CDC อนุมัติโครงการลงทุนแห่งใหม่ในจังหวัดสีหนุวิลล์

คณะกรรมการเขตเศรษฐกิจพิเศษกัมพูชา (CSEZB) หน่วยงานของสภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา (CDC) ได้อนุมัติการออกใบรับรองการจดทะเบียนสำหรับโครงการลงทุนใหม่ 8 โครงการ มูลค่ารวม 64.3 ล้านดอลลาร์ ซึ่งในบรรดาโครงการลงทุนใหม่อย่าง บริษัท Huale Steel (Cambodia) Co., Ltd. ได้ยื่นขอเสนอโครงการลงทุนมูลค่ากว่า 40 ล้านดอลลาร์ เพื่อสร้างโรงงานผลิตเหล็กทุกชนิด ในเขตเศรษฐกิจพิเศษท่าเรือสีหนุวิลล์ (SPSEZ) พร้อมจ้างงานกว่า 523 คน ทำนองเดียวกัน บริษัท Wangmao (Cambodia) Homeware Co., Ltd. วางแผนจัดตั้งโรงงานผลิตเครื่องใช้ภายในบ้าน ด้วยเงินลงทุนมูลค่า 6.2 ล้านดอลลาร์ โดยคาดว่าจะสร้างการจ้างงานถึง 1,369 ตำแหน่ง ตามมาด้วย บริษัท Cambodian Luheng Food Co., Ltd. ในการจัดตั้งโรงงานอาหารสัตว์ มูลค่าการลงทุน 3 ล้านดอลลาร์ ใกล้กันกับ บริษัท Ultimate Motion Co., Ltd. ที่มีการวางแผนลงทุนจัดตั้งโรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์ มูลค่าการลงทุน 3 ล้านดอลลาร์ สำหรับ บริษัท Jushi (Cambodia) Co., Ltd. วางแผนที่จะสร้างโรงงานผลิตเม็ดพลาสติก สายไฟ และสายเคเบิล ด้วยทุนจดทะเบียน 5 ล้านดอลลาร์ ตามมาด้วยโครงการลงทุนของ บริษัท Starblaze (Cambodia) Plastic & Metal Co., Ltd. มูลค่าการลงทุน 3.6 ล้านดอลลาร์ ตามมาด้วย บริษัท Wanan Gas Control (Cambodia) Co., Ltd. คาดว่าจะลงทุน 2 ล้านดอลลาร์ และ บริษัท He Dui Optoelectronics Co., Ltd. วางแผนที่จะลงทุน 1.5 ล้านดอลลาร์ ตามลำดับ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501364491/cdc-approves-40m-steel-factory-project-in-sihanoukville/

ครึ่งปีแรกกัมพูชาส่งออกสินค้าผ่าน SEZs พุ่ง 1.39 พันล้านดอลลาร์

การส่งออกของกัมพูชาผ่านเขตเศรษฐกิจพิเศษ (SEZs) สูงถึง 1.39 พันล้านดอลลาร์ ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ตามการรายงานของสภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา (CDC) โดยปัจจุบันกัมพูชามีเขตเศรษฐกิจพิเศษทั้งสิ้น 24 แห่ง สร้างการจ้างงานให้กับคนในท้องถิ่นประมาณกว่า 175,000 คน ซึ่งประมาณร้อยละ 90 ของโรงงานในเขตเศรษฐกิจพิเศษเป็นโรงงานผลิตสินค้ากลุ่มเสื้อผ้า รองเท้า และสินค้าเดินทาง (GFT) ด้าน Heng Sokkung เลขาธิการกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าวเสริมว่าการเพิ่มขึ้นอย่างมากของการส่งออกในกลุ่มสินค้าที่ไม่ใช่เครื่องนุ่งห่ม ถือเป็นผลมาจากความหลากหลายของการส่งออกที่กระจายตัวมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นโมเมนตัมที่ดีและสอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมของกัมพูชาปี 2015-2025 โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นสู่อุตสาหกรรมที่ใช้ทักษะหรือเทคโนโลยี

ขณะที่ CDC ได้สรุปร่างกฎหมายใหม่เกี่ยวกับเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อดึงดูดการลงทุนเข้ามาในประเทศโดยให้สิ่งจูงใจ เพิ่มความโปร่งใส และส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรม สำหรับการส่งออกของกัมพูชาในช่วงครึ่งแรกของปีรวม 1.146 หมื่นล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามการรายงานของกรมศุลกากรและสรรพสามิต

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501346089/exports-through-sezs-up-by-1-39-billion-in-h1/

ในช่วงครึ่งแรกของปีจำนวนโรงงานในกัมพูชาเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ธนาคารแห่งชาติกัมพูชา (NBC) รายงานสถานการณ์การจัดตั้งโรงงานใหม่ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ แม้ว่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมจะลดลงเนื่องจากความต้องการที่ชะลอตัวจากตลาดหลักอย่างสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป โดยจำนวนโรงงานเพิ่มขึ้นเป็น 1,995 แห่ง ณ เดือนมิถุนายนปีนี้ สร้างการจ้างงานใหม่เกือบ 1 ล้านตำแหน่ง ซึ่งในช่วงเดียวกันของปีก่อนมีการจดทะเบียนจัดตั้งโรงงานใหม่ที่ 1,974 แห่ง สำหรับการส่งออกของกัมพูชาลดลงเล็กกน้อยร้อยละ 2.1 หรือคิดเป็นมูลค่ารวม 11,489 ล้านดอลลาร์ ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ นับเป็นการส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่มอยู่ที่ 3,654 ล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 19 การส่งออกรองเท้ามูลค่า 702 ล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 17.2 สินค้าเดินทางที่มูลค่า 999 ล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 17.1 การส่งออกจักรยานคิดเป็น 332 ล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 30.5 อย่างไรก็ตาม อุปกรณ์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 1.3 เท่าหรือคิดเป็นมูลค่ารวมกกว่า 1,440 ล้านดอลลาร์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501338601/number-of-factories-in-kingdom-rises-in-h1/

อัตราการจ้างงานกัมพูชาพุ่งแตะ 99.3% พุ่งติดอันดับโลก

อัตราการจ้างงานของกัมพูชายังคงแข็งแกร่ง ปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 99.3 ถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการจ้างงานที่ดีที่สุดในโลก ซึ่งข้อมูลดังกล่าวรายงานโดย Ith Samheng รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและการฝึกอาชีพ ในขณะเขาร่วมงานกับสำนักงานจัดหางานแห่งชาติ (NEA) โดยเป็นประธานในการบรรยายเรื่อง “ตลาดแรงงานและการพัฒนาเศรษฐกิจ” ณ Royal School of Administration ซึ่งกระทรวงให้ความสนใจอย่างใกล้ชิดกับการพัฒนาตลาดแรงงาน เพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา นอกจากนี้ยังพร้อมที่จะเสริมสร้างสวัสดิการทางสังคม ผ่านการมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการดำเนินการตามยุทธศาสตร์และนโยบายระดับชาติที่สำคัญที่กำหนดโดยรัฐบาล

ด้าน Vichet Lor รองประธานสมาคมการค้าชาวจีนในกัมพูชา ระบุเสริมว่า แรงงานโดยส่วนใหญ่ของกัมพูชาเป็นคนวัยหนุ่มสาวที่มีอายุต่ำกว่า 35 ปี คิดเป็นกว่าร้อยละ 65 ของประชากรในประเทศ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501301991/cambodias-99-3-job-rate-among-worlds-best/

อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มกัมพูชาจ้างงานมูลค่าแตะ 3 พันล้านดอลลาร์

นายกรัฐมนตรีฮุน เซน กล่าวเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (27 พ.ค.) ถึงอุตสาหกรรมการตัดเย็บเสื้อผ้าภายในประเทศที่มีการจ้างงานภายในประเทศมากกว่า 3 พันล้านดอลลาร์ต่อปี ซึ่งนายกฯ ได้กล่าวไว้ในระหว่างการปราศรัยกับคนงานกว่า 19,000 คน จาก 81 โรงงาน ที่ดำเนินงานใน Royal Group Phnom Penh Special Economic Zone (Phnom Penh SEZ) โดยปัจจุบันมีโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้ากว่า 1,326 แห่ง ในกัมพูชา มีการว่าจ้างคนงานประมาณ 8.4 แสนคน ด้านการจ่ายค่าจ้างเฉลี่ยอยู่ที่ 6.6 ดอลลาร์ต่อวัน หรือตกอยู่ที่ 200 ดอลลาร์ต่อเดือน ซึ่งค่าจ้างดังกล่าวสูงกว่าเส้นรายได้ความยากจนที่ทั่วโลกกำหนดไว้ที่ 4.7 ดอลลาร์ต่อวัน ขณะที่การส่งออกสินค้ากลุ่มเครื่องนุ่งห่มไปยังตลาดต่างประเทศในช่วง 4 เดือนแรกของปีมีมูลค่ารวมประมาณ 7.34 พันล้านดอลลาร์ ด้าน Ith Samheng รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและการฝึกอาชีพ กล่าวว่า ตลาดแรงงานของกัมพูชายังคงแข็งแกร่งเนื่องจากอัตราการจ้างงานสูงถึงร้อยละ 99.3 ของแรงงานทั้งหมด ที่จำนวน 10.8 ล้านคน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501298082/garment-annual-turnover-3b-workers-income-above-poverty-line/

จีนยังคงเป็นแหล่งวัตถุดิบรายใหญ่ให้กับอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มกัมพูชา

นายกรัฐมนตรีฮุนเซน กล่าวว่า จีนยังคงเป็นแหล่งวัตถุดิบที่ใหญ่ที่สุดให้กับอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มกัมพูชา โดยผู้ผลิตเครื่องนุ่งห่มในกัมพูชานำเข้าวัตถุดิบในการผลิตมากกว่าร้อยละ 80 จากจีน ก่อนที่จะทำการผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปไปยังประเทศต่างๆ ซึ่งภาคอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มหรือการ์เม้นท์ ถือเป็นอุตสาหกรรมหลักที่สร้างรายได้ให้กับประเทศมากที่สุด ในขณะเดียวกันก็สร้างการจ้างงานให้กับคนในท้องถิ่นนับแสนคน โดยในปี 2022 กัมพูชาส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่มมูลค่า 9.03 พันล้านดอลลาร์ คิดเป็นกว่าร้อยละ 40.1 ของการส่งออกทั้งหมดที่มีมูลค่ารวมกว่า 22.48 พันล้านดอลลาร์ ตามรายงานของกรมศุลกากรและสรรพสามิต

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501260728/china-remains-as-top-supplier-of-raw-materials-to-cambodias-garment-industry/

แม้ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจลาวอยู่ในระดับสูง แต่การจ้างงานต่ำ

ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) เปิดเผยรายงานข้อมูลอัปเดตเศรษฐกิจ เปิดเผยว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของสปป.ลาว ในช่วงปี 2543-2561 ขยายตัวเฉลี่ย 7.5% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และการเติบโตทางการค้าเฉลี่ย 17% ต่อปี แต่ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ได้รับแรงผลักดันจากการค้าและการลงทุนในด้านทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะการขุดเจาะและพลังงาน ทั้งนี้ ตามรายงาน Lao Economic Monitor for October 2022: Tackling Macroeconomic Vulnerabilities พบว่าการจ้างงานนอกภาคการเกษตรปรับตัวลดลงจากปี 2555-2561 โดยส่วนใหญ่ได้รับงานจากภาครัฐ อย่างไรก็ตาม การจ้างงานนอกภาคเกษตรยังไม่สามารถรองรับกับจำนวนแรงงานเกินที่อยู่ในภาคเกษตรได้ ส่งผลให้อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นจาก 4.1% ในปี 2555 มาอยู่ที่ 15.7% ในปี 2561 อีกทั้ง ปัญหาความยากจนส่งสัญญาลดลง แต่ยังคงช้ากว่าประเทศอื่น และในอีก 10 ปีข้างหน้า สปป.ลาวจะต้องสร้างงานกว่า 60,000 ตำแหน่งต่อปี เพื่อรองรับกับจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten2023_Despite03.php