทะเบียน Certified Exporter พร้อมแนบเอกสารหลักฐานประกอบการขึ้นทะเบียนผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยใช้ลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์ (Digital Signature) ทำให้ผู้ประกอบการไม่ต้องเดินทางมายื่นเอกสารที่กรมฯ นอกจากนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการขึ้นทะเบียนเป็น Certified Exporter เพิ่มขึ้น กรมฯ ได้จัดกิจกรรมขึ้นทะเบียนสัญจร ณ นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จังหวัดชลบุรี ในวันที่ 16 ก.ย. 2563 เพื่อให้คำแนะนำในการขึ้นทะเบียน และการใช้ประโยชน์จากระบบ AWSC ในการส่งออกไปยังอาเซียน

ที่มา : https://mgronline.com/business/detail/9630000092441