IMF คาดเศรษฐกิจ สปป.ลาว ปีนี้โตเฉลี่ยร้อยละ 4

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจ สปป.ลาว จะเติบโตร้อยละ 4 ในปีนี้ แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจโลกจะยังอยู่บนความไม่แน่นอน แต่ถึงอย่างไรในรายงานของ IMF ช่วงเดือนเมษายน ได้ระบุว่าการยกเลิกข้อจำกัดด้านการเดินทางและการเปิดประเทศอีกครั้งของจีน จะส่งผลทำให้เศรษฐกิจในภูมิภาครวมถึง สปป.ลาว กลับมาขยายตัว โดยหนึ่งในความท้าทายหลักสำหรับ สปป.ลาว ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าคือการควบคุมอัตราเงินเฟ้อ เนื่องจากต้นทุนสินค้าและบริการที่เพิ่มสูงขึ้นในปัจจุบันที่กำลังสร้างผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจในภาพรวม ซึ่ง IMF คาดการณ์ว่าดัชนีราคาผู้บริโภคใน สปป.ลาว จะขึ้นไปแตะที่เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 15.1 ในปีนี้ ถือเป็นอัตราสูงสุดที่คาดการณ์ไว้สำหรับประเทศในกลุ่มเอเชียเกิดใหม่

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten2023_Laoeconomy73.php

“เวียดนาม” เผย CPI ไตรมาสแรกปี 66 พุ่ง 4.3%

กระทรวงการคลัง เปิดเผยว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2566 เพิ่มขึ้น 4.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และสาเหตุสำคัญที่ทำให้ดัชนี CPI ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นมาจากราคาที่อยู่อาศัยและวัสดุก่อสร้างเพิ่มขึ้น 7.2% และราคาอาหาร เพิ่มขึ้น 4.5% โดยราคาที่อยู่อาศัยและวัสดุก่อสร้างที่เพิ่มสูงขึ้น เนื่องมาจากค่าเช่าและต้นทุนปัจจัยการผลิตที่สูงขึ้น ได้แก่ ปูนซีเมนต์ เหล็กและทราย เป็นต้น ในขณะเดียวกัน ความต้องการบริโภคอาหารเพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลปีใหม่ ส่งผลให้ราคาอาหารสูงขึ้นและยังทำให้ดัชนี CPI เพิ่มขึ้น 1% นอกจากนี้ กระทรวงฯ ได้ประเมินสถานการณ์ของภาวะเงินเฟ้อไว้ 3 สถานการณ์ (Scenarios) ในช่วงไตรมาสที่ 2 และในช่วงที่เหลือของปี 2566 ตลอดจนคาดการณ์ว่าดัชนี CPI เฉลี่ยในปีนี้ เพิ่มขึ้น 3.9% – 4.8%

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/vietnam-s-cpi-inches-up-in-q1-2125534.html

“เงินเฟ้อเวียดนาม” คาดพุ่งสูง 4.8% ปี 2566

สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) ระบุว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือน มี.ค. ลดลง 0.1-0.2% เมื่อเทียบกับเดือน ก.พ. แต่เพิ่มขึ้น 3.4-3.5% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และคาดการณ์ว่าแนวโน้มเงินเฟ้อของเวียดนามจะเพิ่มสูงขึ้น 3.9-4.8% ในปี 2566 ใกล้เคียงกับระดับเป้าหมายของเงินเฟ้อที่ตั้งไว้ที่ 4.5% เนื่องจากแรงกดดันจากเงินเฟ้อยังคงสูงในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง ได้ชี้แจ้งกับที่ประชุมคณะกรรมการกำกับดูแลราคาสินค้า เมื่อวันที่ 24 มี.ค. โดยมีรองนายกรัฐมนตรี เลมิงค้าย เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ เพื่อพิจารณาผลของการคำนวณราคาที่เพิ่มขึ้นของผลิตภัณฑ์ขั้นต้น ได้แก่ ปิโตรเลียม ธัญพืช อาหาร อัตราค่าไฟฟ้าในครัวเรือน วัสดุการก่อสร้าง การศึกษา การดูแลสุขภาพและค่าเช่าที่อยู่อาศัย

นอกจากนี้ รองนายกฯ ยังได้แนะนำให้กระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำการทบทวนและวิเคราะห์ปัจจัยหรือสาเหตุที่มีผลกระทบต่อวัตถุดิบและผลผลิต เพื่อนำไปปรับปรุงการจัดการด้านราคา

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/vietnams-inflation-forecast-to-reach-4-8-in-2023/

“เวียดนาม” เผย CPI เดือน ม.ค. เพิ่มขึ้น

จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม เปิดเผยว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในเดือน ก.พ. 2566 เพิ่มขึ้น 0.45% เมื่อเทียบรายเดือน และ 4.31% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว การปรับขึ้นของดัชนี CPI เป็นผลมาจากราคาเชื้อเพลิงในประเทศที่สูงขึ้น เหตุจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่พุ่งสูงขึ้นและค่าเช่าที่เพิ่มขึ้น หลังจากเทศกาลปีใหม่ทางจันทรคติ ทั้งนี้ กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคและบริการหลัก มี 5 กลุ่มจาก 11 กลุ่มที่ผลักดันให้ดัชนี CPI ปรับตัวเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบรายเดือน ได้แก่ กลุ่มขนส่งที่เพิ่มขึ้นสูงสุด 2.11% จากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น ตามมาด้วยราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าบริการขนส่งสาธารณะ ค่าบริการรถไฟโดยสาร ค่าที่อยู่อาศัยและการก่อสร้าง โดยส่วนใหญ่เป็นผลมาจากค่าเช่าที่เพิ่มขึ้น และราคาก๊าซหุงต้ม ไฟฟ้า และค่าบำรุงรักษาที่อยู่อาศัย นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน เดือน ก.พ. เพิ่มขึ้น 0.25% เมื่อเทียบเป็นรายเดือน และ 4.96% เมื่อเทียบเป็นรายปี

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/vietnams-cpi-edges-up-in-february/

“เวียดนาม” เผยปัจจัยขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไตรมาสแรก

การลงทุน การบริโภคในประเทศและการค้าต่างประเทศเป็นปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญของการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามในเดือน ก.พ. และไตรมาสแรกของปีนี้ จากข้อมูลของกระทรวงการวางแผนและการลงทุน (MPI) เปิดเผยว่าภาวะเศรษฐกิจในเดือน ม.ค. 2566 ยังคงอยู่ในทิศทางที่เป็นบวกและเศรษฐกิจมหภาคยังอยู่ในระดับทรงตัว โดยเฉพาะดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เพิ่มขึ้น 4.89% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ในขณะที่ตลาดการเงิน สินเชื่อขยายตัว 0.65% เมื่อเทียบกับปี 2565 ทั้งนี้ รายรับงบประมาณในเดือน ม.ค. สูงถึง 11.3% ของประมาณการรับรายรับต่อปี การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสูงถึง 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ ภาครัฐฯ เร่งปรับปรุงสภาพแวดล้อมการลงทุนและส่งเสริมให้ภาคเอกชนสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนและสินเชื่อธุรกิจ ตลอดจนสนับสนุนกำลังซื้อภายในประเทศผ่านการดำเนินโครงการต่างๆ เพื่อเป็นแรงกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศและการค้าระหว่างประเทศ

ที่มา : https://ven.vn/q1-economic-growth-drivers-46867.html

รองนายกฯ เวียดนาม ตั้งเป้า GDP โต 6.5%

การประชุมสมัชชาใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามสมัยที่ 15 จัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคม 2565 นาย เล วัน แถ่ง (Le Van Thanh) รองนายกรัฐมนตรีเวียดนาม กล่าวว่าเศรษฐกิจเวียดนามปี 2565 ให้โตได้ตามเป้าหมาย 6-6.5% ถือเป็นเป็นความท้าทายครั้งใหญ่จากสถานการณ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ขณะที่ในปัจจุบันเวียดนามมุ่งรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจในระดับมหภาคและควบคุมอัตราเงินเฟ้อ แสดงได้จากดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้น 2.1% นอกจากนี้ รัฐบาลจะดำเนินงานตามมติของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามและมุ่งป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรค ตลอดจนขอความร่วมมือกับกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการตามนโยบายการเงินและการคลัง เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ควบคุมเงินเฟ้อและเพิ่มรายรับงบประมาณของภาครัฐ

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/growth-target-of-65-remains-big-challenge-deputy-pm-post945860.vov

‘เวียดนาม’ เผย CPI เดือน เม.ย. 65 ขยายตัว 0.18%

สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) เปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) เดือนเมษายน ขยายตัว 0.18% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว สาเหตุสำคัญมาจากราคาวัสดุก่อสร้างที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ กลุ่มสินค้าอุโภคบริโภคและบริการ จำนวน 11 รายการสินค้าที่ใช้ในการคำนวณดัชนี CPI พบว่าวัสดุก่อสร้างและที่อยู่อาศัย ขยายตัว 2.7%, ราคาก๊าซ เหล็กและวัสดุสำหรับการผลิตปูนซีเมนต์ปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากผลกระทบของสงครามยูเครน-รัสเซีย ในขณะเดียวกัน การบริการด้านวัฒนธรรม ความบันเทิงและการท่องเที่ยว และบริการด้านอาหารและการจัดเลี้ยง ขยายตัว 1.8% และ 3.8% เมื่อเทียบเป็นรายปี ตามลำดับ ซึ่งสูงกว่าการเติบโตในเดือนก่อนหน้า อันเนื่องมาจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นสำหรับการท่องเที่ยวและการเปิดเมือง

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/cpi-inches-up-0-18-in-april/

‘เวียดนาม’ เผยไตรมาสแรก ดัชนี CPI เพิ่มขึ้น 1.92%

สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) เปิดเผยว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในไตรมาสแรกของปีนี้ ขยายตัว 1.92% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว สำนักงานฯ ชี้ว่าในเดือนมี.ค. ขยายตัว 0.7% เมื่อเทียบเดือนก่อน ซึ่งจะเป็นระดับการขยายตัวสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2555 ทั้งนี้ คุณ เหงียน ถิ เฮือง ผู้อำนวยสำนักงานสถิติแห่งชาติ กล่าวว่าการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันและก๊าซเป็นไปตามทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลก รวมถึงราคาวัสดุก่อสร้างที่ทำให้ดัชนีราคาผู้บริโภคโดยรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นในไตรมาสที่แล้ว นอกจากนี้ เงินเฟ้อพื้นฐานในไตรมาสนี้ เพิ่มขึ้น 0.81% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/cpi-inches-up-192-percent-in-q1/224223.vnp

‘เวียดนาม’ เผยดัชนีราคาผู้บริโภคในช่วง 11 เดือนแรกของปี 64 เพิ่มขึ้น 1.84%

สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) รายงานว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2564 เพิ่มขึ้น 1.84% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นน้อยที่สุดนับตั้งแต่ปี 2559 ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ดัชนี CPI เพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมัน ทั้งนี้เงินเฟ้อในเดือน พ.ย. เพิ่มขึ้น 0.11% จากเดือนก่อน ส่งผลให้เงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปีเพิ่มขึ้น 0.85% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว นับว่าเป็นตัวเลขเงินเฟ้อต่ำสุดตั้งแต่ปี 2554

อย่างไรก็ตาม นาย Nguyen Bich Lam อดีตผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม กล่าวว่าทั้งราคาน้ำมัน ข้าวและอาหาร มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงสิ้นสุดเทศกาลวันตรุษญวน รวมถึงมีความต้องการวัสดุก่อสร้างเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ราคาเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ดังนั้น ดัชนี CPI ปีนี้ อาจอยู่ที่ระดับ 2% ซึ่งต่ำกว่าที่ตั้งเป้าไว้ที่ 4%

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1088337/cpi-increases-by-just-184-per-cent-in-11-months.html

สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนามเผย 7 เดือนแรก ‘ดัชนี CPI’ ต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 59

สำนักงานสถิติแห่งชาติของเวียดนาม (GSO) ได้ออกมาเปิดเผยว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดิอนก.ค.64 เพิ่มขึ้น 0.62% เมื่อเทียบเป็นรายเดือน และ 2.64% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากการสูงขึ้นของราคาอาหารที่อยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาดของโควิด-19 ตลอดจนราคาน้ำมันโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นและความต้องการไฟฟ้าที่สูงขึ้นในช่วงฤดูร้อน สำหรับดัชนี CPI ในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้นั้น อยู่ในระดับต่ำที่สุดหากนับตั้งแต่ปี 2559 ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core Inflation) เดือนก.ค. ลดลง 0.06% แต่เพิ่มขึ้น 0.89% จากเดือนม.ค.-ก.ค. อย่างไรก็ดี นายเหงียน บิช ลัม ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม กล่าวว่ามีแนวโน้มว่าดัชนีราคาผู้บริโภคจะปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงเดือนที่เหลือของปีนี้ โดยเฉพาะเดือนธ.ค. โดยคาดว่าจะอยู่ในช่วง 3.3-3.6% ต่ำกว่าสมัชชาแห่งชาติตั้งเป้าไว้

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/sevenmonth-cpi-lowest-since-2016-gso/205478.vnp