นักลงทุนจีน แห่ซื้อที่ดินในสปป.ลาว

ธุรกิจจีนเข้ามากว้านซื้อที่ดินในสปป.ลาว สำหรับโรงงาน โรงแรมและโครงการพัฒนาด้านอื่นๆ เนื่องจากอิทธิพลของจีนเข้ามาขยายตัวอย่างต่อเนื่องในประเทศที่ยากจนและไม่มีทางออกสู่ทะเล โดยสำนักข่าว RFA อ้างตัวแทนอสังหาริมทรัพย์ในเวียงจันทน์ เปิดเผยว่า ชาวจีนจำนวนมากกำลังจะเข้ามาซื้อที่ดินในอนาคต ราคาที่ดินใกล้สถานีรถไฟเวียงจันทน์อยู่ที่ 2,500 บาท (70 ดอลลาร์สหรัฐ) ต่อตารางเมตร และที่ดินที่ได้รับการจดทะเบียนส่วนใหญ่ถูกขายไปกับชาวจีน นอกจากนี้ จีนเป็นผู้ลงทุนและให้ความช่วยเหลือต่างชาติรายใหญ่ที่สุดของลาว และเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับสองรองจากไทย

ที่มา : https://www.rfa.org/english/news/laos/land-07062022143130.html

คาดปี 2022 การค้า กัมพูชา-เวียดนาม มูลค่าแตะหมื่นล้านดอลลาร์

คาดการค้าระหว่างกัมพูชากับเวียดนามพุ่งแตะ 10,000 ล้านดอลลาร์ ภายในสิ้นปี 2022 เนื่องจากการค้าในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ ที่มีมูลค่ามากกว่า 5,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งข้อมูลดังกล่าวนำเสนอโดยนายกรัฐมนตรีฮุน เซน ในพิธีรำลึกครบรอบ 45 ปี การล่มสลายของเขมรแดง ด้าน Lim Heng รองประธานหอการค้ากัมพูชา (CCC) กล่าวว่าปริมาณการค้าระหว่างกัมพูชากับเวียดนามเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยส่วนใหญ่เป็นสินค้าเกษตร เช่น ข้าว ยางพารา งา ข้าวโพด ถั่วเหลือง และเม็ดมะม่วงหิมพานต์ ซึ่งเวียดนามเป็นหนึ่งในตลาดหลักของกัมพูชาในภูมิภาคนี้ โดยทั้งสองประเทศให้คำมั่นที่จะเพิ่มการค้าทวิภาคีให้มีมูลค่ามากกว่า 10,000 ล้านดอลลาร์ ในแง่ของการลงทุนสภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา (CDC) ระบุว่าในช่วงครึ่งแรกของปี 2021 การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในกัมพูชามีมูลค่ารวม 39,000 ล้านดอลลาร์ โดยนักลงทุนเวียดนามคิดเป็นมูลค่า 2.5 พันล้านดอลลาร์ หรือร้อยละ 6.3 รองลงมาคือจีน ด้วยเงิน 17.3 พันล้านดอลลาร์ และเกาหลี 4.1 พันล้านดอลลาร์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501098201/cambodia-vietnam-trade-expected-to-reach-more-than-10-billion-by-end-of-2022/

Q1 การค้าระหว่าง กัมพูชา-ฮังการี พุ่งแตะ 2.23 ล้านดอลลาร์

ฮังการีถือเป็นหนึ่งในตลาดส่งออกสำคัญของกัมพูชา โดยมีมูลค่าการค้าระหว่างกัมพูชาสูงถึง 2.23 ล้านดอลลาร์ ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2022 รายงานโดย Ok Bung ซึ่งปัจจุบันรักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวเสริมว่ากัมพูชาพยายามปรับตัวอย่างหนักเพื่อที่จะใช้ชีวิตร่วมกับโควิด-19 ในรูปแบบชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) ทั้งในด้านการค้าและการลงทุน ที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประเทศ ด้านเอกอัครราชทูตฮังการีแสดงความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าที่จะกระชับความสัมพันธ์อันดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการค้า รวมถึงยังคงจะให้การสนับสนุนนักธุรกิจและนักลงทุนชาวฮังการีมองหาโอกาสในการทำธุรกิจในกัมพูชาในระยะถัดไป

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501084662/cambodia-hungary-trade-at-2-23-million-for-q1/

สาธารณรัฐเช็ก-กัมพูชา เร่งสร้างความร่วมมือทางการค้าระหว่างกัน

สาธารณรัฐเช็กยืนยันส่งเสริมความร่วมมือกับกัมพูชาในด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวต่อไป กล่าวโดย Martini Vavra เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเช็กคนใหม่ประจำประเทศกัมพูชา ขณะเข้าเยี่ยมคารวะ Heng Samrin ประธานรัฐสภา (NA) ที่ NA Palace โดยเอกอัครราชทูตให้คำมั่นที่จะสนับสนุนให้นักลงทุนชาวเช็กเข้ามาทำธุรกิจในกัมพูชามากขึ้น เมื่อการระบาดของโควิด-19 คลี่คลาย ทางด้านเอกอัครราชทูต Vavra กล่าวเสริมถึงความช่วยเหลือทวิภาคีของสาธารณรัฐเช็กในภาคสาธารณสุขและการศึกษาของกัมพูชา ซึ่งยืนยันว่าสาธารณรัฐเช็กจะยังคงให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมต่อไป โดยเฉพาะทุนการศึกษาสำหรับนักเรียนชาวกัมพูชาและข้าราชการเพื่อศึกษาต่อในต่างประเทศ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/979557/czech-republic-to-boost-trade-cooperation-with-cambodia/

‘สิงคโปร์’ ก้าวเป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ในเวียดนาม ในช่วง 10 ด.

กระทรวงวางแผนและการลงทุน เปิดเผยว่าในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ นักลงทุนสิงคโปร์ลงทุนในเวียดนาม มีมูลค่ากว่า 6.77 พันล้านเหรียญสหรัฐ ก้าวขึ้นเป็นผู้นำลงทุนในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองลงมาเกาหลีใต้ ด้วยทุนจดทะเบียน 4.15 พันล้านเหรียญสหรัฐ และญี่ปุ่น 3.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ เป็นต้น โดยตั้งแต่เดือน ม.ค.-ต.ค. พบว่านักการเงินอัดฉีดเม็ดเงิน 23.74 พันล้านเหรียญสหรัฐไปยังเวียดนาม เพิ่มขึ้น 1.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติส่วนใหญ่เข้าไปลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูป มีมูลค่า 12.74 พันล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 53.7% ของเงินทุนจดทะเบียน นอกจากนี้ สำนักงานการลงทุนต่างประเทศ กล่าวว่าปัจจุบัน การระบาดของโควิด-19 ค่อยๆ อยู่ภายใต้การควบคุม และรัฐบาลได้ใช้นโยบายต่างๆ เพื่อขจัดอุปสรรคการดำเนินธุรกิจ ตลอดจนช่วยฟื้นฟูการผลิตและกิจกรรมทางธุรกิจในช่วงเดือนที่เหลือของปีนี้

ที่มา : https://vietnamtimes.org.vn/singapore-leads-foreign-investment-in-vietnam-in-10-months-37296.html

‘เวียดนาม’ เผยแผนกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ คาดเป็นแรงผลักดันตลาดหุ้น

นักลงทุนมีความหวังว่าแผนกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่จะช่วยเป็นแรงผลักดันตลาดหุ้นในประเทศ การเปิดตัวของวัคซีนจะทำให้เมือง/จังหวัดทั่วประเทศกลับมาเปิดอีกครั้ง ซึ่งจะช่วยในการฟื้นตัวเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะแผนกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหม่ที่เป็นแรงผลักดันเศรษฐกิจของประเทศมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ เงินลงทุนไหลเข้ามายังตลาดหุ้นเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มหุ้นธนาคาร ถึงแม้ว่าจะมีความกังวลเกี่ยวกับปัญหาการเพิ่มขึ้นของหนี้เสียและผลประกอบการของธนาคารที่ลดลง ทั้งนี้ ตัวชี้วัดของตลาดหุ้นขยับตัวสูงขึ้น ประจำวันที่ 18 ต.ค. แต่ว่าดัชนีหุ้นเวียดนาม “VN-Index” ไม่สามารถข้ามระดับ 1,400 จุด เนื่องจากมีแรงขายที่สูงขึ้นในช่วงท้ายก่อนปิดตลาด ในขณะที่ตลาดหุ้นโฮจิมินห์ ดัชนี VNI ขยับสูงขึ้น 2.38 จุด แตะที่ระดับ 1,395.53 จุด

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/new-economic-stimulus-package-expected-to-spur-stock-market/209976.vnp

ปีงบฯ 63-64 สิงคโปร์ทุ่มลงทุนในเมียนมา กว่า 429 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

สำนักงานบริหารจัดการบริษัทและทะเบียนบริษัท (DICA) เผย ปีงบประมาณ 2563-2564 สถานประกอบการที่จดทะเบียนในสิงคโปร์ นำเงินลงทุนในเมียนมาไปแล้วกว่า 429 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนใหญ่ลงทุนในการพัฒนาเมือง อสังหาริมทรัพย์ พลังงาน และภาคการผลิต ซึ่งในปีงบประมาณนี้ เมียนมาดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศมากกว่า 3.79 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จาก 48 บริษัท รวมถึงการขยายทุนในวิสาหกิจและการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษติละวา โดยมีญี่ปุ่นเป็นนักลงทุนรายใหญ่อันดับ 2 ด้วยทุนจดทะเบียนประมาณ 518.76 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังเป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่อันดับ 2 ในเขตเศรษฐกิจพิเศษติลาวา รองจากญี่ปุ่นอีกด้วย

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/singapore-puts-capital-of-429-mln-into-myanmar-in-2020-2021fy/

อะไรทำให้ ‘เวียดนาม’ เนื้อหอม ดึงดูดนักลงทุน ก้าวสู่ฐานการผลิตโลก สวนทาง ‘ไทย’ ที่กำลังโดนทิ้ง

โดย รุ่งนภา พิมมะศรี I กองบรรณาธิการสายเศรษฐกิจ ไทยรัฐพลัส

ความสามารถในการแข่งขันของไทยลด และกำลังโดนทิ้ง

ความกังวลที่ว่านักลงทุนรายใหม่จะไม่เข้ามา และนักลงทุนรายเดิมจะหนีไป เกิดขึ้นจริงแล้ว ดังที่มีข่าว ข้อมูล และตัวเลขต่างๆ-บริษัทต่างชาติปิดบริษัท บริษัทต่างชาติย้ายฐานการผลิต แรงงานร่ำไห้หน้าโรงงานในวันทำงานวันสุดท้าย คือเหตุการณ์ที่ปรากฏให้เห็นเป็นข่าวอยู่เรื่อยมา และข้อเท็จจริงอันหนึ่งที่อาจจะฟังดูเศร้าๆ คือ บริษัทสัญชาติไทยเองก็ไปลงทุนตั้งฐานการผลิตในเวียดนาม

ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ไม่ใช่ว่าไม่มีนักลงทุนรายใหม่เข้ามาลงทุนในไทยเลย เพียงแต่ตัวเลขจำนวนโครงการและมูลค่าการลงทุนใน 3 ปีหลังลดลง และมูลค่าไม่สูงเท่าประเทศคู่แข่งรายสำคัญอย่างเวียดนาม

เมื่อช่วงกลางปี 2564 ที่เพิ่งผ่านมา มีข่าวอันลือลั่นจากรายงานของ KKP Research ที่ว่าโลกกำลังจะทิ้งไทย ซึ่งข้อมูลในรายงานบอกว่า เมื่อเทียบการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศใน 5 ประเทศอาเซียน ได้แก่ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ พบว่าสัดส่วนของไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง จากที่เคยมีสัดส่วนอยู่มากกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ ในช่วงปี 2547-2550 แต่ในช่วงปี 2559-2562 ลดเหลือประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ซึ่งเป็นผลมาจากเศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้างที่ทำให้ความสามารถในการแข่งขันอ่อนแอลง

ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ว่าสถิติการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนของโครงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมาเป็นอย่างไรบ้าง

เวียดนามดึงดูดนักลงทุนเก่ง สวนทางกับไทย

กราฟเทียบมูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ของไทยกับเวียดนาม จากคลังข้อมูลของธนาคารโลก (World Bank) ช่วยให้เห็นภาพความสามารถในการดึงดูดนักลงทุนของเวียดนามชัดขึ้น

ปี 2563 ข้อมูลจากกระทรวงการวางแผนและการลงทุน ประเทศเวียดนาม ระบุว่า 11 เดือนแรกของปี 2563 การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในเวียดนามมีมูลค่า 17,200 ล้านดอลลาร์ โดยภาคการผลิตและการแปรรูปดึงดูดการลงทุนมากที่สุด ส่วนประเทศที่เข้าไปลงทุน 5 อันดับแรก ได้แก่ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ไต้หวัน และฮ่องกง

“ยังมีนักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจ ไว้วางใจ และมีความจำเป็นต้องลงทุนในเวียดนามเป็นจำนวนมาก แต่เนื่องจากผลกระทบของโควิด-19 ทำให้การเดินทางของนักลงทุน ตลอดจนการตัดสินใจลงทุนครั้งใหม่ และการขยายขนาดโครงการโดยตรงจากต่างประเทศยังคงได้รับผลกระทบ” ข้อมูลจากทางการเวียดนาม

และในปี 2564 นี้ นับถึงวันที่ 20 มิถุนายน 2564 มูลค่าเงินทุนจากโครงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในเวียดนาม อยู่ที่ประมาณ 9,240 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 306,832 ล้านบาท มากกว่าของไทยในช่วงเวลาเดียวกันที่มีมูลค่า 278,658 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 6.8 เปอร์เซ็นต์จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

ปัจจัยเด่นของเวียดนามที่โดนใจบริษัทต่างชาติ

เป็นเรื่องที่น่าสนใจว่าอะไรเป็นเหตุผล เป็นปัจจัยสนับสนุนที่ทำให้บริษัทต่างชาตินิยมเลือกเวียดนามเป็นฐานการผลิต? ไม่ว่าจะสำหรับการขยายฐานการผลิตเพิ่มเติม หรือย้ายฐานการผลิตมาจากประเทศอื่น

ศูนย์พัฒนาการค้าและธุรกิจไทยในอาเซียน สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครโฮจิมินห์ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เคยวิเคราะห์ปัจจัยที่ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้าไปลงทุนในเวียดนาม ว่ามี 6 ปัจจัย ดังนี้

  1. ความมีเสถียรภาพของรัฐบาล

เวียดนามปกครองด้วยระบอบสังคมนิยม มีพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียว คือพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม ซึ่งมีบทบาทในการกำหนดแนวทางการบริหารประเทศทุกด้าน ทําให้การบริหารประเทศเป็นไปอย่างราบรื่น และนโยบายต่างๆ ได้รับการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันผู้นำประเทศมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนในการบริหารประเทศ และมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างจริงจัง ซึ่งช่วยสร้างความมั่นใจให้แก่นักลงทุนต่างชาติที่สนใจเข้ามาลงทุนในเวียดนาม

  1. ทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์

เวียดนามมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะพลังงาน และแร่ธาตุ เช่น มีแหล่งน้ำมันดิบกระจายอยู่ทั่วทุกภาค เป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันดิบรายสำคัญอันดับ 3 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากมาเลเซีย และอินโดนีเซีย, มีปริมาณเชื้อเพลิงสำรอง เช่น ก๊าซธรรมชาติ ปิโตรเลียม และถ่านหินอยู่มาก รวมทั้งแร่ธาตุสําคัญ คือ บอกไซต์ โปแตสเซียม และเหล็ก นอกจากนี้ ยังมีป่าไม้ มีทรัพยากรดินและน้ำอย่างเพียงพอทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพเอื้อต่อการเพาะปลูก

  1. เป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพ

เวียดนามมีประชากรมากถึง 90 ล้านคน ชาวเวียดนามเริ่มมีกำลังซื้อมากขึ้นตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และชาวเวียดนามโพ้นทะเลหรือที่เรียกว่า ‘เวียดกิว’ ซึ่งมีประมาณ 3 ล้านคน โอนเงินกลับประเทศปีละประมาณ 3,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ชาวเวียดนามส่วนใหญ่ต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีคุณภาพดีจำนวนมากและเพิ่มขึ้นทุกปี

  1. เน้นนโยบายเป็นมิตรกับทุกประเทศ

เวียดนามให้ความสำคัญกับมิตรประเทศ รวมถึงนโยบายด้านความปลอดภัย ทําให้เวียดนามไม่เคยตกเป็นเป้าหมายของการก่อการร้าย และแทบไม่มีปัญหาอาชญากรรมขั้นร้ายแรง ประกอบกับเวียดนามมีกฎหมายที่เข้มงวดและมีบทลงโทษรุนแรง ส่งผลให้เวียดนามเป็นประเทศที่มีความปลอดภัยสูงแห่งหนึ่งของโลก ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้นักลงทุนเกิดความเชื่อมั่นและตัดสินใจเข้าไปลงทุน

  1. เวียดนามให้ความสำคัญกับการพัฒนาเส้นทางคมนาคมขนส่ง

มีการพัฒนาเส้นทางคมนาคมขนส่ง ทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ ตลอดจน สาธารณูปโภคต่างๆ ให้มีความสะดวกและทันสมัยยิ่งขึ้น เพื่อรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการพัฒนาเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจแนวตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor: EWEC)

  1. ความได้เปรียบด้านแรงงาน

ชาวเวียดนาม 48 ล้านคน หรือคิดเป็น 55 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากรเวียดนามทั้งหมดอยู่ในวัยทำงาน มีอายุระหว่าง 15-64 ปี และอัตราการรู้หนังสือของชาวเวียดนามสูงกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของประชากร ทำให้เวียดนามมีแรงงานคุณภาพจำนวนมาก อัตราค่าจ้างแรงงานต่ำ และยังสามารถหาแรงงานได้ง่าย นายจ้างสามารถรับสมัครแรงงานได้โดยตรง ไม่ต้องผ่านกระทรวงแรงงานของเวียดนาม ในขณะเดียวกัน ชาวเวียดนามก็มีความสนใจสมัครงานโดยเฉพาะกับบริษัทต่างชาติ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นจุดแข็งของตลาดแรงงานในเวียดนาม

อ่านต่อ : https://plus.thairath.co.th/topic/money/100479

มูลค่าการค้าลาว-เวียดนามเพิ่มขึ้นร้อยละ 36.5

แม้จะมีการระบาดใหญ่ของโควิด-19 แต่มูลค่าการค้าระหว่างสปป.ลาวและเวียดนามก็สูงถึง 671 ล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงหกเดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้น 36.5% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ด้านมูลค่าสินค้าที่ลาวนำเข้าจากเวียดนามมีมูลค่า 329 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 19% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 นอกจากนี้เวียดนามเป็นนักลงทุนรายใหญ่อันดับสามในสปป.ลาวรองจากจีนและไทย ปัจจุบันธุรกิจเวียดนามมีการลงทุนในโครงการ 414 ในประเทศลาว มูลค่าประมาณ 4.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตรกรรม ไฟฟ้า และเหมืองแร่ ข้อมูลทั้งหมดได้เปิดเผยในที่ประชุมระหว่างรัฐบาลเวียดนามและรัฐบาลสปป.ลาว นอกจากการเปิดเผยข้อมูลแล้วทั้งสองฝ่ายได้ผลักดันให้ข้อตกลงการค้าไฟฟ้าบรรลุผลตามแผนซึ่งเรียกร้องให้มีความคืบหน้าในโครงการอื่นๆ ที่ตกลงกันต่อไป เช่น การก่อสร้างทางด่วนเวียงจันทน์-ฮานอย รถไฟลาว-เวียดนาม และสนามบินหนองค้างในจังหวัดหัวพัน

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Laoviet_trade_155.php

โครงการทางพิเศษสีหนุวิลล์ของกัมพูชาคาดว่าแล้วเสร็จก่อนกำหนด

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงโยธาธิการและคมนาคมกัมพูชา กล่าวว่าการก่อสร้างทางด่วนพนมเปญ-สีหนุวิลล์ที่ลงทุนโดยนักลงทุนชาวจีน ได้ดำเนินไปอย่างราบรื่นแม้จะเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จก่อนกำหนด ลงทุนโดย China Road and Bridge Corporation (CRBC) มูลค่าโครงการ 2 พันล้านดอลลาร์ โดยทางพิเศษนี้จะเชื่อมต่อกับเมืองหลวงของกรุงพนมเปญสู่ท่าเรือน้ำลึกในจังหวัดสีหนุวิลล์ ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ ซึ่งเริ่มก่อสร้างขึ้นในเดือนมีนาคม 2019 และมีกำหนดจะแล้วเสร็จในเดือนมีนาคม 2023 โดยบริษัทผู้รับผิดชอบในการก่อสร้างคาดว่าจะสามารถสร้างทางพิเศษให้แล้วเสร็จได้ภายในเดือนกันยายน 2023 จนถึงขณะนี้ การก่อสร้างแล้วเสร็จประมาณร้อยละ 55 ซึ่งหากโครงการแล้วเสร็จจะใช้เวลาเพียง 2 ชั่วโมง ในการเดินทางระหว่างจุดหมายปลายทางทั้งสอง เมื่อเทียบกับปัจจุบันที่ใช้ระยะเวลาถึง 5 ชั่วโมง โดยรัฐมนตรีกล่าวเสริมว่า ถนนสายนี้จะมีบทบาทสำคัญในการช่วยส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชา เนื่องจากเป็นการเชื่อมโยงเมืองหลวงกับท่าเรือที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50878781/sihanoukville-expressway-cooperation-project-expected-to-be-completed-ahead-of-schedule/