‘เอเชีย อินไซเดอร์’ ชี้เวียดนามเป็นหนึ่งในเศรษฐกิจที่เติบโตแรง

จากรายงานของเอเชีย อินไซเดอร์ (Asian Insiders) เครือข่ายที่ปรึกษาด้านธุรกิจในภูมิภาคเอเชีย เปิดเผยว่าเศรษฐกิจเวียดนามอยู่ในช่วงการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจแบบไดนามิก ด้วยอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งและมีแนวโน้มการขยายตัวจากปัจจัยสนับสนุนหลายประการที่จะผลักดันให้เศรษฐกิจไปข้างหน้า โดยจากรายงานชี้ให้เห็นว่าเวียดนามเป็น 1 ใน 20 ประเทศทั่วโลกที่มีเศรษฐกิจขยายตัวเร็วที่สุดในโลก ในขณะเดียวกันประชากรเวียดนามมีจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 102 ล้านคน และมีขนาดเศรษฐกิจในปี 2567 อยู่ที่ 469 พันล้านเหรียญสหรัฐ ใหญ่เป็นอันดับที่ 35 ของโลก นอกจากนี้ บริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลก ได้แก่  Samsung, LG, Foxconn, Panasonic, Bosch, GE, Piaggio และ Yamaha ได้มีการจัดตั้งศูนย์วิจัยหรือฐานการผลิตอย่างเต็มรูปแบบ บ่งชี้ให้เห็นถึงศักยภาพของเวียดนามที่จะก้าวไปสู่แหล่งนวัตกรรมและศูนย์กลางการผลิต

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/vietnam-remains-one-of-globe-s-rising-economies-asian-insiders-2260651.html

‘เวียดนาม’ โอกาสขึ้นแท่นฐานการผลิตยักษ์ใหญ่ระดับโลก

เหงียน ตรัง เวือง (Nguyen Thang Vuong) จากสำนักงานตลาดยุโรปและอเมริกา ภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า เปิดเผยว่าแอปเปิล (Apple) ได้ย้ายโรงงานของบริษัทไต้หวัน จำนวน 11 แห่งไปยังเวียดนามแล้ว และมองว่าแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่อุปทานโลกจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมไปถึงบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกหลายแห่งที่ต้องการขยายเครือข่ายและตั้งโรงงานผลิตในเวียดนาม อาทิเช่น อินเทล (Intel) ได้อัดฉัดเม็ดเงินทุนราว 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในโครงการเวียดนาม ขณะที่บริษัทของเล่นระดับโลกสัญชาติเดนมาร์ก เลโก้ (LEGO) ประกาศทุ่มเงิน 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสร้างโรงงานในเมืองบิ่นห์เซือง ด้วยเหตุนี้ ผู้เชี่ยวชาญมองว่าเป็นโอกาสที่ดีของเวียดนามในการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) และการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/great-opportunity-for-vietnam-to-be-a-global-production-base-post1044055.vov

ธนินท์ ชวนนักธุรกิจชาวจีน ขยายการลงทุน ชูไทยเป็นศูนย์กลางอาเซียน

นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ ในฐานะนายกสมาคมนักธุรกิจชาวจีนโพ้นทะเลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน และประธานกิตติมศักดิ์ผู้ทรงเกียรติหอการค้าไทย-จีน ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษในงานประชุมนักธุรกิจชาวจีนโลก (World Chinese Entrepreneurs Convention-WCEC) ครั้งที่ 16 ภายใต้ธีม “ร่วมสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ด้วยภูมิปัญญานักธุรกิจจีน” ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ว่าปัจจุบันโลกมีการเปลี่ยนแปลง และมีความไม่แน่นอน นักธุรกิจชาวจีนโพ้นทะเลจะต้องเป็นผู้ที่มองเห็นโอกาสจากวิกฤต เพราะในวิกฤตจะมีโอกาส ต้องวิเคราะห์โอกาส จะคว้าโอกาสนั้นได้อย่างไร ซึ่งโอกาสเกิดขึ้นการลงทุนและการพัฒนาศักยภาพของเทคโนโลยี และเชื่อมั่นว่าประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางของอาเซียน และมีศักยภาพในการเติบโตสูง โดยทั้งญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ได้ลงทุนที่ไทยเป็นฐานการผลิตหลัก จึงหวังว่านักลงทุนชาวจีนโพ้นทะเลทั่วโลก จะพิจารณามาลงทุนที่ไทย โดยเฉพาะการลงทุนในพื้นที่ EEC หรือเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก

ที่มา : https://www.thaipost.net/economy-news/403619/

อะไรทำให้ ‘เวียดนาม’ เนื้อหอม ดึงดูดนักลงทุน ก้าวสู่ฐานการผลิตโลก สวนทาง ‘ไทย’ ที่กำลังโดนทิ้ง

โดย รุ่งนภา พิมมะศรี I กองบรรณาธิการสายเศรษฐกิจ ไทยรัฐพลัส

ความสามารถในการแข่งขันของไทยลด และกำลังโดนทิ้ง

ความกังวลที่ว่านักลงทุนรายใหม่จะไม่เข้ามา และนักลงทุนรายเดิมจะหนีไป เกิดขึ้นจริงแล้ว ดังที่มีข่าว ข้อมูล และตัวเลขต่างๆ-บริษัทต่างชาติปิดบริษัท บริษัทต่างชาติย้ายฐานการผลิต แรงงานร่ำไห้หน้าโรงงานในวันทำงานวันสุดท้าย คือเหตุการณ์ที่ปรากฏให้เห็นเป็นข่าวอยู่เรื่อยมา และข้อเท็จจริงอันหนึ่งที่อาจจะฟังดูเศร้าๆ คือ บริษัทสัญชาติไทยเองก็ไปลงทุนตั้งฐานการผลิตในเวียดนาม

ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ไม่ใช่ว่าไม่มีนักลงทุนรายใหม่เข้ามาลงทุนในไทยเลย เพียงแต่ตัวเลขจำนวนโครงการและมูลค่าการลงทุนใน 3 ปีหลังลดลง และมูลค่าไม่สูงเท่าประเทศคู่แข่งรายสำคัญอย่างเวียดนาม

เมื่อช่วงกลางปี 2564 ที่เพิ่งผ่านมา มีข่าวอันลือลั่นจากรายงานของ KKP Research ที่ว่าโลกกำลังจะทิ้งไทย ซึ่งข้อมูลในรายงานบอกว่า เมื่อเทียบการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศใน 5 ประเทศอาเซียน ได้แก่ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ พบว่าสัดส่วนของไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง จากที่เคยมีสัดส่วนอยู่มากกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ ในช่วงปี 2547-2550 แต่ในช่วงปี 2559-2562 ลดเหลือประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ซึ่งเป็นผลมาจากเศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้างที่ทำให้ความสามารถในการแข่งขันอ่อนแอลง

ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ว่าสถิติการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนของโครงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมาเป็นอย่างไรบ้าง

เวียดนามดึงดูดนักลงทุนเก่ง สวนทางกับไทย

กราฟเทียบมูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ของไทยกับเวียดนาม จากคลังข้อมูลของธนาคารโลก (World Bank) ช่วยให้เห็นภาพความสามารถในการดึงดูดนักลงทุนของเวียดนามชัดขึ้น

ปี 2563 ข้อมูลจากกระทรวงการวางแผนและการลงทุน ประเทศเวียดนาม ระบุว่า 11 เดือนแรกของปี 2563 การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในเวียดนามมีมูลค่า 17,200 ล้านดอลลาร์ โดยภาคการผลิตและการแปรรูปดึงดูดการลงทุนมากที่สุด ส่วนประเทศที่เข้าไปลงทุน 5 อันดับแรก ได้แก่ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ไต้หวัน และฮ่องกง

“ยังมีนักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจ ไว้วางใจ และมีความจำเป็นต้องลงทุนในเวียดนามเป็นจำนวนมาก แต่เนื่องจากผลกระทบของโควิด-19 ทำให้การเดินทางของนักลงทุน ตลอดจนการตัดสินใจลงทุนครั้งใหม่ และการขยายขนาดโครงการโดยตรงจากต่างประเทศยังคงได้รับผลกระทบ” ข้อมูลจากทางการเวียดนาม

และในปี 2564 นี้ นับถึงวันที่ 20 มิถุนายน 2564 มูลค่าเงินทุนจากโครงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในเวียดนาม อยู่ที่ประมาณ 9,240 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 306,832 ล้านบาท มากกว่าของไทยในช่วงเวลาเดียวกันที่มีมูลค่า 278,658 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 6.8 เปอร์เซ็นต์จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

ปัจจัยเด่นของเวียดนามที่โดนใจบริษัทต่างชาติ

เป็นเรื่องที่น่าสนใจว่าอะไรเป็นเหตุผล เป็นปัจจัยสนับสนุนที่ทำให้บริษัทต่างชาตินิยมเลือกเวียดนามเป็นฐานการผลิต? ไม่ว่าจะสำหรับการขยายฐานการผลิตเพิ่มเติม หรือย้ายฐานการผลิตมาจากประเทศอื่น

ศูนย์พัฒนาการค้าและธุรกิจไทยในอาเซียน สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครโฮจิมินห์ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เคยวิเคราะห์ปัจจัยที่ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้าไปลงทุนในเวียดนาม ว่ามี 6 ปัจจัย ดังนี้

  1. ความมีเสถียรภาพของรัฐบาล

เวียดนามปกครองด้วยระบอบสังคมนิยม มีพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียว คือพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม ซึ่งมีบทบาทในการกำหนดแนวทางการบริหารประเทศทุกด้าน ทําให้การบริหารประเทศเป็นไปอย่างราบรื่น และนโยบายต่างๆ ได้รับการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันผู้นำประเทศมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนในการบริหารประเทศ และมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างจริงจัง ซึ่งช่วยสร้างความมั่นใจให้แก่นักลงทุนต่างชาติที่สนใจเข้ามาลงทุนในเวียดนาม

  1. ทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์

เวียดนามมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะพลังงาน และแร่ธาตุ เช่น มีแหล่งน้ำมันดิบกระจายอยู่ทั่วทุกภาค เป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันดิบรายสำคัญอันดับ 3 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากมาเลเซีย และอินโดนีเซีย, มีปริมาณเชื้อเพลิงสำรอง เช่น ก๊าซธรรมชาติ ปิโตรเลียม และถ่านหินอยู่มาก รวมทั้งแร่ธาตุสําคัญ คือ บอกไซต์ โปแตสเซียม และเหล็ก นอกจากนี้ ยังมีป่าไม้ มีทรัพยากรดินและน้ำอย่างเพียงพอทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพเอื้อต่อการเพาะปลูก

  1. เป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพ

เวียดนามมีประชากรมากถึง 90 ล้านคน ชาวเวียดนามเริ่มมีกำลังซื้อมากขึ้นตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และชาวเวียดนามโพ้นทะเลหรือที่เรียกว่า ‘เวียดกิว’ ซึ่งมีประมาณ 3 ล้านคน โอนเงินกลับประเทศปีละประมาณ 3,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ชาวเวียดนามส่วนใหญ่ต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีคุณภาพดีจำนวนมากและเพิ่มขึ้นทุกปี

  1. เน้นนโยบายเป็นมิตรกับทุกประเทศ

เวียดนามให้ความสำคัญกับมิตรประเทศ รวมถึงนโยบายด้านความปลอดภัย ทําให้เวียดนามไม่เคยตกเป็นเป้าหมายของการก่อการร้าย และแทบไม่มีปัญหาอาชญากรรมขั้นร้ายแรง ประกอบกับเวียดนามมีกฎหมายที่เข้มงวดและมีบทลงโทษรุนแรง ส่งผลให้เวียดนามเป็นประเทศที่มีความปลอดภัยสูงแห่งหนึ่งของโลก ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้นักลงทุนเกิดความเชื่อมั่นและตัดสินใจเข้าไปลงทุน

  1. เวียดนามให้ความสำคัญกับการพัฒนาเส้นทางคมนาคมขนส่ง

มีการพัฒนาเส้นทางคมนาคมขนส่ง ทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ ตลอดจน สาธารณูปโภคต่างๆ ให้มีความสะดวกและทันสมัยยิ่งขึ้น เพื่อรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการพัฒนาเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจแนวตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor: EWEC)

  1. ความได้เปรียบด้านแรงงาน

ชาวเวียดนาม 48 ล้านคน หรือคิดเป็น 55 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากรเวียดนามทั้งหมดอยู่ในวัยทำงาน มีอายุระหว่าง 15-64 ปี และอัตราการรู้หนังสือของชาวเวียดนามสูงกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของประชากร ทำให้เวียดนามมีแรงงานคุณภาพจำนวนมาก อัตราค่าจ้างแรงงานต่ำ และยังสามารถหาแรงงานได้ง่าย นายจ้างสามารถรับสมัครแรงงานได้โดยตรง ไม่ต้องผ่านกระทรวงแรงงานของเวียดนาม ในขณะเดียวกัน ชาวเวียดนามก็มีความสนใจสมัครงานโดยเฉพาะกับบริษัทต่างชาติ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นจุดแข็งของตลาดแรงงานในเวียดนาม

อ่านต่อ : https://plus.thairath.co.th/topic/money/100479

เวียดนามก้าวขึ้นเป็นจุดหมายปลายทางการลงทุนของบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยี

ตามข้อมูลของนิกเคอิ (Nikkei) เผยว่าบริษัทอินเทล (Intel) ประกาศลงทุน 475 ล้านเหรียญสหรัฐ ไปใช้ในบริษัทอินเทลโปรดักส์ เวียดนาม คอร์ป (IPV) ซึ่งเป็นศูนย์กลางทดสอบและประกอบชิปที่ใหญ่ที่สุดในโลก และยังเข้ามาลงทุนเพิ่มเติมในช่วงครึ่งหลังของปี 63 บริษัทมีเป้าหมายเพื่อทำการผลิตสินค้า 5G และโปรเซสเซอร์  Intel Core มาพร้อมกับเทคโนโลยีอินเทล ไฮบริด และซีพียูตัวใหม่ล่าสุด ‘Intel Gen 10’ ทั้งนี้ Apple เร่งดำเนินย้ายฐานการผลิตไปยังเวียดนามและอินเดีย บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีของสหรัฐฯ มีกำหนดการผลิตไอแพด (iPad) ในเวียดนามช่วงกลางปี 64 นอกจากนี้ ยังจะขยายสายการผลิตลำโพง HomePod mini smart นอกจากนี้ บริษัท Savills Vietnam ระบุว่าบริษัท ‘Pegatron’ ผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของไต้หวัน ได้เข้ามาทุ่มเงิน 19 ล้านเหรียญสหรัฐในเมืองไฮฟอง สำหรับแผนการขยายการลงทุนในช่วงเฟสแรก อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดการระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้บริษัทข้ามชาติบางแห่งย้ายฐานการผลิตมายังเวียดนาม หรือขยายการปริมาณการผลิต

ที่มา : https://vietnamtimes.org.vn/vietnam-becomes-attractive-destination-to-technology-giants-28437.html

เวียดนามก้าวขึ้นเป็นฐานการผลิตโทรศัพท์และแล็ปท็อปของโลก

ผลิตภัณฑ์ซัมซุง (Samsung) และแอปเปิล (Apple) หลายประเภทไปผลิตในเวียดนาม และคาดว่าจะมีบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำอื่นๆ ย้ายสายการผลิตมายังเวียดนามมากขึ้น กรณีไอแพด (iPad) และแม็คบุ๊ก (MacBook) ที่ผลิตในเวียดนามนั้น พบว่าเมื่อวันที่ 18 ม.ค. จังหวัดบั๊กซาง รับรองการลงทุนของ Fukang Technology ที่ดำเนินการโดย Foxconn ซัพพลายเออร์รายใหญ่ของ Apple ที่ตั้งอยู่ในเขตอุตสาหกรรมกว่างนินห์ ด้วยเงินทุนจดทะเบียน 270 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีเป้าหมายเพื่อผลิตแท็บเล็ตและแล็ปท็อป ในอีกด้านหนึ่งนั้น กระแสการลงทุนใหม่ในเทคโนโลยี เวียดนามได้รับการลงทุนจากสายเทคโนโลยีของธุรกิจชั้นนำ อาทิ แคนนอน ไมโครซอฟท์ โนเกียและแอลจี เป็นต้น โดยเฉพาะซัมซุงและแอปเปิล ที่เข้าร่วมการลงทุนแล้ว โดยการลงทุนในระลอกใหม่จะเข้ามายังเทคโนโลยีขั้นสูง โดยเฉพาะบริษัทที่กำลังออกจากจีน ทั้งนี้ องค์กรระหว่างประเทศ ชี้ให้เห็นว่าเวียดนามเป็นจุดหมายปลางทางของบริษัทสหรัฐฯ และยุโรป ที่ต้องการกระจายห่วงโซ่อุปทานในเอเชีย

ที่มา : https://vietnamtimes.org.vn/vietnam-to-become-global-base-for-phone-and-laptop-production-27509.html

5 สัญญาณบ่งชี้จากเวียดนาม ที่ไทยต้องเร่งยกระดับความสามารถในการแข่งขัน

โดย ดร. กำพล อดิเรกสมบัติ I ผู้อำนวยการอาวุโส และหัวหน้าฝ่ายวิจัยด้านเศรษฐกิจ และตลาดการเงิน I Economic Intelligence Center ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน ในบทความก่อน ๆ เราเคยมีการพูดถึงแผลเป็นทางเศรษฐกิจ (scarring effects) ที่วิกฤต COVID-19 จะทิ้งผลกระทบไว้กับเศรษฐกิจไทย ซึ่งเราคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องค่อย ๆ จัดการกับแผลเป็นเหล่านี้ด้วยการปรับตัวให้เข้ากับบริบททางธุรกิจและเศรษฐกิจหลัง COVID-19

นอกจากเรื่องของแผลเป็นแล้ว COVID-19 ยังจะเป็นตัวเร่งสำคัญหนึ่ง ร่วมกับสงครามการค้าและเทคโนโลยี รวมถึงการเร่งตัวของการใช้ digital technology ที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่การผลิตของโลก (global supply chain rearrangement) ซึ่งมีการคาดกันว่าส่วนหนึ่งจะทำให้เกิดการย้ายฐานการผลิตออกมาจากจีนเพื่อลดความเสี่ยงการกระจุกตัวของฐานการผลิต

คำถามคือแล้วบริษัทที่จะย้ายฐานการผลิตออกมาจากจีนซึ่งมีทั้งบริษัทขนาดใหญ่และเล็ก และเป็นบริษัทจากหลายประเทศจะย้ายฐานการผลิตไปที่ไหน ภูมิภาคอาเซียน (ASEAN) เป็นหนึ่งในภูมิภาคที่ได้รับการคาดการณ์ว่าจะได้รับประโยชน์ และจากการศึกษาของ SCB EIC ก็พบว่าเวียดนามจะเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลบวกจากการปรับเปลี่ยนห่วงโซ่อุปทานออกจากจีนในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เนื่องด้วยความสามารถทางการแข่งขันของเวียดนามที่เพิ่มขึ้น ทั้งในด้านต้นทุนค่าแรง การพัฒนาทุนมนุษย์ ที่ตั้งซึ่งอยู่ใกล้กับจีน สิทธิประโยชน์ทางภาษี ข้อตกลงทางการค้ากับนานาประเทศ และโครงสร้างการส่งออก

ดังนั้น EIC จึงยังคงมุมมองทางบวกต่อเศรษฐกิจเวียดนามในระยะกลาง สำหรับไทย แน่นอนว่าเราจำเป็นต้องเร่งยกระดับความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ ซึ่งเป็นสิ่งที่พูดกันมานานแล้วแต่อาจจะยังไม่ค่อยได้ทำ (execute) กันมากเท่าที่พูด แต่มาถึงจุดนี้เราช้าไม่ได้แล้วครับ และ EIC ขออนุญาตชี้ถึงสัญญาณน่ากังวล 5 ข้อ เปรียบเทียบระหว่างเวียดนามและไทยที่บ่งชี้ว่าเราต้องรีบแล้วครับ

สัญญาณแรก : มูลค่า FDI เข้าเวียดนามเติบโตสูงและเข้าลงทุนในภาคการผลิตเป็นหลัก ในขณะที่ FDI เข้าไทยค่อนข้างผันผวน นอกจากนี้ ญี่ปุ่นและจีนซึ่งเป็นประเทศผู้ลงทุนหลักในไทยยังขยายการลงทุนในเวียดนามมากขึ้นในระยะหลัง

สัญญาณที่สอง : เวียดนามได้พัฒนาความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออกอย่างมีนัย

สัญญาณที่สาม : ช่องว่างระหว่างค่าแรงไทยและเวียดนามมีแนวโน้มลดลงในระยะข้างหน้า เนื่องจากกำลังแรงงานในไทยลดลงต่อเนื่อง สวนทางกับผลิตภาพแรงงานเวียดนามที่เติบโตสูงขึ้น

สัญญาณที่สี่ : ความสามารถทางการแข่งขันของเวียดนามด้านทักษะทางวิชาการและวิชาชีพคาดว่าจะพัฒนาได้อย่างต่อเนื่อง

สัญญาณที่ห้า : เวียดนามมีข้อตกลงการค้าที่ครอบคลุมประเทศคู่ค้ามากกว่าไทย

ประเทศไทยจึงต้องเร่งนำยุทธศาสตร์เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันไปปฏิบัติให้เกิดขึ้นจริง (Execution) ยุทธศาสตร์การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยเป็นสิ่งจำเป็นที่ได้ผ่านการถกเถียงและวิเคราะห์มาเป็นเวลานานและเป็นวงกว้าง ในด้านผลิตภาพแรงงาน ปัญหาทักษะแรงงานที่ไม่ตรงความต้องการตลาดและคุณภาพการศึกษาเป็นประเด็นสำคัญในวงสัมมนาในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

ในช่วง 2-3 ปีล่าสุด การเพิ่มทักษะและปรับเปลี่ยนทักษะแรงงาน (Upskill and Reskill) ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดก็เป็นประเด็นสำคัญในเวทีเสวนาต่าง ๆ จำนวนมาก ในประเด็นของข้อตกลงทางการค้า ประเทศไทยในปัจจุบันกำลังอยู่ระหว่างการศึกษาสนธิสัญญาการค้าใหม่หลายฉบับ แต่ตราบใดที่เรายังไม่ได้นำเอายุทธศาสตร์เพิ่มขีดความสามารถไปปฏิบัติ หรือบรรลุข้อตกลงทางการค้า ผลประโยชน์จากการศึกษาก็จะไม่เกิดขึ้นจริง

อ่านต่อ : https://www.scbeic.com/th/detail/product/7283

เวียดนามเป็นหนึ่งในฐานการผลิตโทรทัศน์ใหม่ของซัมซุง

บริษัท Samsung Electronics จะย้ายฐานการผลิตโทรทัศน์บางส่วนไปยังเวียดนาม หลังการปิดตัวของโรงงานผลิตโทรทัศน์เพียงแห่งเดียวในเมืองเทียนจิน ช่วงปลายเดือนพ.ค. เนื่องจากแนวโน้มธุรกิจที่หันมาย้ายห่วงโซ่อุปทานออกจากประเทศจีน ทั้งนี้ ตามรายงานของ Nikkei Asia Review ระบุว่าซัมซุงเป็นผู้ขายโทรทัศน์จอแบนในระดับโลก ที่กำลังสูญเสียส่วนแบ่งการตลาดในประเทศจีน เนื่องจากการแข่งขันในประเทศที่สูงขึ้น รวมถึงมาตรการคล่ำบาตรและต้นทุนแรงงานที่เพิ่มสูงขึ้น เป็นต้น นอกจากนี้ ในช่วงปี 2551-2561 ซัมซุงเข้ามาลงทุนในเวียดนามทั้งหมดอยู่ที่ 670 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยับมาเป็น 17.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 26 เท่า โดยในเดือนมี.ค. ซัมซุงเวียดนามได้เริ่มก่อสร้างศูนย์ R&D ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ฮานอย) ด้วยมูลค่า 220 ล้านดอลลาร์สหรัฐ บริษัทคาดว่าเวียดนามจะไม่เพียงแค่เป็นศูนย์กลางการผลิตที่ใหญ่ที่สุด แต่ยังเป็นฐานกลยุทธ์ในแง่ของการวิจัยและพัฒนา

ที่มา : https://vietnamtimes.org.vn/vietnam-among-samsungs-new-tv-production-sites-24288.html

ทุนญี่ปุ่น เบนเข็มสู่อาเซียน ใครได้ประโยชน์?

เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า กระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรม (มิติ) ของญี่ปุ่น ได้ประกาศว่ามีกลุ่มบริษัทญี่ปุ่นรวม 87 แห่งมีความประสงค์ย้ายฐานการผลิตออกจากจีน ภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาลญี่ปุ่นที่ให้เงินอุดหนุนในการโยกย้ายหรือกระจายการลงทุนในวงเงิน 70,000 ล้านเยน หรือประมาณ 20,000 ล้านบาท โดยมีเป้าหมายเพื่อลดการพึ่งพาฐานการผลิตในจีน และเพื่อให้ญี่ปุ่นสามารถบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานหรือซัพพลายเชนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น สาเหตุการย้ายฐานการผลิตของบริษัทญี่ปุ่นออกจากจีน การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในภาคอุตสาหกรรม หลายอุตสาหกรรมต้องชะงักงันจากการปิดประเทศในช่วงเวลาหนึ่ง ส่งผลกระทบต่อระบบซัพพลายเชน ทั้งนี้ 87 บริษัทญี่ปุ่นย้ายฐานการผลิตออกจากจีนแล้วไปไหน พบว่า 57 บริษัทจะย้ายการดำเนินการกลับไปญี่ปุ่น โดยใช้วัสดุท้องถิ่นทั้งหมด ขณะที่อีก 30 บริษัทจะย้ายฐานการผลิตมายังอาเซียน ซึ่งพบว่าจะย้ายมาเวียดนาม 15 บริษัท อาทิ บริษัทผลิตชิ้นส่วนฮาร์ดไดร์ฟ บริษัทผลิตแร่เหล็กหายาก, ไทย 6 บริษัท ได้แก่ บริษัทผลิตน้ำยาฆ่าเชื้อ บริษัทผลิตโลหะผสม บริษัทผลิตชิ้นส่วนเครื่องยนต์ บริษัทผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ บริษัทผลิตเสื้อกาวน์, มาเลเซีย 4 บริษัท อาทิ บริษัทผลิตถุงมือยาง, ฟิลิปปินส์ 3 บริษัท, ลาว 2 บริษัท, อินโดนีเซีย 1 บริษัท และเมียนมา 1 บริษัท

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/894038?utm_source=category&utm_medium=internal_referral&utm_campaign=economic=10473&index